พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง

ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
เขตดินแดงนับเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวน่าสนใจนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน กอปรกับผู้คนจากหลากหลายที่มาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อาคารที่พักอาศัย สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการในเขตดินแดง

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง จัดแสดงเรื่องราวความเนมาของชาวดินแดง นิทรรศการภายในบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเขตดินแดง ที่มาของชื่อถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ และชาวดินแดง คือถนนวิภาวดีรังสิต ภูมิปัญญาด้านอาชีพของบุคคลที่เป็นสมบัติของชาติ
และของดีของเด่นรวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น

มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมแรกของพิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญมากคือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่เมื่อสมัยที่ดินแดงนั้นเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพฯ เราเรียกยุคนั้นว่ายุคกองขยะ ถนนหนทางเป็นแค่ลูกรัง มีฝุ่นแดงตลบ ต่อมารัฐบาลจึงได้มองเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาเป็นเขตที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ แฟลตดินแดง แฟลตห้วยขวางจึงได้เกิดขึ้น เมื่อมีประชาชนอยู่กันหนาแน่น แหล่งยริการด้านการศึกษา ศาสนาสถาน ศูนย์กีฬา เพื่ออำนวยความเป็นอยู่ให้ดียิ่งๆขึ้น

มุมต่อมา สืบเนื่องมาจากการที่เขตดินแดงมีประชาชนอาศัยอยู่มาก และได้รับการเอาใจใส่ด้านคุณภาพชีวิต เขตดินแดง จึงเรียกได้ว่าเป็นเขตแห่งสวัสดิการสังคม จะเห็นได้จากภาพนิทรรศการเรื่องราวตั้งแต่การสร้างแฟลตดินแดง แฟลตห้วยขวาง การเคหะแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง สถานศึกษา อาทิ โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนวิชากร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังมีอื่นๆอีกมากในเขตดินแดงนี้ อีกมุม คือนิทรรศการที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญของท้องถิ่น อาทิ นายเหว่า บุหรี่ทอง หรือ กาเหว่า เสียงทอง ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักร้องเพลงลูกทุ่ง เป็นทั้งนักกวาดยา และเป็นหมอทำขวัญนาค

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
ตั้งอยู่ที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-248-1733
เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์
เวลา 10.00 น.-16.00 น.

สำนักงานเขตดินแดง
99 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-245-1612

ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333

You may also like...