อภิชาต รมยะรูป

นับตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพริเริ่ม การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2517 มาในปี 2555 นี้ จะเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 34 ของการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง

จากแนวความคิดของ คุณบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารในขณะนั้น ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพอันเป็นการอนุรักษ์สืบสานมรดกไทยที่ทรงคุณค่า อีกทั้งเพื่อเชิดชูภาพลักษณ์ของธนาคาร ในฐานะสถาบันการเงินภาคเอกชนแห่งแรกที่ให้ความสำคัญและสนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง

คุณอภิชาต รมยะรูป ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เลขานุการคณะกรรมการ เลขาธิการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เรื่องภาพวาดที่เกี่ยวกับไทยๆหรือรูปเกี่ยวกับไทยๆ คนไทยจะถือว่าเชย ดูเป็นของโบราณ เป็นของที่ต้องอยู่กับวัด ความสวยมันไม่มีในยุคแรกๆ ใครเห็นก็บอกว่ามันธรรมดา เมื่อทางมูลนิธิทำโครงการจิตรกรรมบัวหลวง จึงคิดจะทำอะไรที่มีความเป็นไทย เน้นความเป็นไทย เราคิดว่างานจิตรกรรมเป็นสิ่งนึงที่มันชัดเจนเรื่องของความเป็นไทย มันมีเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอยู่ในนั้น ถ้าเรามาฟื้นฟู มาสนับสนุนอันนี้ให้งานจิตรกรรมของเราขึ้นมาอยู่เทียบเคียงกับระดับสากลได้ จะเป็นเรื่องที่ดีของเมืองไทย เราจึงเริ่มด้วยการจัดประกวดจิตรกรรมบัวหลวงเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ปีที่เริ่มครั้งแรก คือ ปี 2517 สมัยก่อนมีแค่การประกวดงานแบบไทยประเพณีและแบบร่วมสมัยเท่านั้น งานที่ส่งประกวดจะเป็นแบบโบราณเลย จากการที่เราเริ่มจัดงานประกวด ทำให้จิตรกรหันมาทุ่มเทสนใจที่จะส่งงานเข้าประกวดกันมากขึ้น รุ่นแรกๆคนที่ได้รางวัลก็จะมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นคนที่ดังที่สุดในสมัยนั้น

งานประกวดชุดแรกๆที่ได้รางวัล รูปจะธรรมดา จะเห็นว่ารูปไทยเป็นรูปที่ธรรมดามากที่สุด เห็นได้ทั่วไปตามจิตรกรรมฝาผนังในวัด แต่ขณะที่งานแบบไทยๆในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีพัฒนาการ มีความละเอียดอ่อนขึ้นทุกทีๆ เป็นคนละโลกกับยุคเก่า เดี๋ยวนี้ลายรดน้ำนอกจากปิดทองแล้วยังมีเล่นสีสัน สีคล้ายๆมุขลงบนรายรดน้ำ แต่กรรมวิธีการวาดยังเป็นแบบโบราณ มันมีการเปลี่ยนแปลง จะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นคือวาดแบบไทยๆธรรมดา มีแต่ตัวเทวดา ยักษ์มาร ตอนหลังต้องเป็นแนวแบบอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ประเภทไม่ใช่ประเพณีทีเดียว แต่มันอิงประเพณี บางอันดูไม่ออกเลยนึกว่าเป็นประเพณี แล้วออกมาเป็นร่วมสมัยไปแล้วแต่ยังมีความเป็นไทย เพราะเวทีนี้เน้นความเป็นไทยมากซะจนบางทีคนที่ส่งานมาประกวดยังยึดติดกับความเป็นไทย เห็นได้ชัดเจนเลยว่าภาพวาดมันมีพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงปัจจุบัน ปีแรกกับปีล่าสุดมันต่างกันมาก

