รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

จุดกำเนิดโรงเรียนดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นวิทยาลัยดนตรีที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2537อันที่จริงผมอยู่ที่มหิดลมาตั้งแต่ปี 2530 แต่ว่าอยู่คณะอื่น อยู่ในสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท แล้วก็แยกตัวเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เมื่อปี 2537 จากนั้นถึงวันนี้มันก็ 12 ปีแล้ว ถามว่ายากไหม ต้องตอบว่ายาก ยากมาก เพราะว่าคนถามกันมากว่า ทำไมมหิดลเปิดสอนดนตรี ผมก็คิดว่าส่วนนี้ใครได้ยินได้ฟังก็เกิดเข็มขัดสั้นทันที (คาดไม่ถึง…) ไช่..คาดไม่ถึง (หัวเราะ) คาดไม่ถึงว่ามันเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนในมหิดลก็รู้สึกว่า มันเกิดอะไรขึ้นมหิดลจึงเปิดสอนดนตรี

 

แต่สำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ามหาวิทยาลัยก็คือความหลากหลายและความกว้างขวาง ไม่มีที่ไหนเปิดสอนดนตรีได้ดีเท่ากับมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ คณะแพทย์ก็มีตั้งสองคณะ มหาวิทยาลัยอื่นมีหลากหลายคณะก็จริงแต่มีคณะแพทย์คณะเดียว มหาวิทยาลัยมหิดลมีคณะแพทย์ 2 คณะ คือรามาธิบดีกับศิริราช คณะพยาบาลอีก 2 คณะ คือ โรงเรียนพยาบาลที่ราชวิถีและคณะพยาบาลศิริราช มีโรงพยาบาลตั้ง 3 โรง 4 โรง โรงพยาบาลเขตร้อน โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วก็โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความหลากหลายเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการผลิตแพทย์เป็นหลัก แพทย์ต้องมีการตัดสินใจที่ชัดเจน เพียงให้แพทย์เข้าใจว่าทำไมต้องเปิดโรงเรียนดนตรี ถ้าแพทย์ตกลง ผมก็ว่าได้แล้ว เพราะการตัดสินใจแพทย์ตัดสินใจช้าไม่ได้ เพราเดี๋ยวคนป่วยตาย แพทย์ทำผิดพลาดไม่ได้ เพราะถ้าผิดพลาดก็คือการสูญเสียชีวิต เพราะฉะนั้นต้องไม่ผิดพลาด

 

สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ดีสำหรับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพราะแพทย์เขาช่วยได้ เขาเข้าใจได้ ช่วยได้ ช่วยได้อย่างไร เพราะแพทย์อยู่กับความเป็นความตายของมนุษย์ แพทย์มีความรู้สึกนึกคิด มีความเมตตา มีความรู้สึกของการช่วยชีวิตคน เพราะฉะนั้นแพทย์ก็มีอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ทำงานหนัก เขาก็พยายามแสวงหาความรู้สึกดีดี ดนตรี เป็นส่วนหนึ่ง วาดภาพเป็นส่วนหนึ่ง เวลาแพทย์สนใจอะไรปั้บเนี่ย เขาสนใจจริงๆ เพราะฉะนั้นที่ผมตัดสินใจมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของผม

 

คิดจะเปิดไปจนถึงขั้นดนตรีบำบัดหรือไม่

แต่เดิมผมรับปากกับคุณ หมอณัฐ อมรสวัสดิ์ อธิการบดีสมัยนั้นที่ท่านรับโอนผมมา ศ.นพ. ณัฐ อมรสวัสดิ์ ท่านก็ชวนผมมาทำ Music Theraphy ผมก็รับปากท่าน แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ผมยังไม่ได้ทำเลย (หัวเราะ) แต่ก็สัญญากัน เป็นสัญญาใจนะ ว่าจะทำ Music Theraphy แต่ว่าสิ่งที่ผมทำได้ดีก่อนก็คือผมทำดนตรี ที่เป็นดนตรีศิลปะ ที่ผมรู้ คือ Music Theraphy ผมไม่ค่อยรู้ ก็ต้องใช้เวลานานหน่อย

 

พันธกิจวิทยาลัย

พันธกิจสำคัญมากๆก็คือ จัดการเรียนการสอนดนตรี การเรียนการสอนดนตรีในประเทศไทยนี้ คนคิดว่ามหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ ค้นคว้าหาความจริง แต่ดนตรีเป็นการศึกษาหาความงาม ความไพเราะ สมมุติว่าเราสร้างศิลปินขึ้นมา แล้วเขาสามารถแสดงบนเวทีได้งดงาม แล้วคนปรบมือ เราก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ถ้าเด็กขึ้นแสดงบนเวทีแล้ว ล้มเหลว คนไม่ชอบ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าหาความจริงของวิทยาลัยการดนตรีก็คือ การที่สร้างคนให้ประสบความสำเร็จด้วยการแสดง

 

