วิสัยทัศน์วัฒนธรรม

“ดิฉันเชื่อว่า…ทุกปัญหาในประเทศนี้จะแก้ไขได้ด้วย ‘กลไกทางวัฒนธรรม’ เท่านั้น”
บทสัมภาษณ์แนวคิดของ อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
สถาปนิก/ นักเขียน และอาจารย์สถาปัตย์
บรรณาธิการบริหารสื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อสังคม…ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ ARTBANGKOK.COM
เรียบเรียงโดย : เบญจมาส วิชาสอน

หลังจากการอุทิศตัวให้กับงานวัฒนธรรมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากว่าทศวรรษ ในบทบาทของนักคิดนักเขียน และเจ้าของสื่อเพื่อสังคม นักวิชาการอิสระที่มุ่งมั่นแสวงหาสาระความรู้และข่าวสารข้อมูลด้านวัฒนธรรมมาเผยแพร่สู่สังคม และสร้างเครือข่ายงานวัฒนธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง ณ วันนี้ วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ ได้ก้าวออกมาจากบทบาทคนเบื้องหลัง สู่เบื้องหน้าในงานสื่อสารรณรงค์การสร้างเสริมวัฒนธรรม บนความเชื่อที่ว่า  วัฒนธรรมที่ดีจะแก้ปัญหาของประเทศได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง การคอรัปชั่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด หรือแม้แต่ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งในมุมมองของเธอ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ เชื่อว่า ถ้าพิจารณาวัฒนธรรมในภาคของการเมือง กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะเป็นกระทรวงเกรดเอ โดยมีกระทรวงอื่นๆเป็นเครื่องมือในการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นแกนนำ เพื่อที่จะทำให้ประเทศของเราก้าวพ้นทุกปัญหาและอุปสรรคไปได้อย่างปลอดภัย
เราไม่อาจมองวัฒนธรรมแบบแยกส่วน
คำว่าวัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิต ที่เป็นทั้งร่องรอยของอดีต เป็นสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต ที่รวมทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งเมื่อเราพูดถึงคำว่าชีวิต เราจะไปแยกส่วนมันไม่ได้ว่า อันนี้เป็นทางกายภาพ อันนี้เป็นทางความคิด อันนี้เป็นเรื่องของการแสดงออก เราจะไม่สามารถแยกได้ว่า นั่นคือเรื่องของการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม แม้กระทั่งอาหารการกิน หรือสุขภาพ จะดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องของชีวิตเหมือนกัน
รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมา บวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ วัฒนธรรมที่เราเห็นเป็นรูปเป็นร่างก็เช่นสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบของบ้านเมือง เป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ  ถ้าในแง่ของสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้แต่มีอยู่ เช่น พฤติกรรมการแสดงออก ค่านิยม อุปนิสัยต่างๆ มารยาทหรือพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรมที่สืบทอดกันมา รวมถึงกฎหมาย การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ การตัดถนนของกรมโยธา การวางระบบคมนาคม เราไม่อาจบอกได้เลยว่าการสร้างรถไฟฟ้าไม่ใช่วัฒนธรรม หรือการที่มีอินเตอร์เน็ต 3G- 4G ไม่ใช่วัฒนธรรม สารพัดนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ดีของการสร้างโน่นสร้างนี่สร้างนั่น หรือว่าการผลิตยาเสพติดด้วยกระบวนการใหม่ๆ มันก็เป็นเรื่องราวที่วิ่งวนอยู่ในวัฒนธรรมของเราทั้งสิ้น
ดังนั้นเมื่อเรามองขอบเขตของวัฒนธรรมกว้างอย่างนี้แล้ว เราจะเห็นได้เลยว่าใครก็ตามที่มีหน้าที่ดูแลวัฒนธรรมของประเทศนี้ก็คือ มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลประเทศทั้งหมด ซึ่งขยายความรวมไปกว้างไกลกว่าที่เราเคยเข้าใจ
ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมต้องเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
