ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Cultural Centre) เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและจัดการแสดงต่างๆ อาทิ คอนเสิร์ต ละครเวที รวมไปถึงเป็นสถานที่จักการประชุมต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยขึ้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยรัฐบาลไทยจะรับผิดชอบในการจัดเตรียมสถานที่ในการก่อสร้าง จัดสาธารณูปโภค และงบประมาณในการดำเนินการต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “THAILAND CULTURAL CENTRE” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2530

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร ต่อมาในปีพุทธศักราช 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีบทบาทหน้าที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม คือเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางการศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสาขาต่าง ๆ แก่เยาวชนและประชาชนชาวไทย เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย เกิดความรักหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และช่วยกันรักษาไว้เป็นศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของชาติสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่อันสำคัญในการเป็นแหล่งกลาง ของการจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับให้เช่าหรือบริการ เพื่อการแสดงออกซึ่งกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เยาวชน และประชาชนสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ และนานาชาติด้วย

สถานที่สำคัญภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วย

หอประชุมใหญ่ – หอประชุมมาตรฐานสากล ขนาด 2,000 ที่นั่ง มีเวทียก และหลุมสำหรับวงดุริยางค์ สำหรับใช้งานทางด้านการแสดงทุกประเภท ตลอดจนการประชุมระดับนานาชาติ
หอประชุมเล็ก – หอประชุมอเนกประสงค์ ขนาด 2,000 ตารางเมตร สามารถจัดเป็นระบบอัฒจันทร์ชั่วคราว 240 ที่นั่ง ซึ่งสามารถพับเก็บได้ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งเก้าอี้เพิ่มเติม หากตั้งเต็มพื้นที่ หอประชุมนี้จุได้ทั้งสิ้น 500 ที่นั่ง สามารถปรับแต่งใช้งานได้หลายลักษณะ ตั้งแต่จัดการแสดง จัดการประชุมประเภทต่าง ๆ จัดนิทรรศการ และการเลี้ยงรับรอง
โรงละครกลางแจ้ง – ลานกลางแจ้งแบบมีที่นั้งสำหรับผู้ชมจำนวน 1,000 ที่นั่ง ใช้สำหรับจัดการแสดงกลางแจ้งประเภทต่าง ๆ เช่น การแสดงดนตรี การแสดงการละเล่นพื้นเมือง และอื่น ๆ
อาคารนิทรรศการ และบริการทางการศึกษา

การเดินทาง

การเดินทางไปศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางด้วย
รถส่วนบุคคลหรือรถแท็กซี่
รถโดยสารประจำทาง จากถนนรัชดาภิเษก สาย 73, 73ก, 136, 137, 157, 172, 206, 514, 528, 529
จากถนนพระราม 9 / สาย 168, 137, 171, 537, 551, ปอพ.4
จากถนนเทียมร่วมมิตร / สาย 122
จากถนนรามคำแหง / สาย 122, 137
รถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ลงที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (เดินเท้าจากทางออกสถานีเป็นระยะทาง 600 เมตร)

You may also like...