ขอความรักบ้างได้ไหม ? (เรื่องของคน 2 คน กับผี 2 ตัว) : กิติคุณ คัมภิรานนท์

ผมชั่งใจอยู่นาน ว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ดีไหม เพราะหากมองอย่างผิวเผิน หนังสือเล่มนี้อาจเป็นแค่นวนิยายฆาตกรรมที่ โหด จิต และผิดมนุษย์เท่านั้น แต่หลังจากใคร่ครวญแล้ว ผมก็ตกลงกับตัวเองว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้

Piercing หรือในชื่อภาษาไทยว่า ปมซ่อนฆ่า เป็นผลงานของ ริว มูราคามิ (Ruy Murakami) นักเขียนมือรางวัลชาวญี่ปุ่น (แน่นอนว่าคนละคนกับฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนเบสตต์เซลเลอร์) ปมซ่อนฆ่าขู่คนอ่านตั้งแต่คำนำ ที่ให้คำจำกัดความ ริว มูราคามิ ไว้ว่า เป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อต้านความรุนแรงและไม่บันยะบันยังกับคนอ่าน แค่นี้ก็พอจะคาดเดาได้แล้วว่า นวนิยายเรื่องนี้จะโหดสักแค่ไหน จนกระทั่งอ่านจบหน้าสุดท้าย ผมก็เห็นด้วยกับสำนักพิมพ์ว่าเขาโหดจริง ปมซ่อนฆ่าเป็นเรื่องราวของหนุ่มสาว 2 คน ที่ต่างมีปมในวัยเด็ก คนหนึ่งถูกแม่ทำร้าย อีกคนถูกพ่อคุกคาม เกิดเป็นบาดแผลที่ยากเยียวยา จนกระทั่งทั้งสองเติบใหญ่ คนหนึ่งมีครอบครัว มีลูก มีชีวิตที่อบอุ่นในแบบที่เขาไม่เคยได้รับในวัยเด็ก แต่มันก็เหมือนไม่ช่วยอะไร เมื่อเขามักเกิดอาการจิตหลุดในยามค่ำคืน จนเกือบเผลอฆ่าลูกตัวเอง กับอีกคนที่เติบใหญ่มาในสภาพโดดเดี่ยว และมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองอย่างน่ากลัว จนไม่มีใครสามารถอยู่ร่วมกับเธอได้ ลองคิดดูซิว่าคน 2 คนนี้โคจรมาเจอกัน จะเกิดอะไรขึ้น ?

ปมซ่อนฆ่าจัดเป็นนวนิยายกระแสสำนึก คือ พล็อตน้อย แต่ดิ่งลึกลงไปในห้วงอารมณ์ของตัวละครแบบสุดหยั่ง นอกจากความโหดสยองของฉากทารุณกรรมและการพูดเรื่องเพศอย่าง (เกือบ) จะตรงไปตรงมา สิ่งหนึ่งที่ผมไม่คิดเลยว่าจะรู้สึกได้เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลง
นั่นคือ ความรัก

ตลอดทั้งเล่ม มีเพียงช่วงต้นเท่านั้น ที่ผู้อ่านจะได้รู้สึกถึงความอบอุ่นของความเป็นครอบครัว (นอกจากนั้นก็สยองไปตามระเบียบ) และผู้เขียนก็ไม่ได้เอ่ยถึงความรักเลยแม้แต่ย่อหน้าเดียว แต่เมื่ออ่านจบ เราจะรู้สึกได้อย่างน่าอัศจรรย์ว่า ขอความรักให้ตัวละคร 2 คนนี้หน่อยได้ไหม เพราะปลูกอะไรย่อมได้อย่างนั้น เด็กที่โตมากับการถูกทารุณกรรม ย่อมเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีบาดแผล (และบางคนก็แก้แค้น ด้วยการสวมบทเป็นผู้ทารุณคนอื่นแทน) แม้จะพยายามเก็บกด ลืมเลือน หรือละทิ้งอย่างไร ความสะเทือนใจที่ฝังรากไปแล้ว ก็ยากจะถอนให้สิ้น คนอย่างชายหนุ่มและหญิงสาวที่ภายนอกดูปกติ แต่พอจิตสั่นใจแกว่ง บาดแผลในวัยเยาว์ก็อาจจะกำเริบระบม บีบบังคับให้ทั้งสองกลายเป็นผี ที่เฝ้าทำร้ายตัวเองอยู่ร่ำไปไม่มีวันหายขาด
เปรียบกับที่เจาะน้ำแข็ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนใช้อยู่ตลอดเรื่อง เพราะหากแผลที่เกิดจากที่เจาะน้ำแข็ง รักษายากอย่างไม่น่าเชื่อและจะเป็นแผลเป็นไปตลอดชีวิต ฉันใด การถูกทารุณอย่างโหดร้าย ก็เปรียบเหมือนที่จะที่เจาะน้ำแข็งที่ทิ่มเข้าไปในหัวใจผู้ที่ถูกทารุณ รักษาหายยากยิ่ง และจะเป็นแผลเป็นตลอดชีวิต ฉันนั้น

ก่อนที่คนจะกลายเป็นผี ขอความรักให้กันสักหน่อย เพื่อที่ผีตัวนั้นจะได้หนีเตลิดไปเมื่อเห็นรอยยิ้มของเรา

Text: กิติคุณ คัมภิรานนท์

อ้างอิง : Piercing “ปมซ่อนฆ่า”, Ruy Murakami
วิลาส วศินสังวร : แปล, earnest, 2554

You may also like...