การมองประเด็นวัฒนธรรม ผู้มีอำนาจสูงสุดในการดูแลเรื่องนี้จะต้องเห็นภาพทั้งเชิงกว้าง เชิงลึก ทุกองศา ทุกมิติอย่างจริงจัง  หากพุ่งเป้าจุดแรกไปที่ผู้มีอำนาจในภาครัฐที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรม ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศก็ต้องให้ความสำคัญของกระทรวง หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านวัฒนธรรมเป็นกระทรวงอันดับหนึ่ง เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ดูแลชีวิตรอบด้านของผู้คน
การที่นักการเมือง หรือประเทศชาติล่มจมเพราะคอรัปชั่นมันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะกระทรวงศึกษาอย่างนั้นหรือ ส่วนหนึ่งอาจจะใช่ แต่แท้ๆแล้วมันเกิดมาจากการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมของประเทศ ที่ทำให้สิ่งชั่วร้ายกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม สังคมมักตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กไทยไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ทำไมผู้ผลิตของเราชอบก๊อปปี้ แต่ชอบเลียนแบบ ดูเหมือนว่าจะมีอัจฉริยภาพด้านลอกเลียนสูงมากกว่าการคิดสร้างสิ่งใหม่ เราเห็นการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้ถูกบรรจุความเป็นนักสร้างสรรค์ลงไปในวัฒนธรรมของเรา ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ แต่มันก็เป็นอย่างนั้นในปัจจุบัน อาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่เป็นนักสร้างสรรค์ แต่คนอีกส่วนมากที่พร้อมจะเลียนแบบหรือขโมยความคิดคนอื่น ขโมยของคนอื่น โดยไม่รู้สึกถึงความผิดนั้น และความที่ไม่รู้สึกถึงความผิดทั้งหลายก็คือเป็นยาพิษในวัฒนธรรมของเรา
จากการที่สังคมไทยคุ้นชินกับการมองวัฒนธรรมเฉพาะในมิติของธรรมเนียมประเพณี หรือเรื่องศิลปกรรมสาขาต่างๆ ทำให้เราละเลยที่จะให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในมิติอื่นๆไป และการที่คนส่วนมากคิดว่า ปัญหาเร่งด่วนที่สังคมนี้ต้องแก้ คือปัญหาปากท้อง ปัญหาความอยู่รอดของประชาชน เราก็จะเอาชิ้นเล็กชิ้นน้อยของวัฒนธรรมมาขยายใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้ว กลไกหลักของความอยู่รอดอย่างยั่งยืนคือการแก้ไขกระบวนการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม ให้เป็นไปทิศทางที่เขาสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ตั้งแต่การวางทัศนะในการพิจารณาคุณค่าและศักยภาพของตัวเองโดยปราศจากอคติและอวิชชาต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพที่แท้จริงของตัวเอง ของสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว หลุดพ้นจากความงมงาย เงื่อนไข ความกลัวอย่างผิดๆ และความกล้าอย่างไม่ถูกต้องแบบที่ผ่านๆมา ให้เปลี่ยนมาสู่แนวทางของการสร้างสรรค์ พัฒนาในสิ่งที่ดีแล้วอยู่ให้ดีเลิศ และซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหาย ให้กลับดี
การเริ่มต้นด้วยวิธีคิดว่า ความอยู่รอดของคนนั้นยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะวัฒนธรรมที่ผ่านมาของคนเราก็เป็นบทบันทึกของกระบวนการอยู่รอดทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าเราอยากจะคิดว่าชีวิตมีความต้องการเพียงปัจจัย4 ให้อยู่รอด เราก็มามองแค่เรื่องปัจจัย4ก่อนก็ได้ ว่าชีวิตที่มันจะดำรงอยู่ได้ต้องมีอะไรบ้าง แน่นอน เราต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพราะวิถีในการแสวงหาปัจจัยสี่ และวิธีในการบริโภคปัจจัยสี่ ก็คือวัฒนธรรมนั่นเอง
หากรัฐบาลคือผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถก้าวผ่านการมีชีวิตอยู่รอด อย่างที่เคยเป็นแบบอยู่รอดไปวันๆ ให้อยู่รอดอย่างเป็นสุขแท้จริงในระยะยาว ก็ต้องดูแลวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของประชาชนในสังคมให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมและดีงาม ตั้งแต่ระดับสังคมขนาดเล็ก ไปสู่สังคมระดับใหญ่ เรื่อยไปจนถึงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