ดนตรีกับสังคมยังสื่อถึงกันรู้เรื่องหรือไม่

ดนตรีเป็นอย่างไร สังคมเป็นอย่างนั้น สังคมเป็นอย่างไร ดนตรีเป็นอย่างนั้น แต่ว่าสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดนตรีเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นอย่างนี้ ดนตรีเป็นอย่างนี้ สังคมก็จะเป็นอย่างนี้ เพราะดนตรีเป็นผลผลิตของคนในสังคม และคนในสังคมก็จะโต้ตอบและตอบสนองกับศิลปะอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นดนตรีก็สะท้อนสภาพสังคม และสังคมก็เป็นไปอย่างที่ดนตรีตอบสนอง

กระแสนิยมดนตรี

ผมคิดว่าคนสนใจของดี การศึกษาคือการพัฒนาจากความไม่รู้มาสู่ความรู้ พัฒนาจาก Unciviliaed ดิบ ถ่อย เถื่อน ให้ดูดีมีรสนิยม ให้มีความรู้ความสามารถ อันนี้คือหน้าที่ของเรา แต่ทีนี้ถ้าพูดให้ลึกไปกว่านั้น ดนตรีแต่ไหนแต่ไรมาเป็นวิชาข้างถนน เต้นกินรำกิน เป็นวิชาต่ำต้อยด้อยค่า

 

อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง

แม้นพวกกูผู้หญิงที่ในวัง มันก็ยังเรียนร่ำจนชำนาญ

อันลิเกลามกตลกเล่น ก็รำเต้นสิ้นอายน่าขายหน้า

ไม่ควรจดจำเป็นตำรา มันจะพาเสียคนป่นปี้เอย

 

เพราะฉะนั้นดนตรีมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นบาป อย่างอุโบสถศีลข้อที่ 7 ให้ละเว้นการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี เพราะเป็นข้าศึกแห่งการกุศล นัจจ คีตา วิภูสนัฐานา เวระมะณี สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ แม้แต่ในนางนพมาศก็ยังเขียนว่า เสียแรงรู้ เสียแรงเรียน เพราะเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาน เพราะฉะนั้นดนตรี ทั้งเป็นบาปและต่ำต้อยด้อยค่า ไม่มีใครอยากเรียน ทีนี้ไอ้คำตอบของเราดนตรีควรจะเป็นอย่างไร คือเรียนไปทำไม มันสำคัญอย่างไรในชีวิต ผมคิดว่าดนตรีมีความสำคัญกับมนุษย์ 3 ประเด็น

 

ประเด็นที่ 1 คือทำให้คนเต็มคน คนเต็มคนคือ มนุษย์ที่มันตกต่ำไร้รสนิยมอยู่อย่างนี้ เพราะมันไม่มีศิลปะในหัวใจ ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดารเป็นคนชอบกลนัก ชอบกล แปลว่าอะไร ก็คือติ๊งต๊อง นั่นแหละ ไม่มีรสนิยม จืดชืด เชย นั่นคือคนที่ไม่มีศิลปะในหัวใจ อย่างเราจัดดอกไม้ในแจกัน เราก็ต้องการให้แจกันสวยใช่ไหม แต่ความจริงแล้วดอกไม้ในแจกันจัดหัวใจคนด้วย

 

2 ดนตรีก็คือศิลปะเพื่อความสุข เช่น เอาไว้ผิวปากในห้องน้ำ ร้องเพลงในห้องน้ำ มีความสุข ดนตรีเป็นเพื่อนเรานะ

 

อันสุดท้าย ดนตรีเพื่อประกอบอาชีพ อันนั้นก็เป็นเรื่องของอาชีพไป อย่างความสุขส่วนตัว เช่น วันดีคืนดีผมเป่าแซกโซโฟนส่วนตัวของผม มันเป็นความสุขส่วนตัวของผม คนอื่นเป็นผลพลอยได้นะ อย่างผมเล่นดนตรีข้างถนน เป่าแซกโซโฟนข้างถนน แล้วมีคนบอกอาจารย์บ้าหรือเปล่า ผมบอกผมไม่บ้าหรอก คุณนั่นแหละที่บ้า อ้าว…คุณเห็นของดีเป็นของบ้า แสดงว่าคุณก็เห็นของชั่วเป็นเรื่องธรรมดาสิ สังคมไทยเห็นของดีเป็นของแปลก และไอ้สิ่งที่เราเห็นทั่วไปเป็นของไม่ดี ยอมรับแต่สิ่งที่ไม่ดี

 

และไอ้การเรียนของคนสมัยใหม่ เริ่มสนใจดนตรีมากขึ้น เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนเต็มคน คนมีรสนิยม แล้วก็ใช้ดนตรีเป็นเพื่อน น้อยที่สุดแต่ก็มีมากขึ้น ก็คือเรียนดนตรีเพื่อประกอบอาชีพ ทีนี้ถามว่า ความจำเป็นของชาติ คนไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลย สนใจดนตรีบ้างไหมประเทศไทย ไม่เลย ทรัพยากรของเรา เราอยู่ได้อย่างไร เราขายข้าว ขายยางพารา ขายดีบุก ขายจนหมดประเทศ แต่เราซื้อน้ำมันทีเดียวหมดเลย ถามว่ามรัพยากรของเรายังมีเหลืออยู่หรือเปล่า มีน้อยเหลือเกิน เราเลี้ยงกุ้ง เราขายกุ้ง เอากุ้งดีขาย กุ้งเน่ากินเอง เราปลูกมะม่วง เอามะม่วงดีขาย เอามะม่วงเน่าไว้กินเอง ถามว่าคนในสังคมไทยสุขภาพดีไหม ไม่เลย เราก็คอยคนป่วย พอมีคนป่วยเราก็เปิดโรงพยาบาลเยอะๆ คนป่วยคือสินค้า เราได้เงินจากคนป่วย ถามว่าระหว่างคนป่วยกับคนไม่ป่วยใครมีมากกว่ากัน คนไม่ป่วยมีมากกว่า แล้วใครทำงานประกอบอาชีพหาเงินมาให้คนป่วย แน่นอนึคนแก่คนป่วยเราต้องดูแล คนดีๆเป็นผู้เลี้ยงดู

