Charun Homtientong

“กลัดกระดุมเม็ดนี้ผิด คุณก็ผิดหมด ” จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

เป็นธรรมดาของมนุษย์แต่ละวงการ ย่อมมีความเชื่อและมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับสิ่งที่จะเป็นความหวัง หรือนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ผู้คนในแวดวงศาสนา ก็ฝากความหวังไว้กับศาสนา ผู้คนในวงการกีฬา ก็ฝากความหวังไว้กับกีฬา ผู้คนในวงการศึกษา ก็ฝากความหวังไว้กับการศึกษา เช่นเดียวกับผู้คนในวงการหนังสือ ก็ย่อมเชื่อว่า การอ่านหนังสือ จะเป็นหนึ่งในหนทางที่จะพัฒนาความรู้และความคิดสติปัญญาของผู้คนในสังคมของเรา ให้เจริญก้าวหน้าสู่ความเป็นอารยะได้

คุณจรัญ หอมเทียนทอง  นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในวงการหนังสือของไทย ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาการอ่านของเยาวชนและผู้คนในสังคม ด้วยกิจกรรมดีๆและความเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อวิถีการเรียนรู้และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน

ในงานแถลงข่าวของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ประกาศความพร้อมจัด “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13 (43rd Nation Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015) ซึ่งได้จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนของ HiClassSociety.com และ ArtBangkok.com ได้สอบถามคุณจรัญ ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาวิถีการอ่านเข้าสู่ระบบสังคมผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบเรียนรู้ของเยาวชนภายใต้หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นกระทรวงที่หล่อหลอมความรู้และความคิดของประชาชนผ่านการเรียนรู้ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในระบบการศึกษา จึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมนิสัยการอ่านที่ดีเข้าไปด้วยได้ เนื่องจากในปัจจุบัน PUBAT เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายกว้างขวางและมีช่องทางเชื่อมประสานที่แข็งแรงกับภาครัฐหลายองค์กร ถึงระดับที่สามารถผลักดันให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอ่านของประชาชนขึ้นในระดับภาครัฐได้ในอนาคต และคุณจรัญได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจในมุมมองที่แตกต่าง ว่าที่แท้แล้ว การปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงวัฒนธรรม มิใช่กระทรวงศึกษาธิการ

“เพียงแค่คำถามว่ากระทรวงศึกษาธิการก็ผิดแล้ว เพราะการอ่านต้องเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม แต่บ้านเรามันผิดฝาผิดตัว คุณกลัดกระดุมเม็ดนี้ผิด คุณก็ผิดหมด เพราะถ้าเราพูดกระทรวงศึกษาธิการ การอ่านกลายเป็นหนังสือแบบเรียน หนังสือนอกเวลาไม่มี เราถึงต้องทำว่าทำอย่างไร หอสมุดแห่งชาติเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม แล้วทำไมการอ่านไม่เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม”

“ห้องสมุดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เด็กอ่านในเรื่องการเรียนเยอะ เรามักจะมีเรื่องการสอดแทรกเพราะว่าการอ่าน การเรียนมันก็คือการสร้าง การปลูกรากความคิดของคนได้ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย การเรียนไม่ใช่เรื่องที่เรากระทำกับเขา เพราะการเรียนเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โลกของเด็กอยู่โลกภายนอก โลกของห้องสี่เหลี่ยม เป็นโลกภาคบังคับ รัฐบาลเค้าสร้างโลกภายในของเค้า เราต้องการให้เห็นโลกภายนอก เขาจะต้องเรียนรู้โลกภายนอก คนๆหนึ่งเรียนหนังสือไม่เกินยี่สิบปี แต่เขามีชีวิตอยู่หกสิบปี โลกภายนอกสี่สิบปี เพราะฉะนั้นในช่วงที่เขาเติบโตที่สุด ทำไมคุณไม่สร้างโลกภายนอกให้เขาเข้มแข็งในความคิด นั่นคือเราอยากให้เด็กทุกคนออกมาจากโลกภายในของเขา ซึ่งทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ รัฐรับผิดชอบให้คนอ่านหนังสือได้ อ่านหนังสือจบมัธยม แต่คุณไม่เคยวัดว่าเด็กคุณอ่านหนังสือแค่ไหน คุณต้องการวัดเพียงแค่วัดว่าจบมัธยมสามเท่านี้ จบ กศน.เท่านี้ จบอุดมศึกษาเท่านี้ คุณวัดแต่การศึกษาในประเทศ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเด็กอ่านหนังสือไม่ออกอีกจำนวนหนึ่ง”

“ทำไม เด็กจบมัธยมสามเขียนหนังสือไม่เป็น เพราะว่าระบบการศึกษาคุณ คุณไม่เคยให้เด็กตกไง การที่เด็กสอบไม่ผ่านมันเป็นตัวชี้วัดของครู ครูดันให้ผ่านให้หมด เด็กจบมัธยมสามบางคนเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก นี่คือความล้มเหลว เพราะกระทรวงรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการอ่านของเค้ามันควรให้กระทรวงอื่นรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาเก็บไว้ แต่ทุกวันนี้กระทรวงศึกษายังเก็บตัวนี้ไว้ ไม่ยอมปล่อยให้คนอื่น กลายเป็นเรียกร้องว่าบางสิ่งบางอย่างมันง่ายเกินไปรึเปล่า ลำพังเพียงแค่รับผิดชอบการเรียนในระบบคุณยังทำไม่สำเร็จ แล้วคุณจะรับผิดชอบ มหาลัยชีวิตได้อย่างไร”

และเมื่อพิจารณาตามทัศนะของคุณจรัญ หอมเทียนทอง ที่สื่อสารว่า การอ่านเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และเป็นภารกิจที่กระทรวงวัฒนธรรมจะต้องสนับสนุน แน่นอนว่า ผู้ฟังย่อมเกิดคำถามในใจ เมื่อพิจารณาถึงผลงานและบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมที่มีต่อความเจริญของประเทศชาตินับตั้งแต่มีการตั้งกระทรวงมา ว่าจะมีความเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใด

“ก็เป็นครั้งแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมรับไปคิด ซึ่งที่ผ่านมาไม่สนใจด้วย แต่ว่ารัฐบาลนี้ทานรัฐมนตรีวีระรับไปคิด ซึ่งก็ถือว่าอย่างน้อยๆคุณยื่นไมตรีมาเราดีใจ แต่ที่ผ่านมาไม่รับไมตรีเราด้วยซ้ำ”

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยกล่าวปิดท้ายด้วยสายตาที่เปี่ยมความมุ่งหวัง


Interview  : วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ / พรทิพย์ ทองขวัญใจ

ArtMaster@ArtBangkok.com

 

You may also like...