สมัยนี้ผมว่าศิลปินส่วนใหญ่ไปดูทางสากลกันเยอะ และเทคนิคกับวัสดุต่างๆก็เปลี่ยนไป ประเภทสีฝุ่นนี่เหลือน้อยเต็มที จะมาสนับสนุนกันมันก็ยากขึ้น รูปลักษณ์ก็เปลี่ยน งานส่วนใหญ่จะพัฒนาไปลักษณะที่เป็นสากลมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้จากการส่งงานเข้าประกวด
สิ่งที่ได้ประโยชน์จากมูลนิธินี้คือ คนหันมานิยมในความเป็นไทยมากขึ้น สนใจศิลปะไทยมากขึ้น คนที่จะแต่งบ้าน ก็หารูปไทยๆแต่ง คนที่ไม่เคยชอบบ้านไทยๆก็หันมาสร้างบ้านไทยเพื่อที่จะอวดฝรั่งว่าของไทยเราก็มีดี ทำให้ศิลปินที่ได้รางวัลมีอาชีพ วัดไหนอยากจะวาดรูปก็มาติดต่อ  มีคนที่อยากจ้างศิลปินไปวาดผนังบ้าน ห้องพระ คนที่ชอบงานศิลปะก็มาซื้อไปประดับบ้าน เป็นศิลปะเพื่อการตกแต่ง ในขณะเดียวกันจิตรกรรมไทย ซึ่งไม่เคยเป็นวิชาเรียน ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งคณะจิตรกรรมไทย เพื่อสอนศิลปะไทยโดยเฉพาะ นี่คือประโยชน์ ไม่มีเวทีไหนที่เน้นการประกวดศิลปะไทยเหมือนจิตรกรรมบัวหลวง

อนาคตเรายังทำเรื่องนี้ตลอด ช่วงหลังพอจัดงานประกวดเสร็จ เราจะแสดงงานที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าที่ผ่านฟ้า ประมาณเดือนครึ่งเป็นประจำทุกปี เสร็จแล้วจะไปต่างจังหวัด จะเวียนไปภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันออก ต่างจังหวัดไปมาทั้งหมด17 ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดเราจัดจิตรกรรมบัวหลวงสัญจร ที่จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา อยู่กลางเมือง ไปมาสะดวก หอศิลป์เค้าเพิ่งสร้างเสร็จ เมื่อต้นปีพวกอาจารย์ถวัลย์เพิ่งไปจัดโชว์นิทรรศการศิลปินแห่งชาติที่นี่ ทางเหนือจะมีเชียงราย เชียงใหม่เป็นประจำ ทางอีสาน มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสิน ขอนแก่น ลงใต้ เราไปสุราษฎ์ ภูเก็ต หาดใหญ่ ทางตะวันออกก็มหาวิทยาลัยบูรพาที่บางแสน เราไปหมด

สี่ห้าปีหลังเรามีรางวัลให้พิเศษ ศิลปินที่ได้รางวัลเราจัดให้ไปทัศนศึกษา ดูงานที่ต่างประเทศ อิตาลี เยอรมัน อเมริกา ที่อเมริกามีอาจารย์กมล ทัศนาญชลี เป็นคนดูแลพาไปแกลเลอรี่ต่างๆไปมิวเซียมต่างๆ เยอรมัน อิตาลี เราก็ไป เราจะเอาอาจารย์ประกบไปด้วย จัดทัวร์ไปลงที่มิวเซียม สามปีหลังเราไปจีน ปีที่แล้วเราไปที่อิยิปต์กับตรุกี  ไปดูวัฒนธรรมโบราณกับภาพเขียนสีโบราณ ส่วนปีนี้เราเพิ่งพาศิลปินที่ชนะรางวัลที่ 1 สามคนไปรัสเซีย ศิลปินมีความสุขมาก หนึ่งวันเต็มๆเช้าดูงานร่วมสมัย อีกวันดูคลาสสิค เดินกันขาลาก ดูงานแบบไบเเซนไทน์ มีการแกะสลักไม้ที่เป็นไอคอนต่างๆ เป็นรูปโมเสก ที่เอากระเบื้องสีเล็กๆมาต่อให้เป็นรูป จากนั้นเราก็ไปเซนต์ปีเตอร์สเบริก์  ที่เฮอร์มิเทจ เดินอีกหนึ่งวัน ที่นั่นมีศิลปะวัตถุกว่าสามล้านชิ้น เดินจนขาลากเหมือนกัน ทานแซนวิชกันในนั้น โปรแกรมที่คนอื่นไปวอลล์มิวเซียม ไปดูพิพิธภัณฑ์ผีเสื้อเราไม่เอา เราเน้นที่ศิลปะ เราเน้นที่พระราชวังที่มีศิลปะ มีรูป ดูว่าเขารูปเก็บยังไง ดูว่ารูปโบราณสมัยก่อนทำยังไง