 

ถามว่าคนดีๆเป็นผู้เลี้ยงดู คนดีๆอย่างผมคุณเคยสนใจผมไหม เคยสนใจให้ผมทำงานจนตายคาโต๊ะทำงานไหม ถ้าคนที่มีสุขภาพดีทำงานจนตายคาโต๊ะทำงาน 60 ล้านคน ประเทศไทยจะร่ำรวยไหม แต่ว่านั่นเพียงแค่เราขายแรงงาน แล้วถ้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยทุกมหาวิทยาลัย 130-140 มหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาล เปิดคณะแพทย์หมด คนเจ็บป่วยไปเรียนแพทย์หมด ถามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ตอบว่าก็มีคนป่วยกับแพทย์เต็มประเทศไทยไปหมด แล้วใครจะประกอบอาชีพอื่น

 

ทีนี้กลับมาที่ประเทศว่า ถ้าเราขายดีบุก ขายยางพาราไม่ได้ แล้วเราจะขายอะไร เราเตรียมแผนขายอะไรบ้างหรือเปล่า ขายแรงงานเหรอ ส่งคนไปอิรักใช่ไหม คือขายแรงงานอย่างเดียว เราไม่คิดขายศักยภาพ ความเป็นเลิศของมนุษย์เลย ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องขายวัฒนธรรม

 

เอาง่ายๆวัฒนธรรมดนตรี สมมุติว่าเราทำเพลงไทยให้เป็นซิมโฟนี แล้วขายไปทั่วโลก ให้คนทั้งโลกฟังเพลงไทย ให้ร้านขายอาหารไทยทั่วโลกที่คนต่างชาติไปกินอาหารไทย เราขายอาหารยังไม่พอ เราขายบรรยากาศคือขายเพลงไทย ขายเพลงไทย เปิดเพลงไทย โรงแรมชั้นหนึ่งในประเทศไทยเปิดเพลงไทย สถานทูติทุกสถานทูติมีสินค้าไทยขาย จะเกิดอะไรขึ้น สมมุติว่าเราขายเพลงไทยได้สักล้านแผ่น ขายลาวดวงเดือนได่สักล้านแผ่น เราก็ได้สี่ร้อยล้าน เข้าประเทศ

 

ถามว่าทำไมเราจะขายเฉพาะลาวดวงเดือน ทำไมเราไม่ขายลาวดาวอังคาร ลาวดวงอาทิตย์บ้าง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องของอนาคต สังคมไทยสนใจโลกอดีตกับโลกปัจจุบัน โลกปัจจุบันแทบจะไม่สนใจด้วยซ้ำไป สนใจแต่เรื่องอดีต สังเกตได้จากกว่าเราสนใจทะเลาะกันเรื่องเมื่อวานนี้ทั้งนั้น แล้วเราจะมีพรุ่งนี้ได้อย่างไร คุณดูหน้าหนังสือพิมพ์วิ ทะเลาะกันแต่เรื่องที่เกิดเมื่อวานทั้งนั้น อ่านข่าวโทรทัศน์ก็เอาหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ประชาชนฟัง แต่ถามงว่าไอ้เรื่องที่มันเอามาอ่านให้ประชาชนฟังคืออะไร คือเรื่องที่ทะเลาะกันเมื่อวาน แล้วสังคมจะอยู่ถึงวันพรุ่งนี้ไหม

 

ดนตรีเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของจินตนาการ ทำไมเราไม่สนใจเรื่องดีๆล่ะ หรือชีวิตเราจะต้องหดหู่สนใจแต่เรื่องไม่ดี ทำไมเราไม่เอาสติปัญญาของเรามาสนใจความดี ทำไมเราเอาสติปัญญาของเรามาสนใจความชั่ว และสนับสนุนความชั่ว ไปหากฎหมายมาหักล้างซึ่งกันและกัน ทำไมเราไม่หาความดีซึ่งกันและกัน แล้วหันมาสนใจความดี สร้างความดี เอาสติปัญญามารับใช้ความดี ผมว่าโลกมันน่าอยู่นะ

 

สอนให้เด็กมาเป็นนักดนตรี

 

ผมสอนในสิ่งที่มันอยากเป็น มันอยากเป็นอะไรก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของผม แต่ว่าหน้าที่ของเราคือพยายามทำให้มันไปถึงจุดที่มันอยากไป

 

คนที่มาเรียนคือใคร

 

ก็นักเรียน คนที่อยากเรียน ถ้าไม่อยากเรียนอย่ามาเลย

 

ต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านดนตรี

 

