เมืองแห่งเครื่องปั้น
ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เกาะเหนือฮอกไกโดจนถึงเกาะใต้อย่างโอกินาวะ มีเรื่องราวของเซรามิคซ่อนอยู่มากมาย
ประวัติความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ยุคโจมง โดยเครื่องปั้นดินเผาในยุคโจมงส่วนมากเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เชือกฟางในการสร้างสรรค์ลวดลายเผาในกองไฟอุณหภูมิต่ำ จึงมีลักษณะที่หนาเป็นก้อนและแตกง่าย ต่อมาในยุคยะโยอิ ได้รับเอาวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผามาจากคาบสมุทรเกาหลี โดยใช้แกนหมุนเพื่อขึ้นรูป และใช้ความร้อนสูงเครื่องปั้นดินเผาจึงมีรูปทรงสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ต่อมาช่วงต้น ยุคอะซึกะ ได้รับเอาเทคนิคการเคลือบสีมาจากคาบสมุทรเกาหลี และได้รับเอาเทคนิคการเคลือบสีมาจากคาบสมุทรเกาหลี และได้รับการพัฒนาขึ้นใน ยุคนารา ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงมีเครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่างๆหลากหลายมากขึ้น เช่น เหยือกน้ำ เครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น
ในยุค เฮอัน นิยมผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับชาวเมืองทั่วไป เรียกว่า ยามาซาวัง และช่วงต้น ยุคคามาคุระ เกิดเครื่องปั้นดินเผาเซโตะ ซึ่งกลับมาใช้เทคนิคเคลือบสี เพิ่มความสวยงาม และในยุคมุโรมาจิ ได้มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผารูปทรงขนาดใหญ่ซึ่งได้รับความนิยมจนกลายเป็นภาชนะเครื่องใช้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงเวลานั้น พอมาในยุคอาซึจิโมโมยามะ พิธีชงชาได้ถูกพัฒนาขึ้นจนได้รับความนิยม ส่งผลให้เครื่องปั้นดินเผาบิเซนและชิการาคิที่เน้นการทำถ้วยและกาน้ำชาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
พอถึงยุคเอโดะ มีการพัฒนาเครื่องเคลือบเนื่้อกระเบื้องได้สำเร็จเป็นครั้งแรกที่เมืองอาริตะ จังหวัดซากะ อันเป้นต้นกำเนิดของ อาริตะยากิ (หรืออิมาริยากิ)รูปแบบได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน มีการใช้สีและลวดลายในการแสดงอารมณ์มากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคการวาดลวดลายต่างๆพัฒนาโดย ซากาอิดะ คาคิเอมอน
เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ การทำเครื่องปั้นดินเผาเปลี่ยนไปในรูปแบบของการทำตุ๊กตารูปร่างมนุษย์ โอ่ง จาน สำหรับตกแต่งเครื่องประดับ ไปจนถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆที่เต็มไปด้วยคุณภาพ ซึ่งนำไปสู่จุดสูงสุดในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิค กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ และเป็นของขวัญระหว่างประเทศอีกด้วย ในทางกลับกัน ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ไปศึกษายังต่างแดนก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเช่นกัน ทำให้ในช่วงยุคไทโช นั้นสามารถพบเห็นมุมมองต่างๆของตะวันตกที่แฝงอยู่ในเครื่องปั้นดินเผาต่างๆได้ โดยเฉพาะมุมมองในด้านความงาม เช่น การสร้างรูปปั้นของนก หรือสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ หลังจากนั้นรูปแบบความนิยมในการทำเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา หันกลับไปนิยมแบบที่เรียบง่าย ไม่ตกแต่งแบบดั้งเดิม และใช้สีเคลือบ
อย่างไรก็ตาม การที่โลกเปิดกว้างมากขึ้น คนญี่ปู่นได้เห็นมุมมองและรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา การแสดงออกตามแนวทางของแต่ละปัจเจกจึงเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันจึงมีงานศิลปะและการทำเครื่องปั้นดินเผาในรูแบบที่สะท้อนถึงตัวตนของศิลปินแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ทำให้การทำเครื่องปั้นดินเผาถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีความหรูหรา เป็นงานฝีมือ มากกว่าอุปกรณ์เครื่องใช้
ที่มา : POTTERY ปั้นดิน ปั้นความสุข ฉบับเดือนสิงหาคม 2560