งานแถลงข่าว เปิดตัวกวีผู้มีผลงานผ่านเข้ารอบซีไรต์

บรรยากาศงานแถลงข่าว “เปิดตัวกวีผู้มีผลงานผ่านเข้ารอบ” รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภท “กวีนิพนธ์” ในวันศุกร์ ที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

คณะกรรมการคัดเลือกหนังสือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2556 ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือรวมกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2556 จำนวน 101 เล่ม แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือรวมกวีนิพนธ์ 7 เล่ม ดังมีรายชื่อเรียงลำดับตามตัวอักษรของชื่อเรื่องดังต่อไปนี้ให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาในวาระต่อไป

ของฝากจากแดนไกล

บทกวีชุด “ของฝากจากแดนไกล” รวบรวมบทกวีจำนวน 19 เรื่อง มีเนื้อหาบรรยายถึงความประทับใจของกวีต่อภาพชีวิตผู้คน สถานที่ สิ่งของ วัตถุต่างๆ ที่ปรากฏแก่ในสายตา โดยฉันทลักษณ์ประเภทกลอน 8 ที่มีลีลาการบอกเล่าและจังหวะกลานเฉพาะตัว ผลงานชุดนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการประพันธ์ของกวรซีไรต์ที่พยายามประสานศิลปะของการเล่าเรื่องเข้ากับศิลปะของภาษาสร้างอารมณ์และความรู้สึกแบบการเขียนบทกวี ภาพสื่อสารที่ได้จึงมีทั้งภาพชีวิตที่เคลื่อนไหวของตัวละครในบทกวี และกระแสความคิดที่กวีได้พยายามผสานใส่เข้าไปเพื่อให้ข้อสรุป ข้อคิดเห็น และแนวคิดซึ่งปรากฏเป็นความคิดหลักของบทกวีแต่ละเรื่อง อันครอบคลุมทั้งเรื่องราวของมิตรภาพ ความหวัง ความรัก ความแตกต่างหลากหลาย และความเชื่อมโยงกลมเกลียว

ลีลากลอนในบทกวีเล่มนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามของโชคชัย บัณฑิต ที่จะสร้างสรรค์บทกวีที่มีลักษณะเฉพาะ บทกวีจำนวนหนึ่งตั้งใจเขียนวรคละ 7 คำ ซึ่งก่อให้เกิดท่วงทำนองการอ่านที่แปลกต่าง เมื่อผสานกับการใช้ภาษาที่มุ่งสร้างจินตภาพเชิงกวีแบบใหม่ ทำให้หลากหลายเรื่องราวที่แม้จะดูเป็นเรื่งสามัญธรรมดาที่อาจจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่บทกวีก็ทหน้าที่สะกิดให้ผู้อ่านได้หยุดคิดและครุ่นมองสิ่งสามัญนั้นด้วยหัวจิตหัวใจ บทกวีเรียกร้องให้ผู้อ่านเชื่อมโยงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่แสนไกลในหัวใจของผู้อ่านทุกคน

ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ 

ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ ของ ศิวกานต์ ปทุมสูติ กวีซึ่งศรัทธาในความหมายของกวีและบมกวีอย่างยิ่ง กวีท่านนี้ให้คุณค่าต่อผู้ที่เป็นกวีว่า ต้องมีความพร้อมในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นผู้ชี้ถูกผิดให้สังคมได้รับทราบ ไม่ใช่ร่ายบทกวีไปตามกระแสนิยมหรือมีอคติ ดังความหมายที่ว่า “ดูกรสหายข้า อย่าขี่แพะเพราะได้ที ขี่เสือต้องอารี เขียนบทกวีต้องใจขาม” และ “และที่สุดบทกวีก็บอกว่า ราคาของบทกวีที่สูงส่ง คือ เลือดเนื้อจิตวิญญาณที่จารผจง และดำรงอยู่ในหัวใจกวี” วาทะเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก

ข้อปฏิบัติหรือแง่คิดบางประการที่คนทั่วไปมองข้าม แต่ศิวกานท์ เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อันได้แก่ ความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง แม้จะเป็นพุทธมามกะก็ยังอาจหาญวิพากษ์วิจารณ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เห็นแก่อามิสบูชา ในส่วนของการแสดงความรักต่อครอบครัว กวีได้ให้ความสำคัญในการเคารพรักบิดาด้วยความกตัญญู ในขณะเดียวกันยังให้ความเอื้ออาทรต่อบุตรด้วยความห่วงใย ทั้งยังแสดงทัศนะที่มีต่อครูบางคนที่ไม่เคยสำรวจตนด้วยถ้อยคำที่ประชดประชนหยันเย้ยในทีว่า “เสียงจ้อแจ้กแตกแถวขึ้นอาคาร หุ่นยนต์น้อยได้วิญญาณคืนสู่ร่าง ขณะหุ่นไล่กาแขนขากาง เดินตามมาห่างห่าง…หักคะแนน” และที่สำคัญยิ่งทัศนะคติต่อการดื่มสุรา ศิวกานท์จะไม่สมยอมให้ผู้ที่อ้างตนเป็นกวีจำเป็นต้องดื่มสุราเพราะเห็นว่าเป็นการเสพยาพิษ