ใช่สิ คนที่มาเรียนต้องรัก ต้องชอบ ที่สำคัญคือต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความรัก ความชอบ ทุกอย่างมรศรัทธาในอาชีพ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แล้วก็ตรงเวลา ที่นี่ไม่แบ่งดนตรีไทย ดนตรีสากล ทุกอย่างคือดนตรีเหมือนกันหมด เราสอนตั้งแต่หมอลำ ยันคลาสสิค ทุกๆทั้งหมด ดนตรีคือดนตรี คืองานศิลปะ คุณจะไปแยกว่าของคนนั้นคนนี้ แน่นอนในรายละเอียดปลีกย่อยมันก็มี แต่ในความเป็นจริง.. มันก็เหมือนกับเสื้อ ถามว่าเสื้อนี้เป็นเสื้อบางแคหรือเปล่า หรือเสื้อนิวยอร์ค เสื้อมันก็คือเสื้อ

 

ดนตรีมีเทรนด์

 

เขาเรียกว่า มันเป็นประจำถิ่น ประจำชาติ ประจำคน คือศิลปะดนตรี พวกนี้ มันมีทฤษฎีของการเรียนรู้ 1. เลียนแบบ 2. ทำซ้ำ เลียนแบบกับทำซ้ำมันกลับไปกลับมา เลียนแบบคือครู ทำซ้ำก็คือการมีทักษะ เลียนแบบทำซ้ำบ่อยๆมันก็เบื่อ มันก็เกิดการแหกคอก คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แหกคอกใหม่ๆมันก็เกิดความไม่เข้าท่า พอแหกคอกบ่อยๆมันก็เกิดความเป็นเลิศ เกิดความสุดยอด พอพบความสุดยอดมากๆ สุดยอดของงานศิลปะก็คือความศิวิไลต์

 

เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยเปิดประเทศ ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เราสนใจความเป็นจริง เราไม่เคยสนใจพรสวรรค์ ประเทศไทยเราก็เลียนแบบประเทศอื่นๆ เราพยายามทำแบงคอกให้เหมือนนิวยอร์ค เราพยายามทำเชียงใหม่ให้เมือนแบงคอก เราพยายามทำพัทยา ให้เหมือนฟลอริดา แต่เราไม่เคยทำแบงคอกให้เป็นบางกอก เราไม่เคยสนใจความเป็นเรา แต่เราสนใจความเป็นอื่น ความจริงก็คือเราต้องสนใจความเป็นเรา สมมุติคนบินมาจากนิวยอร์ค แล้วต้องมากินแฮมเบอร์เกอร์ที่แบงคอก คุณว่าเขาอยากกินไหม มันไม่เข้าท่าเลย คุรไปเชียงใหม่ คุณอยากกินแฮมเบอร์เกอร์หรือเปล่า คุณไปเชียงใหม่ คุณก็อยากกินข้าวซอย ถุกหรือเปล่า คุณไปปักษ์ใต้คุณก็อยากกินข้าวยำ ไปอีสานก็อยากกินส้มตำ เพราะเขาสนใจความเป็น Original ทีนี้ถ้าหากว่าเราสนใจความเป็นอื่น เราเลียนแบบเขา เพลงที่บอกว่า I love you just the way you are บอกว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลงคุณเลย เป็นอย่างที่คุณเป็นนั่นแหละ ฉันรักคุณในแบบที่คุณเป็น เราไม่เคยสนใจความแตกต่าง สนใจแต่ความเหมือน สังคมไทย ทำให้เหมือนเขาจะดูดี ความเป็นอื่นไง ยกย่องความเป็นอื่น

 

ในความเป็นจริงคือ เราควรยกย่องความเป็นเรา สนใจความเป็นเรา พัฒนาการของเรา วงการเพลงไทยก็สนใจความเป็นอื่น อย่างที่คุณกุ้งกิตติคุณ ร้องเพลงของ John Denver ถามว่าคุณไปอเมริกาคุณอยากฟังกุ้ง กิตติคุณ หรืออยากฟัง John Denver ผมก็อยากฟัง John Denver เพราะมันเป็น Original อย่างครูเอื้อ ทำไมครูเอื้อ ถึงดังทั้งๆที่ร้องเพลงไม่เอาไหน แต่ครูเอื้อดัง เพราะครูเอื้อ เป็นครูเอื้อ

 

คาดหวังในเด็กที่จบไปเพียงใด

 

คือมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปมักอยากให้เด็กจบออกไปหางาน แต่ที่นี่เราประกาศศักดาเลยว่า เราสร้างคนให้ออกไปสร้างงาน มันจะตกงานก็เรื่องของมัน แต่ในความเป็นจริงเราสร้างให้มันมีความคิดสร้างสรรค์ คือให้เขาพบตัวเขาเอง ไอ้การที่เขาพบตัวเขาเองแล้วเนี่ย การที่เขาพบตัวเขาอย่างที่เขาเป็น ไม่ได้ใช้เงิน แล้วเขาก็จะไม่ตกงาน เพราะตัวเขาเป็นของเขา เอาจำนวนงานมาวัดความเป็นศิลปินไม่ได้ อยู่ที่งานเขาว่าจะเป็นหรือไม่เป็น งานที่ไม่ใช่ทำไปร้อยชุดก็ไม่ใช่

 