การวิเคราะห์กระบวนการแสวงหาและบริโภคปัจจัยสี่ด้วยมุมมองทางวัฒนธรรมมีลักษณะเป็นวงจร ที่อาจแบ่งเป็นขั้นตอนได้คือ (1) ขั้นตอนการต่อสู้แย่งชิงเพื่ออำนาจในการแสวงหาครอบครองวัตถุดิบและพื้นที่ (2) ขั้นตอนการแสวงหาหรือเรียนรู้วิธีการเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการกับวัตถุดิบหรือทรัพยากรให้ได้ผลผลิตมากกว่า ดีกว่า (3) ขั้นตอนในการปรุงแต่งหรือสร้างคุณค่าให้กับผลผลิตในครอบครองให้มีคุณลักษณะที่แสดงถึงปัจเจกภาพและบ่งบอกถึงอำนาจของผู้ครอบครอง ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นตอนที่ทรัพยากรและผลผลิตถูกปรุงแต่งจนเป็นเครื่องแสดงอำนาจและชนชั้นแล้ว มนุษย์เราก็ใช้อำนาจนั้นในการเอาเปรียบผู้อื่นในขั้นตอนของการแสวงหา และจัดการผลประโยชน์ต่อไปอีก หมุนเวียนเป็นวัฎจักรต่อไปเรื่อยๆ
เราสามารถจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ด้วยกลไกทางวัฒนธรรม
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทางด้านโอกาสการเข้าถึงและครอบครองทรัพยากร อาจจัดการได้ด้วยการวางกติกาไม่ให้ผู้คนที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า เอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่ามากจนเกินไป  แต่ปัญหานี้จะไม่ลดลงเลย หากผู้ที่ปกครองหรือผู้ดูแลความเป็นปกติสุขในสังคม ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมหรือทัศนคติ ปลูกฝังค่านิยมความคิดที่ดีงาม สร้างมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม ที่ส่งเสริมให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ลดการแก่งแย่งแข่งขันที่โหดร้ายทารุณ การประหัตประหารกันด้วยเครื่องมือรูปแบบต่างๆ มีแต่จะพัฒนายิ่งๆขึ้นไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่โลกพัฒนาอาวุธที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จิตใจที่ดีงามของมนุษย์ยิ่งอ่อนแอลง
การพิจารณาวัฒนธรรมง่ายๆ หากเริ่มต้นจากปัจจัยมูลฐานของชีวิตก็คือปัจจัย 4 ทำยังไงให้คนหนึ่งคือ ให้มีกิน กินให้ถูก  สองทำอย่างไรให้เรามีที่อยู่อาศัยที่ดี อยู่แล้วสบายไม่เดือดร้อนคนอื่น เหมาะสมกับความต้องการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามทำยังไงให้มีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น สบาย มีความสวยงาม ไม่ผิดกาลเทศะ และสุดท้ายก็คือยารักษาโรค ทำยังไงเราถึงจะอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นคือเราต้องกินอยู่ให้ถูกต้อง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้เกิดมลพิษมาทำร้ายตัวเรา ง่ายๆ ด้วยการเริ่มต้นพิจารณาวัฒนธรรม 4 อย่างนี้ในจิตใจก่อน  ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการคมนาคม เรื่องการสื่อสาร ซึ่งดูเหมือนว่ากำลังจะกลายมาเป็นปัจจัยที่5 และ6 ในการดำรงชีวิต เริ่มต้นที่ความอยู่รอด ที่เรื่องปากท้อง เพราะแรกเริ่มนั้นคนเราหากินเพราะหิว อิ่มแล้วเหลือแต่ยังกลัวอด ก็สะสม ทั้งเพื่อตัวเองเพื่อพวกพ้อง ยิ่งเหลือกินมากยิ่งประดับประดาให้การกินมันพิเศษขึ้น พิสดารขึ้น แสวงหามากขึ้น ทำลายล้างมากขึ้น เบียดเบียนมากขึ้น ต้องการพื้นที่ทำกินมากขึ้น กลายเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา อาจใหญ่โตไปจนถึงขั้นทำสงคราม นี่แค่เรื่องกิน ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัย 4 ยังยิ่งใหญ่ขนาดนี้ การสร้างวัฒนธรรมในการกินให้ถูกจึงจำเป็น เพื่อให้ความคิด ค่านิยมและความรู้ว่าจะหากินยังไงให้ถูกและควร มันไม่ได้กระทบแค่เรื่องสุขภาพ และคอรัปชั่นเท่านั้น แต่อาจไปไกลถึงสิ่งแวดล้อมไปเลย มันเกี่ยวกันไปหมด