พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๗–๒๕๒๘)

งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นงานพระราชพิธีใหญ่อีกงานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในการรักษาและทำนุบำรุงศิลปสถาปัตยกรรมของชาติ  การนี้พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการดำเนินงานออกแบบพระเมรุมาศองค์นี้เป็นอย่างมาก

โดยภายหลังจากพระราชทานพระบรมราชานุมัติแบบก่อสร้างแล้ว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพิ่มเติม ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติยราชประเพณีและสมพระเกียรติพระบรมศพ อีกประการหนึ่งฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนัก จะเป็นการลำบากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์ แสดงให้เห็นถึงการที่ทรงเข้าพระทัยในการออกแบบประโยชน์ใช้สอยให้เหมาะสมต่อผู้ใช้งานด้วย

ในการออกแบบพระเมรุมาศองค์นี้ นายประเวศ ลิมปรังษี  สถาปนิกผู้ถวายงาน ได้นำความคิดในด้านรูปร่าง แบบ และชั้นเชิงของพระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมาเป็นแนวทางในการออกแบบพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี แต่ได้ประพันธ์ลวดลายและการตกแต่งรายละเอียดขึ้นใหม่ทั้งหมด  โดยคำนึงถึงพระราชจริยาวัตรในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่สง่างาม นุ่มนวล อีกทั้งแบบที่ใช้ได้เน้นการตกแต่งด้วยสีสันสวยงามตามแบบอย่างพระเมรุสีที่มีความอ่อนช้อยอย่างสตรี

พระเมรุมาศเป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข  ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์  ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร  ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด  ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี  หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได ๔ ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ งามวิจิตรด้วยคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ

สถาปนิก :  นายประเวศ ลิมปรังษี

 

You may also like...