ซะการีย์ยา อมตยา

ซะการีย์ยา อมตยา กับการเดินทางของกวีผู้ไม่มีฉันทลักษณ์

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มต้นเป็นกวี
คงต้องเริ่มจากการเขียนระบายความรู้สึกในสมุดจดในห้องเรียน ในช่วงปีหนึ่งตอนที่ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่อินเดีย ซึ่งเป็นช่วงที่ผมต้องเรียนภาษา แต่ยังฟังอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง เพราะเรียนเป็นภาษาอาหรับทั้งหมด

พอไม่รู้เรื่อง ผมก็เอาดินสอมาเขียนอะไรเล่นๆ ระบายความรู้สึกตัวเองในสมุดจด จะว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นก็ว่าได้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเขียนอะไร คิดแค่ว่าเป็นการระบายความรู้สึกเท่านั้นเอง พอเขียนไปเรื่อยๆ มันก็เกิดความรู้สึกคล้ายกับว่าเสพติดการเขียน หลังจากนั้นไม่ว่าไปไหนผมก็มักจะต้องมีปากกาหรือไม่ก็ดินสอ มีกระดาษสักแผ่นติดตัวเอาไว้ เพื่อที่เวลาคิดอะไรออกก็จะเขียนเอาไว้ตลอด

อีกหนึ่งอิทธิพลที่มีส่วนในด้านการเขียนด้วยก็คงเป็นความสนใจทางด้านภาษาและการแปล จากการได้เรียนเกี่ยวกับวรรณคดีอาหรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวรรณคดีคลาสสิค วรรณคดีในยุคต่างๆ รวมไปถึงวรรณคดีร่วมสมัย ก็ได้อ่านหมด พอได้อ่านอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจเลยยิ่งรู้สึกว่า ต้องแปลออกมาให้คนอื่นได้อ่านด้วย ก็เลยเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยการลองแปลบทกวีภาษาต่างประเทศที่ตัวเองชอบอยู่เรื่อยๆ ซึ่งพอเราแปลมันก็ซึมเข้ามาในตัวเราโดยที่ไม่รู้ตัว จะบอกว่าการแปลก็คือการฝึกฝนทักษะทางด้านการเขียนไปด้วยก็ได้ เหมือนกับว่า ตอนแปลเราต้องอ่านก่อน พออ่านแล้วเราก็ชอบ เราก็ลงมือแปล และในกระบวนการแปล เราก็จะสร้างภาษาชุดหนึ่งในการแปลขึ้นมา ซึ่งก็คือภาษาไทยนี่แหละ แต่เป็นภาษาการแปลของเรา และภาษาชุดนี้ก็ติดมาในรูปแบบการเขียนของเราด้วย

พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย สองสามปีแรกก็เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต และลองโพสท์บทกวีที่ตัวเองเขียนลงไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งก็มีรุ่นพี่หลายคนเคยยุเหมือนกันว่าให้ส่งไปตีพิมพ์บ้าง แต่ความรู้สึกของผม ณ ตอนนั้น ก็แค่คิดว่ามีคนอ่านก็พอแล้ว ไม่ได้ปรารถนาว่างานของตัวเองจะต้องตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มอะไรขนาดนั้น

ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ปุถุชน” เป็นนามปากกา ก็เขียนไปเรื่อยๆ จนมีคนตามอ่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งในบรรดาคนอ่านก็จะมีทั้งนักเขียน มีนักวิจารณ์มาอ่านด้วย จนวันหนึ่งมีพี่ที่รู้จักกันได้แนะนำให้รู้จักกับเว็บไซต์ www.thaiwriter.com ของคุณนิวัติ พุทธประสาท ก็ทำให้ได้รู้จักคนในแวดวงกวีมากขึ้น จนกระทั่งพ.ศ. 2546 ก็มีการประกวดบทกวีในรูปแบบหนังสือทำมือของ MBK Indy Book Award ผมก็เลยลองรวบรวมบทกวีของผมจำนวนหนึ่ง แล้วขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่เป็นกวีอยู่หาดใหญ่ที่รู้จักกันจากการที่ผมอ่านงานของเขาในมติชนสุดสัปดาห์แล้วได้ติดต่อกันทางอีเมล์จนได้รู้จักนับถือกัน ซึ่งก็คือคุณมนตรี ศรียงค์ ตอนนั้นคุณมนตรีช่วยคัดเลือกบทกวีให้ และตั้งชื่อเล่มจากประโยคในบทกวีบทหนึ่งที่คัดมาก็คือ “ในสนามเด็กเล่นของหนู จะมีกับระเบิดไหมหนอ” ก็ได้รับรางวัลชมเชย และต้องถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้รู้จักพี่ๆ ในแวดวงวรรณกรรมมากขึ้นอีกหลายคน
จนครั้งหนึ่ง ผมเอาบทกวีไปโพสท์ลงในเว็บไซต์ประพันธุ์สาส์น แล้วคุณภาคย์ จินตนมัย ที่ดูแลคอลัมน์เกี่ยวกับการคัดเลือกเอาบทกวีที่โพสท์ในแต่ละเดือนมาวิจารณ์ ซึ่งบทกวีชื่อ  “ค่าแบมืออันเปลือยเปล่า” ก็ได้รับคำแนะนำว่าเป็นบทกวีที่ดีแล้ว ไม่ต้องเกลา พร้อมทั้งยังแนะนำให้ส่งลงสนาม เช่นหนังสือพิมพ์หรือในนิตยสารต่างๆ ผมก็เลยลองส่งดู จนได้ลงตีพิพม์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ หลังจากนั้นก็เลยส่งและได้ตีพิมพ์ตามที่ต่างๆ หลายแห่งเรื่อยมา