ยกตัวอย่างการกินอาหารที่มีการแกะสลักมาในจานหนึ่งจาน แน่นอนมันจะต้องเกิดส่วนที่เสียและทิ้งไปแต่เรายอมเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เรียกว่าความเจริญทางอารยธรรม ทำให้การกินของคนที่มีพิธีรีตองดูสูงส่งกว่าการกินธรรมดา วัฒนธรรมแบบนี้อาจมีประโยชน์ แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจขัดแย้งกันกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะการกินใช้อย่างฟุ่มเฟือยใช้อย่างไม่รู้ค่า ทำให้เหลือส่วนทิ้งไปมาก ในขณะที่มีคนอื่นยังขาดแคลนยังอดอยาก ยิ่งกว่านั้นเราต้องเสียพื้นที่ทรัพยากรไปกับการเกษตร ก็ต้องโค่นป่าเพื่อเพราะปลูกและเอาพืชนั้นมากินแต่กินอย่างทิ้งขว้าง วัฒนธรรมการกินบุฟเฟต์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้คนที่กินบุฟเฟ่ต์มักตักอาหารมาเต็มจาน ส่วนที่เหลือกลายเป็นเศษอาหาร ซึ่งอาจเป็นปลาตัวหนึ่ง ถ้าเราไม่จับมันมากินอย่างทิ้งขว้าง มันก็ยังจะได้ว่ายน้ำอยู่ต่อไป ออกไข่มาเป็นปลาอีกหลายร้อยตัว บางทีถ้าเราไม่กินบุฟเฟต์ สัตว์น้ำหลายชนิดอาจจะไม่สูญพันธุ์เร็วขนาดนี้ การรุกล้ำน่านน้ำที่หวงห้ามเพื่อทำการประมงผิดกฏหมายอาจไม่เกิด ระบบนิเวศน์อาจไม่เสียหายเร็วนัก
ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆข้อหนึ่งในวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่  แม้แต่เรื่องอาหารการกินก็ยังต้องมีวิถีที่ถูกและควรของสังคม จึงต้องมีการสอนให้รู้จักคิด ตั้งแต่เริ่มที่จะกินอะไรเข้าปาก หรือแม้แต่วิธีการแสวงหาอาหารมากิน ก็ต้องถูกและควร ไม่เบียบเบียน ไม่ล้างผลาญ ไม่ทุจริตคดโกง ไม่ทำลายประโยชน์ส่วนรวม เพื่อที่เราจะได้มีอยู่มีกินกันต่อไปยั่งยืน  ปากท้องหรือความอยู่รอดจึงไม่อาจแยกจากความหมายของวัฒนธรรมได้ วัฒนธรรมต้องเกี่ยวเสมอ เพราะมันคือวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของผู้คน ไม่ใช่ด้วยกฎหรือข้อห้ามที่มีบทลงโทษ แต่เป็นการปลูกฝังให้อยู่ในจิตสำนึกของคนเรา ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไร ต้องทำให้ถูกทำให้ดี คิดถึงส่วนรวม ผู้ดูแลวัฒนธรรมจะต้องเห็นความสำคัญของการหล่อหลอมวิธีคิดที่ดี ที่ยั่งยืนลงไปในสังคม ผสมผสานลงไปในทุกกระบวนการใช้ชีวิต
ซึ่งเมื่อมองในส่วนของผู้ปกครอง ก็ต้องเป็นภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้วางนโยบาย กำหนดเป้าหมาย เสาะแสวงหาวิธีการในการทำให้บรรลุเป้าหมาย แล้วมองดูว่าจะต้องใช้สิ่งใดเป็นเครื่องมือ เช่น ใช้การหล่อหลอมผ่านการศึกษาในระบบ เราก็ใช้กระทรวงศึกษามาออกแบบหลักสูตรที่ทำให้คนมีความรู้ในทิศทางที่พึงประสงค์ หรือหล่อหลอมผ่านคติความเชื่อทางศาสนา เพราะศาสนาเป็นตัวกำหนดความเชื่อ เรายังจะอยากเห็นคนไทยไปขูดต้นไม้หาเลขเด็ดทุกวันหวยออกต่อไปอีกนานแค่ไหน มันแสดงถึงความสิ้นหวัง ความงมงายขาดสติ หากเปิดทีวีช่องดาวเทียมยุคนี้ เราจะเห็นการขายวัตถุมงคลเต็มไปหมด นั่นหมายความว่าสังคมเรากำลังหันไปพึ่งในสิ่งที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ถ้าผู้มีอำนาจดูแลสังคม ไม่สร้างวัฒนธรรมในการใช้เหตุผลให้เกิดขึ้น ไม่สอนให้คนมีความรู้เท่าทัน ไม่ความตระหนักในความจริง ไม่ยึดถือความจริงเป็นที่ตั้ง มันก็จะกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่บ่อนทำลายความเจริญของประเทศชาติ การไปปิดช่องทางรับสาร หรอการเซ็นเซอร์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มนุษย์ที่ถูกสอนมาให้คิดเป็นจะรู้จักเลือกสรร รู้จักเซ็นเซอร์สิ่งไม่ดีออกไปจากการรับรู้ของตัวเอง จะเลิกบริโภคสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ไม่ดี สินค้าหรือบริการที่ไม่ดี  นานๆไปเมื่อไม่มีอุปสงค์เพราะคนรู้เท่าทัน อุปทานที่เป็นของไม่ดีก็จะล้มหายตายจากไปเองตามกลไกตลาด
