กราฟิกดีไซน์ กิจกรรมหรือวิชาชีพ

กราฟิกดีไซเนอร์คือใคร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ตอบไม่ยาก เขาคือกลุ่มคนที่มีความรู้พิเศษเกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา ในยุคหนึ่งเป็นเรื่องของตัวพิมพ์และการพิมพ์ แต่ในยุคนี้รวมเอาสื่ออื่นๆ เช่น นิทรรศการ อีเวนต์ อินเตอร์เน็ต และการประชาสัมพันธ์หลายประเภทเข้าไปด้วย คนกลุ่มนี้มีลูกค้าที่ทำธุรกิจอาจจะอยู่ในภาคเอกชน ราชการหรือเป็นใครก็ได้

ในแง่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กราฟิกดีไซเนอร์มีศัพท์แสงที่ใช้ในหมู่ของตนเอง เช่น คำว่า “การแก้ปัญหา” (problem solving) หรือ “กระบวนการออกแบบ” (design process) รวมทั้งศัพท์เทคนิคและชื่อซอฟต์แวร์แปลกๆมากมายให้คนวงนอกได้งงเล่น อย่างไรก็ตามนิยามที่กว้างขนาดที่เป็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา ย่อมทำใหคนเห็นว่ากราฟิกดีไซด์เป็นทักษะที่ใครๆก็ทำได้ ช่างตัดสติ๊กเกอร์ แม่ค้าในตลาด วินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย เลขานุการ หรือเด็กนักเรียนที่ทำการบ้านส่งครู ล้วนแต่ใช้กราฟิกดีไซน์เมื่อเขาต้องการสื่อสารกับคนรอบข้าง กราฟิกดีไซน์จึงเป็นวงการที่แทบจะไม่มีคำว่า “สมัครเล่น” เพราะคนที่ใช้มันเยี่ยง “กิจกรรม” ในชีวิตประจำวันมีมากกว่าคนที่ใช้มันแบบ “มืออาชีพ” คนที่หยิบปากกาเมจิกเขียนป้ายบอกเลขบ้านหรือราคาสินค้าของตนเอง มีมากกว่าคนที่ออกแบบนิตยสารหรือทำรายงานประจำปีของธนาคาร หรือถ้ายึดเครื่องมือและเทคนิคการผลิตเป็นตัวตั้ง คนที่ทำกราฟิกก็มีมากมายมหาศาล ดังที่มักพูดในวงการว่า ถ้านับจากกจำนวนของคนที่ใช้เดสก์ทอปพับลิชชิ่งของแมคอินทอช เป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพแล้วละก็ นี่ต้องนับว่าเป็นดีไซน์สาขาที่รุ่งเรืองที่สุด โดดเด่นเหนือกว่าสาขาอื่นๆ อย่างน้อยก็ในทางปริมาณ นี่เป็นการมองปรากฏการณ์นี้ในแง่ดี

จะว่าไปแล้วกราฟิกดีไซด์คล้ายกับทักษะในการเขียนหนังสือ ดนตรีและกีฬา อีกทั้งเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำเป็นอาชีพได้ โดยไม่ต้องมีดีกรีใบรับรอง หรือกระทั่งการฝึกอบรมจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดๆ เห็นได้ชัดเมื่อมองไปในวงวรรณกรรมในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้ นักเขียนระดับซีไรท์อย่าง วินทร์ เลียววาริณ และนักเขียนรุ่นใหม่อีกหลายคน ได้นำเอากราฟิกดีไซน์มาใช้ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมแบบใหม่ๆ นอกจากนั้นกระแส “หนังสือทำมือ” ที่ปรากฏในเฟสทิวอลทั้งในเชิงศิลปะและบันเทิงต่างๆ ยังทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ในวงการกราฟิกมากมาย

ที่มองข้ามไปไม่ได้คือกราฟิกดีไซน์กลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะ จิตรกร ศิลปินกราฟิตี้และเซเลบริตี้บางท่าน ใช้กราฟิกดีไซน์สร้างผลงาน ทั้งที่เป็นศิลปะและของทำขาย ทั้งที่อยู่ในแกลเลอรี่และตลาดของ SME ทั้งด้วยคุณภาพและปริมาณที่ทำเอากราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพต้องถึงกับได้อาย
นับว่ามีเหตุผล เพราะโดยพื้นฐานแล้วกราฟิกดีไซน์เป็นศิลปะในการสื่อสารอย่างหนึ่ง