แคทเธอรีน เดอะเกรทของรัสเซีย สมัยนั้นรวยมาก เธอเป็นอารต์คอลเลคเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุโรป เธอเก็บรูปของลีโอนาโด ดาวินชี 2 รูป แรมบรังค์ 20 กว่ารูป ไม่รวมศิลปินแวนโก๊ะ ปิกัสโซ ที่นี่เดินกันขาลากอีกเหมือนกัน ไม่น้อยกว่าลูฟวร์ แถมที่นี่ดีกว่าลูฟวร์ ตรงที่ว่าเราสามารถเดินเข้าไปใกล้รูปได้มาก เค้ากั้นนิดเดียว ถ่ายรูปได้แต่ห้ามใช้แฟลช ห้ามเด็ดขาด ที่นี่เลิศมาก ทุกห้องเค้ามียามเดินนอกเหนือจากกล้องส่อง ผมเป็นคนคุมทีมไป

กรรมการตัดสินการประกวดงานจิตรกรรมบัวหลวง
อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการในการตัดสินผลงานจิตรกรรมบัวหลวงรุ่นเก่าก็เสียชีวิตไปแล้วหลายท่าน อย่าง อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข หม่อมเจ้าการวิกเคยเป็นประธานอยู่นาน ตอนนี้มีอาจารย์รุ่นใหม่อย่าง เดชา วราชุน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการได้สองปี

ธนาคารกรุงเทพกับกิจกรรม CSR
มูลนิธิธนาคารกรุงเทพมีหน้าที่ที่จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคม สมัยนี้เรียกว่า CSR ซึ่งเราทำมาเป็นสิบปีแล้ว เพราะมูลนิธิตั้งมาตั้งแต่ก่อนผมเข้ามาทำ แต่ CSR ที่กำลังฮิตกันนั้นเราทำเรื่องนี้ให้สังคมมานานแล้ว มีส่วนที่จะกันไว้เลยเพื่อสังคม เราเป็นธนาคารเดียวที่สร้างโรงเรียนมาก่อนไทยรัฐ สร้างตามต่างจังหวัด ตอนนั้นเราไปตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล ไกลจนโดนปิด เพราะคนเข้ามาใกล้เมืองได้ง่ายขึ้น ชุมชนมันเล็กลง เค้าสามารถนั่งรถเมล์ สองแถว วิ่งเข้ามาโรงเรียนได้ใกล้ขึ้น เดี๋ยวนี้เราจึงเหลือแค่ 29 จาก 30 โรงเรียน แต่เมื่อต้นปีนี้ เราเพิ่งส่งมอบโรงเรียนไปที่อุดรธานี ก่อนถึงตัวเมืองอุดร เป็นชุมชนใหญ่

ธนาคารกรุงเทพเราเน้นในเรื่องของการทำเพื่อสังคม เพื่อศิลปวัฒนธรรม นอกจากงานจิตรกรรมบัวหลวงแล้ว มูลนิธิยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทางกระทรวงวิทย์ช่วยเราจัด เราเป็นสปอนเซอร์ เราทำเพื่อชุมชน เพื่อชาวบ้านจริงๆ

คำปรารภ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ประธานกรรมการตัดสินจิตรกรรมบัวหลวง
การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และได้ดำเนินงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยมีจุดหมายหลักในการอนุรักษ์ความเป็นไทยในงานศิลปะของไทยไว้ จึงจัดให้มีการประกวดจิตรกรรมแบบไทยประเพณีขึ้น ซึ่งตลอดมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดจัดการประกวดในประเภทนี้เลย ในการประกวดครั้งแรกๆของจิตรกรรมบัวหลวงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี กับ จิตรกรรมรวมสมัย เพื่อเปิดกว้างให้กับการสร้างสรรค์ของจิตรกร แต่ถ้าจะพูดถึงการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ก็ต้องนึกถึงการประกวดจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เพราะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ส่วนจิตรกรรมร่วมสมัยนั้นมีการประกวดกันอยู่หลายสถาบัน