ไม่เพียงแต่การให้ความรู้ การอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต รวมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตก็เป็นกลไกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่การวางผังเมือง วางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ เครื่องมือที่ผู้บริหารงานวัฒนธรรมใช้ในส่วนนี้ก็คือกระทรวงทบวงกรมที่ดูแลเกี่ยวกับการสร้างบ้านสร้างเมือง และเมื่อผู้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน ก็ต้องมีกฏกติการในการอยู่ร่วมกันที่ดี มีการรักษากฏ ระเบียบวินัยที่เข้มแข็ง ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นปกติสุขในสังคมทุกระดับ ในขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางการสื่อสารให้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความเจริญกับภายนอก โดยตัวเราเองก็ต้องมีวัฒนธรรมด้านดีที่เข้มแข็งพอไม่ให้โดนครอบงำหรือเอาเปรียบทางวัฒนธรรมกับชนชาติอื่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การปกครอง เพราะความถูกทำให้เชื่อว่า วัฒนธรรมอื่นสูงส่งกว่าวัฒนธรรมของตน
ในปัจจุบันนี้ อาเซียนกำลังก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นการผนึกกันเพื่อสื่อสารและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของเรา หากกระทรวงวัฒนธรรมมีวิสัยทัศน์ที่ดีพอ มีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีสายสัมพันธ์ที่ดีและมีความรู้เขารู้เรากับเพื่อนบ้าน จะเป็นโอกาสอันดียิ่งที่เราจะผนึกกำลังสร้างวัฒนธรรมของอาเซียนให้แข็งแกร่งและเป็นวัฒนธรรมหลักของโลก ดังเช่นที่วัฒนธรรมตะวันตกเคยครอบครองอาณานิคมทางความคิดของผู้คนทั่วโลกมาในยุคก่อน หากวัฒนธรรมของอาเซียนแข็งแรง สายสัมพันธ์ของเราแข็งแรง จะมีโอกาสสูงที่เราจะร่วมสร้างแบรนด์อาเซียนในการรับรู้ของโลกขึ้นมาให้เป็นแบรนด์ชั้นนำ ไม่ใช่แหล่งผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อไปปั๊มแบรนด์ยุโรปดังที่ผ่านมา
ในอดีตมาจนปัจจุบันวัฒนธรรมมีการไหลบ่ามาจากประเทศโน้นประเทศนั้นตลอดเวลา การไหลเวียนแลกเปลี่ยนกันวัฒนธรรมมาจากการคมนาคมสื่อสาร เมื่อครั้งที่นักเดินเรือชาวตะวันตกของชาติที่เป็นนักล่าอาณานิคมล่องเรือมาตามคาบสมุทรต่างๆ เขาได้นำไลฟสไตล์ นำวิธีคิด นำค่านิยมตะวันตกเพาะหว่านมาด้วยตลอดเส้นทาง เขาไม่ได้มาพร้อมกับวัฒนธรรมใหม่ๆเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับค่านิยมที่ทำให้เราเชื่อว่าตะวันตกดีกว่าตะวันออก วัฒนธรรมมากับการคมนาคมสื่อสาร ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลการคมนาคมสื่อสารด้วย ทั้งเรื่องของช่องทาง และสิ่งที่ผ่านเข้ามากับช่องทางต่างๆ นั้น แต่อย่าไปมองเพื่อจับผิดซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราต้องมองที่ต้นเหตุ ต้องมองถึงสถานะของแก่นทางวัฒนธรรม จะต้องมององค์ประกอบทุกส่วนในฐานะที่เป็นโครงสร้างหรือกลไกของวัฒนธรรม
เราไม่ได้สร้างประเทศขึ้นมาใหม่ เราไม่ได้เปลี่ยนการปกครอง แต่เรามองการบริหารประเทศในมุมใหม่และจัดการกับการปกครองในวิธีใหม่ๆ ได้ เราสามารถแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้ โดยอาจจัดการทั้งปลายเหตุและต้นเหตุควบคู่กันไป แน่นอนผลดีไม่อาจเกิดขึ้นในข้ามคืน แต่เราไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะว่ามีประเทศลงมือแก้ไขแล้วสำเร็จมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น ฮ่องกงซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีสถิติการคอรัปชั่นสูงมาก ทุกวันนี้ใครจะไปเชื่อว่าฮ่องกงเป็นประเทศหนึ่งที่การคอรัปชั่นน้อยลงเป็นอย่างมากเพราะฉะนั้นเราจะมองปัญหาในประเทศของเราอย่างสิ้นหวังไม่ได้ เราจะต้องมองด้วยความหวังและความเชื่อว่ามันจะเลวน้อยลง จนกลายเป็นประเทศที่ดี และถ้ามันดีอยู่แล้วเราก็จะต้องทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าเกิดปัญหาก็แก้ไขด้วยสติ ใช้เหตุผลที่ดี ละทิ้งอคติ เราไม่ควรสิ้นหวังและท้อถอย ที่โลกยังคงหมุนต่อไปทุกวันนี้ ก็เพราะยังมีสิ่งที่ดีกว่ารอเราอยู่ข้างหน้า