กวีต้นแบบ
สำหรับผมคงไม่สามารถบอกได้เป็นคนๆนะ ผมว่าการอ่านบทกวี ยิ่งอ่านเยอะยิ่งดี คือถ้าเรามีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจที่จะเขียนบทกวี การได้อ่านงานของคนอื่นๆ ที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน ก็เหมือนยิ่งเพิ่มความรู้ให้กับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมก็พยายามติดตามอ่านบทกวีจากหลายๆ ประเทศ ทั้งละตินอเมริกา, ยุโรป, ตะวันออก, อเมริกัน และอาหรับ (ที่ต้องเรียนและชอบอยู่แล้ว) ซึ่งแต่ละคนที่ชอบ ก็จะมีทั้งข้อดีข้อเสีย จุดเด่นจุดด้อยของเขาอยู่ คงยากที่จะนับใครสักคนเป็นต้นแบบได้

ทัศนต่อวงการกวีของไทย
ผมว่ากวีไทยจำนวนหนึ่งกำลังพยายามสร้างงานร่วมสมัย อีกจำนวนหนึ่งก็ยังคงยึดติดอยู่กับการถ่ายทอดเนื้อหาและการใช้ภาษาเหมือนสมัยก่อน
ส่วนรูปแบบหรือฉันทลักษณ์ จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคงไม่ใช่ปัญหาหรอก งานร่วมสมัยก็สามารถเขียนด้วยฉันทลักษณ์แบบเดิมๆ ก็ได้ แต่มันอยู่ที่วิธีการและวิสัยทัศน์ของกวีแต่ละท่านมากกว่า ถ้ากวีอ่านหนังสือเยอะ แสวงหาความรู้ตลอดเวลา เขาก็จะได้มีวิสัยทัศน์ที่กว้าง แต่บางส่วนที่ผมเห็น มักจะเขียนงานในลักษณะที่คล้ายๆ  กัน อย่างเช่นถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองก็จะเป็นการเมืองตรงๆ ไปเลย ไม่ได้ใส่สุนทรียศาสตร์เข้าไป ซึ่งก็เป็นเหมือนสูตรสำเร็จรูปที่เห็นได้อยู่ทั่วไป

ทัศนต่อการอ่านของคนไทย
ผมรู้สึกว่าสื่ออินเตอร์เน็ตยึดครองการอ่านไปเป็นจำนวนมากพอสมควร ดึงเวลาการอ่านหนังสือของคนเราไปเยอะ แต่จะบอกว่าเป็นข้อเสียก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะว่าถ้าเรารู้จักเลือกอ่าน ก็คงจะได้อ่านอะไรเยอะแยะมากมาย เพราะหนังสือเราอาจจะต้องสั่งซื้อ แล้วถ้ามันไม่มีล่ะ แต่พอมันมีในอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างก็อยู่ในขั้นตอนเดียว อยากอ่านเราก็อ่านได้เลย

