พลังจิตอาสา ช่วยระดมทุนสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี

เหล่าคนดังโชว์ไอเดียสร้างสรรค์แสดงพลังจิตอาสา ช่วยระดมทุนสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยพลังแห่งการให้ไม่สิ้นสุดของผู้มีจิตศรัทราและจิตอาสาทั้งหลาย ที่ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆกับ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ได้สร้างปาฏิหาริย์ในการคืนชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมากให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ล่าสุด มูลนิธิฯ มีภารกิจเพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ใน โครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ปลูกถ่ายตับ ศูนย์ปลูกถ่ายไต  และศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ใช้งบประมาณกว่า 450 ล้านบาท จึงได้จัดงานแถลงข่าว “รวมพลังจิตอาสาด้านการออกแบบ” เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและผลงานต่างๆ ของเหล่าจิตอาสาที่มาร่วมกิจกรรม เช่น ดีไซเนอร์ สถาปนิก นักวาดภาพอิสระ ในวันอังคารที่ 25 กันยายน 2555 ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ รพ.รามาธิบดี

ศ.นพ. วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเชิญชวนประชาชนบริจาคสมทบทุนโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.รามาธิบดี และขอบคุณจิตอาสาทุกคนที่นำความรู้ความสามารถของตนมาช่วยระดมทุนในครั้งนี้

“การปลูกถ่ายอวัยวะนับเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะโรงเรียนแพทย์มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร และองค์ความรู้ กำลังดำเนินการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี อันประกอบด้วย ศูนย์ปลูกถ่ายตับ ศูนย์ปลูกถ่ายไต  และศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น  ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวต้นปี 2556 ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ทำหน้าที่ระดมทุนในการสร้างศูนย์ดังกล่าว พร้อมช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคเลือด โรคไต และโรคตับระยะสุดท้ายซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ”

“ผมขอชื่นชมกับพลังน้ำใจอันบริสุทธิ์ของกลุ่มคนหลายหลายสาขาอาชีพ อาทิ นักวาดภาพ ช่างปั้น ช่างภาพ สถาปนิก ดีไซเนอร์ รวมถึงบริษัทเอกชน ผ่านรูปแบบของการอาสาคิด อาสาออกแบบ อาสาผลิตผลงานที่เต็มไปด้วยไอเดียอันสร้างสรรค์ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ น้ำใจอันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ ที่กำลังจะส่งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด” ศ.นพ.วินิต กล่าว
งาน “รวมพลังจิตอาสาด้านการออกแบบ” เป็นการพิสูจน์ถึงน้ำใจคนไทยที่น่าชื่นชมอีกครั้ง เพราะจิตอาสานักออกแบบหลายท่านได้ให้ความร่วมมือกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ได้แก่ ม.ล. จิราธร จิรประวัติ, สมนึก คลังนอก, ภัทรีดา และ นวลตอง ประสานทอง, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ชลิต นาคพะวัน, วสันต์ ผึ่งประเสริฐ,Greyhound (เกรฮาวด์), Senada (เซนาดา), Kloset (คลอเส็ท), Disaya (ดิษยา), FN Factory Outlet (เอฟเอ็น แฟคทอรี่ เอาท์เล็ท) , Greyhound Café (เกรฮาวด์ คาเฟ่)  และ  Spa-Hakuhodo (สปา-ฮาคูโฮโด) โดยสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ ออกแบบลายของที่ระลึกต่างๆ ทำกล่องรับบริจาค ฯลฯ

ในงานนี้นอกจาก ยังจะได้ชมวีทีอาร์แสดงพลังจิตอาสาภาคการออกแบบ และภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่แล้ว ยังจะได้พบกับ ดีไซเนอร์ นักออกแบบ สถาปนิก ที่เป็นผู้ออกแบบของที่ระลึกทั้งหลาย พร้อมชมนิทรรศการสิ่งของที่ระลึกหลากรูปแบบ เช่น เสื้อทีเชิ้ต กระเป๋า หมอนอิง เป็นต้น ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ นำมาจัดแสดงเพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงผลงานที่มีความสวยงาม น่าใช้ ในราคาย่อมเยา ซึ่งผู้ที่สนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการทำบุญด้วยการอุดหนุนสินค้า ซึ่งมีให้เลือกหลายเซ็ตหลายแบรนด์ อาทิ

• ครูโต – ม.ล.จิราธร จิรประวัติ  ในปี 2554 ครูโตได้มอบลายเส้น 4 แบบคือ รูปคุณหมอ นางพยาบาล เด็กหญิง และเด็กชาย โดยมีคำว่า Giving & Sharing อยู่ในภาพเพื่อสื่อให้เห็นถึงการให้และการแบ่งปันที่ทุกคนส่งมอบให้กันได้ในรูปแบบต่างๆ   ส่วนปี 2555 ครูโตได้ออกแบบคอลเล็คชั่นใหม่เป็นภาพลายเส้นรูปผู้ชาย และ รูปผู้หญิงตกแต่งด้วยลายเส้นหัวใจอินฟินิตี้ สื่อถึงความสุขใจจากการให้ไม่สิ้นสุด