ในสหรัฐอาจารย์ดีไซน์บางคนไปไกลถึงกับเสนอว่า วิชานี้น่าจะถูกจัดอยู่ในสาขา humanist หรือมนุษยศาสตร์ ส่วนวงการที่ใกล้ชิดกันก็น่าจะเป็นวรรณคดีหรือดนตรี มากกว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ กราฟิกดีไซน์เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ จะเพื่อบันทึกข้อมูล รายงานข่าว โน้มน้าวจูงใจ หรือการแสดงออกส่วนบุคคลก็ได้ ต้องยอมรับว่า ข้อดีของการเป็นกิจกรรมต้องทำให้กราฟิกดีไซน์แตกต่างจากดีไซน์สาขาอื่นๆ คนที่ทำไม่จำเป็นต้องผ่านการร่ำเรียนมาในระบบการศึกษา งานดีๆอาจจะเกิดจากคนที่ไม่มีสถาบันรับรอง แต่ความแพร่หลายใขเชิงกิจกรรมก็ชวนให้คิดว่ามันไมได้เป็นทักษะที่ซับซ้อนถึงขนาดจะเรียกได้ว่าวิชาชีพ มองในแง่สร้างสรรค์ เป็นเรื่องของรสนิยมหรือความชอบพอส่วนตัว ไม่ใช่ “ผู้เชี่ยวชาญ” มองในแง่สินค้า ก็เป็นธุรกิจบริการที่อาศัยการขายแบบง่ายๆ อาศัยความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบผู้ซื้อ-ผู้ขาย มากกว่าจะเป็น “มืออาชีพ”

ดังนั้น ถึงแม้กราฟิกดีไซเนอร์จะมีจำนวนมากมายและอยู่ในทุกซอกทุกมุมของสังคม แต่เชิงวิชาชีพหรือวงการออกแบบที่มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง กลับไม่มีใครรู้จักหรือยอมรับนับถือ หากแต่เรียกมันว่า “วิกฤติอัตลักษณ์” ของอาชีพกราฟิกดีไซน์ และลองสำรวจดูเราอาจจะพบว่ามีประเด็นการออกแบบมากมายหลายรูปแบบ มองไปที่ระบบการศึกษา จะพบว่าทุกๆ ปีเด็กมัธยมจำนวนมากไม่รู้ชัดว่ากราฟิกดีไซน์นั้นคืออะไร ตัดสินใจว่านี่เป็นอาชีพที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ เด็กอายุไม่ถึงสิบแปดเหล่านี้ จะถูกดูดกลืนเข้าไป โดยโรงเรียนดีไซน์จำนวนมาก ทั้งในภาครัฐและเอกชนมากมาย ใช้เวลาสี่ปีเรียนเรื่องตัวพิมพ์สักสองคอร์ส หัดวาดรูปตวามใจชอบสักสองปี ทำโฆษณาดูกันเองสักสิบสิบชั่วโมง และใช้คอมพิวเตอร์อย่างกระท่อนกระแท่นสักร้อยชั่วโมง จากนั้น ก็ออกมาในสภาพที่พร้อมสำหรับหน้าที่ดีไซเนอร์มืออาชีพ พร้อมด้วยความคาดหวังว่าจะมีลูกค้ารออยู่เต็มไปหมด ไม่ต้องพูดถึงการที่ชื่อสาขานี้ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบจะไม่มีที่ไหนใช้ตรงกัน บ้างเรียกนิเทศศิลป์ บ้างเรียกเรขศิลป์ บ้างเรียกนฤมิตศิลป์ บ้างเรียกจักษุศิลป์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้ปกครองหรือคนออกค่าหน่วยกิตต้องงุนงง ในกลุ่มงานที่เป็นสิ่งพิมพ์และเข้าถึงประชาชนในวงกว้างอย่างเวบไซต์ รวมทั้งนักสร้างคาแรกเตอร์ต่างๆ ก็ไม่พยายามถูกเรียกว่าเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ด้วยกลัวว่าจะทำให้ลูกค้าคิดว่ารับผิดชอบได้ไม่รอบด้านหรือครบวงจร