หากแนวคิดนี้เป็นไปได้ แต่เราจะเอาบุคลากรที่ไหนมาทำ เพราะกระทรวงวัฒนธรรมมีแต่ข้าราชการที่ถูกโอนย้ายมาจากหน่วยงานอื่น และทำงานกันแบบแยกส่วน ไม่ได้เห็นภาพรวมเดียวกัน
ผู้บริหารวัฒนธรรมคือผู้สื่อสารคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของทรัพยากรบุคคลของประเทศ
ถ้าเราฝันถึงการวางบทบาทให้ภาครัฐเป็นตัวนำในการสร้างประเทศใหม่ ผู้มีอำนาจในการปกครองกำหนดบทบาทใหม่ให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงเกรดเอ รัฐบาลให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมโดยเปลี่ยนวิธีคิดเลยว่ามันไม่ใช่กระทรวงรำไทยหรือว่ากระทรวงจักสานหรือกระทรวงโอท็อปสินค้าสี่ภาคเหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องเป็นกระทรวงหลักที่นำทุกกระทรวงอื่นๆ มาคุยกันว่าเป้าหมายวัฒนธรรมในการมีชีวิตอยู่รวมกันเป็นประเทศของคนไทยจะต้องเป็นอย่างไร คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยจะเป็นแบบไหน เช่น ฉลาด ขยัน ซื่อสัตย์ มีวินัย กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง มีจิตสาธารณะ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จากนั้นจึงมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ไปทำงานตามหน้าที่ของตนเองโดยมุ่งผลสู่เป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงไอซีที กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ”
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกร ทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ถ้าไม่ใส่วิธีคิดที่ถูกต้อง หรือวัฒนธรรมการเป็นคนดีเป็นผู้ห่วงใยสังคมเข้าไปในจิตสำนึกของเกษตรกร หรือผู้ลงทุน บวกกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม รวมถึงมุมมองทางธุรกิจแบบยั่งยืน สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดอย่างไม่จบ เมื่อไหร่ที่ยางราคาดี ปาล์มราคาดี ก็จะมีการโค่นทำลายป่า ภูเขาทั้งลูกก็จะกลายเป็นสวนยาง สวนปาล์ม ป่าชายเลนทั้งหมดจะกลายเป็นนากุ้ง เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาทางการเกษตร แต่มันเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม เราไม่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เราไม่มีคุณธรรม มีความเห็นแก่ตัว คดโกง ไม่ได้ปลูกฝังให้คิดดี คิดว่าเงินต้องเป็นใหญ่ บางเรื่องอาจต้องดึงกระทรวงพาณิชย์มานั่งคุยกับกระทรวงวัฒนธรรม ว่าจะทำยังไงให้การค้าการขายมันดีขึ้น ของที่เราผลิตจะพัฒนาอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทำการตลาดอย่างไร ขายได้ราคาดีขึ้น  โดยไม่ต้องไปทำลายอะไรมากขึ้น เพราะฉะนั้นกระทรวงวัฒนธรรมต้องเริ่มใหม่ ต้องคิดใหม่ ต้องประสานความร่วมมือใหม่ๆ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่บทบาทของตัวเองจริงๆมันคืออะไร
วัฒนธรรมต้องใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประเทศ แทนที่จะตั้งตนเป็นศัตรูกับสื่อ หรือคุกคามสื่อ
ผู้ดูแลวัฒนธรรมจะต้องมีหน้าที่ในการสื่อสารวัฒนธรรมกับสังคม ต้องคุยผ่านสื่อ คุยผ่านช่องทางศิลปวัฒนธรรมที่อยู่โดยรอบไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร โฆษณา ภาพยนตร์ เพลง ละคร หนังสือ วิทยุ เว็บไซต์ ปัจจุบันผู้ที่สร้างสรรค์สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือข่าวสารที่ประชาชนสนใจติดตามร้อยละ80 90 เป็นผลงานของภาคเอกชนทั้งสิ้น