•  ครูปาน–สมนึก คลังนอก สร้างสรรค์ลวดลายเป็นรูปคน มีหน้าตาที่มีความสุขสดใส ทุกลายมีนกอยู่ทุกรูป เพราะต้องการสื่อถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความรักและการให้ ไม่ว่าจะให้กับสัตว์หรือคนที่เราไม่รู้จัก

• ภัทรีดา ประสานทอง เจ้าของแนวคิด “ผู้ให้เต็มใจ ผู้รับอิ่มใจ ให้ในสิ่งที่ควรให้” เพราะการให้ที่ดีมาจากความเต็มใจจากผู้ให้ อยากให้ผู้รับมีความสุขอย่างเต็มอิ่ม ทุกภาพของเธอจึงมีรูปวงกลมสีเหลืองแทนความ ‘เต็มใจและอิ่มใจ’ ของทั้งผู้ให้และผู้รับ

• นวลตอง ประสานทอง มีมุมมองว่าการให้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ต้องเกิดบนความตั้งใจ ยิ่งให้ผู้ที่ต้องการรับยิ่งดีใหญ่ เพราะนอกเหนือจากความสุขของผู้ให้ สิ่งที่ให้ไปยังเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ลาย ‘กล่องของขวัญ’ ชวนให้นึกถึงความสุขของผู้รับ สื่อถึงความปรารถนาดีของผู้ให้เป็นการส่งความสุขให้กันและกัน

 Greyhound (เกรฮาวด์) ตีโจทย์จากทุกน้ำใจที่คนไทย “ให้” แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ อย่างต่อเนื่องหวังจะช่วยเหลือทุกชีวิตที่กำลังรอรับการรักษา ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายเส้นเกลียวอินฟินิตี้รูปหัวใจ สื่อถึง “น้ำใจของผู้ให้ที่หวังอยากให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างไม่สิ้นสุด”

 Senada (เซนาดา) ออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากคำว่า The beautiful world เพื่อให้โลกใบนี้สวยงามและน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยใช้สีสันสดใส อ่อนโยนที่สัมผัสถึงความรัก ความหวัง ความสงบ การมีสุขภาพที่ดี และการให้ที่ไม่สิ้นสุด

• Kloset (คลอเส็ท) ดีไซน์เป็นรูปสัตว์ที่มีพลังแสดงออกถึงความเข้มแข็ง ซีรีย์แรกคือ ม้า และสร้างบรรยากาศความสดใสด้วยลวดลายสวนสนุก เติมสีสันด้วยดอกม่วงเทพรัตน์ที่เป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ และสโลแกน  “คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด” ส่วน ซีรีย์ที่สองเป็นช้างทรงเครื่อง เพราะช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ

• วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เจ้าของงานปั้นกล่องรับบริจาค รูปทรงกระปุกหมู และหัวใจ

กระปุกหมูชื่อผลงาน : Untitled Life
ตอนเด็กๆ ทุกคนคงมีกระปุกของตัวเองไว้หยอดเงิน เก็บเล็กผสมน้อยเพื่ออนาคตของตัวเองแต่วันนี้อนาคตเป็นสิ่งที่ไกลเกินฝันของอีกหลายๆ คน ชีวิตไม่เคยสมบูรณ์เหมือนกระปุกหมูที่มีรอยร้าวเราคงไม่อาจทำให้ทุกคนมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้แต่เราสามารถทำบางสิ่งเพื่อ “อนาคต” ของคนอีกหลายคนได้เพียงท่านช่วยกันบริจาคเงินผ่านกระปุกหมูนี้เพราะเงินที่ได้จาก ทุกคนจะนำไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้อีกหลายชีวิตกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

กระปุกหัวใจชื่อผลงาน : Untitled
งานปั้นรูปหัวใจทำจากเซรามิกที่สามารถหยอดเงินบริจาคได้มาจากแรงบันดาลใจที่ว่า ของขวัญที่มีค่าที่สุดในชีวิต คือ ชีวิต บางครั้งสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ “เงิน” เป็นปัจจัยที่เป็นตัวเสริมตัวหนึ่งที่สำคัญ เงินที่มาจาก “ใจ”  ที่บริสุทธิ์ คือสิ่งที่เราปรารถนา เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่จะทำให้ “ของขวัญ” ที่มีค่าชิ้นนี้เป็นจริงขึ้นมา

 ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้สร้างสรรค์กล่องบริจาคจาก ความทรงจำในวัยเด็ก ด้วยหลักการแบบแยกเหรียญ ให้ผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมบริจาคได้รับความสุข และสนุกจากการให้

