แดนลงทัณฑ์ ธรรมชาติของความขัดแย้ง

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติของเราถึงไม่เคยว่างเว้นจากสงคราม การรบราฆ่าฟัน การทะเลาะเบาะแว้ง แม้แต่ความขัดแย้งทางความคิด ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สงสัยเรื่อยมา จนกระทั่งได้อ่านเรื่องสั้นชื่อ แดนลงทัณฑ์

(In thr Penal Colony หรือ INDER STRAFKOLONIE : ค.ศ. 1914 ) ผลงานของนักเขียนอมตะชาวออสเตรเลีย-ฮังการี นาม ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka : ค.ศ. 1883-1924) แม้ชื่อชั้นของ ฟรันซ์ คาฟคา จะขึ้นหิ้งอมตะเหมือนเช่นนักเขียนเอกหลายๆคน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เสียงตอบรับผลงานการเขียนของคาฟคากลับแตกออกเป็น 2 ซีก ถ้าผู้อ่านไม่หลงใหลได้ปลื้มก็จะเกลียดเข้าใส้

ด้วยเหตุว่างานเขียนของคาฟคาส่วนใหญ่ไม่ได้เดินตามรอยการเขียนวรรณกรรมทั่วไป ที่ต้องมีการปูพื้นตัวละครหรือบอกเล่ารายละเอียดอย่างชัดเจน สมจริง กลับกัน ผลงานของคาฟคามักเล่าเรื่องของตัวละครที่ไม่รู้ที่มาที่ไป อีกทั้งพิลึกพิลั่นเหนือจริง เหมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นอยู่กันคนละมิติกับเรา งานเขียนของคาฟคาจึงเป็นงานที่อ่านเข้าใจยาก เรียกความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ผู้อ่านได้อย่างยิ่งยวด แดนลงทัณฑ์ก็เป็นเช่นนั้น

แดนลงทัณฑ์ เล่าถึงเหตุการณ์การประหารชีวิตนักโทษคนหนึ่งในดินแดนแห่งหนึ่งที่แสนแห้งแล้ง ตัวละครในเหตุการณ์ประกอบด้วยนายทหาร, นักเดินทาง, นักเดินทางเพื่อการค้นคว้า, ผู้ต้องโทษ และพลทหาร จากเนื้อเรื่องผู้อ่านจะได้ทราบว่านักเดินทางเพื่อการค้นคว้า ได้รับเชิญจากผู้บัญชาการคนใหม่ของดินแดนแห่งนี้ ให้เข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตผู้ต้องโทษของดินแดนคนหนึ่ง ด้วยเครื่องประหารที่แปลกประหลาดพิลึกพิลั่นและแสนจะโหดเหี้ยมอมหิต ซึ่งมีนายทหารเป็นผู้คอยควบคุมดูแลการประหารชีวิต

นายทหารภูมิใจกับเครื่องประหารชีวิตที่แสนจะแปลกและสุดจะอมหิตที่ว่านี้ จึงไม่แปลกที่ในเนื้อเรื่องผู้อ่านจะได้เห็นนายทหารพยายามอธิบายระบบกลไกการทำงานของเจ้าเครื่องประหารชีวิตที่ว่าด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมกันนั้นก็กล่าวยกย่องอดีตผู้บัญชาการคนเก่าผู้คิดค้นเจ้าเครื่องที่ว่านี้ ซึ่งเขาเคารพรักอย่างยิ่งยวดให้นักเดินทางเพื่อการค้นคว้าฟังไม่ขาดสาย แต่ประเด็นก็คือว่า นับแต่ผู้บัญชาการคนเก่าเสียชีวิตไป ผู้บัญชาการคนใหม่กลับไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตด้วยเครื่องประหารนี้ และพยายามจะล้มเลิกการประหารชีวิตด้วยเครื่องที่ว่าลง นั่นทำให้นายทหารไม่พอใจ และตั้งตนงัดข้อกับผู้บัญชาการคนใหม่เรื่อยมา

จนกระทั่งนักเดินทางเพื่อการค้นคว้าเดินทางมาถึงดินแดนแห่งนี้ นายทหารก็เกิดความหวัง อยากให้นักเดินทางเพื่อการค้นคว้าได้มาเห็นการประหารที่ตนแสนภูมิใจ แล้วช่วยพูดกับผู้บัญชาคนใหม่ว่าเครื่องประหารของตนไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และเป็นกระบวนการที่ควรดำรงรักษาสืบไป กระนั้นนักเดินทางเพื่อการค้นคว้ากลับตอบปฏิเสธ ด้วยมองว่าการประหารชีวิตคนด้วยเครื่องที่ว่า เป็นความโหดเหี้ยมที่น่าสะอิดสะเอียน เมื่อได้ยินดังนั้น นายทหารก็ถอดใจ ตัดสินใจปล่อยผู้ต้องโทษเป็นอิสระแล้วหันมาประหารชีวิตตนเองด้วยเครื่องประหารที่ตนศรัทธาแทน

อ่านแดนลงทัณฑ์จบลง ผู้เขียนได้แต่นั่งอึ้ง ก่อนจะต้องเปิดอ่านใหม่อีกรออบ แล้วก็พบประเด็นที่น่าสนใจที่ควรแก่การนำมากล่าวถึง นั่นคือ ประเด็นเรื่องธรรมชาติของความขัดแย้ง

