พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด

อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ทางรถไฟไทย-พม่า
สร้างอุทิศให้กับเชลยศึก (POWs) และแรงงานชาวเอเชียที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและเสียชีวิต ณ ช่องเขาขาด รวมทั้งพื้นที่อื่นๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

 ทางรถไฟไปยังพม่า
ในเดือนธันวาคม 2484 สงครามในเขตแปซิฟิก เริ่มจากการที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) มลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา และการรุกเข้าสู่มาเลเซียในกลางปี 2485 กำลังทหารญี่ปุ่นดำเนินการสู้รบกับทหารอังกฤษในพม่า โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้ายคือการรุกไปสู่อินเดีย (India) แต่การดำรงกองทัพอยู่ในพม่าได้นั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เส้นทางการส่งกำลังที่ปลอดภัยมากกว่าเส้นทางเดินเรือทางทะเล ระหว่างสิงค์โปร์ (Singapore) กับร่างกุ้ง (Rangoon) ซึ่งมีความล่อแหลมต่อการถูกโจมตี ดังนั้นญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟซึ่งมีความยาวประมาณ 415 กิโลเมตร ผ่านป่าและภูเขาจากบ้านโป่ง (Ban Pong) ในประเทศไทยไปยัง ตันบูชายัต (Thanbyuzayat)

การสร้างทางรถไฟ (Building the Railway)
ในการสร้างทางรถไฟสายนี้ ญี่ปุ่นได้รวบรวมแรงงานหลายชาติ ประกอบด้วยแรงงานชาวเอเชีย ประมาณ 250,000 คน และเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ดัตช์ และอเมริกามากกว่า 60,000 คน การก่อสร้างเริ่มในเขตตอนใต้ของประเทศพม่า เริ่มขึ้นในเดือน ตุลาคม 2485 ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการก่อสร้างในประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม 2486 รางรถไฟก็สามารถเชื่อมต่อกันที่จุด แก่งคอยท่า (Konkoita) ในเขตประเทศไทย

เครื่องมือที่ทันสมัยมีใช้งานน้อยมากในการก่อสร้างรางรถไฟครั้งนี้ การขุดดินหรือกะเทาะหินนั้นใช้พลั่ว ชะแลง แล้วขนย้ายดินหรือหินด้วยกระบุงหรือกระสอบ รวมทั้งการถมแนวรางรถไฟก็ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เครื่องตอก หรือค้อนใหญ่ถูกใช้เพื่อตัดหิน เจาะรู และขุดหลุม เพื่อวางระเบิดสะพาน ตลอดแนวรางรถไฟสร้างด้วยไม้ที่ตัดจากป่าตามแนวรางรถไฟนั้นแทบทั้งหมด

จากเดือนเมษายน 2486 การก่อสร้างดำเนินการรุดหน้าไปเร็วมาก เนื่องด้วยฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามความคาดหมาย คือเดือนสิงหาคม ซึ่งถูกกำหนดเป็นเส้นตายของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ห้วงเวลาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของห้วงเวลาแห่งความเร่งด่วน (Speedo) เชลยศึกและคนงานชาวเอเชียถูกลงโทษให้ทำงานจนค่ำ ที่บริเวณซึ่งทำการตัดช่องเขาขาดนั้น แสงแวบๆจากกองไฟส่งอกระทบเรือนร่างที่ผอมโซของคนงาน จึงเป็นที่มาของชื่อช่องไฟนรก (Hellfire Pass) หรือชื่อช่องเขาขาด การก่อสร้างที่เร่งรีบกอปรกับการระบาดของอหิวาตกโรค ได้คร่าชีวิตของเชลยศึกและคนงานไปหลายพันคน

ในช่วงเดือนธันวาคม 2486 – เดือนสิงหาคม 2488 นั้น ได้มีการขนสิ่งอุปกรณ์ทางทหารประมาณ 220,000 ตัน ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ ทั้งๆที่ฝ่ายพันธมิตรได้ใช้การโจมตีทางอากาศต่อเส้นทางรถไฟแต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถดำเนินการขนย้ายสิ่งอุปกรณ์ตามเส้นทางสายนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันระยะทางประมาณ 130 กม.ของรางรถไฟยังใช้การได้จากบ้านหนองปลาดุกถึงสถานีน้ำตก