นักดนตรีที่ดี

 

มีความเป็นฉัน หนึ่งฝีมือต้องมี เลียนแบบ ทำซ้ำ คือมีความรู้ มีจินตนาการ มีทักษะ แล้วก็เขาเป็นสุดยอดอย่างที่เขาเป็น ออกมาจากตัวเขาเอง

 

นักดนตรีไทยกับนักดนตรีต่างชาติ

 

เอาง่ายๆเลยนะ มี 3 อย่างที่ได้เปรียบ เสียเปรียบ คือศรัทธาในอาชีพ Respect คนไทยไม่ค่อยศรัทธาในอาชีพนักดนตรีเท่าไร คนไทยไม่รับผิดชอบหน้าที่ ความรับผิดชอบในหน้าที่ไม่ค่อยมี สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเลยคือ ไม่ค่อยตรงเวลา

 

สมมุติว่าผมเป็นผู้จัดการโรงแรมชั้นหนึ่งของเมืองไทย ผมรับสมัครนักดนตรีมา วันที่ผมคัดเลือกนักดนตรีไทยกับนักดนตรีฝรั่ง 2 คน ฝีมือเท่ากัน ถามว่าผมเลือกใคร ถ้าผมเลือกคนไทย วันนี้ที่มันมาแสดง ดีที่สุด พรุ่งนี้มันมาสาย มะรืนนี้แม่ยายป่วย อีกวันบอกฝนตก แดดออก อะไรก็แล้วแต่ มันมาสาย แล้วก็เล่นเพลงเดิมๆ ไม่เคยคิดจะซ้อม สร้างปัญหา สร้างเงื่อนไข เดี๋ยวไปจีบนักร้องบ้าง ไปจีบคนนั้นคนนี้ เล่นไปสามเดือนไม่สามารถเอนเตอร์เทนแขกได้ เพราะเล่นแต่เพลงเดิมๆ

 

ถ้าผมรับฝรั่ง วันนี้ฝีมือเท่าคนไทย คนนี้ร้องเพลงใหม่ เอนเตอร์เทนแขกได้ ไม่มีเงื่อนไข คุณจะเลือกใคร คนไทยไปถึงระดับโลกไม่ได้เพราะขาดศรัทธาในอาชีพ ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และไม่เคยตรงเวลา

 

พรสวรรค์ศึกษา

 

คือ ผมสงสัยว่าทำไมเด็กไทยไม่เก่ง ทำไมเด็กฝรั่งเก่ง ทำไมเด็กญี่ปุ่นเก่ง ทำไมเด็กจีนเก่ง ผมก็ออกเดินทางแสวงหาความจริง คือ เราเรียนต่างประเทศเราก็เห็นว่าทำไมเด็กฝรั่งเก่งกว่าเรา ทำไมเราไม่เก่งผมก็ออกเดินทางค้นหาความจริง ผมไปที่เมือง มัตซึโมโต ไปดูซูซูกิ ก็พบว่าเขาสร้างเด็กตั้งแต่เล็กๆ ไปที่ประเทศฮังการี ไปดูเขาสอนเด็กเล็กๆร้องเพลง ไปดูซาลเบิร์ก บ้านเกิดโมสาร์ทที่ออสเตรีย ก็ไปพบเขาสอนเด็กเล็กๆ มีระบบสอนเด็กเล็กๆอีก

 

ผมก็ถึงบางอ้อว่า พรสวรรค์มันสร้างได้ สร้างมาตั้งแต่เล็กๆ เขาบอกว่า เด็กที่เกิดมามี ดีเอ็นเอ ของพ่อแม่ มียีนส์ของพ่อแม่ แต่เด็กเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม เด็กสุพรรณพูดภาษาสุพรรณ Perfect เด็กอีสานพูดภาษาอีสาน Perfect ถามว่าแปลว่าอะไร แปลว่าสังคมเป็นอย่างไร เด็กเป็นอย่างนั้น สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เด็กเป็นอย่างนั้น ถ้าสิ่งแวดล้อมเป็นดนตรี เด็กก็จะเป็นดนตรีด้วย

 

ถ้าแม่เป็นคนสุพรรณ ลูกก็จะพูดภาษาสุพรรณ Perfect ภาษากับดนตรีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เด็กได้ฟังสิ่งที่เป็นไวยากรณ์ของดนตรี ได้ฟังดนตรีดีดี ได้ฟังอะไรดีดี ตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะเห็นสิ่งนั้นชัด ได้ฟังสิ่งนั้นชัด และอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็จะช่วยสอน สิ่งนั้นก็จะเป็นหุ้นส่วนชีวิต เพราะฉะนั้นพรสวรรค์สร้างได้ ผมจึงพลิกแผ่นดินใหม่ คือการสร้างดนตรีตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการเปิดโรงเรียนดนตรี

 

