คู่กันนิรันดร End & Chang Bunker

จากลุ่มน้ำแม่กลองสู่นอร์ทแคโรไลน่า คือเส้นทางอันยาวไกลแห่งชีวิตอัศจรรย์ของสองชาย ที่ถือกำเนิดในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทั้งในวงการแพทย์ และประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เรื่องราวอันเหลือเชื่อของคู่แฝดที่ถูกเชื่อมติดด้วยท่อนเอ็นเชื่อมหน้าอก ที่ไม่เพียงเชื่อมร่าง แต่ยังเชื่อมทั้งสุข ทุกข์ ความรัก ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความตาย

“พันธนาการระหว่างสองชีวิตนี้ อุบัติขึ้นโดยปราศจากสิทธิในการอุทธรณ์ เขาถูกกำหนดทางเลือกเพียงสอง อิสระที่หมดลมหายใจ หรือเคียงข้างกันไปจนวันสุดท้าย”

เอ็ง และ ชาง บังเกอร์ (1811-1874) หรือ อินจัน
ผู้เป็นที่มาแห่งศัพท์บัญญัติ Siamese Twins ถือกำเนิดในเรือนแพริมน้ำสมุทรสงครามในสภาพแฝดติดกันที่มีท่อนเนื้อเชื่อมหน้าอกขนาดสี่นิ้วซึ่งยืดออกไปได้ถึงแปดนิ้ว ในวัยสิบแปดปี พวกเขาถูกพ่อค้าชาวตะวันตกซื้อตัวจากมารดาด้วยราคาค่าชีวิตเพียงห้าร้อยเหรียญ นำตัวลงเรือเดินสมุทรไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกา

ด้วยบุคลิกที่ฉลาดเฉลียว ร่าเริง และเป็นตัวของตัวเองฝาแฝดหนุ่มน้อยไม่เพียงสร้างความตื่นเต้น ให้ชาวอเมริกัน จนกลายเป็นขวัญใจแห่งยุคสมัย แต่ยังประกาศความเป็นไทจากนายทุน ดำเนินธุรกิจการแสดงของตัวเองจนมีฐานะมั่งคั่ง สามารถซื้อที่ดิน ตั้งรกรากในนอร์ทแคโรไลน่า ดำรงอาชีพกสิกรไร่ยาสูบ และที่สร้างความตื่นตะลึงที่สุด คือ ประกาศสมรสกับสาวงามสองคนในสกุลเยทส์ จนก่อกำเนิดเชื้อสายชายหญิงรวม 21 คน

หลังสงครามกลางเมือง ชีวิตของแฝดสยามต้องเผชิญกับความพลิกผันอย่างสาหัส จากความร่ำรวยสู่ความยากจน ต้องเข้าร่วมทั้งสงครามกลางเมือง และสงครามชีวิตระหว่างกันอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ความพยายามที่จะผ่าตัดแยกออกจากกัน แต่ก็ไม่มีแพทย์คนใดยอมผ่าตัดให้ เพราะนั่นอาจหมายถึงการสูญเสียชีวิตของคนทั้งคู่

จนมาถึงขวบปีสุดท้ายของชีวิต ที่เอ็งที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ต้องทนทุกข์ทรมานไปด้วยกับชางที่ล้มป่วยเป็นอัมพาต ตราบจนนาทีที่ชางกำลังสิ้นใจ ไม่เพียงเอ็งที่คาดเดาวาระสุดท้ายของตนไม่ได้ แต่โลกทั้งโลกยังหยุดเคลื่อนไหว เพื่อรอฟังคำเฉลยของปริศนาที่สงสัยกันมานานแสนนาน ว่าความตายจะแยกคนคู่นี้ออกจากกันได้หรือไม่

อินจัน ไม่ใช่แฝดสยามคู่แรกที่ถือกำเนิดในโลก แต่คนคู่นี้คือคู่แฝดติดกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ยืนยาวที่สุด สง่างามที่สุดและทรนงเป็นที่สุด พวกเขาเกิดเมื่อปี 1811 (พ.ศ. 2354) และเสียชีวิตเมื่อปี 1874 (พ.ศ. 2417)

ดำเนินชีวิตคู่ให้โลกพิศวงงงงวยอยู่ถึง 63 ปี
63 ปี ที่ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ ได้เจ็บ  ได้รัก ได้สุข ได้ทุกข์ และได้เศร้าจนถึงที่สุดของชีวิต
63 ปี ที่เต็มไปด้วยรสชาติ สนุกโลดโผนไม่เหมือนใคร และยิ่งใหญ่อย่างไม่มีใคร (กล้า)เหมือน
63 ปีที่พวกเขาสอนโลกให้รู้จักบทเรียนล้ำค่า บทเรียนแห่งความศรัทธา ความกล้าที่จะไปให้ถึงฝัน