ความสูญเสียจากการสร้างทางรถไฟ
จากเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร 60,000 คน ที่สร้างทางรถไฟนั้น เสียชีวิตประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 12,399 คน และในส่วนของแรงงานพลเรือนประมาณ 70,000-90,000 คน ที่สังเวยชีวิตไปกับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ สาเหตุของการเสียชีวิตของชลยศึกและแรงงานจำนวนสูงมากอย่างน่าใจหายนั้น เนื่องมาจากการขาดแคลนอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ รวมทั้งทหารญี่ปุ่นที่ดูแลการก่อสร้างยังดำเนินการทารุณกรรมต่อเชลยศึกและแรงงานพลเรือนด้วย

อาหารหลักสำหรับเชลยศึกได้แก่ ข้าว กับผักแห้ง และปลาแห้ง เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอดังกล่าวส่งผลให้มีการค้าในตลาดมืดกับคนในท้องถิ่น สภาพการขาดแคลนอาหารนำไปสู่โรคภัยต่างๆมากมาย รวมทั้งโรคเหน็บชา โรคขาดวิตามิน บี (ผิวหนังอักเสบ) เชลยศึกมีสุขภาพที่อ่อนแอและอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาจึงล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย โรคบิด อหิวาตกโรค และโรคแผลเน่าเปื่อย

เชลยศึกพักอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงจาก มีสภาพที่แออัด การปรุงอาหารและการจัดการสุขลักษณะภายในค่ายพักนั้นล้าสมัยมาก การขาดแคลนเสื้อผ้าและรองเท้าทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น

ในวินัยทหารญี่ปุ่นมีข้อกำหนดในการลงโทษณโดยการทำร้ายร่างกาย ดังนั้นเชลยศึกจึงถูกเฆี่ยนหรือโบยด้วยแส้ พร้อมกับได้รับการลงโทษในรูปแบบอื่นๆจึงนับว่าเป็นห้วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในห้วงเวลาการก่อสร้างรางรถไฟอย่างเร่งรีบในคราวนั้น

สิ่งต่างๆที่แรงงานชาวเอเชียหรือที่รู้จักกันในนามของ โรมูซา (Romusha) ได้รับนั้นแย่ยิ่งกว่าเชลยศึกเสียอีก เนื่องจากแรงงานพลเรือนเหล่านี้ไม่มีแพทย์ทหาร (เสนารักษ์) คอยดูแลรักษา

องค์กร วี (V Organisation)
ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยไม่สมัครใจ ดังนั้นชาวต่างชาติฝ่ายพันธมิตรที่อยู่ในประเทศไทยจึงได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากคนไทย ซึ่งชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเหล่านั้น มีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของเชลยศึก จึงได้จัดตั้งองค์กร (V) ขึ้นมาโดยได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจที่เป็นกลาง รวมทั้งคนไทยที่เข้าใจต่อสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งองค์กรวีได้แอบจัดส่งยาและอาหารแก่เชลยศึก

สันติภาพและสภาพภายหลังสงคราม (Peace and After)
หลังจากการก่อสร้างรางรถไฟสายนี้เสร็จสิ้นลง เชลยศึกบางส่วนถูกส่งกลับไปยังสิงค์โปร์แต่บางส่วนก็ยังถูกกักไว้ในประเทศไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเชลยศึกถูกส่งกลับพร้อมการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เชลยศึกจำนวนมากฟื้นตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ได้พานพบเชลยศึกแทบทุกคนยังคงมีแผลในใจไปตลอดชีวิต เชลยศึกที่เสียชีวิตตามเส้นทางก่อสร้างรางรถไฟนั้น ได้รับการเก็บศพและนำไปทำพิธีฝังศพให้ใหม่ ณ สุสานสงครามเครือจักรภพ (Commonwealth War Graves Commission Cemeteries) ที่ตันบูชายัต ประเทศพม่า สุสานช่องไก่และสุสานกาญจนบุรี ส่วนศพเชลยศึกชาวอเมริกันนั้นถูกส่งกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

พิพิธภัณ์อนุสรณ์ช่องเขาขาด (Hellfire Pass Memorial Museum)
การพัฒนาและบำรุงรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นของอดีตเชลยศึกชาวออสเตรเลีย คือ เจ จี ทอม มอร์ริส (J G Tom Morris) เป็นหนึ่งในเชลยศึกและแรงงานพลเรือนนับหมื่นคนที่ทำงานในการก่อสร้างทางรถฟสายมรณะ ไทย-พม่า แห่งนี้ ในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทอมสมัครเข้าเป็นทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2484 ขณะที่อายุได้ 17 ปี เขาปฏิบัติหน้าที่ในชั้นยศสิบโท ในสังกัด บก. กองพลน้อยที่ 22 เขาถูกจับเป็นเชลยศึกที่สิงค์โปร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2485 หลังจากนั้นเขาถูกกักกันให้อยู่ในฐานะเชลยศึกเป็นเวลาถึง 3 ปี ในกองกำลัง A (A-Force) งานส่วนใหญ่ที่เขาทำในช่วงที่เป็นเชลยศึกก็คือการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า สายนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ทอมถูกนำตัวไปกักขังไว้ในค่ายต่างๆถึง 10 ค่าย เป็นเหตุให้ต้องติดเชื้อไข้มาลาเรีย และโรคบิด ต่อมาทอมได้ปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ช่วยเหลือเชลยศึกคนอื่นๆ ณ ค่ายพยาบาลบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 55