จิตรกรที่สร้างผลงานแบบประเพณีนั้นจะมีการสร้างสรรค์ในกรอบที่ค่อนข้างตายตัวของประเพณีจิตรกรรมไทย ในปริมาณที่ไม่ขัดต่อประเพณีเดิม เพราะถ้าปราศจากการสร้างสรรค์งานนั้นก็ไม่มีความเป็นศิลปะ เป็นเพียงการลอกเลียนแบบงานประเพณี ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของนักอนุรักษ์โดยตรง แต่ถ้าสร้างสรรค์มากเกินไปก็ไม่อยู่ในกรอบของประเพณี นับเป็นงานที่ยากและท้าทายอย่างยิ่ง

ตามธรรมชาติของประเพณีไม่ว่าจะเป็นประเพณีใดในชุมชนใด คือการส่งต่อของวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นต่อๆไป เป็นการส่งที่ผ่านกาลเวลา กลุ่มคน และสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป การปรับเปลี่ยนประเพณีให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าประเพณีใดไม่มีการปรับเปลี่ยน ประเพณีนั้นก็ขาดชีวิต ไม่ให้คุณประโยชน์ต่อชุมชน อาจเก็บรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์เท่านั้น การส่งต่อของงานจิตรกรรมแบบประเพณีก็คงอยู่ในกรณีเดียวกัน

ประเพณีกับการสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันอยู่ บางความคิดจึงตัดการสร้างสรรค์ออกจากประเพณีและถือว่าประเพณีนั้นต้องคงที่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่นักวิชาการสมัยใหม่ส่วนใหญ่ในยุคนี้ถือว่าประพณีย่อมต้องเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในแกนหรือสายพันธุ์เดิมของมันเองเพื่อให้เหมาะกับชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ในกรณีศิลปะแบบประเพณี ถ้าสัดส่วนของการสร้างสรรค์มีมากขึ้น ความเป็นประเพณีก็จะลดลงจนถึงกับออกนอกกรอบของประเพณีไปอยู่ในประเภทศิลปะร่วมสมัยในที่สุด แต่ยังมีจิตรกรไทยจำนวนไม่น้อยที่พยายามยืดกรอบของประเพณีออกไป จนเหลือเพียงเส้นบางๆที่แบ่งระหว่างจิตรกรรมประเพณีกับจิตรกรรมร่วมสมัย พวกเขาจึงมีอืสระมากขึ้น ให้พลังสร้างสรรค์ในงานของพวกเขามากยิ่งขึ้น แต่ยังแฝงความเป็นจิตรกรรมแบบไทยประเพณีไว้อย่างแยบยล งานประเภทนี้ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ทางการประกวดบัวหลวงจึงเพิ่มประเภทของการประกวดขึ้นอีก 1 ประเภทคือ จิตรกรรมไทยแนวประเพณี เพื่อรองรับความจำเป็นในการสร้างสรรค์ของจิตรกรไทยยุคปัจจุบันที่อยู่ในกระแสของศิลปร่วมสมัย แต่ยังเห็นความสำคัญของเอกลักษณ์ไทยในงานศิลปะอยู่ และเพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างความเป็นประเพณีที่รัดตัว กับความเป็นอิสระอย่างยิ่งของความเป็นศิลปะร่วมสมัยเป็นประเภทของงานศิลปะที่อาจมองว่าเป็นงานจิตรกรรมแบบไทยที่มีลักษณะร่วมสมัยหรืองานศิลปะร่วมสมัยที่มีลักษณะไทยก็ได้ทั้ง 2 ทาง

ประเภทงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่เกิดขึ้น จาการสนับสนุนของการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงนี้ อาจถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในวงการศิลปะของไทย ซึ่งนอกจากความสำเร็จทางด้านจิตรกรรมแล้ว ยังให้อิทธิพลต่อทัศนศิลป์สาขาอื่นด้วย

นานาทัศนะศิลปินบัวหลวง

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
คนรักงานศิลปะไทยทุกคน ไม่เฉพาะผู้ที่เรียนศิลปะต่างดีใจ และมีความหวังมากขึ้น เมื่อธนาคารกรุงเทพฯ ได้ริเริ่มจัดการประกวดวาดภาพในแนวไทยประเพณี เพื่อรางวัลบัวหลวง โดยแยกประเภทออกมาจากประเภทศิลปะร่วมสมัยที่เป็นแบบสากล เป็นการให้เกียรติและเห็นคุณค่าของงานศิลปะประจำชาติที่กำลังจะสิ้นลมหายใจในขณะนั้น และได้ปลุกกระแสการสร้างสรรค์ให้ฟื้นขึ้นมาอย่างทรนงทันสมัยอีกครั้ง