จากฉากในเรื่อง ผู้อ่านจะได้เห็นการคัดง้างกันของความเชื่อในช่วงของการผลัดเปลี่ยนยุคสมัย ฝ่ายหนึ่งคือผู้บัญชาการคนใหม่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตคนด้วยเครื่องประหารที่สุดแสนอำมหิต กับอีกฝ่ายคือนายทหารที่ยังศรัทธาในตัวผู้บังคัญบัญชาการคนเก่าและเครื่องประหาร ก่อนที่ถึงที่สุด นายทหารผู้ศรัทธาในอำนาจเก่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ภาพที่ปรากฏในแดนลงทัณฑ์นี้ ได้สะท้อนให้เราในฐานะผู้อ่านได้เห็นถึงสัจธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์

ถอยออกจากเรื่องสั้นชิ้นนี้ แล้วพิจารณาโลกในความเป็นจริง เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติของเราถึงไม่เคยว่างเว้นจากสงคราม การรบราฆ่าฟัน การทะเลาะเบาะแว้ง แม้แต่ความขัดแย้งทางด้านความคิด นั่นเพราะมนุษย์ไม่เคยเลยที่จะคิดจะเชื่อและยืนอยู่ฝั่งเดียวกันทั้งหมดทุกคน

นั่นเพราะมนุษย์เราถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับอัตตา ตัวกู ของกู ความเชื่อกู ซึ่งนั่นย่อมแตกต่างไปจาก ตัวมึง ของมึง ความคิดมึง ความเชื่อมึง ซึ่งมนุษย์เราส่วนใหญ่ก็ทิฐิพอที่จะยึดมั่นใน ตัวกู ของกู ความคิดกู ความเชื่อกู พอที่จะไม่ยอมรับความเป็นตัวมึง ของมึง ความคิดมึง ความเชื่อมึงได้ จุดจบของการยึดมั่นในความเป็นกูทั้งหลายจึงคือความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง รบราฆ่าฟันและสงคราม นี่คือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ดังนี้แล้วสามารถกล่าวได้ไหมว่า ถึงที่สุดมนุษย์เราเกิดมาเพื่อจะขัดแย้ง และโลกมีอยู่เพื่อจะรองรับความขัดแย้งระหว่างมนุษย์แต่ละฝ่าย

ในเรื่อง การถูกเครื่องประหารที่ตนศรัทธาทำลายชีวิตของตนเองของนายทหาร ก็คือการแสดงให้เห็นถึงทิฐิในการยึดมั่นความคิดความเชื่อของตัวเขาเอง เขายอมที่จะตายด้วยสิ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อที่เขาศรัทธา มากกว่าจะยอมพ่ายแพ้ต่อหน้าต่อตาอริของเขา ความตายของนายทหารอาจคือจุดล่มสลายของยุคเก่า ความเชื่อแบบเก่า และคนรุ่นเก่า พร้อมกันนั้นก็ได้เปิดฉากการเริ่มต้นยุคใหม่ ความเชื่อแบบใหม่ และคนรุ่นใหม่ กระนั้น สามารถชี้ชัดตัดสินได้ไหมว่า ยุคใหม่ ความเชื่อแบบใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ว่า จะไม่ถูกยุคที่ใหม่กว่า ความเชื่อแบบใหม่กว่า และคนรุ่นใหม่กว่าเข้ามาขัดแย้งแย่งชิงสถานะในกาลอนาคต มองประวิติศาสตร์มนุษย์ที่ผ่านมาของเราจะเห็นคำตอบ

มองในแง่นี้ แดนลงทัณฑ์ในความหมายที่คาฟคาต้องการนำเสนอ แท้แล้วอาจคือโลกใบนี้ของเรานี่เอง ในเมื่อมนุษย์เกิดมาเพื่อจะขัดแย้งระหว่างกัน และพระผู้เป็นเจ้าหรืออะไรก็ตามแต่ ได้ดลบันดาลให้มนุษย์เกิดมาบนโลกใบนี้ โลกจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากสนามประลองกำลังระหว่างมนุษย์ที่คิดและเชื่อคนละอย่าง เป็นแดนลงทัณฑ์ที่พระเผู้เป็นเจ้าสาปไว้ ให้มนุษย์เกิดมาเพื่อรับทัณฑ์ ด้วยการขัดแย้งกัน ต่อสู่กัน ร้องไห้เสียใจ และสิ้นชีวิตอยู่บนแดนลงทัณฑ์กลมๆใบนี้

ปิดหน้าหนังสือลง แล้วเหม่อมองไปยังอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างไม่แปลกใจกับความขัดแย้ง ที่มีอยู่ในทุกหัวมุมถนน เพราะนั่นคือธรรมชาติ ความขัดแย้งจะยังคงมีอยู่รำไป จนกว่าแดนลงทัณฑ์ใบนี้จะแตกดับ หรือเหลือมนุษย์ผู้อยู่รอดจากความขัดแย้งคนเดียวบนแดนลงทัณฑ์ใบนี้

TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์

 

 

You may also like...