Jean-Paul Sartre

ซาร์ตร์เกิดที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2448 บิดาเป็นวิศวกรทหารเรือ แต่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีนตอนที่เขาอายุเพียง 2 ขวบ เขาโชคดีเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี ซาร์ตร์และมารดาอาศัยอยู่กับตาและยายเป็นเวลานาน

เมื่อเขาเข้าโรงเรียนมารดาจึงแต่งงานใหม่ ตาของเขาคือ (Charles Schweitzer) ดร.ชาร์ลส์ สไวเซอร์ เป็นศาสตราจาร์สอนวิชาภาษาเยอรมันในสถาบันแห่งหนึ่ง ดร.สไวเซอร์ เป็นผู้คงแก่เรียนและเคร่งครัดศาสนา เขาต้องการให้ซาร์ตร์เป็นเด็กดีและรอบรู้วิทยาการต่างๆตั้งแต่อายุยังน้อย สอนให้เขามีระเบียบวินัยและส่งเสริมสนับสนุนให้อ่านเขียนหนังสือมากกว่าทำสิ่งอื่น  ชอบใช้เวลาส่วนมากอยู่ในห้องสมุดของตา ซึ่งมีหนังสือและตำราต่างๆมากมายหลายประเภท ซาร์ตร์จึงเริ่มสนใจหนังสือตั้งแต่วัยเด็ก เขาสามารถอ่านเขียนได้เมื่ออายุ 6 ขวบ เขาไม่ชอบไปเล่นซุกซนแบบเด็กทั้งหลาย เขาเรียนอยู่ที่บ้านจนอายุ 11 ปี จึงไปเข้าเรียนที่เมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมเฮนรี ในกรุงปารีส เขาเข้ามหาวิทยาลัย Ecole Normale Superieure เมื่ออายุ 19 ปี และเลือกเรียนวิชาปรัชญาหลังจากได้รับปริญญาเอกแล้ว ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาที่เมืองต่างๆชายทะเล สอนอยู่ที่นั่นไม่นานก็ย้ายไปกรุงปารีส และมีโอกาสได้ไปศึกษาวิชาปรัชญาเพิ่มเติมที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลาหนึ่งปี

เมื่อซาร์ตร์มีโอกาสได้สัมผัสกลิ่นไอของเสรีภาพในมหาวิทยาลัย เขาเปลี่ยนบุคลิกใหม่จากเป็นคนขี้อาย เคร่งขรึม มีระเบียบวินัย กลายเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ แต่งตัวและประพฤติตนตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ในบรรดาเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่ซาร์ตร์สนิทสนมด้วยนั้น มีซีโมน เดอ โบวัวร์ เป็นเพื่อนที่เขาสนิทสนมมากจนกลายมาเป็นคู่ชีวิต

แต่ความรักของพวกเขาพิเศษกว่าชายหญิงทั่วไป ซาร์ตร์และซีโมนไม่ต้องการให้การแต่งงานมาผูกมัดเขาทั้งสองเข้าด้วยกันโดยไม่แต่งงานจนตลอดชีวิต เขาทั้งสองถือว่าความรักเป็นเรื่องส่วนตัว การแต่งงานเป็นการทำเรื่องส่วนตัวให้เป็นเรื่องของสังคมหรือศาสนา ทั้งสองคนเชื่อว่าความรักที่ตนมีต่อกันนั้นไม่ต้องการให้สังคมมาให้ความเห็นชอบ ซาร์ตร์และซีโมนเป็นเพื่อนชีวิตกันเป็นระยะเวลา 50 ปี จนซาร์ตร์จากไปก่อน ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายให้อิสระภาพแก่กันอย่างเต็มที่

ซาร์ตร์ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2507 แต่ปฏิเสธเพราะต้องการประท้วงการให้คุณค่าจากสังคมคนชั้นกลาง และเขาไม่ต้องการให้สังคมให้คุณค่าเขาจากรางวัลนี้ ถ้าเขายอมรับรางวัลก็เท่ากับว่าเขายอมให้รางวัลนี้มีอิทธิพลเหนือเขา ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธที่จะรับรางวัลใดๆ

ปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ เกิดขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ มีหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ละรูปแบบก็มีลักษณะแตกต่างกันไปตามความคิดของผู้สร้าง ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ซอเรน เคียร์การ์ด (Soren Kerkegard) ชาวเดนมาร์ก, คาร์ล ยาสเปอร์ (Kari Jasper), กาเบรียล มาร์แซล  (Gabriel Marcel) ชาวฝรั่งเศส ฯลฯ

อ้างอิง : ปรัชญาชีวิตของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ : พินิจ รัตนกุล 

 

You may also like...