ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพพระราชทานอันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ประกอบกิจการด้านการแสดง ละคร ภาพยนตร์และดนตรีจนประสบความสำเร็จ

โดยได้รับการตอบรับอันดีเยี่ยมจากประชาชนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลในวงการแสดงทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมมหรสพครบทุกรูปแบบทั้งการแสดงหน้าม่าน ละคร ภาพยนตร์ โขน และดนตรีให้ประชาชนได้ชมกัน

ศาลาเฉลิมกรุงจึงตระหนักถึงความสำคัญที่จะมุ่งมั่นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันงดงาม และธำรงรักษา ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้คงอยู่ไว้สืบไป เพื่อให้ประชาชนได้รับชมการแสดงต่างๆ ที่มีคุณภาพครบทุกอรรถรส อีกประการหนึ่งเพื่อให้เป็นการ ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นนโยบายหลักของศาลาเฉลิมกรุงอีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 นั้น ภาพยนตร์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเกือบ 38 ปีแล้ว นับจากวันที่หลุยส์ ลูมิแอร์ (LUMIERE) และคณะได้นำภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟของเขาออกเผยแพร่ เก็บค่าดูจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก ณ ห้องใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2438 ซึ่งถือว่าวันนี้คือวันกำเนิดของภาพยนตร์บนโลกตามมาตรฐานสากล

ระยะแรกภาพยนตร์ที่นำออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากต่างประเทศ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยยังคงผลิตกันได้น้อย มีการนำการพากย์เสียงภาษาไทยให้กับภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากต่างประเทศแทนการพากย์ภาพยนตร์เงียบโดยมีนายสิน สีบุญเรือง หรือทิดเขียว เป็นผู้ริเริ่ม

ล่วงเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงในฐานะโรงมหรสพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ดุจเดียวกับเวทีที่ไม่อาจร้างการแสดงเป็นโรงมหรสพที่ไม่อาจร้างผู้ชม เมื่อความนิยมของผู้คนผันแปรไปอย่างไม่อาจฝืนกระแส ก็ย่อมถึงเวลาแห่งการปรับจุดยืนเปลี่ยนบทบาทการวางตัวใหม่ของศาลาเฉลิมกรุงเช่นกัน

โดยความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริษัท สหศีนิมา จำกัด ผู้ดูแลกิจการของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงได้ให้ความร่วมมือสำหรับการเข้ามาของ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ในการปรับปรุงศาลาเฉลิมกรุงให้เป็นโรงมหรสพเพื่อการแสดงระดับสากลอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ

วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 วันสุดท้ายก่อนที่จะยุติการแสดงไว้ชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ในฐานะผู้เช่าดำเนินกิจการได้ทำการปรับปรุงโรงมหรสพเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเพื่อสืบสานแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปรารถนาจะให้ศาลาเฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ

และเพื่อดำเนินกิจการแสดงอันเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ของไทย คือการแสดงโขนในลักษณะประยุกต์ใหม่ที่เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” และการแสดงละครเวที ซึ่งนับเป็นการอนุรักษ์และช่วยส่งเสริมศิลปะบันเทิงในด้านนี้ ให้มีพัฒนาการที่แพร่หลายสู่ระดับสากลประเทศและสามารถสืบทอดถึงคนรุ่นต่อไป

ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการบูรณะปรับปรุงส่วนโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายใน โดยยึดแนวทางที่จะอนุรักษ์งานโครงสร้างเดิมไว้เป็นหลัก การต่อเติมและปรับแต่งจะทำเฉพาะในส่วนที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อความสอดคล้องและเอื้ออำนวยต่อการแสดงในลักษณะที่ตัวเวทีเป็นหลักในการชม ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ที่เป็นการชมภาพจากจอฉายภาพยนตร์ ส่วนการตกแต่งแม้จะมีการเพิ่มเติมความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน และเสริมความหรูหราให้สมกับการเป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศบ้างแต่ก็ยังคงแนวทางศิลปะในแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ไว้ตลอด

