อัศศิริ ธรรมโชติ

นักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของรางวัลซีไรท์ปี พ.ศ. 2524 เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบชั้นมัธยมปีที่ 4 จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา กรุงเทพมหานคร หลังจากเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2 ปี จึงกลับมาสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2513

ครั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแล้ว ได้เริ่มทำงานกับผู้ผลิตหนังสือ “ประชากร” ระยะหนึ่ง ก่อนจะโยกย้ายไปประจำ “ประชาชาติ” , “สยามรัฐรายวัน” , “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” , “มาตุภูมิ” , “สู่อนาคต” และหวนคืนสู่ “สยามรัฐ” จวบจนปัจจุบัน

เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เป็นนิสิต โดยเฉพาะ”สำนึกของพ่อเฒ่า” เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิต ได้รับการคัดเลือกให้ได้อันดับสามจากการประกวดชิงรางวัล “พลับพลามาลี” เมื่อปี 2515 ของชุมนุมวรรณศิลป์จุฬาฯ จากนั้นอีกราวหกปี คือ พ.ศ. 2521 มีหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อปก “ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ทำให้อัศศิริได้รับรางวัลซีไรท์ในปี พ.ศ. 2524

อัศศิริยังมีผลงานการเขียนบทละครโทรทัศน์เช่น เรื่อง “ขุนเดช” ของสุจิตต์ วงศ์เทศ และ “แม่นากพระโขนง”

ผลงานตีพิมพ์แล้ว
– ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง (2521)
– เหมือนทะเลมีเจ้าของ (2524)
– ขอบฟ้าทะเลกว้าง (2525)
– ฟุตบอลบ้านนอก (2526)
– บ้านริมทะเล (2527)
– โลกสีน้ำเงิน (2528)
– งามแสงเดือน (2529)
– มหกรรมในท้องทุ่ง (2530)
– ขอทาน แมว และคนเมา (2531)
– นวลน้อย (2531)
– ผู้หญิง คนแก่ เด็ก แมว และผม (2531)
– ชีวิตคือวัยอันผ่านพ้น (2532)
– ทะเลร่ำลมโศก (2533)
– หลายๆครั้งในชีวิต (2532)

ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง เป็นชื่อของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน 13 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้รับแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือช่วงที่มีการประกาศเรียกร้องให้ ผู้ที่หลบหนีเข้าป่ากลับมารายงานตัว เน้นให้คนสำนึกในเรื่องของ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคม

เนื้อหา ส่วนใหญ่มีแนวทางไปในทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต ความกดดันและความขัดแย้งทางการเมือง ผู้แต่งสามารถตีปัญหาสังคมได้อย่างลึกซึ้ง สามารถสร้างตัวละครอันมีมิติเหมือนคนจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อให้จับต้องได้ มีความเศร้าที่อ่อนโยน สามารถสกัดกั้นอารมณ์ ลักษณะการเขียน ผู้เขียนพยายามให้รายละเอียดในการพรรณนา เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรง แต่เขาก็มีทางแก้ด้วยการสร้างอารมณ์ชดเชย ซึ่งเป็นการเขียนที่มีคุณค่ายิ่ง

ที่มาเกี่ยวกับหนังสือ : http://atcloud.com/stories/71612
ที่มารูปภาพ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rakmananya&group=1&month=07-2007&date=26

You may also like...