สถานีดับเพลิงบางรัก จิตวิญญานที่ไม่เคยแก่ชรา

ออกแบบโดย :  Gioachion Grassi (โจอากิโน กรัซซี)

เจ้าของโครงการ :

ที่ตั้ง : บางรัก

ประเภทอาคาร : อาคารที่ใช้เป็นสถานีดับเพลิง

ปีที่ก่อสร้าง : 2433

ขนาดพื้นที่ : ประมาณ 5ไร่

ก่อนจะมาเป็นสถานีดับเพลิงบางรัก อาคารหลังนี้เคยถูกใช้เป็นอาคารเพื่อการเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม”ซึ่งเป็นการรับช่วงต่อจากแรกเริ่มสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยที่ประเทศไทยทำสนธิสัญญากับชาวต่างชาติที่เราคุ้นเคยว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง”(Bowring Teaty) ดังนั้นอาคารหลังนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “อาคารโรงเก็บภาษี” การเกิดขึ้นของโรงเก็บภาษีนี้เองได้ทำให้ย่านพื้นที่อาคารข้างเคียงที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ซอย เจริญกรุง 36 ได้ถูกเรียกกันอย่างติดปากในยุคสมัยนั้นว่า “ตรอกโรงภาษี” ซึ่งภายหลังต่อมาได้มีการเกิดขึ้นของอาคารสถานทูตฝรั่งเศลพร้อมๆกันกับโบสถ์วัดอัสสัมชัญ ในบริเวณใกล้เคียง

อาคารสถานีดับเพลิงบางรัก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 5 ไร่ ลักษณะเป็นอาคารสูงสี่ชั้นหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านบนเป็นชั้นของหอนาฬิกาและมีความกว้างวัดจากปีกอาคารสองด้านเป็นระยะประมาณสิบเมตรจากจุดศูนย์กลางของตัวอาคาร ปัจจุบันอาคารหลังนี้แม้ว่าจะมีสภาพที่ทรุดโทรมไปมากแต่ก็ยังคงเป็นอาคารสถานีดับเพลิงที่มีการใช้งานเป็นอาคารราชการ และอาคารที่พักอาศัยของครอบครัวพนักงานดับเพลิงกว่า 40 ครอบครัว ด้านหน้าของบริเวณอาคารสถานีดับเพลิงจะพบป้ายโครงการเตรียมก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่โรงแรมหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างรื้อถอนที่กลุ่มนักพัฒนาได้ทำแผนการพัฒนาที่ดินและให้สิทธิ์แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือครองที่ดินเดิมจะได้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 15,000ล้านบาท กระแสการก่อสร้างนี้เองทำให้ช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา ทั้งในวงการหนังสือ วงการถ่ายภาพ หรือผู้คนที่รู้จักและคุ้นเคยกับสถานที่นี้ เกิดการตั้งคำถามว่า พนักงานที่อาศัยอยู่ในสถานีดับเพลิงนี้พร้อมกับครอบครัวราว 40 ครัวเรือน จะมีความเป็นอยู่กันอย่างไร ? หากปราศจากอาคารหลังนี้แล้วพวกเขาจะย้ายไปอยู่ที่ไหน รวมไปจนถึง อาคารหลังใหม่ที่จะก่อสร้างขึ้นมาจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนบริบทรอบข้างและจะสามารถทดแทนอาคารเดิมที่มีคุณค่าต่อจิตใจของผู้คนได้อย่างไร ?

ที่มาของอาคารสถานีดับเพลิงบางรักนี้ ได้มีผู้กล่าวถึงเอาไว้ในหนังสือเยี่ยมเยือนเรือนอดีต โดย ดร.เพ็ญสุภา สุคะตา ที่มาของการก่อสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ว่าเป็นการได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากสถาปนิกชาวเวนิส นามว่า อันเดรโอ ปัลลาดีโย(Andreo Palladio) ซึ่งเป็นผู้นำเอางานศิลปะแบบโรมันและคลาสสิคมาใช้เป็นกลุ่มแรกๆและสถาปนิกชาวเวนิสผู้นี้เองได้เป็นผู้ทดลองผสมผสานเทคนิคการก่อสร้างรูปแบบอาคารในแบบที่เรียกกันว่า นีโอ-ปัลลาดียน(Neo-Palladion) ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมเอาศิลปะแบบโรมันและคลาสสิคเข้าด้วยกัน โดยเลียนแบบผังโครงสร้างอาคารตามต้นแบบอาคารในกลุ่มนีโอ-ปัลลาดียน ซึ่งมักพบในกลุ่มอาคารราชการประเภทกระทรวง ศาล รวมไปจนถึงอาคารเรียน เนื่องจากมีความเรียบง่าย ขนาดใหญ่โต มีความตรงไปตรงมาไม่มีลวดลายฉลุมาประดับอย่างไม่จำเป็น จะมีก็แต่เพียงลายจากตราสัญลักษณ์ หรือปูนปั้นประดับบางส่วนเท่านั้น