เราเอามหาวิทยาลัยมาอยู่บ้านนอก กั้นรั้วสูงๆ คนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่รู้ว่าคนข้างนอกทำอะไร คนนอกรั้วก็ไม่รู้ว่าคนข้างในทำอะไร ที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยหอคอยงาช้าง ต่างคนต่างก็ไม่เคย ทำความเข้าใจกันเลย ทำไมเราไม่ทุบรั้วนั้นออก แล้วก็ไปอยู่กับชุมชน ไปอยู่กับสังคม ยิ่งรั้วสูง จิตใจคนต่ำ บ้านที่มีรั้วต่ำ จิตใจคนสูง เพราะคนนอกรั้วกับคนในรั้วไม่เคยกลัวกัน เขาเชื่อมโยงกัน แต่ถ้ารั้วสูง จิตใจคนต่ำ เพราะว่าต่างคนต่างกลัวซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างระแวงซึ่งกันและกัน

 

Season Change

 

คุณเก้ง ก็เป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีหนึ่ง เป็นเพื่อนของนักเรียนผม ผมเคยสอนนิเทศศาสตร์จุฬา อยู่พักหนึ่ง ผมก็ฝากข้อความไปถึงเก้งบ่อยครั้งว่า สนใจทำดนตรีสดๆบ้างได้ไหม หนังไทยมีประมาณ 40-45 เรื่องต่อปี ใช้ดนตรีที่เป็นดนตรีกระป๋องตลอดเลย ทำดนตรีจริงๆได้ไหม สักเรื่องสองเรื่องต่อปี ผมก็ฝากเขาไป วันดีคืนดีเขาก็มาหาที่นี่ มาด้วยความตั้งใจที่จะทำดนตรีประกอบหนัง พอมาดูไปดูมา ฟังเรื่องราวที่คุยกันระหว่างวงสนทนาแล้ว เขาก็ตัดสินใจ ทำหนัง แทนทำดนตรี

 

ผมก็บอกว่าไอ้หนังน้ำเน่าบ้านเรามันขายดี แต่หนังน้ำดีมันขายไม่ค่อยได้ น่าจะทำหนังดีดี ให้ขายได้ ทำชีวิตจริงๆ ทำวิธีคิดจริงๆ สร้างเด็กจริงๆขึ้นมา ผมคิดว่าถึงขายไม่ได้ อย่างน้อยมันก็เป็นประวัติศาสตร์ อย่างน้อยเราก็สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อเราค้นคว้าประวัติศาสตร์มากมาย เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากมาย มันก็คงถึงเวลาที่เราต้องสร้างประวัติศาสตร์บ้าง

 

ในที่สุดเก้งก็สนใจหนังเรื่อง Season Change แล้วก็เอาเรื่องราวของเด็ก ม. 4 ความรักกระจุ๋มกระจิ๋มของเด็กที่เรียนดนตรี เป็นนักกลอง เป็นนักไวโอลิน เป็น Composer เป็นตัวดำเนินเรื่อง นั่นก็คือที่มา จริงๆแล้วผมก็บอกกับเก้งว่า ผมยินดีให้ใช้พื้นที่นะ เอาไปเลย เพียงแต่ว่าให้มันเป็นเรื่องดีดี เพราะว่า การที่เขามาลงทุนมากมายแล้วเขาขาดทุนมากมาย เขาก็คงไปไม่ไว้ แต่ถ้าเราช่วยกัน ผมคิดว่าสังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง เพราะถ้าเราช่วยกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เราเป็นหุ้นส่วน เรามีส่วนในการสร้างสิ่งดีดีให้เกิดขึ้น แล้วเราเอาความรู้ความสามารถของเรา สติปัญญาของเรามาสนับสนุนรับใช้ความดี

 

ประวัติ

 

พ่อผมเป็นนักร้อง เป็นนักร้องเพลงพื้นบ้านที่เขาเรียกเพลงบอก พ่อก็ร้องเพลงทุกวัน ผมก็ตีฉิ่งทุกวัน ฟังพ่อทุกวัน ผมก็เติบโตมาด้วยความรู้สึกนึกคิดเป็นดนตรี ผมคิดว่าก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของพรสวรรค์ศึกษา ผมเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น

 

แล้วพ่อก็เห็นว่าผมมีแววทางนี้ก็พยายามสนับสนุนให้เรียน กรมศิลปากรแต่ผมก็ไม่อยากเรียน แต่ในที่สุดก็อยู่ในแวดวงร้องรำทำเพลง ผมก็ไปเรียนดนตรีอยู่ที่โรงเรียนคริสเตียน ก็อยู่ในวงโยธวาทิตแล้วมีครูฝรั่งสอน ก็ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนของดีดี ตั้งแต่เด็กๆ

 

แล้วผมอยู่วัด ฟังพระสวดทุกวัน พระสวดของผมมันเป็นความไพเราะมากมากเลย สวดทุกวันทุกคืน แล้วเสียงพระสวดนี่มันเป็นความอลังการ เป็นพลังในจิตใจผม แล้วพอไปโรงเรียนคริสเตียน ผมก็ร้องเพลงในโบสถ์ แล้วเพื่อนผมในวงดนตรีเป็นอิสลาม ขายข้าวหมกไก่อยู่ที่นครศรีธรรมราช ผมก็อยู่ท่ามกลางความหลากหลาย

 