ด้วยแง่งานทางด้านวรรณศิลป์ ผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับลีลาคำประพันธ์ที่ชัดเจน ถูกต้องและมีความหลากหลายในรูปแบบฉันทลักษณ์ ทั้งกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กลอนสุภาพ กลอนหก เพลงพื้นบ้าน โคลงสี่สุภาพและโคลงดั้น อีกทั้งยังเคลิบเคลิ้มไปกับถ้อยคำภาษาที่กวีเลือกเฟ้นคำที่เหมาะมาใช้ในที่เหมาะๆ กลั่นกรองถ้อยคำที่กินใจ สะเทือนอารมณ์ อีกทั้งยังได้เห็นการเล่นสัมผัสอันไพเราะ เช่น “เพลี้ยแมลงแมงร้ายจากเมืองร้อน ทุกรอยบ่อนรอยเบียนกี่เกวียนบั้น…” หรือ “ร้อนคือเย็นเย็นคือร้อนซ่อนตอซัง ในนาปีนาปรังทั้งนาคร” และยังมีความเปรียบเชิงอุปมาให้เห็นอยู่มากมาย ต่างต้องการความหมายในพื้นที่ จึงควรค่าแก่การอ่าน

บ้านในหมอก

กวีนิพนธ์ชุด บ้านในหมอก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นผลงานที่จงใจจัดวางเนื้อหาไว้เป็นเอกภาพ เดินเรื่องไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ภาค ภาคแรก ว่าด้วย บ้านในหมอก ที่หมายถึงภาพทั้งประเทศหรือสังคมโดยรวม ภาค 2 เหมือนส่งกล้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบ “หมอกในบ้าน” อันหมายถึงบ้านจริงๆ หรือสถาบันครอบครัว ทั้งนี้เพื่อต้องการสะท้อนปัญหานานัปการ ด้านศิลปะการประพันธ์ นอกจากใช้กลอน 8 เป็นพาหนะในการขับเคลื่อนกองเกวียนบรรทุกตัวอักษรส่งต่อเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนยังมีความโดดเด่นในเชิงกวีโวหารช่ำชองในการใช้ภาษา มีทักษะในเชิงวรรณศิลป์ มีลูกล่อลูกชน เล่นคำเล่นความหมายอย่างลงตัว และแทรกอารมณ์ขันเป็นระยะ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนใช้โวหารเชิงเปรียบเทียบได้ดี ทั้งในแง่เนื้อหาที่เป็นรูปธรรมและใช้ “หมอก” เป็นตัวบ่งบอกอย่างมีนัยยะ จึงทำให้ “บ้านในหมอก” มีเสน่ห์และกระตุ้นให้ตระหนักคิด

ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า 

เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ กรือบทร้อยกรองอิสระ ของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้เล่าเรื่องได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยความแปลกใหม่ของเนื้อหาและเรื่องราวที่พาผ็อ่านก้าวข้ามมิติของห้วงเวลาและยุคสมัย ทะลุพื้นที่และพรมแดนความเป็นจริงไปสู่โลกในจินตนาการอันเพริดแพร้ว ด้วยความสามารถและชั้นเชิงการประพันธ์ในการจัดวางจังหวะคำได้อย่างทรงพลัง ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่ชวนคิด ลุ่มลึก เต็มไปด้วยแง่คิดเชิงปรัญญา มีปริศนาให้ตีความ และสะท้อนอารมณ์หลากหลายของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้กระทำและถูกกระทำ

เสนห์ในบทร้อยกรองอิสสระเล่มนี้ คือ การตีแผ่จิตวิญญาณอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าหลากหลายบริบท ที่เปิดให้ตีความอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ทั้งเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว แสนจะธรรมดาสามัญไปจนถึงพลังเหนือธรรมชาติ และปรากฏการณ์โพ้นจักรวาล แต่ทั้งหมดนั้นยังโยงอยู่กับความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ของมนุษย์

