งานเขียนลายรดน้ำ

012

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “งานเขียนลายรดน้ำ” เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานศิลปะไทยทรงคุณค่า

เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตร ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษา พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชดำริในด้านงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “งานเขียนลายรดน้ำ” ขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ โดยนำแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในของสะสมส่วนพระองค์ ได้แก่ งานเขียนลายรดน้ำภาพหนุมาน ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สะสมไว้ ใช้เล่าเรื่อง” ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์บ้านสวนปทุมจัดขึ้น ในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรรษา

001

นภาพร เล้าสินวัฒนา ผู้อำนวยการกองศิลปกรรม

005

บรรยากาศงานเขียนลายรดน้ำ

010

อุปกรณ์งานเขียนลายรดน้ำ

007

นภาพร เล้าสินวัฒนา ผู้อำนวยการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง และผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย เล่าความเป็นมาของโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษาร่วมกับสำนักพระราชวัง ดำเนินการโดยสำนักพระราชวัง จัดให้มีการเรียนรู้และฝึกอบรมงานช่างฝีมือต่างๆ ในด้านศิลปะชั้นสูงของไทยในหลายแขนงวิชา เช่น งานจิตรกรรมไทย งานปั้น งานหล่อ งานหัวโขน งานประดับมุก ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ที่แสดงถึงภูมิปัญญาเชิงช่างไทย และความมีศิลปทางวัฒนธรรมของชาติไทยอย่างยาวนาน

“เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรกับโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ในการจัดกิจกรรมเชิงปฎิบัติการ งานเขียนลายรดน้ำ ซึ่งได้ย่อกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา ๑ ปี ในการเรียนการสอน ให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ และลองสัมผัสงานศิลปะไทย ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ทั้งยังเป็นความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาเชิงช่างไทย ที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะมาอย่างยาวนาน รวมทั้งได้ตามรอยองค์ประธานในการทำภาพลายรดน้ำ รูปหนุมาน ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์งานลายรดน้ำที่ทรงเคยทำสมัยทรงพระเยาว์นำมาเป็นต้นแบบสำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้รับชิ้นงานที่มีความสวยสดงดงามกลับไปเป็นความภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเคยได้ทำงานจิตรกรรมลายรดน้ำด้วยตัวเอง”

002

(จากซ้าย)ชนะ ไชยรักษ์ เจ้าพนักงานในพระองค์

นภาพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาในสังคมไทย ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของเราได้เปลี่ยนไปมาก จนบางครั้งวัฒนธรรมหรือรูปแบบเก่าๆ ได้กลืนหายไปตามกาลเวลา และวัฒนธรรมใหม่ก็ได้แทรกเข้ามาในชีวิตของคนรุ่นใหม่ จนทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ อาจหลงลืมไปแล้วว่าบรรพชนของเราสั่งสมภูมิปัญญาใดไว้บ้าง โดยเฉพาะศิลปะไทยนั้น ถือเป็นมรดกที่บรรพชนตกทอดมาให้ลูกหลาน ซึ่งกว่าจะสั่งสมและสร้างเอกลักษณ์จนมีรูปแบบเป็นของเรา ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงอยากฝากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาให้ความสนใจศิลปะไทย ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว รวมทั้งเป็นความงดงาม และความภาคภูมิใจร่วมกันของคนไทยทุกคน”

อ.ชนะ ไชยรักษ์ อาจารย์งานลงรักปิดทอง ลายรดน้ำ โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานช่างลายรดน้ำมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี อธิบายความหมาย รวมถึงขั้นตอนการเขียนลายรดน้ำว่า “งานลายรดน้ำ อยู่ในกลุ่มงานช่างรัก ประกอบด้วย ลายรดน้ำ งานปิดกระจก ลงรักปิดทอง และประดับมุก ซึ่งต้องใช้ยางรักเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ส่วนใหญ่จะเห็นงานลายรดน้ำประดับตาม บานประตู บานหน้าต่างของวัด และพระราชวังต่างๆ รวมทั้งนิยมเขียนลายรดน้ำบนเครื่องใช้ต่างๆ ของราชสำนัก รวมทั้งโล่ ที่ใช้เป็นอาวุธกำบังในยามรบทัพจับศึกด้วย

“งานลายรดน้ำ มีขั้นตอนการทำหลักๆ คือ การเขียนลาย ปิดทอง แล้วใช้น้ำรด เพื่อให้เหลือลายที่ต้องการ โดยวัสดุอุปกรณ์ในการเขียนทำการเขียนลายรดน้ำล้วนเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ได้แก่ ยางรัก มีลักษณะสีดำทำจากยางต้นรัก เมื่อแห้งแล้วจะมีความเงามันเหมือนกับสีน้ำมัน เหมาะสำหรับทำพื้น, หรดาล แร่หินชนิดหนึ่ง ที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน โดยนำมาป่นจนมีลักษณะเป็นสีฝุ่น และนำมาหมักกับน้ำ และแช่ไว้ในภาชนะที่เป็นแก้ว เป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะนำมาใช้งานได้ , กาวยางกระถิน เป็นยางจากต้นกระถินอินเดีย ที่ต้องนำเข้าจากประเทศอินเดีย โดยสามารถใช้ยางจากมะขวิดแทนได้ และน้ำฝักส้มป่อย โดยนำฝักสุกแห้งมาต้มกับน้ำร้อน แล้วนำวัตถุดิบทั้ง ๓ มาผสมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นน้ำยาเขียนลาย และไม่ให้ทองคำเปลวติดในบริเวณที่เขียนลายนั่นเอง

“สำหรับขั้นตอนในการทำงานลายรดน้ำ ในเวิร์คช็อปครั้งนี้ ได้มีการลดทอนกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมทีต้องใช้ยางรักในการรองพื้นวัสดุ ก่อนที่จะเขียนลายซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาในการรอให้ยางรักแห้งค่อนข้างนาน จึงนำวัสดุสมัยใหม่มาประยุกต์ โดยใช้แผ่นอะคริลิคสีดำที่มีความมันวาว แทนการลงพื้นด้วยยางรัก”

 

ขั้นตอนการทำลายรดน้ำเริ่มจากนำแผ่นอะคริลิคสีดำที่มีดินสอพองผสมน้ำระบายอยู่บริเวณพื้นผิวที่จะใช้ในการทำชิ้นงาน เพื่อขจัดคราบมันต่างๆ และสิ่งสกปรกที่อาจจะเกาะอยู่บนพื้นผิว ก่อนลงมือทำให้นำผ้าสะอาดเช็ดดินสอพองที่พอกอยู่ให้สะอาด โดยห้ามให้มือไปสัมผัสแผ่นอะคริลิคเด็ดขาด เพราะคราบมันต่างๆ จะทำให้เขียนลายไม่ติด

จากนั้นจึงเขียนลวดลายลงไป โดยนำกระดาษไขที่ปรุลายแล้ว วางทาบลงบนแผ่นอะคริลิค แล้วใช้ผ้าห่อดินสอพองป่น กดลงไปบนแผ่นกระดาษไข เพื่อให้เกิดลวดลายที่ต้องการ  แล้วจึงใช่พู่กันจุ่มน้ำหรดาล ที่ผสมกาวกระถิน และน้ำส้มป่อย เขียนลงบนตามแนวรอยแบบ และถมน้ำยาดังกล่าวบริเวณรอบนอกของชิ้นงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เวลารดน้ำแล้วเลอะเข้าไปในด้านใน

เสร็จแล้วเช็ดชิ้นงานให้สะอาด นำผ้าขาวบางชุบยางรักและเช็ดให้ทั่วบริเวณบนชิ้นงานที่ลงลายเส้นแล้ว นำทองคำเปลวที่นำมาปิดทำจากทองคำร้อยเปอร์เซ็นต์ปิดให้ทั่วบริเวณ เรียงให้ติดกันเป็นระเบียบทั้งภาพ โดยใช้นิ้วค่อยๆ เกลี่ยทองคำเปลวให้เรียบแนบสนิททั่วทั้งชิ้นงาน จากนั้นนำกระดาษที่ห่อทองคำเปลวมาชุบน้ำ และเรียงทับบนทองคำเปลวที่ปิดอยู่บนชิ้นงาน แล้วใช้สำลีชุบน้ำไล่น้ำยาที่เขียนออก ก็จะได้เป็นชิ้นงานลายรดน้ำที่เสร็จสมบูรณ์

008

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

อ.ชนะ กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดวิชาช่างลายรดน้ำมิให้สูญหายไป และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เผยแพร่วิชาช่างแขนงนี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ที่สนใจ  พร้อมบอกคุณสมบัติของการเป็นช่างฝีมือว่า  “ต้องมีใจรัก ละเอียด ประณีต ช่างสังเกต และฝึกสมาธิ อยากให้เยาวชนรุ่นหลังหันมาสนใจงานช่างไทยโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้เราได้ศึกษาและสืบทอด อีกทั้งยังเป็นภูมิปัญญาที่แสดงถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมของเราด้วย”

นับเป็นโอกาสดีที่ผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมไทย ได้มาเรียนรู้ และลองสัมผัสงานประณีตศิลป์ชั้นสูง ที่แสดงถึงภูมิปัญญา และความมีศิลปะทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น

011

ผู้ร่วมกิจกรรมงานเขียนลายรดน้ำถ่ายภาพที่ระลึกกับผู้ฝีกสอน

 

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “สะสมไว้ ใช้เล่าเรื่อง” ซึ่งจัดแสดงสิ่งของสะสมส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๑๕๐ บาท ผู้สูงอายุ (อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป) ๘๐ บาท นักเรียน/นักศึกษา ๕๐ บาท เด็กอายุ ๑๒ – ๑๘ ปี ๕๐บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี สำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โทร.๐๒-๒๒๕-๙๔๓๐ ต่อ ๐, ๒๔๕

 line

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้าตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของผ้าชนิดต่างๆ และการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายในราชสำนักยุคต่างๆ รวมทั้งฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำความเป็นไทยออกไปสู่สากลและก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิตในประเทศ

นอกจากเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยแล้ว พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บรักษาผ้าไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดแสดงงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าทั้งของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเป็นการสืบสานสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป

You may also like...