เป็นเวลา 40 ปี หลังจากการทำงานก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ทอมได้ตกลงใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย เพื่อหาที่ตั้งของจุด ช่องเขาขาด (Hellfire Pass) ซึ่งในปี 2527 นั้นทอมไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการกำหนดที่ตั้งของช่องเขาขาดที่ล้อมรอบด้วยป่าทึบเท่านั้น เขายังมีความประสงค์ที่จะบูรณะพื้นที่สำคัญนี้เพื่อระลึกถึงทุกคนที่ได้รับความระทมทุกข์ รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างก่อสร้างทางรถไฟสายนี้

ทอมได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อรองรับและสร้างพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ในระยะเริ่มแรกนั้น กองทุนที่ได้รับมาปี 2530 ถูกใช้ในการสร้างอนุสรณ์สถาน และเส้นทางเข้าสู่ช่องเขาขาด ต่อมาในปี 2537 ได้รับกองทุนอีกครั้งและนำไปใช้สร้าง พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด รวมทั้งทางเดิน พร้อมการแสดงข้อมูล พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2542 ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 80,000 คนในแต่ละปี

การบริจาค (Donations)
การบริจาคให้อนุสรณ์สถานช่องเขาขาดนั้น สนับสนุนให้การดำเนินงานของอนุสรณ์สถานแห่งนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงความอดทน และความเสียสละของเชลยศึกสัญชาติพันธมิตร และแรงงานพลเรือนชาวเอเชีย ผู้ซึ่งทนทุกข์ทรมานและเสียชีวิตบนทางรถไฟสายไทย-พม่า ในห้วงปี 2484-2485 อนุสรณ์สถานแห่งนี้ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความอดทนและความเสียสละของเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ณ ที่ต่างๆทั่งทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ให้ความรู้ในด้านต่างๆต่อทั้งชาวไทยและชาวออสเตรเลียที่มาเยี่ยมชม รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆด้วย และยังเป็นสัญลักษณ์ที่ยั่งยืนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย ออสเตรเลียและชาติอื่นๆที่มีชนในชาติตนต้องเข้าร่วมในการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ สำนักงานสุสานสงครามแห่งออสเตรเลีย (The Office Australian War Graves) เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการด้านบัญชีสำหรับการรับบริจาค นอกจากนี้ยังมีกล่องรับบริจาคตั้งอยู่บริเวณทางเข้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ ท่านที่สนใจบริจาคสามารถแจ้งความประสงค์เฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้

ระยะทางและเวลา
เวลาโดยประมาณในการเดินที่แสดงให้เห็นนั้นเป็นข้อแนะนำที่มีประโยชน์มาก

หมายเหตุ
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด มิได้จัดรถรับส่งบริการที่ถนนหินตกซึ่งการรับส่งจะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าจะจัดหายานพาหนะได้หรือไม่

เวลาโดยประมาณที่ใช้เดินประกอบการฟังเสียงบรรยาย ณ แต่ละจุด
จากพิพิธภัณฑ์ไปยังจุดชมวิวแควน้อย (จุดที่ 11) ใช้เวลา 60 นาทีในการเดินทางไป-กลับ
จากพิพิธภัณฑ์ไปยังจุดที่มีการตัดหิน (Compressor cutting) และกลับมายังจุดขึ้นรถบนถนนหินตกใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที

ข้อสังเกต
สำหรับเครื่องโสต เมื่อถึงจุดที่ 12 13 และ 14 กรุณาชมแผนที่ด้านล่าง

ที่อยู่ : กองการเกษตรและสหกรณ์กองกำลังทหารพัฒนา อ.ไทรโยค ถนนแสงชูโต อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
เวลาทำการ : 9.00-16.00 น. ทุกวัน
เบอร์โทร : 034-531-347
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้จาก www.dva.gov.au
ค่าธรรมเนียมเข้าชม : ไมเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด

You may also like...