เมฆาจาริก 

ผลงานของ ธมกร กระตุ้นให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงแง่มุมของการเดินทางทั้งภายในและภายนอก ด้วยมุมมองของมิติที่กว้างไกลและลึกซึ้ง เป็นการเดินทาง แสวงบุญ ด้วยความหมายที่เปิดกว้าง ให้มนุษย์บรรลุถึงความดี ความงาม ความจริง จนค้นพบบทสรุปที่ว่า ทุกร่องรอยที่ปรากฏจากการเดินทางอันแสนสงบสง่าและงดงามมายาวนาน ทุกร่องรอยแห่งการเรียนรู้ จากความมั่นคงแห่งอาร์และความรู้สึก จนบรรยายไปยังจุดเปลี่ยนผ่าน การเดินทางไปพร้อมๆ กับหมู่เมฆ มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เมฆเห็น ตระหนักรู้ทุกอย่างที่เมฆตระหนัก แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นจากการเดินทางล้วนเป็น อนิจจัง คือความ ไม่แน่นอน

ความโดดเด่นของกวีเล่มนนี้ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ การจินตภาพอันงดงาม ภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่าย ให้ปรากฏอยู่ภายในจิตวิญญาณของผู้เขียนส่งผ่านมายังผู้อ่าน ทุกขณะที่ชำแรกสายตาลงสู่รายละเอียดของเนื้อหา ให้รู้สึกว่ามีความสุข เบิกบาน คล้อยตามวรรณศิลป์ที่งดงาม สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสียง จังหวะ ลีลา และตัวอักษรที่เบาสบายแต่ลึกซึ้งในทุกอณูวลี

โลกใบเล็ก

พลัง เพียงพิรุฬห์ ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งหมู่บ้านในกาลสมัยของความเปลี่ยนแปลง ด้วยลีลาภาษาที่เป็นวรรณศิลป์ ทั้งการส่งสัมผัสเสียง การสร้างจังหวะคำ และการใช้คำเพื่อสร้างภาพและสื่อความหมาย พลังทางภาษาใน โลกใบเล็ก เป็นไปอย่างอ่อนโยน หากทว่าทรงพลัง ผู้เขียนใช้ลีลาการประพันธ์ที่มีทั้งบทตอนอ่อนหวานผสานไปกับการแสดงความเข้มข้นกล้าแกร่งในวิถีแห่งการเผชิญโลก เกิดเป็นสุนทรียศิลป์ที่กระทบอารมณ์ และสัมผัส รวมบทกวีโลกใบเล็ก แบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ รัก เศร้า เหงา สู้ โดยแต่ละภาคคล้ายเป็นบทตอนที่แสดงถึงสุข ทุกข์ ร้อน หนาว เฉกเช่นฤดูกาลนานยาวแห่งชีวิต ท่ามกลางการดิ้นรนและแสวงหาคุณค่าแห่งยุคสมัยของผู้คน

หัวใจห้องที่ห้า 

รวมบทกวีร่วมสมัยของ อังคาร จันทาทิพย์ (ฉบับปรับปรุง) เป็นกวีนิพนธ์แนวฉันทลักษณ์ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลักในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีโคลงสี่สุภาพ กาพย์ฉบัง 16 เป็นฉันทลักษณ์ที่เขียนได้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์เป็นระเบียบ แบ่งเนื้อหาสาระเป็นภาคแรกหัวใจห้องที่ห้า ภาคหลัง นิทานเดินทาง และภาคผนวก ภาคแรกผู้ประพันธ์นำเสนอมุมมองของสังคมในมิติต่างๆ ของอดีต เชื่อมโยงสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ทั้งจากการสั่งสมประสบการณ์และความความรู้สึกนึกคิด ในท่ามกลางวิกฤติการณ์หลายด้สน แต่ผู้ประพันธ์มีหัวใจใฝ่หาความสุขสงบ เสมือนหัวใจห้องที่ห้า “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข ท่ามกลางทุกข์กระพือไฟไม่สุดสิ้น ชีวิตหยัดอยู่และรู้ยิน รัก และหวังดั่งฝนรินลงดับร้อน”

องค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นของผู้ประพันธ์คือ ความสามารถในการใช้กลวิธีนำเสนอแนวคิด ปัญหาสังคมชนบท สังคมเมืองในเชิงวิภากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดเอง โดยเล่าเรื่องในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในยุคปัจจุบันได้ย่างมีสัมพันธภาพ เนื้อหาสาระและรูปแบบสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน มองเห็นอัตลักษณ์ของตัวผู้ประพันธ์ แม้ว่าจะมีภาษาถิ่นปรากฏอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ดิอธิบายเป็นเชิงอรรถไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระของกวี

You may also like...