ดังนั้นศาลาเฉลิมกรุงในบทบาทของโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งขนาดใหญ่ที่เคยหรูหรางดงามที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อไม่อาจฝืนกระแสความนิยมที่ลดลงได้ จึงต้องมีการปรับตัวแหวกกระแสสู่ศิลปะบันเทิงในด้านอื่นด้วยบทบาทใหม่ของการเป็น “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงมหรสพหลวง ที่ยังคงให้บริการด้าน การบันเทิงและศิลปะบันเทิงในแขนงต่างๆ เช่นเดิม เพียงแต่บทบาทใหม่ในการเป็นโรงมหรสพ “ศาลาเฉลิมกรุง” มิได้มุ่งเน้นในด้านภาพยนตร์ เพียงอย่างเดียวเช่นแต่ก่อน หากมุ่งเน้นในด้านศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยคือการแสดงนาฏศิลป์ “โขน” โดยนำมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการแสดงในลักษณะประกอบแสง สี เสียง และเทคนิคพิเศษ เพื่อเสริมอรรถรสแห่งการชมโขนให้มีจินตนาการที่สมจริงยิ่งขึ้น การแสดงนี้เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” ซึ่งยังคงยึดถือแนวแบบแผนของการแสดงนาฏศิลป์โขนไว้ดุจเดิม แต่ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างของบทและรูปแบบการนำเสนอให้มีความกระชับสมควรแก่เวลาในการชมและประยุกต์เทคโนโลยีเสริม เพื่อประกอบการแสดงให้มีความสนุกสนานและดึงดูดความสนใจของผู้ชมที่ห่างเหินจากศิลปะการแสดงประจำชาติแขนงนี้ให้กลับมาช่วยกันธำรงอนุรักษ์ไว้ ละครเวทีซึ่งเคยเป็นศิลปะการแสดงที่เคยรุ่งเรืองมากในยุคหนึ่งของศาลาเฉลิมกรุง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้รับการสนับสนุนให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเช่นกัน ด้วยโครงสร้างระบบเวทีและเทคนิคที่เสริมสร้างและเอื้ออำนวยต่อการแสดงมากขึ้น จากความผูกพันของผู้คนทั่วไปที่มีต่อศาลาเฉลิมกรุงตลอดมา บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด ผู้เข้ามารับช่วงเช่าดำเนินกิจการศาลาเฉลิมกรุงในบทบาทของ “ศาลาเฉลิมกรุง” จึงมิได้ละเลยภาพลักษณ์เก่าๆ อันคงความผูกพันระหว่างผู้คนและสถานที่แห่งนี้ ด้วยความพยายามที่จะคงเก็บถนอมสิ่งเกี่ยวข้องอันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม สถานะความเป็นโรงมหรสพที่หรูหราสวยงามเป็นที่เชิดชูตาของประเทศ บรรยากาศของความเป็นโรงมหรสพเก่าแก่ที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับจากผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้อง ดุจเดียวกับเป็นสถาบันทางด้านการแสดง และบรรยากาศของความผูกพันในด้านความรู้สึกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า ศาลาเฉลิมกรุงเคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

ที่สำคัญคือการนำนาฏศิลป์โขนอันเป็นศิลปะการแสดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มาประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการนำเสนอที่น่าสนใจยิ่ง ขึ้นนั้น ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูความนิยมในการชมการแสดงแขนงนี้ ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี ให้ดำรงอยู่และสามารถสืบทอดต่อเนื่องถึง คนรุ่นต่อๆ ไป รวมทั้งสามารถเผยแพร่สู่ชาวต่างประเทศในระดับสากลอีกด้วย หากจะมองกันในอีกแง่หนึ่ง ความคิดในการนำเสนอรูปแบบการแสดง “โขนจินตนฤมิต” คือ การผสานเอาเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะการแสดงไทยที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ซึ่งนับว่าเป็นแง่มุมที่คล้ายกับความคิดในการออกแบบ อาคารศาลาเฉลิมกรุง ที่มีการผสานเทคโนโลยีทางด้านสถาปัตยกรรมในรูปแบบตะวันตกกับศิลปกรรมไทยไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม ทั้งสองความคิดทั้ง สองแง่มุมล้วนได้รับการสร้างสรรค์มาจากความรู้สึก ที่ต้องการนำเทคโนโลยีอันมีประโยชน์มาผสานใช้กับศิลปะไทยเพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นไทยให้มี ความโดดเด่นน่าภาคภูมิขึ้น และมีความทันสมัยในประโยชน์ใช้สอยของเทคโนโลยีเป็นส่วนช่วยเสริม

ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงยังคงเป็นโรงมหรสพที่ยิ่งใหญ่งดงามและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยและชาวไทยทั้งมวล ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ศาลาเฉลิมกรุงจึงเปรียบเสมือนพระบรมราชานุสรณ์อันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดพระราชดำริของพระองค์ผู้ทรงพระราชทานโรงมหรสพแห่งนี้ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับพสกนิกรชาวไทยตลอดไปชั่วกาลนาน
ศาลาเฉลิมกรุง: 66 ศาลาเฉลิมกรุง ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ 10200
โทร : (02) 222 0434, (02) 225 8757 – 8, (02) 623 8148 – 9
เวลาทำการ: จันทร์ – อาทิตย์ (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)
ตั้งแต่เวลา: 9.00 น. – 18.00 น.

ที่มาจาก http://www.salachalermkrung.com

You may also like...