ไม่เพียงได้รับความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย ในเรื่องของการออกแบบลายสวยๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นของที่ระลึกเท่านั้น แต่ยังมีการเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคผ่านช่องทางตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่งด้วยกัน เริ่มจาก เกรฮาวด์ คาเฟ่ จัดกิจกรรม HIP DINING HIP SHARING 2012 โดยนำรายได้จากการจำหน่ายปีกไก่ทอดจานละ 15 บาท ในทุกยอดการสั่งตลอดเดือนกันยายน และ เชิญ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชื่อดัง จากเรื่อง hesheit และ มะม่วง มาวาดรูปที่ร้านสาขาต่างๆ ภายใต้ชื่อกิจกรรม HIP DRAWING รายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปร่วมบริจาคให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ นอกจากนี้ยังออกแบบตู้ดิสเพลย์ Ramathibodi Pop Up Trunk เพื่อนำของมาขายที่ร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ โดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละสาขาอีกด้วย และยังมี เอฟเอ็น แฟคทอรี่ เอาท์เล็ท (FN Factory Outlet) ให้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและตั้งกล่องรับบริจาคทุกสาขาทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน และในปีนี้ ได้ออกแบบลายเพื่อจัดทำของที่ระลึกอีกด้วย เป็นรูป “นาฬิกาทราย” สัญลักษณ์ของการให้ที่ไม่รู้จบ เป็นความรักที่พึ่งพา เมื่อไหร่ที่ทราบด้านหนึ่งว่างเปล่า อีกด้านหนึ่งก็จะไหลไปเติมเต็ม เหมือนความรักที่ผลัดกันให้และรับไม่สิ้นสุด การได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยต่อชีวิตให้กับคนที่กำลังจะหมดเวลาลง ถือเป็นการให้ที่มีค่ามากที่สุด

รวมทั้ง สปา-ฮาคูโฮโด (Spa–Hakuhodo)  เชื่อในความหมายของ “คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด” ร่วมสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อการระดมทุนสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี อาทิ ภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ สปอตวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน และอาสาเป็นสื่อกลางในการส่งต่อบุญ โดยการเชิญภาคเอกชนต่างๆ ในการเพิ่มช่องทางการทำบุญอีกด้วย

การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นการคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เปรียบเสมือนของขวัญอันมีค่าที่มอบให้กับผู้ป่วยที่รอความหวัง ผู้สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี (โครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-2-50740-8, ธนาคารกรุงเทพ สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี)  เลขที่ 090-7-00123-4 มูลนิธิรามาธิบดีฯ 270 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400  www.ramafoundation.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2201-1111

โครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ประวัติและความเป็นมา
เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ได้สร้างศูนย์การแพทย์สิริกิติ์เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคซับซ้อน มุ่งส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ และเป็นศูนย์กลางกระจายความรู้แก่แพทย์ และบุคลากรแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอย่างเป็นทางการ  เมื่อวันที่  19  สิงหาคม  2539 เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยและพัฒนาทางด้านการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องรองรับผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่มีจำนวนสูงมากยิ่งขึ้น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงก้าวสู่แนวหน้าของเทคโนโลยี จัดตั้งโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถองค์อุปถัมภ์ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 นี้

วัตถุประสงค์ของโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี
• เพื่อการรักษาที่เป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะสมบูรณ์แบบในระดับสากล ได้แก่ ศูนย์ปลูกถ่ายตับ ศูนย์ปลูกถ่ายไต และศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
• เพื่อส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ โดยเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาการด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ
• เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมสร้างแพทย์ผู้เชี่ยญชาญเฉพาะทางทั้งในและต่างประเทศ

งบประมาณและความก้าวหน้าของโครงการ
งบประมาณในการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ พื้นที่ประมาณ 8,477 ตารางเมตร ในศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ  รวมทั้งสิ้นกว่า 450 ล้านบาท  ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 คาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการได้อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2555 แต่ในขณะนี้ยังขาดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และการปรับปรุงอาคาร
หลังจากศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะเปิดใช้อย่างเป็นทางการจะสามารถรองรับการรักษาและดูแลผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างสูงสุด

• ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ปีละ 50 ราย
• ปลูกถ่ายตับ ปีละ 20 ราย
• ปลูกถ่ายไต ปีละ 100-120 ราย

• สถานศึกษาที่พัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับประเทศไทย

การปลูกถ่ายอวัยวะเหล่านี้เหมือนการคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เปรียบเสมือนของขวัญอันมีค่าที่มอบให้กับผู้ป่วยที่รอความหวังของคนไทย