ในขณะเดียวกัน คนที่เรียกตัวเองว่ากราฟิกดีไซเนอร์ก็มีอยู่เพียงหยิบมือ พื้นที่ของเขาหดแคบลงจนเหลือแต่ในวงที่เรียกกันว่าคอร์เปอร์เรตดีไซน์
หรือที่เกิดขึ้นใหม่คือนักออกแบบตัวอักษรหรือไทป์ดีไซเนอร์ มองไปที่สื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ถึงเวลาสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ทีไร ก็จะเห็นใบหน้าซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอ ปรากฏการณ์หนึ่งของการไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมกับวิชาชีพก็คือ มือสมัครเล่นสามารถเข้ามาแทนทีี่มืออาชีพ ขออธิบายก่อนว่าชีวิตของอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์นั้น ขึ้นต่อการแข่งกันเสนอแบบให้ลูกค้าหรือที่เรียกว่า “พิตช์“ การพิตช์แบบไทยๆ ต่างจากการเสนอขายทั่วไป เพราะการจะเอาใครเข้าแข่งขันหรือมีตัวเลือกจำนวนเท่าใดลูกค้าเป็นผู้กำหนด ในเกมการพิตช์แบบนี้กราฟิกดีไซน์จึงเป็นเพียงหนึ่งในสินค้าสำเร็จรูปที่ลูกค้าสามารถชี้นิ้วเลือกได้โดยง่าย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อไม่ได้รับการคัดเลือกแล้ว ก็ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งก็เท่ากับว่ามีฐานะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมประกวดผู้หนึ่งเช่นในการประกวดทั่วไป ที่สำคัญคือ หนักๆ เข้า การจัดประกวดทั่วไปก็เข้ามาแทนการพิตช์ เช่น ถ้าลูกค้าอยากได้โลโก้สักอัน แทนที่จะจ้างมืออาชีพสักรายหนึ่งด้วยเงินสักแสนบาท ก็ใช้เงินแสนนั้นไปกับการประกวด แม้เมื่อกลายเป็นรางวัลจะได้กันคนละไม่ถึงหมื่น แต่คนนับพันก็จะเฮละโลส่งงานเข้าประกวด ซึ่งในที่สุดลูกค้าก็ได้ถึงสองต่อ นั่นคือทั้งโลโก้และข่าวประชาสัมพันธ์ในสื่อ เกิดเป็นมาตรฐานที่ถูกยอมรับกันสืบไปว่าใครๆก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ ถึงที่สุดแล้ว วิกฤติอัตลักษณ์ของกราฟิกดีไซเนอร์แสดงออกอย่างชัดเจน ตรงที่ไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนทำมาหากินด้วยทักษะนี้ กราฟิกดีไซเนอร์ไม่มีสมาคมวิชาชีพ (หรือมีอยูู่แต่ไม่มีใครรู้จัก) เป็นตัวแทนของตน ปัญหาต่างๆ ที่จะเห็นว่ามีการร้องเรียนกับชุมชนของตนอยู่เป็นประจำในเว็บไซต์ เช่น ราคากลางในการเสนองาน มาตรฐานในการประกวดงาน หรือลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ ล้วนเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีองค์กรอย่างเป็นทางการในการเจรจารณรงค์ และเรียกร้องประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสังคม มองในมุมกว้างสิ่งที่ตามมาคือไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีมาตรฐาน ไม่น่าแปลกที่วงการนี้ไม่มีแนวทาง มีแต่แฟชั่นที่ขึ้นมาและตกไปเพราะเมื่อขาดการรวมตัวกัน ก็ย่อมไม่มีใครหาญกล้ามากำหนดเรื่องมาตรฐานความสวยงาม มาถึงตรงนี้ ข้อสรุปน่าจะเป็นว่ากราฟิกดีไซน์ที่เป็นกิจกรรมนั้นเจริญขึ้นแต่ที่เป็นวิชาชีพนั้นเจริญลง