การแยกประเภทของการประกวด ทำให้เกิดการพัฒนางานศิลปไทยประเพณีไปสู่ความเป็นศิลปไทยร่วมสมัยได้อย่างไม่หยุดยั้งจากปีแรกจนบัดนี้จึงเห็นความก้าวหน้าของศิลปินจิตรกรรมบัวหลวง ทั้งจากอดีตและปัจจุบันได้พัฒนางานของตนไปสู่ความเป็นสากล และสามารถยืนอยู่บนโลกแห่งศิลปะร่วมสมัยได้อย่างภาคภูมิสง่างามกันทุกคน เพราะรางวัลอันทรงเกียรติ ทรงคุณค่า ที่ไม่เคยตกต่ำ ทำให้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากขึ้น และเป็นหนึ่งเดียวในความหวัง ความฝัน สร้างงานศิลปไทยทุกคนที่ปรารถนาอยากได้รางวัลนี้ เพื่อเป็นบันได เป็นฐานแห่งการยอมรับเชื่อถือของคนในวงการศิลปะ รวมถึงนักสะสมผลงานศิลปะในประเทศและต่างประเทศ

ผมในฐานะผู้เคยได้รับรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 3 ต้องขอขอบคุณมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ คณะผู้บริหาร ผู้เป็นต้นคิด คณะกรรมการตัดสินผลงานและทุกๆท่านที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการแยกประเภทของการประกวดงานจิตรกรรมบัวหลวง ทำให้ท้ายสุดรางวัลบัวหลวงอันทรงเกียรตินี้กลายเป็นเป้าหมายของศิลปินด้านศิลปไทยทุกคน ถ้าอยากประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในอาชีพศิลปินอิสระในสายไทยร่วมสมัย จะต้องผ่านการได้รับรางวัลจากการประกวดงานจิตรกรรมบัวหลวง เพียงแห่งเดียวเท่านั้น นี่คือความยิ่งใหญ่ ความสำเร็จ ในการสร้างสรรคฺให้แก่ชาติบ้านเมืองของมูลนิธิธนาคารกรุงทพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร
นึกถึงการจัดนิทรรศการต่อเนื่องที่ยาวนานถึง 30 ปี หากเป็นคน คนนั้นก็อยู่ในช่วงวัยที่เป็นหนุ่มเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะแล้ว ไม่ง่ายที่ผู้จัดงานได้ฝ่าฟันกับอุปสรรคในสถานการณ์ภาวะการเงินของประเทศที่ตกต่ำมาแล้วหลายครั้ง แต่เพื่อสนับสนุนงานศิลปกรรมก็ยังคงอยู่ ขอขอบคุณมูลนิธิธนาคารกรุงเทพที่ยังเห็นความสำคัญของการประกวดศิลปะ

จิตรกรรมบัวหลวง น่าจะเป็นนิทรรศการที่เป็นการประกวดการแข่งขันของศิลปิบนเวทีที่ถัดมาจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เวทีนี้จึงเป็นที่สนใจของศิลปินทั่วไปเมื่อ 30 ปีก่อน โดยเฉพาะกับผมเองที่กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสร้างสรรค์ เมื่อมีเวทีให้ทดลองขึ้นอีก ทำให้ผมตื่นเต้น กระตือรือร้น และตั้งมั่นที่จะทำงานศิลปะ เหมือนนักมวยที่กำลังฟิตเต็มที่ ทำให้ผมได้รับรางวัลที่ 2 ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน

ผมส่งงานเข้าประกวดจิตรกรรมบัวหลวง เพราะในสมัยนั้นมีเวทีให้ศิลปินได้แสดงความคิดไม่มากนัก ศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นเวทีสูงสุด แล้วก็มีเวทีของธนาคารศรีนคร ต่อมาก็ของธนาคารกสิกรไทย บัวหลวงมีลักษณะพิเศาที่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ศิลปไทย และ ศิลปะร่วมสมัย ผมสนใจในงานร่วมสมัย ทำให้ผมมีเวทีเพิ่มขึ้น ทำให้ผมได้มีโอกาสทดลองงานจิตรกรรม ทั้งๆที่ผมเป็นศิลปินภาพพิมพ์งานจิตรกรรมที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผมเป็นจิตรกรได้