เวลาที่เราดูหนังโฆษณาเกี่ยวกับภาครัฐ หรือว่าแคมเปญที่ส่งเสริมสังคมของภาครัฐ เช่น รณรงค์ให้คนเป็นคนดี เรามักจะเห็นหนังโฆษณาที่น่าเบื่อ ไม่มีสีสัน ไม่น่าดู ตัวละครแบนๆไม่มีมิติ ไม่มีความสนุกไม่มีอรรถรส ในขณะที่เป็นผลผลิตของภาคเอกชนมักเป็นหนังโฆษณา เป็นละครกลางคืนหลังข่าวที่มีสีสันเผ็ดร้อนชวนติดตาม สนุกสนาน กำกับดี ภาพสวย ถ้อยคำสำเนียงฟังแล้วตื่นเต้นเร้าใจ มีประโยคเด็ดที่ฟังแล้วติดหู เพราะถูกออกแบบโดยนักโฆษณามือหนึ่งที่มีค่าตัวแพง ภาครัฐมักไม่มีโอกาสในการว่าจ้างบุคลากรชั้นนำเหล่านี้มาทำงานสื่อสารวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้มาจากเหตุผลที่ขาดงบประมาณ แต่เป็นเพราะขาดการพิจารณาให้ความสำคัญกับการสื่อสารวัฒนธรรมอย่างจริงจัง และเอาเม็ดเงินที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปละลายกับโครงการที่ไม่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า เช่น การจัดงานแฟร์ หรืองานเทศกาลวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่มีมีผลในทางการกระตุ้นการรับรู้ของมวลชนมากเท่ากับการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ หนังสือ เว็บไซต์ และสื่อร่วมสมัยอื่นๆ
ในประเทศไทยมีภาคเอกชนที่เป็นศูนย์รวมนักคิดนักพัฒนาที่มีมันสมองเป็นอาวุธ โดยเฉพาะนักโฆษณาผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่มักถูกใช้เพื่อรองรับระบบทุนนิยม ซึ่งแทนที่มันสมองของเขาแทนที่จะได้มาช่วยกันคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อประเทศ กลับถูกใช้เพื่อการค้า ชักจูงให้ผู้คนยึดติดกับการบริโภค แต่แทนที่ภาครัฐจะคอยจับผิดหรือเซ็นเซอร์ผลงานของเขา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็น่าจะเปลี่ยนมาเป็นการว่าจ้างให้นักคิดเหล่านี้ มาทำงานในฝั่งของภาครัฐบ้าง อาวุธทางปัญญาที่เคยเขาใช้ทำร้ายสังคมเมื่ออยู่ในภาคของนักขาย ก็จะเปลี่ยนมาเป็นอาวุธที่ป้องกันดูแลสังคม
ที่สำคัญ ภาครัฐที่ดูแลงานวัฒนธรรม ต้องไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกับภาคเอกชน แต่หันมาสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยสร้างทัศนคติให้ใหม่กับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของสังคมร่วมกันในระยะยาว สื่อสารให้ภาคเอกชนเห็นประโยชน์ของการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคม แม้เอกชนจะมีเป้าหมายคือทำกำไร แต่ถ้ามองเห็นการทำกำไรในระยะยาว ในสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน ก็ย่อมได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ผู้บริหารงานวัฒนธรรม ต้องใช้ความเชื่อมั่นและศรัทธาในเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีอยู่ในตัวคนทุกคน  มนุษย์มีความดีและความเลวอยู่ในตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่เมล็ดพันธุ์ความดี ถูกรดน้ำถูกให้ปุ๋ยที่ดี ก็จะเติบโตงอกงามดี แต่เมื่อไหร่ที่ถูกกระตุ้นด้วยความเลว คนจะดึงด้านเลวๆออกมาหากัน ความดีเป็นเครื่องดึงดูดความดี  ส่วนความเลวก็จะดึงดูดความเลว ผู้ที่ดูแลสังคมจึงต้องมีต้นทุนความดีงามและความศรัทธาเป็นตัวนำ ต้องเชื่อมั่นในความดี และจะเสียความเชื่อมั่นนี้ไปไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นสังคมจะอยู่ไม่ได้ การสร้างมาตรการมาปกป้องความเลวอย่างเดียวโดยที่ไม่ให้โอกาสความดีได้งอกงามเลยก็ไม่ใช่ทางออก เมื่อไหร่ที่เราหยุดให้ปุ๋ย ให้น้ำใจแก่สังคม ความเลวอาจตายไปบ้าง แต่ความดีมันก็ตายไปด้วย เราต้องให้ปุ๋ยความดี เราต้องยอมเสีย ยอมลงทุน ยอมเสี่ยง ต้องเป็นผู้ให้ก่อน มอบความไว้วางใจนำทางไปก่อน แล้วจึงจะได้สิ่งนั้นกลับมา ในต่างประเทศเราคงเคยเห็นร้านหนังสือพิมพ์ที่ให้คนวางสตางค์ไว้เองแล้วหยิบของไป ประเทศไทยอาจจะทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะคิดว่าคนไทยไม่ซื่อสัตย์ แต่ทำไมไม่ลองดูบ้าง อาจจะพบว่ามีคนดีๆเหลืออยู่อีกเยอะ คนเลวต้องน้อยกว่าคนดี ไม่เช่นนั้น สังคมเราคงล่มสลายไปนานแล้ว
กระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรอิสระอย่างสร้างสรรค์