การที่กราฟิกดีไซน์ขยายตัวในเชิงกิจกรรมจนกลายเป็นของที่ใครๆก็ทำได้นั้น มีมุมมองสองแบบ แบบหนึ่งคือเห็นเป็น “วิกฤติ” ของบรรดามืออาชีพแบบที่สองคือเห็นเป็น “โอกาส” ของวงการที่จะดึงดูดคนทั่วไปให้มีส่วนร่วม วงการดีไซน์ในซีกโลกตะวันตกกำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้
การสัมมนา “New Views 2 :Conversation and Dialog in Graphic Design” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ London College of Communication ดูจะมีมุมมองในแบบแรก เพราะเนื้อหาการสัมมนาซึ่งถูกสรุปด้วยการบรรยายของริชาร์ด บุคคานาน (Richard Buchanan) มีใจความว่า อาชีพกราฟิกดีไซน์มีปัญหาขั้นวิกฤติและโอกาสที่จะแก้ไขก็เหลือน้อยเต็มที และเมื่อปรากฏในรายงานของนิตยสาร Eye ก็ใช้ชื่อพาดหัวว่า ‘วาระสุดท้ายของกราฟิกดีไซน์’  หรือ ‘It’s the end of graphic design as we know it’ บุคคานาน เข้าร่วมการสัมมนาในฐานะแขกรับเชิญ  เขาเป็นนักวิชาการด้านดีไซน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการปริญญาเอกด้านดีไซน์ของ คาร์เนกี้ เมลลอน เชี่ยวชาญด้านทฤษฏีในสาขา communication design และ industrial design; หนึ่งในผู้ก่อตั้งวารสาร Design Issue ของ M.I.T. Press; ประธานของ Design Research Society ในอังกฤษ และมีผลงานมากมาย เช่น Discovering Design: Explorations in Design Studies, The Idea of Design และ Pluralism in Theory and Practice.

กราฟิกดีไซน์เป็นกิจกรรมหรือวิชาชีพ?  บุคคานานบอกว่ามันเป็น ‘วงการ’ (field) มากกว่าวิชาชีพ เพราะในยุคนี้ ใครๆ ก็ทำงานกราฟิกดีไซน์ได้ ซึ่งเขาย้ำว่า “…ในราคาที่ถูกกว่าด้วย” แต่เมื่อเทียบกับความสำเร็จในยุคทองของวงการเมื่อยี่สิบปีที่แล้วอาชีพนี้กำลังเสื่อมลง บุคคานานยกเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ฟังดูแล้วก็คล้ายกับในเมืองไทย เช่น การที่กราฟิกดีไซเนอร์ขาดการรวมตัวกัน เขาเห็นว่าเป็นเพราะมีนิสัยหยิ่งยโส และชอบอยู่แบบตัวใครตัวมันมากกว่าสาขาอื่นๆ กราฟิกดีไซน์ลดบทบาททางสังคมรวมทั้งในแง่ธุรกิจ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจ มิหนำซ้ำ เนื่องจากทำหน้าที่ใช้รับตลาดสมัยใหม่ กราฟิกดีไซน์และโฆษณาก็พลอยถูกประณามว่าผลิตขยะออกมาไว้บนโลกนี้มากกว่าอาชีพอื่นๆ แม้แต่คำว่า ‘graphic design’ ก็เป็นสาเหตุของปัญหาด้วย เขาชี้ว่ากราฟิกดีไซน์เป็นเพียงชื่อที่ตั้งตามเทคนิคการพิมพ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น ในปัจจุบัน คำคำนี้หมดความหมายไปแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคนิคและการขยายตัวของสื่อที่ใช้ในวงการ ส่วนความสัมพันธ์และการสื่อสารแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ลดระดับลง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างดีไซเนอร์กับลูกค้า กับหน่วยการผลิต (เช่น โรงพิมพ์) และกับดีไซเนอร์ด้วยกันเองก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ

ตัวแทนของมุมมองแบบที่สองอยู่ในปาฐกถานำของ คริสดาวส์ (Chirs Downs) จากบริษัท Live/Work ซึ่งมีชื่อว่า ‘Who is stealing design from the designers? And why is this the best thing that can possibly happen to the discipline? และในบทรายงานโดย ริก พอยเนอร์ (Rick Poynor) นักวิจารณ์ชาวอังกฤษผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนั้น แต่กลับมองในทางตรงกันข้าม