จุดเด่นของงานบัวหลวง คือการสนับสนุน เฉพาะงานจิตรกรรม 2 มิติ แต่อย่างเดียว แต่ยังจำแนกงานจิตรกรรมออกเป็นสาระ 2 ส่วนคือ ศิลปะไทย และศิลปะร่วมสมัย ศิลปไทยนั้นมีความโดดเด่นมากในระยะแรกๆและโดดเด่นควบคู่กับไทยร่วมสมัย ศิลปไทยบัวหลวงเกิดขึ้นพร้อมๆกับภาควิชาศิลปไทน ของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้บัวหลวงเป็นเวทีสร้างศิลปินนักศึกษาของศิลปไทยคล้ายๆกับว่าภาควิชาศิลปไทยเป็นผู้ผลิตนักศึกษาแล้วส่งต่อให้บัวหลวง นักศึกษาศิลปไทย จึงมักได้รับรางวัลและหลายคนในยุคแรกกลายเป็นศิลปินใหญ่ด้านศิลปไทย

หลักของการจำแนกการประกวดเป็น 2 ประเภทของจิตรกรรมบัวหลวง เป็นสิ่งที่ดีถ้าหากว่ามีการควบคุมให้มีน้ำหนักของการสนับสนุนที่เท่ากัน ในระยะหลังจิตรกรรมบัวหลวงให้ความสำคัญต่อศิลปไทยมากๆ งานที่โดดเด่นจึงเป็นศิลปไทยเท่านั้น ในหลายๆครั้งทำให้เกิดความซ้ำซาก ไม่สร้างสรรค์พัฒนา เพราะกลายเป็นรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งหมายไปถึงแนวคิดแบบไทยที่เริ่มวกวน เลียนแบบต่อๆกันไป อาจเป็นเพราะ สัดส่วนของคณะกรรมการและแนวคิดของคณะกรรมการที่ค่อนไปในทางศิลปไทยเสียเป็นส่วนมาก งานร่วมสมัยจึงถูกละเลย ทำให้ผู้ส่งงานร่วมสมัยไม่มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างงานดีๆส่งมา ภาพของบัวหลวงจึงเป็นเวทีศิลปไทยแต่อย่างเดียว

การที่ศิลปินได้รับรางวัลจากไหนๆก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเกียรติ แต่ก็เป็นเกียรติที่ต่างให้แก่กัน บัวหลวงให้กับผม ผมก็ให้กับบัวหลวง เมื่อผมมีอาวุโสในทางศิลปะมากขึ้น แต่สถาบันก็เปรียบเหมือนชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลง พัฒนาและมีโรยรา ผมว่าบัวหลวงเริ่มอิ่มตัวมากแล้ว และหากบัวหลวงยังคงอยู่กับกติกาเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง บัวหลวงก็จะลดคุณค่าไปเรื่อยๆอยากให้มีการตีความ ความหมายของงานจิตรกรรมให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ จิตรกรรมบัวหลวงอาจเป็นงาน 3 มิติ ที่ไร้ขอบเขตมากกว่านี้ และที่สำคัญทำอย่างไรที่จะมีให้จิตรกรรมบัวหลวง กลายเป็นจิตรกรรมไทย วนเวียนอยู่กับเรื่องราวไทยๆรูปแบบและเทคนิคไทยๆที่เลียนแบบตกทอดกันปีต่อปี เพราะงานเหล่านั้นได้รับการยกย่องให้ได้รางวัล จึงสร้างกระแสแต่เพียงงานไทยๆเท่านั้น

ผมอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการตัดสินบ้าง เช่น ลองลดจำนวนกรรมการ ลองเปลี่ยนกรรมการ และลองมีกรรมการ 2 ชุด ตัดสินงานแยกกันศิลปไทยและร่วมสมัย ผมเชื่อว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นคำแนะนำที่มาจากความปรารถนาดี

 

 

You may also like...