มีคำกล่าวในวงการแพทย์ที่ว่า การเกิดเป็นแฝดตัวติดกันนั้นถือเป็น ความพิการแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง แต่สำหรับอินและจัน คนคู่สู่ชีวิตที่ยืนเคียงข้างกันอย่างสง่างามเพียงนี้ ใครจะกล้าใช้คำว่า พิการ กับพวกเขาได้เต็มปาก

ความล้าหลังทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 19 กลับกลายเป็นโอกาสให้คนทั้งคู่ร่วมสร้างเส้นทางชีวิตที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก สร้างข้อโต้แย้งมากมายให้กับวงการแพทย์ เมื่อครั้งยังมีชีวิตและสิ้นลมหายใจ และแม้พวกเขาจะจากไปมากกว่า 100 ปีแล้ว ก็ยังทิ้งปมปริศนาอีกมากมายไว้ให้คนรุ่นหลังช่วยกันหาคำตอบ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร แห่งวิชากายวิภาควิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช ได้เคยปรารภว่า

คำว่า สยาม ในกิจการทั่วไปนับวันจะเสื่อมสูญ แต่คำนี้ในวงการแพทย์จะอยู่ต่อไปอีก เนื่องจากแฝดติดกันรายแรกที่มีชีวิตอยู่ได้นานนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย

คนคู่นี้มีชีวิตอย่างไร จึงทำให้โลกไม่ลืมคำว่า แฝดสยาม นี่คือบทเริ่มของตำนานชีวิตคู่ที่มหัศจรรย์จนไม่อยากเชื่อว่ามันมีอยู่จริง ตำนานชีวิตบทที่เริ่มหน้าแรก ในวันหนึ่งอันร้อนจ้าของปีพุทธศักราช 2354 บนเรือนแพริมแม่น้ำแม่กลองของประเทศสยาม ไกลจากที่ฝังร่างไร้วิญญาณของพวกเขานับหมื่นไมล์

FACTS  ABOUT SIAMESE TWINS
มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ให้กำเนิดลูกครั้งละเพียง 1 คน การตั้งครรภ์เด็กตั้งแต่สองคนขึ้นไปถือว่าเป็นครรภ์ผิดปกติ เด็กที่คลอดออกมาจะถูกเรียกว่า แฝด

แฝดมีสองประเภท คือ แฝดเหมือนและแฝดคล้าย แฝดคล้ายเกิดจากไข่คนละใบผสมกับเชื้ออสุจิคนละตัว จึงมักมีรกแยกจากกันคนละอัน ส่วนแฝดเหมือนที่เกิดจากไข่ใบเดียงกัน ผสมกับอสุจิตัวเดียวกัน แล้วเกิดการแบ่งตัวเป็นสองส่วนหรือมากกว่านั้น หากโชคร้ายการแบ่งตัวของแฝดเหมือนเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์ แฝดติดกัน โอกาสเช่นนี้เกิดขึ้นยากมาก เพียง 1 ใน 50,000 ของการตั้งครรภ์เท่านั้น

ในยุคโบราณ  แพทย์เคยมีความเชื่อว่า แฝดติดกันเกิดขึ้นเนื่องจากทารกสองคนเชื่อมติดกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ทฤษฎีปัจจุบันชี้ชัดว่า แฝดติดกันเกิดขึ้นเนื่องจากกลุมเซลล์แบ่งตัวไม่สมบูรณ์ โดยแพทย์เชื่อว่าถ้าการแบ่งตัวเกิดขึ้นช้าหลังจากตั้งครรภ์มากกว่า  13 วันแล้ว การแบ่งตัวนั้นอาจไม่เป็นไปตามปกติ

ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวถึงท่าทางการเกิดของแฝดติดกันว่าการคลอดธรรมชาติมักเป็นอย่างยากลำบาก เป็นเหตุให้แฝดติดกันส่วนใหญ่มักเสียชีวิตตรงกับความเห็นของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ที่เขียนไว้ในบทความ แฝดติดกันที่หน้าอกกับประเทศอเมริกา ลงใน สารสิริราช ปีที่ 40 ฉบับที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2531 ว่า แฝดติดกันเป็นการเกิดผิดปกติที่เข้าใจว่ามีมานานแล้ว ปรากฏขึ้นในทุกประเทศแต่เนื่องจากการคลอดของแฝดยากกว่าการคลอดเด็กปกติมากจึงอาจตายเสียตั้งแต่คลอด หรือบางครั้งก็ตายเสียทั้งแม่ทั้งลูก แฝดติดกันแบบต่างๆในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอนจึงเป็นแฝดที่ตายจากการคลอดทั้งสิ้น

แนะนำหนังสือ : คู่กันนิรันดร End & Chang Bunker พฤศจิกายน 2546
เรียบเรียง : อริยา จินตพานิชการ
จัดพิมพ์โดย : บริษัท กันตนาพับลิชชิ่ง จำกัด

You may also like...