ในแง่ภูมิหลัง ริก พอยเนอร์ เด่นดังในวงวิชาการไม่น้อย เขาเป็นนักวิจารณ์ดีไซน์ของอังกฤษ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Eye ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดและมีผลงาน รวมเล่มแล้วหลายเล่ม เช่น Design Without Boundaries, Obey the Giant: Life in the Image World
และ Designing Pornotopia Travel in Visual Culture สำหรับพอยเนอร์ ความเสื่อมของวิชาชีพกราฟิกดีไซน์อาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ากิจกรรมด้านนี้จะเสื่อมไปด้วย ในสังคมวงกว้าง กราฟิกดีไซน์กำลังเติบโต ในสื่อดั่งเดิม เช่น หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ บิลล์บอร์ด และสื่อ เพื่อการขายทุกชนิด งานกราฟิกดีไซน์ยังมีชีวิตชีวาจะดีเท่าในอดีตหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าสิ่งที่บุคคานานพูดถึงนั้นเป็นปัญหาของคนกลุ่มเล็กๆ นั่นคือ บรรดากราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพ พอยเนอร์เรียกมันว่าปัญหา professional identity และยกกรณีตัวอย่างอันได้แก่สมาคมอาชีพหรือสถาบันวิชาชีพ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ศตวรรษนี้ สมาคมได้กลายเป็น “คอก” ที่ไม่มีใครอยากเข้า ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ไร้ทิศทางเสียจนกลายเป็นเพียงสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีใครเชื่อถือ

พอยเนอร์มองปรากฏการณ์ขยายตัวในแนวกว้างของกราฟิกดีไซน์ในแง่ดี ถ้าถามว่าความต้องการกราฟิกดีไซน์จะลดน้อยลงหรือไม่ คำตอบของเขา คือ ไม่ ถ้าถามว่ามือสมัครเล่นจะมาแทนมืออาชีพหรือไม่? เช่นกัน คำตอบของเขาก็คือ ไม่ สำหรับพอยเนอร์ กราฟิกดีไซน์ที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานของสังคม จะยังคงอยู่และเจริญงอกงามต่อไป ปัญหาคือ กราฟิกดีไซน์ที่เป็นทักษะหรือความเชี่ยวชาญอันพิเศษ และต้องเสียเวลา (และค่าหน่วยกิต) ไปเล่าเรียนกันในโรงเรียน รวมทั้งที่เป็นสาขาอาชีพหนึ่งนั้น มีอนาคตหรือไม่? เขาเห็นว่า ‘Graphic design’ เป็นคำที่ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของคนนอกวงการ และเป็นเวลากว่าสามสิบปีมาแล้วที่กราฟิกดีไซน์พยายามเปลี่ยนชื่อไปเป็น ‘visual communication’ (สำหรับในเมืองไทยมีความพยายามที่คล้ายกัน แสดงออกด้วยคำว่า ‘นิเทศศิสป์’) ซึ่งก็คือ การหันไปเน้นผลงานและการแสดงออกมากกว่ากระบวนการทำงาน และไม่จำกัดตัวเองอยู่กับความเป็นวิชาชีพ

ข้อสรุปของพอยเนอร์คือ การขยายตัวเป็นแนวกว้างมีอนาคตกว่าการหดตัวให้แคบลงและเชื่อในเรื่องความหลากหลาย และการกระจายตัวของกราฟิกดีไซน์ มากกว่าการรวมตัวและรักษาสถานภาพขงสมาคมหรือวิชาชีพ จุดสำคัญคือ ต้องใจกว้างต่อปรากฏการณ์ที่ใครๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง นักวาดการ์ตูน หรือชาวบ้านก็หันมาใช้กราฟิกดีไซน์ทำงาน และต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อคำจำกัดความของทักษะนี้

วิกฤติของกราฟิกดีไซเนอร์แสดงตัวออกชัดในเรื่องของสมาคมอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าฝรั่งเองก็ยังมีปัญหา แม้แต่สมาคมที่ลงหลักปักฐานและมีผลงานพิสูจน์ชัดอย่าง AIGA หรือสมาคมกราฟิกดีไซน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุเกือบร้อยปีและมีสาขาทั่วประเทศ ก็ยังต้องเจอกับวิกฤติ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด เกรฟฟ์ (Richard Gref’e) ซึ่งเป็น executive director ของ AIGA เพิ่งเขียนบทความเรื่อง ‘ในยุคของเครือข่ายแบบใหม่ ทำไมต้องเป็นสมาชิก AIGA?’ (In the Age of Social Media, Why Belong to AIGA?) และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสมาคม เช่นเดียวกับไทย กราฟิกดีไซน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นวงการที่ไม่มีการจดทะเบียนหรือออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ สมาคมจึงมีบทบาทต่อสังคมและนักออกแบบน้อยกว่าดีไซน์ด้านอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน

อย่างไรก็ตาม AIGA สามารถยืนยงอยู่ได้ด้วยการเป็นศูนย์รวมของกิจกรรม เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทำหน้าที่ยกระดับมาตรฐานของงาน เกรฟฟ์นำเสนอปัญหาว่ากิจกรรมดังกล่าวกำลังถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายหรือกลุ่มย่อยๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ต เขาเริ่มหว่านล้อมผู้อ่านด้วยการบอกว่า ถ้าการเข้าถึงผู้คนและข้อมูลเป็นหัวใจของเครือข่าย การติดต่อแบบออนไลน์ก็น่าจะพอ แต่ถ้าต้องการอะไรที่ลึกกว่านั้น เช่น พบปะพูดคุยกันจริงๆ สมาคมจะมีประโยชน์มากกว่า นอกจากนั้นสมาคมยังส่งเสียงดังกว่าปัจเจกชน  ดังจะเห็นได้จากที่ทนายและแพทย์มีสถานภาพในสังคมเพราะมีการรวมกลุ่ม เขาย้ำว่า การสืบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่มหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ ปราศจากสมาคม ก็ทำได้ แต่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีผลสะเทือนที่หนักแน่นและจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของเกรฟฟ์ถูกวิจารณ์อย่างมาก หลายคนเข้ามาโพสส์ความเห็นที่ขัดแย้ง เช่น กิจกรรมของดีไซเนอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ AIGA ไม่มีบทบาทเท่าที่ควร การบอกว่าสนับสนุนเครือข่ายเป็นแค่คำพูด ไม่มีการกระทำที่เป็นจริง ส่วนการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกนั้น สมาคมก็ไม่ยืดหยุ่นพอ ทั้งในแง่วิธีการและเนื้อหาความเฟื่องฟูของกราฟิกดีไซน์ในเชิงทักษะและกิจกรรม จนกลายเป็นของที่ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น เป็นปรากฏการณ์เชิงสังคมอย่างหนึ่ง ทั้งเทคโนโลยีและตลาดกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่ทำให้กิจกรรมนี้เปิดกว้างมากขึ้น เช่นเดียวกับการเขียนนิยาย รายงานข่าว หรือสร้างภาพยนตร์ ซึ่งกำลังกลายเป็นทักษะที่เสาะหา ฝึกฝนตลอดจนบรรลุความเป็นเลิศได้อย่างไม่ยากเย็น หลายคนมองว่าปรากฏการณ์นี้นำไปสู่ “วิกฤติอัตลักษณ์” หรือการสูญเสียบทบาทของบรรดามืออาชีพ สถาบันการศึกษาและสมาคมวิชาชีพ

แน่นอน มีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายในวงการ แต่การที่กราฟิกดีไซน์กลายเป็นนิยามที่กว้างจนคำว่ามืออาชีพไม่มีความหมายอีกต่อไป นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด จะจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าขบคิด แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการจำกัดวงให้แคบหรือเน้นความเป็นเลิศจนมือสมัครเล่นก็เข้ามาไม่ได้นั้นไม่สอดคล้องกับกระแสหลักในเชิงวัฒนธรรมส่วนการรวมกลุ่มทำอะไรในนามมืออาชีพก็อาจจะกลายเป็นการกีดกันคนอื่นๆ

การทำในสิ่งที่มืออาชีพสนใจ และพูดด้วยภาษามืออาชีพเท่านั้นที่เข้าใจ อาจจะจบลงด้วยการพูดกับตัวเอง

——————————————————————————–

บทความนี้เขียนขึ้นโดย ประชา สุวีรานนท์ 
(ตีพิมพ์ในมติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17-23 เมษายน พ.ศ. 2552 ฉบับที่ 1496)
ขอบคุณลิงค์ข้อมูลจาก http://www.imtgd.org

You may also like...