พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง
พื้นที่เขตลาดกระบังแต่เดิมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ด้วยมีแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อยมากมายไหลผ่าน ดดยมีคลองประเวศบุรีรมยื ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตชาวลาดกระบัง สำหรับประกอบอาชีพ และป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างกัน แต่เดิมนั้นเขตลาดกระบังมีฐานะเป็นอำเภอแสนแสบ แต่เนื่องจากไม่ตรงนักกับสภาพภูมิศาสตร์จริง จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ลาดกระบัง และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ตั้งอยู่ ณ วัดสุทธาโภชน์ เป็นแหล่งรวบรวมบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นของเขตลาดกระบัง ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิม และการเป็นเขตการศึกษาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
จัดแสดงเรื่องราวของเขตลาดกระบังในอดีต ที่มีทั้งชาวท้องถิ่น ไทย มอญ และมุสลิม อาศัยอยูร่วมกันอย่างปกติสุข มีประเพณีและการละเล่นที่หลากหลาย อาทิ ประเพรีตักบาตรพระร้อย ตักบาตรน้ำผึ้ง การแห่หงส์ธงตะขาบ หรือการเล่นสะบ้าของชาวมอญ และการจัดแสดงตัวอย่างข้าวของโบราณ
การจัดแสดงร่องรอยวิถีการสัญจรท้องถิ่น ด้วยเขตลาดกระบังมีคูคลองแม่น้ำไหลผ่านมากถึง 46 สาย การสัญจรไปมาหาสู่จึงพึ่งเรือเป็นหลัก ให้ความรู้เกี่ยวกับเรือรูปแบบต่างๆที่ใช้สัญจรในอดีต
มุมจัดแสดงอีกมุมหนึ่ง แสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลาดกระบัง เดิมมีฐานะเป็นอำเภอแสนแสบ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอลาดกระบัง เพราะชื่อนั้นไม่ตรงกับคว่ามเป็นจริงทางภูมิสาสตร์นัก เล่าเรื่องราวคลองประเวศบุรีรมย์ เป็นคลองขนาดใหญ่ ขุด ขึ้นเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพปลูกข้าวของชาวลาดกระบัง
มุมนิทรรศการต่อมาแนะนำคนดีศรีลาดกระบัง ที่ทำคุณประโยชน์แก่คนพื้นถิ่น ท่านแรก ได้แก่ เจ้าจอมมารดากลิ่น ผู้เป็นสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ท่านสร้างวัดสุทธาโภชน์ เพื่อเป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม และเป็นจุดศูนย์รวมของชาวมอญ อีกท่านหนึ่งที่ยังประโยชน์ทางด้านการศึกษา ได้แก่ ท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ท่านจับจองที่ดินเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เป็นพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานราชการที่ชาวลาดกระบังได้ใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง
ตั้งอยู่ที่วัดสุทธาโภชน์ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520
โทรศัพท์ : 02-360-6520
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์
เวลา 10.00 น.-16.00 น.
สำนักงานเขตลาดกระบัง
4 ซอยลาดกระบัง 15 ถนนลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร 10520
โทรศัพท์ : 02-326-9149 02-326-9012
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333
ขอบคุณภาพประกอบจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย