กลิ่นอายที่ฉายแววในงานแสดงศิลปะของนักศึกษา

กลิ่นอายที่ฉายแววในงานแสดงศิลปะของนักศึกษา โดย เเจนนิส วงศ์สุรวัฒน์
นิทรรศการของนักศึกษาศิลปะที่กำลังแสดง ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยศิลปากร ( ซึ่งเปิดแสดงวันนี้เป็นวันสุดท้าย) น่าประทับใจ และท้าทายอย่างไม่คาดฝัน เป็นความจริงที่นิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงที่อนุรักษ์นิยมมาก แต่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ก็เป็นสถานที่ที่มีเกียรติภูมิ และอนุรักษ์นิยมอยู่ไม่น้อย

สิ่งที่น่าประทับใจในนิทรรศการนี้ก็คือ ชีวิต พลังใจ และความรู้สึกของคนรุ่นหนุ่มสาวที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นขึ้นมา มันช่างจี้เข้าไปในหัวใจ ที่ได้เห็นศิลปินหนุ่มคนหนึ่งสามารถถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาของสุนัขโกโรโกโสตัวหนึ่งด้วย ปูนพลาสเตอร์ธรรมดา อย่างที่นักศึกษาประติมากรรมทั่วไปถูกกำหนดให้ใช้ ใครก็ตามที่ได้ชมงานแสดงประจำปีของนักศึกษาเช่นนี้มา 10 ปีแล้ว ก็คงเลิกหมกมุ่นกับการคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงพลิกโฉมออกไป ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่การบอกว่า สถาบันแห่งนี้ล้มเหลวในการสร้างงานศิลปะ แต่นี้เป็นการบอกว่า เป็นวิสัยของงานศิลปะของนักศึกษาที่จะสะท้อนแบบฝึกหัดศิลปะออกมา ทั้งที่ผลงานของนักศึกษาเหล่านี้ออกจะอนุรักษ์นิยมในลักษณะและรูปแบบ แต่ผลงานเหล่านี้ก็มีค่าแก่การชม และหลายชิ้นในจำนวนนี้ก็มีค่าแก่การซื้อสะสมด้วย แม้รูปแบบของผลงานที่ดูราวกับว่า ถูกทำไปตามระบบ อาจจะดูไม่ทันสมัย แต่หัวใจและฝีมือที่ทุ่มให้กับงานนั้นสด และนี่เป็นพลังของคนหนุ่มสาวที่แสดงออกมาด้วยความจริงใจ

มีหลายภาพทีเดียวที่อาจเหมาะเจาะบนผนังฝั่งตรงข้ามกับเก้าอี้ตัวโปรดของคุณ ( สวรรค์ช่างกำหนด ที่ตรงนั้นมักจะถูกโทรทัศน์จับจองเสียแล้ว) ซึ่งจะเปิดพื้นที่ว่างๆให้เราเข้าไปสำรวจในจินตนาการ เราจะต้องตัดสินใจเอาเองว่า ก้อนหินซึ่งศิลปินปล่อยให้ลอยนั้น ที่มันไม่ตกลงมาเป็นเพราะความตึงเครียดเขม็งเกลียว หรือเป็นด้วยความสามารถเหนือชั้นของศิลปินที่เอาจิตเข้าครอบวัตถุได้ ภาพชายหนุ่มที่ตกอยู่ในภวังค์ความคิดบางภาพถูกวาดออกมาผ่านสายตาของศิลปินผู้เป็นเพื่อนของแบบนั้นเอง นักศึกษาศิลปะมักจะใช้เพื่อนกันเองเป็นแบบ ความรักและอารมณ์ขันในหมู่เพื่อนที่แสดงผ่านภาพจึงเป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ไม่ยากนัก บางครั้งพวกเขาก็พาหญิงชราคนหนึ่งกับหลานสาวของเธอเข้ามาเป็นแบบในห้องวาดเส้น และภาพที่ปรากฏก็พูดได้ลึกซึ้งถึงความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันได้ระหว่างคนต่างวัย

ภาพใบหน้าของผู้ชราผ่านการสังเกตจากหนุ่มสาว นี่เป็นแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในนิทรรศการนี้ ยังมีภาพเด็กสาวหลายภาพ เช่น สาวคนหนึ่งแต่งกายหรูหราสดใสนั่งจมอยู่บนเก้าอี้ของเธอ หรือภาพเปลือยของนางแบบที่มองออกมาด้วยสายตาเยาะหยัน ซึ่งมีขนาดและสัดส่วนที่ใหญ่โตน่าตกใจทีเดียว

บุคลิกเฉพาะของแบบแต่ละคนถูกบรรยายออกมาด้วยพลังใจอันพิเศษ และบางครั้งด้วยพลังที่ค่อนข้างจะดิบ เราคงอดไม่ได้ที่จะต้องปรบมือให้แก่ทักษะและฝีมือชั้นเยี่ยมของนักศึกษาที่ได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดมาจากครูของเขา และต่อสติปัญญาอันแหลมคมของหนุ่มสาวเหล่านี้ที่มักจะถูกกดเอาไว้ในชั้นเรียน

ในกลุ่มผลงานภาพพิมพ์ครั้งนี้ ก็มีงานชิ้นที่เด่นสะดุดตาและดูมีชีวิตชีวาอยู่บ้าง แต่เหมือนที่เคยเป็นมา ผลงานจำนวนหนึ่งก็ต้องยกความดีให้แก่งานเก่าของครูไม่คนใดก็คนหนึ่งที่เป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ของตัว เรื่องนี้สะกิดความสงสัยของเราขึ้นว่า “การเดินตามรอยเท้าครูไปอย่างองอาจนั้น เป็นวิถีทางที่เราทำกันในตะวันตกหรือไม่ ?”

พลิกหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก แล้วพลิกดูเปรียบเทียบผลงานของศิลปินยุโรปใน “สำนัก” ต่างๆ ไม่ว่า ฟลอเรนซ์ ซิเอน่า เวนิซ ฯลฯ เราก็จะพบว่า อันที่จริงในตะวันตกเราก็มีวิธีปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น “สำนัก” ในความหมายตามขนบดั้งเดิมของคำๆนี้ ซึ่งทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่ทำสืบต่อกันมานี้ก็เป็นลักษณะที่ศิลปะตะวันตกเคยมีมาในอดีต ศิลปะสมัยใหม่ของเรามีลักษณะที่แสดงความเป็นปัจเจกชนอย่างรุนแรง ซึ่งเราโอนเอียงไปในทางที่จะยอมรับว่า มีความจำเป็นเช่นนั้น และถึงกับนิยามว่า ศิลปะเป็นเช่นนั้น หากเราต้องระลึกไว้ในใจว่า ศิลปะตะวันตกที่พัฒนาไปสู่ทางเช่นนี้ต้องผ่านช่วงเวลานานหลายศตวรรษ ก้าวช้าๆอย่างระมัดระวังในการแสดงออกที่เฉพาะของศิลปินแต่ละคน ซึ่งเป็นลักษณะของงานนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเป็นเรื่องปรกติมากในประวัติศาสตร์ศิลปะ

ถ้าใครลองเทียบผลงานของนักศึกษาที่จบจากสถาบันแห่งนี้ใน 5 รุ่นหรือ 10 รุ่น ก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างมากในผลงานกลุ่มนี้อย่างชัดเจน บางทีความจริงในเรื่องนี้ อาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดคับข้องใจ แต่การยึดแบบแผนโดยตัวเองแล้วไม่ใช่สิ่งผิด ในอดีตที่ผ่านมา แบบแผนได้สร้างบรรทัดฐานในการสร้างงานศิลปะขึ้น จนกระทั่งมีการปฏิเสธคุณค่าที่เป็นแบบแผน และการโจมตีต่อต้านแบบแผนนี้หละที่เปิดศักราชของสมัยใหม่ขึ้น

ย้อนกลับไปที่กลุ่มผลงานภาพพิมพ์ในนิทรรศการนี้ คุณน่าจะไปชมและตัดสินด้วยตัวคุณเอง งานจำนวนหนึ่งอาศัยมุมมองที่ทำให้ภาพดูลึก และปรากฏเป็นมิติที่ไม่สิ้นสุด รูปแบบเช่นนี้ปรากฏบ่อยครั้งทั้งในงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ จนดูเหมือนว่ารูปแบบนี้จะครอบงำจิตใจศิลปินหนุ่มสาวกลุ่มนี้ให้หลงใหลเสียแล้ว คุณจะเห็นเส้นขอบฟ้าลิบๆถูกขวางไว้ด้วยกรงตาข่าย มีใบหน้าที่ถูกฝ่านเป็นริ้วๆถูกขังเอาไว้ หรือจากกรงตาข่ายนั้นบางสิ่งบางอย่างกำลังไขว่คว้าหาเสรีภาพ ดูราวกับว่า เถาผักบุ้งกำลังพยายามหนีออกไปจากการกักขังด้วยการเกาะเลื้อยผ่านกรงตาข่าย

พัดลมสามเครื่องถูกตรึงไว้กับพื้นเรียบๆ ดูคล้ายกับว่ากำลังพัดเศษกระดาษกองหนึ่งให้ปลิวไปไกลถึงขอบฟ้า แต่เมื่อมองดูอย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นว่า ใบพัดของพัดลมแต่ละเครื่องไม่ได้หมุน เจ้าพัดลมเหล่านี้หน้าตาช่างคล้ายกับที่ถูกนำมาติดตั้งที่ผนังและเพดานในชั้นเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ เมื่อเร็วๆ นี้

สิ่งที่ “เข้าตา” ในกลุ่มผลงานภาพพิมพ์นั้นเราจะรู้สึกได้จากการที่ได้สัมผัสกับผลงานของศิลปินหญิงบางคน ( ในบรรดางานทั้งหลาย) เราจะเห็นภาพใบหน้าอันงดงามของหญิงสาวที่สงบอย่างกุลสตรี แต่ภายใต้ใบหน้านั้นโผล่เป็นใบหน้าบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ของผู้หญิง ที่ปากของเธอกลายไปเป็นรองเท้าข้างหนึ่ง อีกภาพหนึ่งที่ลืมไม่ลงเป็นภาพศรีษะของผู้หญิงที่เพิ่งฝ่าพ้นเกลียวคลื่นในทะเลขึ้นมา เป็นศรีษะที่พุ่งนำกระแสของสตรีซึ่งเต็มไปด้วยสีสันฟู่ฟ่าสดใสปะทะผ่านทะเลสีขาวดำออกมา นี้เป็นแรงแสดงออกของผู้หญิงที่มองผู้หญิงด้วยกันอย่างตรวจสอบและด้วยความ รู้สึกของพวกเธอเอง มีภาพที่ดีและหลากหลายอยู่ไม่น้อยในนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานเหล่านี้แสดงถึงผลของการฝึกฝน และความสามารถในหลายระดับ และที่สำคัญนิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงถึง กลิ่นอายที่ฉายแววของสำนักนั้น

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล

แปลจาก: Janice Wongsurawat. “Fragrance of promise at student art show.”, The Nation. 21 February 1983. p. 13.

You may also like...