นอกจากบทบาทงานวัฒนธรรมจะเป็นของรัฐแล้ว ภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมด้วย โดยการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม  ถัดมาคือก็พวกองค์กรณ์อิสระทั้งหลาย ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน โดยไม่ไปหวังพึ่งภาครัฐมากนัก ต้องจัดการองค์กรณ์ของตัวเองให้รอดด้วยกลไกการจัดการที่เป็นระบบ ภาครัฐอาจจะให้ทุนสนับสนุนสำหรับการศึกษาหาความรู้ด้านการจัดการ ช่วยเหลือในการคิดและทำอะไรให้เป็นระบบ ไม่ใช้เสรีภาพในทางที่ผิด เช่น เอะอะก็ประท้วง เอะอะก็เอาชาวบ้านไปปิดถนน เผายางรถยนต์ เหล่านี้
องค์กรอิสระต้องช่วยให้ความรู้กับสังคม นอกเหนือไปจากกลไกที่ผ่านการเรียนรู้ทางระบบการศึกษา เพราะองค์กรอิสระล้วนแต่เป็นองค์กรเล็กๆ  โดยตัวองค์กรเองไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต้องอาศัยการสร้างเครือข่าย และให้ข้อมูลกับเครือข่าย โดยใช้ความสามารถที่จะให้ความรู้กับสังคม เพื่อที่สังคมจะได้กลายมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่นองค์กรของ ARTBANGKOK เราฝันถึงแต่คงไม่อาจจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่เจริญ ผู้คนมีคุณงามความดีในใจ มีศิลปวัฒนธรรมอันงดงามกลับมาในชั่วข้ามคืน แต่สิ่งที่เราทำคือ ความพยายามที่จะรวบรวมองค์ความรู้ ข่าวสารข้อมูล สิ่งที่มันยังขาดหายตกหล่นไปจากระบบการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม ใส่ลงไปในสื่อของเรา ผู้ที่ต้องการความรู้ตรงนี้ ก็มา search เจอที่เรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไหร่ที่คุณจะสร้างบ้าน ไม่รู้ว่าจะไปหาสถาปนิกได้ที่ไหนโดยข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ ไม่ใช่ข้อมูลโฆษณาการค้า เมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต การสื่อสารของเราประหยัดต้นทุนได้มากกว่าหนังสือ หรือสื่ออื่นๆ
สร้างจิตสำนึกในการดูแลและสร้างเสริมวัฒนธรรมที่ดีให้กับประชาชน
และสุดท้ายหน้าที่ของผู้ดูแลวัฒนธรรมก็คือประชาชน ประชาชนต้องดูแลตัวเอง เป็นไปไม่ได้เลยที่ชีวิตเราจะดีขึ้นถ้าเราไม่สนใจตัวเอง ทุกการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเริ่มจากตัวเราเองแล้วก่อน แล้วก็ไปสู่สังคมหน่วยที่เล็กที่สุดก็คือครอบครัว หลังจากนั้นอาจขยายไปสู่วงของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือสังคมเล็กๆรอบตัวเรา ขยายไปสู่องค์กรที่เราทำงานอยู่ ขยายไปสู่ท้องถิ่น และสู่ประเทศในที่สุด ประชาชนจะต้องเริ่มคิดเริ่มทำให้ถูก เราอาจจะทำอะไรที่คนอื่นหัวเราะ เช่น เราเดินไปเห็นขยะแล้วเราเก็บทิ้ง เราไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เราเห็นไฟเปิดอยู่แล้วเราปิด เราไปช้อปปิ้งแล้วเราเอาถุงผ้าไป เราปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้ เราเลิกไปกินบุฟเฟ่ต์ตักมาเต็มจานล้นเหลือกินทิ้งกินขว้าง คนที่กินข้าวแล้วเหลือไว้ในจานบ่อยๆ ลองไปทำนา ลองไปดูคนที่เค้าต้องคุ้ยขยะในถังขยะ แล้วจะคิดได้ว่าถ้าคุณจะลดความสุข ความสำราญลดความมักง่ายลงไปนิด มันจะมีคนอีกมากที่จะได้ชีวิตที่มีความสุขขึ้นอีกเยอะ ถ้าคนไม่สวาปามบุฟเฟ่ต์กันอย่างล้างผลาญ ป่าชายเลนที่เอาไปเลี้ยงกุ้ง ที่เราเอามากินทิ้งกินขว้างมันก็จะไม่ฉิบหายมากขนาดนี้ ถ้าคุณประหยัดการใช้กระดาษ ต้นไม้ก็จะเหลือมากกว่านี้ พลังใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประชาชน ไม่ต้องรอหน่วยงานไหนมารณรงค์ เราควรรู้อยู่แก่ใจว่าเราต้องช่วยตัวเอง เพราะฉะนั้นถามว่าวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องของใคร คำตอบคือเป็นเรื่องของทุกคน
และถ้าถามอีกทีว่า กระทรวงไหนสำคัญที่สุดในประเทศนี้ คำตอบสุดท้ายก็ยังคงเดิมคือ…กระทรวงวัฒนธรรม และผู้ปกครองประเทศคนต่อไป ก็ต้องเห็นตรงนี้ ไม่เช่นนั้นประเทศเราก็ยังเดินล้มลุกคลุกคลานไปในทางที่ผิดตลอดเหมือนที่ผ่านมา

 

You may also like...