อาคารโรงภาษีนี้สร้างขึ้นในในปี พ.ศ. 2433 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของนายช่างชาวอิตาลีนามว่า นายโจอากิโน กรัซซี(Gioachino Grassi)นายช่างผู้มีบทบาทอย่างมากกับงานสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างเช่น  งานสร้างอาคารโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกัน อาคารหลังนี้มีรูปแบบการใช้งานโดยชั้นแรกเป็นห้องโถงส่วนตัวต้อนรับและพื้นที่สำหรับเต้นรำในงานเลี้ยงรับรองข้าราชการชั้นสูงซึ่งมักเป็นชาวต่างชาติ(เป็นผลให้งานสถาปัตยกรรมมีรูปแบบคล้ายคลึงกับอาคารในยุโรป) ถัดมาจึงเป็นห้องที่ใช้ปฎิบัตงาน

จิตวิญญานไม่ควรแก่การการแก่ชรา จิตวิญญาณของอาคารที่ทำการสถานีดับเพลิงบางรักไม่ว่าจะถูกเรียกขานในฐานะของ อาคารโรงภาษีเก่า หรือ อาคารสถานีดับเพลิง ก็ล้วนแต่รักษาความเป็นอาคารทรงคุณค่าของสถาปัตยกรรมนีโอ-ปัลลาเดียน อายุกว่า 120 ปีได้อย่างมั่นคง แม้ว่าจะผุพังไปจนบางส่วนได้พังทลายลงก็ตาม การอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของพนักงานดับเพลิงบางรักและอาคารราชการแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งก่อสร้างที่จิตวิญญานของมันไม่เคยแก่ชราลงได้ตามอายุขัย อาคารที่เก่าหายากแต่ยังทรงคุณค่า มั่นคงและสวยงาม แม้ได้ถูกปลดเกษียณจากการเป็นอาคารหลักหลังเดิม มาสู่อาคารดับเพลิงแต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่ผู้อยู่และผู้ใช้ มีความภาคภูมิจื ซึ่งพบเห็นได้ยากในบริบทสังคมที่อาคารสมัยใหม่ทุกวันนี้เมิ่อไม่ได้ใช้งานจะกลายไปเป็นเพียงซากสิ่งก่อสร้าง ยืนตาย หรือรกร้างและเต็มไปด้วยรอยจิตรกรรมฝาผนังอันไม่ชวนมองไม่มีความภาคภูมิใจ ไม่มีความน่าพิศมัยมีแต่เพียงคำถาม ว่าเหตุใดจึงกลายเป็นเช่นนี้ และ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มจำนวนตึกร้างเช่นนี้ขึ้นอีก
หากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมยังคงเป็นไปอย่างไม่สนใจบริบทข้างเคียง คำนึงถึงเพียงประโยชน์ทางการลงทุนและไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมการใช้สอยของมนุษย์ สร้างเพียงสิ่งเร่งรัดให้ทันต่อเวลาที่จะทำรายได้ในระยะเวลาอันสั้นหรืออาจรวมไปถึงการก่อสร้างที่ขาดการคำนึงถึง ความยั่งยืน สุดท้ายแล้วกาลเวลาจะพาให้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นถูกลดทอนคุณค่าลงด้วยความเสื่อมโทรมในท้ายที่สุด

ส่วนชีวิต ณ สถานีดับเพลิงบางรักแห่งนี้จะยังคงดำเนินไปตามกาลเวลา เสียงหวูดรถดับเพลิงยังคงดังอยู่ในทุกครั้งที่เกิดเหตุแกเฉิน และจะยังคงมีผู้แวะเวียนมาชมความงดงามของอาคารหลังนี้ในทุกๆวัน โดยหวังเพียงว่าความรู้สึกชื่นชมนี้จะกลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเกิดความหวงแหนและเร่งหันมาพัฒนาอาคารอนุรักษ์แห่งนี้ให้กลับมีชีวิตชีวา ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสใช้สอยอย่างเกิดประโยชน์เต็มที่ ก่อนที่จะปล่อยให้กาลเวลาหรือ ภัยพิบีติที่น่ากลัวจากธรรมชาติถาโถมกัดแทะจนเหลือเพียงซากปรักหักพังแห่งความทรงจำแล้วเราจึงค่อยยืนไว้อาลัยให้กับอาคารที่เคยตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

ผู้เขียน : น.ส.จิรนันท์  เทียนทอง

You may also like...