ถึงฤดูงานเดือนสิบที่นครศรีธรรมราช ผมก็เป็นนักดนตรีของโรงเรียน เล่นที่งานเดือนสิบทุกคืน เล่นที่งานแต่งงาน งานบวช งานสารพัด ปิดเทอมใหญ่ผมก็เล่นดนตรีลูกทุ่งเร่ร่อน หาตังค์เรียน จนบรรลุวัยเรียนมหวิทยาลัย เรียนที่นครศรีธรรมราช ที่ราชภัฏปัจจุบัน สมัยก่อนเขาเรียกโรงเรียนฝึกหัดครู ก็เล่นดนตรีกลางคืน มาอยู่กรุงเทพก็เล่นดนตรีกลางคืน ไปอยู่สงขลาก็เล่นดนตรีกลางคืน ดนตรีมันทำให้ชีวิตผม 1. ช่วยชีวิตผม ผมเรียนหนังสือไม่ดีก็ไม่ได้เดี๋ยวตก เราก็ต้องขยันเพราะเราเล่นดนตรีกลางคืน ได้เงินมาก็เอาไปจ่ายค่าเล่าเรียน ต้องเรียนให้ดี เพื่อให้ได้ทุนการศึกษา ทุกอย่างมันบีบบังคับหมด

 

แต่สิ่งที่ผมได้มาสมัยที่ผมอายุ 16-17 ปี เมื่อผมเล่นดนตรีลูกทุ่ง ก็มีฟลอร์โชว์คนหนึ่ง มาถามผมว่าไอ้หนูทำไมต้องมาเล่นดนตรีกลางคืน ผมบอก อ้าว…ก็อยากเรียนหนังสือ ผมไม่มีตังค์ผมก็มาเล่นดนตรีกลางคืน ได้คืนละ 25 บาท ก็ยังดี เธอบอกว่าเธอเป็นคนมีโอกาสน้อย เป็นคนไม่มีความรู้จึงมาเปลื้องผ้าหากิน ตั้งแต่นั้นเธอเต้นฟลอร์โชว์ได้คืนละ 500 บาท เธอก็จะแบ่งให้ผม 200 บาท เพื่อให้ผมเรียนหนังสือแทนเธอ

 

โอย..ผมไม่เอาหรอก ผมหยิ่งและจองหองนะ ก็ไม่เอา แต่ความรู้สึกนึกคิดตอนนั้น โอ้โห…การศึกษาสำคัญมากนะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็ตั้งใจว่าจะเรียนหนังสือให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็เล่นดนตรีและเรียนหนังสือ ด้วยประสบการณ์สอนผมมาก วันหนึ่งผมเล่นดนตรีที่พัทยา เขาก็หาวงไปเล่นฟลอร์โชว์ เขาเรียก แฟชั่นโชว์ เล่นเสร็จเขาก็เบี้ยวค่าตัว ผมก็รู้สึกว่านักดนตรีมันต่ำต้อยด้อยค่า ก็ลาออกจากทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไปอเมริกา ไปเรียนดนตรี แล้วคิดว่าจะไม่กลับมาอีกแล้ว

 

แต่เมื่อจบปริญญาเอกแล้วไปสอน ไปทำงานควบคุมวงในเขตอินเดียนแดง ที่เมืองริเวอร์ตัน ที่ไวโอมิง อินเดียนแดงเขาสอนผมเยอะ ผมอยู่สองปี ผมพบว่าอินเดียนแดงเขามีทุกอย่าง มีอาหารการกิน มีที่อยู่อาศัย มีค่ารักษาพยาบาล มีมหาวิทยาลัยให้เรียนฟรี

 

อินเดียนแดงมีอาชีพอยู่ 3 อย่าง 1. ทำลูกเยอะๆ มีลูกหนึ่งคนได้ 500 เหรียญ ก็ได้เงินเยอะ ได้เงินแล้วก็เอามากินเหล้าเมายา สำมะเลเทเมา เล่นการพนัน อินเดียนแดงสอนผมว่า คนเราหาเงิน เมื่อได้เงินก็จะหาเกียรติ เมื่อได้เกียรติก็จะหาอำนาจ แล้วเราอยู่ตรงไหน 1. ดีกรีได้แล้ว เงินก็มีแล้ว สอนที่นั่น ได้เงิน 2,000-3,000 เหรียญ ก็ไม่รู้จะจ่ายอะไร เพราะไม่มีที่จะจ่าย 6 โมงเขาปิดหมดแล้ว ก็เกิดความคิดว่าระหว่างเรากับอเมริกาใครต้องการใครมากกว่ากัน ผมต้องการอเมริกาหรืออเมริกาต้องการผม

 

คำตอบคือผมต้องการอเมริกา แต่ตอนนี้ผมไม่ต้องการเขาแล้ว ทีนี้ใครต้องการผมบ้าง ผมก็คิดถึงว่าชีวิตผมเรียนดนตรีอย่างยากลำบาก กว่าจะมีความรู้ขึ้นมาได้ ตอนที่ไปอเมริกาก็คิดว่า ตัวเองมีความยิ่งใหญ่ มีความรู้ เป็นนักดนตรีมืออาชีพ แต่พอไปถึงแล้วเราไม่มีอะไรเลย เราไม่รู้อะไรเลย เราต้องเริ่มต้นใหม่

 

มีความยากลำบากในการเรียน ผมถามว่าแล้วคนรุ่นหลังผมล่ะ มันต้องยากลำบากอย่างผมใช่ไหม มันถึงจะมีความรู้ ผมก็ตัดสินใจกลับมา ตั้งใจว่าจะมาเป็นครูที่ดี เปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังได้เรียนดนตรีดีดี อย่าลำบากอย่างผม

