Maxim Gorky

เมืองเล็กๆในประเทศรัสเซีย ณ ฝั่งแม่น้ำวอลก้า นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky) ได้ถือกำเนิดในครอบครัวที่ยากจน ท่ามกลางความห้อมล้อมของความกักขฬะและความทารุณ เขาเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก ต้องกระเสือกกระสนประคองชีวิตตนเองเพื่อหลบหลีกความทารุณร้ายกาจของบรรดาญาติ โดยได้รับความช่วยเหลือจากยายของเขาที่ทำให้เขายังมีชีวิตอยู่

กอร์กี้ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เขาเริ่มต้นงานหนักในฐานะเด็กรับใช้จิปาถะในร้านขายรองเท้า และเปลี่ยนมาทำงานในครัวตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน เพราะทนงานหนักไม่ไหวจึงระเหเร่ร่อนออกมาจับนกขาย พอสิ้นฤดูกาลจับนกก็กลายเป็นเด็กอดโซ ในวัยเยาว์กอร์กี้ชอบชีวิตที่เฉิดฉายบนเวทีละคร เขาจึงพากเพียรเข้าสมัครทำงานในโรงละคร แต่เบื้องหลังฉากกับหน้าฉากที่สวยงามเป็นสิ่งตรงกันข้ามเมื่อเขาเห็นคนตบตีแย่งชิงกันหลังฉาก กอร์กี้จึงยุติการทำงานในโรงละคร

ชีวิตที่อดมื้อกินมื้อ ความรู้สึกมืดมนในชีวิต บ่มเพาะให้เขากลายเป็นคนช่างคิดฝัน ขณะที่เขากำลังท้อแท้หมดหวัง สิ่งเดียวที่กลายเป็นแสงสว่างในชีวิตกอร์กี้คือ หนังสือ ตุณตาสอนให้เขาอ่านหนังสือเก่าๆเกี่ยวกับศาสนา หนังสือเล่มแรกที่ประทับใจคือ นิยายของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นับตั้งแต่นั้นมาเขาก็อ่านหนังสือทุกเล่มที่มาถึงมือ โดยเพื่อนฝูง หรือจากร้านขายหนังสือเก่าหากเขามีเงินมากพอ เขาเลือกอ่านบทประพันธ์ของบัลซัค โฟรแบร์ พุชกิน โกกอล เทอเจเนฟ เลอมอนตอฟ เชคอฟ จะเห็นได้ว่าเขารู้จักเลือกอ่านบทประพันธ์ที่โลกยอมรับ และแอนทอช ชาเชคทัน เป็นนักเขียนที่กระตุ้นใจให้เขาคิดฝึกหัดเขียน

เมื่ออ่านหนังสือมากขึ้น เขาถึงแก่ตะลึงพรึงเพริดเมื่อรู้ว่านักเขียนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเริ่มต้นมาจากชนชั้นแรงงาน เขาจึงตั้งใจศึกษาต่อไปโดยเพื่อนผู้หนึ่งแนะนำเขาว่า จงเดินทางไปยังเมืองคาซานเพราะที่นั่นมีมหาวิทยาลัย กอร์กี้จึงออกเดินทางจากบ้านเกิดด้วยมือเปล่าขณะที่มีอายุ 15 ปี

เมื่อมาถึงคาซานเขาได้ค้นพบว่าคนที่เดินด้วยเท้าเปล่าจากเมืองนิชนินอฟกอรอด ไม่มีหลังคาคลุมหัว จะไม่มีวันได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเด็ดขาด แต่ที่เมืองนั้นเขาได้เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตแทน ด้วยการศึกษาชีวิตคนที่อยู่ตามใต้ถุนตึก ท่าเรือ คนโซ ตำรวจ นักศึกษา การเมืองใต้ดินและการปฏิวัติ

เขาได้งานท่าเรือที่ริมแม่น้ำตำบลอุสเดียร์และใช้ใต้ถุนตึกเก่าแห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยหลับนอน ปะปนกับพวกคนโซ พวกลักขโมย พวกคนเหล่านี้ทำให้เขาเข้าสมาคมกับนักศึกษานักการเมืองที่คิดล้มการปกครองที่กดขี่ทารุณโดยพระเจ้าซาร์ กอร์กี้ได้อ่านหนังสือวิชาเศรษฐกิจการเมืองที่นี่

เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เรื่อต่างๆโยกย้ายไปหาท่าใหม่เพื่ออาศัยที่พำนักฤดูหนาว กิจการที่ท่าเรือต้องเลิกร้างทำให้เขากลายเป็นคนโซ และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยร้านขนมปัง เจ้าของโรงงานทำขนมปังบังคับให้คนงานทำงานวันละ 14 ชั่วโมงโดยให้ค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหนำซ้ำยังทารุณทุบตี แม้เมื่อทำงานหนักกอรกี้ก็ไม่ยอมห่างหนังสือ เขาต่อหิ้งด้วยเศษไม้เพื่อว่าจะได้จัดเรียงขนมปังที่บนชั้นและอ่านหนังสือไปด้วย วันหนึ่งเจ้าของโรงงานมาพบเข้า เขาเลยต้องออกจากโรงงานขนมปังระเหเร่ร่อนรับจ้างทำงานทุกประเภทที่ทำได้ และเดินทางกลับบ้านเกิดเมื่อถึงกำหนดเข้ารับราชการทหาร แต่ร่างกายของเขาไม่สมบูรณ์พอจึงไม่ได้รับเลือก กอร์กี้จึงพเนจรไปทั่วรัสเซีย หิวโหยไปตลอดทางและได้หยุดพักที่เมืองคอร์เคซัส ณ ที่นี่กอร์กี้เขียนหนังสือเล่มแรก คาซูนี ชายผู้ดำเนินการในกงค์กรต่อต้านพระเจ้าซาร์มองเห็นแววความรุ่งโรจน์ เขาจึงส่งเสริมและสนับสนุน

คาชูนีนำบทประพันธ์ไปให้บรรณาธิการคาฟคัล ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์สำคัญฉบับหนึ่ง บรรณาธิการรับเรื่องเขาไว้ด้วยความยินดี นวนิยายของกอร์กี้จึงได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 1892 ภายใต้นามปากกา แมกซิม กอร์กี้ และได้รับความชื่นชมใหญ่หลวงจากผู้อ่าน

เขาเดินทางกลับเมืองเกิด เขาทำงานเป็นเสมียนของสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ใช้เวลาทำงานในเวลากลางวัน กลางคืนอ่านหนังสือ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงมอสควา ไม่นานเขาก็เดินทางจากบ้านเกิดไปที่เมืองซามารา และปักหลักอาชีพการเขียนที่นี่ โดยศึกษาชีวิตคนงาน คนค้าขาย คนอดอยากยากเข็ญ ชีวิตของพวกละคร ทหาร กอร์กี้บอกว่าพวกเขามีส่วนที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างบทประพันธ์

ในระยะเวลาไม่นานชื่อเสียงของกอร์กี้ก็มั่นคงในหมู่นักเขียน เนื่องจากงานเขียนของเขามีความมุ่งหมายที่จะสถาปนาผู้ที่เป็นมนุษย์ให้ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น แต่ได้ก่อความกังวลอย่างใหญ่หลวงให้แก่รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ เขาจึงถูกจับหลายครั้ง และระเหเร่ร่อนไปตามเมืองต่างๆ กอร์กี้ได้รับคำแนะนำจากมิตรสหายให้ไปอยู่ต่างประเทศ เขาจึงเดินทางไปประเทศเยอรมันนี ฝรั่งเศส ในที่สุดไปพำนักอยู่ในทวีปอเมริกา ที่นี่เขาได้เขียนอมตะนวนิยายเรื่อง Mother และได้ส่งไปลงพิมพ์ในประเทศรัสเซีย หนังสือเล่มนี้ได้ก่อความสนใจแก่วงการหนังสือและวงการต่างๆอย่างขนานใหญ่

เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ กอร์กี้จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมื่ออายุ 64 ปี เขาได้สร้างนิตยสารหลายฉบับ ในปีสุดท้ายของชีวิต กอร์กี้บอกแก่มิตรสหายว่า เขาจะเขียนหนังสือเล่มใหญ่ 4 เล่ม ทุกสองปี แต่ในเดือนมิถุนายน ปี 1936 เขาล้มป่วยและถึงแก่กรรม ท่ามกลางความสงสัยว่ากอร์กี้ถูกวางยาพิษ

ตั้งแต่ ปี 1917-1946 หนังสือของกอร์กี้ได้รับการแปลถ่ายทอดออกมาเป็นภาษต่างๆจำนวน 24,000,000 เล่ม วรรณกรรมของกอร์กี้ไม่เพียงแต่วาดให้เห็นความยากไร้ลำเค็ญของชีวิตชาวรัสเซีย หากแต่สถาปนาชีวิตของเขาให้ดีขึ้นด้วย และยังเป็นเสมือนปากเสียงของชนชั้นแรงงานทั่วโลก แม้จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ตัวของเขาและผลงานยังได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงวรรณกรรมทั่วโลก

ท่ามกลางข้อจำกัดของมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่เกิดมา กอร์กี้ได้ทำให้โลกเห็นว่าไม่มีข้อจำกัดใดจะขัดขวางความฝันที่ยิ่งใหญ่ได้

อ้างอิงจาก : หนังสือ แม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ แปลโดย ศรีบูรพา

You may also like...