ว่าง่ายๆ ก็คือมันเกิดคนอ่านกลุ่มใหม่ที่อ่านหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีคนอ่านที่รู้สึกว่าต้องอ่านจากหนังสืออยู่เหมือนกัน เพราะมันจับต้องได้มากกว่า เราไม่ต้องเปิด ไม่ต้องปลั๊กอิน อยากอ่านที่ไหนเมื่อไหร่ เราก็สามารถเปิดอ่านได้ตลอดเวลา ผมว่าอินเตอร์เน็ตมันไม่ได้เป็นปัญหานะ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งไม่แน่เหมือนกันว่าต่อไปในเมืองไทย การอ่านหนังสือของเราอาจจะกลายเป็นอีบุ๊ค (eBook) หมดเลยก็ได้ ผมเองก็อาจจะต้องขายหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน เหมือนอย่างที่ผมทำเว็บไซต์ขึ้นมา (www.thaipoetsociety.com) ส่วนหนึ่งก็เพราะที่ผ่านมา เราใช้อินเตอร์เน็ตมาเยอะ ได้เห็นว่ามีกลุ่มคนอ่านกวีนิพนธ์ในอินเตอร์เน็ตมากพอสมควร ซึ่งถ้าเป็นหนังสือนี่ คนอ่านเขาไม่ได้ตามซื้อได้ทุกเล่ม แต่พอลงในอินเตอร์เน็ต ได้อ่านฟรี ไม่ต้องซื้อ มันก็เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น
ให้เปรียบเทียบดู อินเตอร์เน็ตก็เหมือนหนังสือแต่เป็นหนังสือที่แบนแค่หน้าเดียว เวลาคนที่เข้ามาอ่านบทกวี อาจจะอ่านเป็นชิ้นๆ ของคนนั้นคนนี้ไป แต่ถ้าลองรวมทั้งปี จริงๆ แล้วปริมาณการอ่านของเขาอาจจะเทียบเท่ากับหนังสือเป็นเล่มๆ เลยก็ได้

ผมว่าคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นนะ ดูจากปริมาณของหนังสือนิยายเกาหลีหรือแนวหวานแหววต่างๆ ที่จะเห็นได้ชัดๆ เวลาเราเข้าร้านหนังสือ ซึ่งจะมีเยอะมาก เยอะกว่างานวรรณกรรมเสียอีก ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าการที่หนังสือเหล่านี้เยอะมันเป็นข้อเสียหรอกนะ เพราะการที่ผลิตออกมาได้มากมายขนาดนี้ แสดงว่ามีคนอ่าน นั่นก็ย่อมหมายความว่าคนไทยอ่านหนังสือเยอะขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะเด็กๆ โอเค เค้าอาจจะอ่านแนวแบบนี้ ที่การประเมิณคุณค่าของคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นอะไรที่ไร้สาระ นั่นก็เป็นเพราะว่าเราอาจจะมองจากมุมของเรามากเกินไป แต่เรากลับลืมนึกไปว่า ตอนเด็กๆ หนังสือเล่มแรกที่เราอ่านก็คือหนังสือการ์ตูนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผม ผมมองว่ามันเป็นก้าวแรกของเขา พอโตขึ้น เขาก็จะต้องหาอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจไปตามวัยของตัวเอง เราต้องให้โอกาสเขา แค่การที่เขาเริ่มอ่านหนังสือก็ต้องถือว่าดีแล้ว ประเสิรฐมากแล้ว

นักเขียนคนโปรด
อัลแบร์ กามูส์ ที่เขียนหนังสือชื่อ “มนุษย์สองหน้า” กับการ์เซีย มาร์เกซ เขียนหนังสือชื่อ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” สองคนนี้จะเขียนงานคนละแนวกัน อัลแบร์ การ์มูส์เขาจะเขียนวรรณกรรมเชิงปรัชญา ส่วนมาร์เกซจะเขียนงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical realistic) ที่จะเป็นเรื่องราวเหนือจริง จะออกแนวฝันๆ ซึ่งเหตุผลที่ชอบเชิงปรัชญาของอัลแบร์ การ์มูส์นี่เป็นเพราะสนใจมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่มาร์เกซนี่ประทับใจตรงความเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี หนังสือของเขาสามารถเล่าจนเราเชื่อหมดเลย มีเสน่ห์ พออ่านแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นตำนานได้ มันตรึงอยู่ในความรู้สึก คือหนังสือก็หนานะ แต่ผมกลับรู้สึกว่าต้องอ่านหลายรอบ ซึ่งก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเพราะอะไร เป็นเสน่ห์ของตัวเขาจริงๆ

อีกคนคือนักเขียนตุรกีชื่อ ออร์ฮาน ปามุก เขียนหนังสือชื่อ My name is red สองคนที่พูดถึงไปก่อนหน้านั้น อาจจะมีผลงานที่แปลเป็นภาษาไทยให้อ่านเยอะกว่า แต่ My name is red ของออร์ฮาน ปามุกนี่ถือเป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่ได้อ่าน ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตุรกีที่ให้ความสำคัญกับศิลปะในยุคที่จักรวรรดิออตโตมันกำลังรุ่งเรืองและมีช่างในราชสำนัก โดยส่วนตัวก็คือสนใจศิลปะอยู่แล้ว โดยเฉพาะศิลปะที่เกี่ยวกับมุสลิม ออร์ฮาน ปามุกเป็นอีกนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี รวมไปถึงการใช้ภาษา เพราะการที่คนเราจะเอาประวัติศาสตร์มาเขียนเป็นนิยายได้โดยอ่านแล้วไม่รู้สึกเบื่อ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยทีเดียว

วิถีชีวิตช่วงนี้
ต้องบอกว่าไม่เหมือนเดิม ต่างกันมากเลย ผมต้องมีตารางจดเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง วันไหนต้องไปที่ไหน คือที่ผ่านมาไม่มีไง แต่ตอนนี้มันคือยุ่งมากกว่าเดิม อย่างเช่นการที่ผมต้องใช้โทรศัพท์มือถือนี่ ก็คือเพราะยุ่งจริงๆ จากที่ไม่เคยใช้เลย เพิ่งซื้อมาเมื่อตอนที่ประกาศรางวัลซีไรต์ได้สองสามวันนี่เอง เพราะงานเลยจำเป็นต้องมี แรกๆ ก็หนักใจอยู่เหมือนกันนะ จะผวาเลยเวลาโทรศัพท์ดัง ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องปรกติของชีวิตเท่าไหร่
นอกจากมีนัดสัมภาษณ์ตามที่ต่างๆ บางครั้งก็จะได้รับเชิญไปพูดตามมหาวิทยาลัย เหมือนเป็นการทำงานและได้โปรโมตหนังสือของเราไปด้วยในตัว จะว่าไปแล้วมันไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่เท่าไหร่นักหรอก

ที่ผ่านมาไม่เคยมีแพลนอะไรเลยนะ แต่ตอนนี้เริ่มมีการวางแผนให้ตัวเองไว้บ้างเหมือนกัน รอให้พ้นช่วงยุ่งๆ นี้ไปก่อน ก็ตั้งใจว่าจะพยายามเขียนบทกวีให้สามารถรวมเล่มได้สักปีละหนึ่งเล่มเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ผมไม่เคยสนใจตรงนี้เลยไง คิดว่าถ้าชีวิตเริ่มสงบเมื่อไหร่ก็อยากจะลองดู
อีกหนึ่งอย่างก็คิดว่าจะแปลหนังสือให้ออกมาเป็นจริงเป็นจังสักเล่ม ส่วนใหญ่จะออกแนวเป็นงานแปลกระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอันมากกว่า จากที่เคยมีผลงานแปลออกมาแล้วหนึ่งเล่มชื่อ “ด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมสุข” ตั้งแต่เมื่อตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย กะว่าพอพ้นช่วงนี้ อยากจะแปลหนังสือชื่อ 35 sonnets ของเฟอร์นานโดร เพชัว (Fernando Pessoa) เป็นกวีของฝรั่งเศสที่ตั้งใจจะแปลไว้นานแล้ว ก่อนที่จะได้ซีไรต์เสียอีก คือเราชอบกวีคนนี้อยู่ พอดีงานชิ้นนี้เขียนด้วยภาษาอังกฤษด้วย ก็เลยคิดว่าน่าจะลองแปลเล่มนี้ดู เป็นงานเชิงความคิดเหมือนกั

ปณิธานของการเป็นนักเขียน
อยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอ่านได้ต่อยอดทางความคิด ไม่ใช่เป็นบทสรุปทางความคิดหรืองานเชิงวิชาการ ก็ตั้งใจว่าจะเขียนประมาณนี้ต่อๆ ไป คืออ่านแล้วต้องคิดต่อ คุณอาจต่อยอดมากกว่าที่ผมเขียนก็ได้ จะแตกกิ่งสาขาไปคนละอย่างคนละเรื่องเลยก็ได้ อยากส่งเสริมตรงส่วนนี้ คือจุดประกายทางจินตนาการให้คนอ่านคนอื่นๆ ต่อ อาจจะเป็นเช่นเดียวกับการใช้ปณิธานจากบทกวีที่ผมเขียน ที่จะไม่มีคำตอบในตัว เพราะคำตอบของมันก็จะอยู่ที่ผู้อ่านนั่นแหละว่าจะตีความอย่างไร

บทกวีเป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์ อ่านแล้วมันจะดึงสิ่งที่อยู่ภายในเราออกมา แม้ว่าบทกวีอาจจะไม่ใช่คำตอบอะไรทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด การได้อ่านบทกวี ผมเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตช้าลง เพราะถ้าใครจะอ่านบทกวีต้องตั้งใจอ่าน คืออ่านทีละบรรทัด ต้องค่อยๆ อ่านแล้วก็คิดตามด้วย
“บทกวีให้ในเรื่องของการทำให้ชีวิตที่เร่งรีบของเรามีโมงยามแห่งความสงบ เป็นการหยุดให้ชีวิตเราเดินช้าลง ให้เราได้มีเวลามานั่งพินิจพิจารณาอย่างอื่นบ้าง”

(เรื่องและภาพโดย ณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ)

You may also like...