 

ผมมาสมัครเป็นครู กระทรวงศึกษาธิการเขาไม่เอาผม เพราะเขาอยากให้เป็นอาจารย์ เป็นศึกษานิเทศก์ คืออยากให้เป็นใหญ่ ซึ่งผมไม่ต้องการ ในที่สุดผมก็ต้องมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล บ้านเราคนดีกรีสูงจะถูกส่งขึ้นมาอยู่ข้างบนหมด แต่จริงๆแล้วในการศึกษาคนดีกรีสูงต้องลงมาอยู่ข้างล่าง ยิ่งเก่งต้องยิ่งสอนคนรุ่นใหม่ ความผิดพลาดของการศึกษาในบ้านเราคือคนไม่รู้สอนเด็กเล็ก คนรู้สอนผู้ใหญ่ซึ่งไม่ต้องการรับรู้อะไรอีกต่อไป

 

คนไม่รู้สอนเด็กเล็ก ซึ่งเด็กเล็กอยากรู้ เด็กอยากรู้ได้สิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนที่รู้มากๆอยู่มหาวิทยาลัยสูงๆ แล้วไปสอนเด็กโต เด็กโตมันไม่อยากรู้อะไรแล้ว ในที่สุดความล้มเหลวของการศึกษาก็เกิด บ้านเราคนไม่รู้เป็นคนชี้ คนรู้ไม่กล้าชี้ และมีคนไม่รู้ไม่ชี้มากเกินไป สังเกตดูการศึกษาไทย สร้างคนให้เก่ง แต่คนเก่งของไทยมักจะโกง การศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นคนดี แต่คนดีของไทยมักจะซื่อบื้อ เพราะฉะนั้นคนโกงและซื่อบื้อ ช่วยชาติไม่ได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง คนเก่งและคนดีให้เป็นคนคนเดียวกัน โดยเอาศิลปะและดนตรีมาเป็นตัวช่วย

 

ผมคิดว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มาถึงทุกวันนี้นะ 1. เรามี Hard ware อาคารสถานที่ มี Soft Ware อุปกรณ์การเรียนการสอนเครื่องไม้เครื่องมือ มี People Ware ที่ Input ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครูบาอาจารย์ คนทำงานมีศักยภาพสูง มี Money Ware มีเงินที่จะใช้จ่าย แล้วผมก็เชื่อว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มี Quality Ware คือมีคุณภาพ คุณภาพแบบไหน คุณภาพที่เป็นมืออาชีพ มืออาชีพบ้านเรามีความหมายต่างกัน เช่น นักดนตรีมืออาชีพที่นราธิวาสขึ้นมากรุงเทพก็ตกงาน มืออาชีพที่เชียงใหม่มาถึงกรุงเทพก็ตกงาน แสดงว่า คำว่ามืออาชีพในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน Double Standard ทำอย่างไรวิทยาลัยดุริยางคศิลป์สร้างมืออาชีพที่มีค่าเท่ากับ Professional ซึ่ง Professional มีค่าเท่ากับ National และ International หมายความว่ามืออาชีพของเราไปนิวยอร์คก็มีงานทำ ไปเบอร์ลินก็มีงานทำ ไปโตเกียวก็มีงานทำ

 

เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ของดุริยางคศิลป์ ผมคิดว่าเราน่าจะเป็นโรงเรียนที่ดีโรงเรียนหนึ่ง ในระดับชาติ แล้วถึงเวลาที่คนไทยหัวดำดำ จะต้อง Export ศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ ไปอยู่ในที่นานาชาติ มีคนไทยนั่งอยู่ที่นิวยอร์ค ฟิวฮาร์โมนิค มีคนไทยนั่งอยู่ในเบอร์ลินซิมโฟนี มีคนไทยเด่นแบบวาเนสซ่า เมย์ มีคนไทยออกไป ในลักษณะที่สามารถ Import เงินเข้าประเทศได้ ไม่ใช่ Import ความสำเร็จอย่างเดียว เราจ่ายเงินให้นักแสดงต่างชาติมาเมืองไทย ทำไมประเทศเขาไม่ซื้อศิลปินเราไปเล่นบ้านเขา ซึ่งตอนนี้เราเริ่มต้นแล้ว แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกล ไม่ใช่ผมคนเดียว ผมคิดว่าทุกคนต้องทำ คนไทยทั้งประเทศต้องทำ

 

ฝากถึงสังคม

ผมคิดว่าดนตรีเป็นโฉมหน้าใหม่ของประเทศไทย แล้วดนตรีเป็นการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ ดนตรีเป็นสินค้า เป็นโลกของจินตนาการ อดีตนั้นคนไทยสนใจโลกของความรู้ คือค้นก็จะพบ หาก็จะเจอ เพราะความรู้มันมีอยู่ แต่โลกจินตนาการเป็นโลกที่ยิ่งใหญ่มาก วิชาที่เอื้อต่อโลกจินตนาการมากที่สุดคือวิชาดนตรีและศิลปะ ประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนใจโลกอนาคตและโลก เพื่อว่า 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศอื่นๆในโลก

 

 

——————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

You may also like...