คามิชิไบ (Kamishibai) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานในประเทศญี่ปุ่น คามิชิไบในยุคแรกไม่อาจยกหรือเคลื่อนย้ายได้ แต่ในช่วงทศวรรษหลังมีการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสำหรับใช้กับโรงละครไม้ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปมัดติดกับรถจักรยานขับขี่ขนย้ายไปตามเมืองต่างๆได้ นักเล่านิทานคามิชิไบมีรายได้เลี้ยงชีพจากการขายลูกอมลูกกวาด และเล่านิทานเป็นเรื่องยาวต่อเนื่องติดๆกันหลายตอน เพื่อให้คนกลับมาฟังซ้ำหลายครั้ง จะได้ซื้อขนมอีกและฟังตอนต่อไปของเรื่องที่เล่าค้างอยู่
อาจกล่าวได้ว่า คามิชิไบ เป็นการแสดงละครของคนยากจน รุ่งเรืองมากในยุคที่ญี่ปุ่นประสบภาวะยากแค้นทางการเงินในปี 1930 เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ทำให้คนจำนวนมหาศาลต้องออกไปเที่ยวเร่ร่อนตามถนนเพื่อหาหนทางประทังชีวิต คาชิไบ เป็นงานที่ทำให้ศิลปินนักวาดภาพกับนักเล่าเรื่องพอมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คามิชิไบก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะนับเป็นความบันเทิงรูปแบบเดียวที่ย้ายลงไปแสดงอยู่ในหลุมหลบภัยต่างๆได้ ในยุคนั้นจึงกลายเป็นความบันเทิงของทั้งเด็กและผู้ใหญ่
เมื่อเริ่มมีโทรทัศน์เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเริ่มเจริญมากขึ้น คามิชิไบก็ถูกผูกโยงเข้ากับความยากจนและความล้าหลังไม่ทันสมัย ลูกอมของนักเล่านิทานถูกมองว่าไม่สะอาด ไม่ถูกหลักอนามัย เรื่องต่างๆที่เอามาเล่าก็ล้วนเป็นเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรม บรรดานักการศึกษาและผู้ปกครองของเด็กๆจึงค่อยๆผลักดันให้คามิชิไบ มีการควบคุมให้ใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการศึกษามากขึ้น ทุกวันนี้แผ่นภาพคามิชิไบที่พิมพ์ขายในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับโรงเรียนและห้องสมุดเป็นหลัก คามิชิไบในฐานะศิลปะการแสดงตามท้องถนนจึงค่อยๆเลือนหายไป บรรดาศิลปินนักวาดภาพผู้หาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพคามิชิไบ ก็พากันหันไปทำอย่างอื่นที่ได้เงินมากกว่า โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ Manga (มังงะ) หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น และต่อมาก็ค่อยๆพัฒนามาเป็น Anime (ภาพยนตร์การ์ตูน)
เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่าน วัฒนธรรมดั้งเดิมย่อมถูกกระแสโลกาภิวัฒน์พัดผ่านเข้ามา วัฒนธรรมบางอย่างอาจเลือนหาย สูญหายไป และอาจมีวัฒนธรรมใหม่ๆเข้ามาแทนที่ คามิชิไบ ซึ่งหมายถึง โรงละครกระดาษ มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตั้งแต่การนำละครคาบูกิมาเป็นต้นแบบ การใช้เทคนิคพากษ์หนังเงียบเข้ามาผสมผสานการเล่าเรื่อง ปัจจุบัน คามิชิไบ พัฒนามาไกลจนกลายเป็นการสร้างสรรค์การ์ตูนแบบญี่ปุ่นอย่างมังงะที่โด่งดังไปทั่วโลก
ถึงกระนั้น คามิชิไบ เรื่องเล่าจากโรงละครกระดาษ ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนญี่ปุ่น ชาติซึ่งไม่เคยลืมรากเหง้าและวัฒนธรรมของตนเอง หากแต่นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้คงอยู่ในบริบทใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น
อ้างอิง : เรื่อง คุณตานักเล่านิทาน โดย อัลเลน เซย์ คำนิยมโดย ทารา แม็คโกวาน นักคติชนวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่น