เชิญร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคตับ ไต มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ธาลัสซีเมีย และไขกระดูกฝ่อ
โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี (โครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ)
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-2-50740-8  
ธนาคารกรุงเทพ  สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี)  เลขที่ 090-7-00123-4
มูลนิธิรามาธิบดีฯ 270 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400  www.ramafoundation.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2201-1111

ศูนย์เด่นภายในศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ
ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและให้บริการการเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบเม็ดเลือดและโรคทางพันธุกรรม อาทิ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคพันธุกรรมธาลัสซีเมีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องให้การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด หรือให้เลือดเพื่อประคับประกอบไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคดังกล่าวได้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเริ่มรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกให้แก่ผู้ป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยรับการรักษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปแล้วมากกว่า 500 คน
เนื่องด้วยการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเพื่อลดอัตราการตายและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการปลูกถ่าย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ปรับปรุงห้องปลอดเชื้อและหอผู้ป่วยจำนวน 10 ห้องให้ได้มาตรฐานสากล

ศูนย์ปลูกถ่ายตับ
เนื่องด้วยการปลูกถ่ายตับเป็นวิธีการรักษาวิธีเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือโรคตับวายระยะสุดท้ายได้ การปลูกถ่ายเป็นการรักษาระดับตติยภูมิที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ทั้งศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์จุลศัลยกรรม วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ ฯลฯ ทำงานร่วมกันเป็นทีมตลอดระยะเวลาการรักษา ทั้งก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตายให้กับเด็กเป็นครั้งแรกในเอเชียเมื่อปี 2533 และได้ก่อตั้งศูนย์การปลูกถ่ายตับในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เนื่องภาวะขาดแคลนผู้บริจาคตับ จึงทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตลงจำนวนมากระหว่างรอรับการรักษา ดังนั้น คณะฯ จึงได้ศึกษาการปลูกถ่ายตับโดยใช้ตับจากพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งนับเป็นวิทยาการทางการแพทย์ขั้นสูงที่เพิ่มโอกาสในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

ศูนย์ปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องมีห้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องผ่าตัดพร้อมกัน 2 ห้อง 2 ทีม และหอผู้ป่วยในศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งหลังการเปลี่ยนตับผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะต้องเป็นห้องแยกปลอดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน จำนวน 14 ห้องให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จมากขึ้นเช่นกัน

ศูนย์ปลูกถ่ายไต
การผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไตนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบำบัดรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าดีกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างช่องท้องด้วยน้ำยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จเป็นรายแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529  ปัจจุบันเป็นสถานที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งโดยวิธีการปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยภาวะสมองตาย และการปลูกถ่ายไตจากผู้มีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำเร็จยังเทียบเท่ามาตรฐานสากล ที่ผ่านมาคณะฯ ได้ปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยมาแล้วมากกว่า 1,000 ราย ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเปลี่ยนไตถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ 84 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

จากจำนวนผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการผ่าตัดเปลี่ยนไตเฉลี่ยปีละ 70- 90 รายตลอดระยะเวลาร่วม 2 ทศวรรษทำให้เกิดการเรียนรู้จนกระทั่งศูนย์แห่งนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยการรักษาซึ่งประสบความสำเร็จสูงถึง 80 – 90%
นอกเหนือจากการรักษาแล้วศูนย์ปลูกถ่ายไตยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสร้างแพทย์และพยาบาลออกไปให้บริการการเปลี่ยนไตตามศูนย์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยงานวิจัยรวมมากกว่า 100 ชิ้นซึ่งครอบคลุมถึงผลการเปลี่ยนไตของประเทศไทย แนวโน้มของการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ปัญหาภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนการศึกษายากดภูมิคุ้มกันชนิดใหม่โดยละเอียด ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เหล่านี้ได้รับการอ้างอิงและตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ทั้งในประเทศและนานาชาติ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้สร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะครบวงจรสมบูรณ์แบบตั้งแต่คลินิกเปลี่ยนอวัยวะ มีศูนย์ไตเทียม ปรับปรุงห้องผ่าตัดใหม่ทั้ง 8 ห้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมผ่าตัดเส้นเลือดเพื่อประสิทธิภาพในการฟอกไต เพื่อประคับประคองผู้ป่วยให้มีสุขภาพเหมาะสมระหว่างรออวัยวะที่เข้ากันได้ พัฒนาห้องปฏิบัติการ HLA ที่จะทำการตรวจหาเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้มากที่สุดระหว่างผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะ ห้องประสานงานที่พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะอวัยวะที่บริจาคจะต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนให้ได้เร็วที่สุด ห้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะขนาดใหญ่สมรรถนะสูงที่ต้องทำการผ่าตัด 2 ห้องพร้อมกัน และปรับปรุงหอผู้ป่วยเป็นห้องแยกปลอดเชื้อมาตรฐานสากล เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวด เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

You may also like...