โมสาร์ท เอฟเฟคท์

“โมสาร์ท เอฟเฟคท์” (Mozart Effect) หรือผลกระทบในทางสร้างสรรค์จากดนตรีคลาสสิก โดยเฉพาะจากบทประพันธ์ของ วอล์ฟกาง อมาดิอุส โมสาร์ท ( Wolfgang Amadeus Mozart) ในด้านการเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ กำลังเป็นกระแสความสนใจของผู้คนบ้านเราในเวลานี้

ทั้งที่ “โมสาร์ท เอฟเฟคท์” เป็นเรื่องที่มีการค้นคว้าวิจัยมานานหลายปีแล้ว และเคยมีการนำดนตรีของโมสาร์ทมาผลิตเป็นซีดีเพลงหลากหลายรูปแบบด้วยกัน
ทว่า ปรากฏการณ์ที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่หันมาเลือกหาซีดีเพลงคลาสสิกเพื่อนำไปเปิดให้ลูกฟัง เป็นเรื่องน่าพูดถึง เพราะไม่เป็นธรรมชาติเท่าใดนัก เท่าที่สังเกตดู เป้าหมายของคนที่ “เห่อ” โมสาร์ท เอฟเฟคท์ ส่วนมาก ไม่ได้อยู่ตรงการเสพสุนทรียภาพอันรื่นรมย์จากเสียงดนตรีเสียทีเดียว

แต่เป็นความคาดหวังว่า เสียงดนตรีจากสื่อผลิตซ้ำเหล่านี้กำลังทำหน้าที่คล้ายวิตามินหรือวัควีนอะไรบางอย่าง ที่ใส่ “อินพุท” เข้าไปแล้ว ” เอาท์พุท ” จะออกมาแบบนั้น

ต้องถือเป็นเรื่องน่าห่วง หากเราใช้งานดนตรีเพื่อความฉลาด เพราะโดยความเป็นจริง คนเราควรฟังดนตรีเพราะรักและชื่นชมในเสียงดนตรี ส่วนความสุขความปลื้มปิติทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งสติปัญญานั้น ถือเป็นผลพลอยได้ที่ติดตามมาต่างหาก

เคยสงสัยบ้างไหม เมื่อใครๆ ต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวว่า ดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่ไพเราะ ยกระดับจิตใจ และมีคุณค่าอย่างเอนกอนันต์นั้น แต่ทำไมคนส่วนมากยังเลือกฟังเพลงเชิงพาณิชย์จากนักร้องที่สุ้มเสียงยังไม่คงที่ ร้องเพี้ยนไปเพี้ยนมามากกว่า

จนกระทั่ง วันดีคืนดี เมื่อมีผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับ “โมสาร์ท เอฟเฟคท์” ขึ้นมา คนกลุ่มนี้มีการวางแผนธุรกิจ มีกระบวนการทางการตลาด ทำหน้าที่สร้างแบรนด์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชูจุดแข็งของสินค้า โดยอ้างอิงงานค้นคว้าวิจัยต่างๆ นานา ด้วยเนื้อหาหลักทำนองว่า ให้ลูกคุณฟังเพลงโมสาร์ทแล้วจะกลายเป็นคนฉลาด ไอคิวสูง เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เพลงคลาสสิก ที่พะโลโก้หรือยี่ห้อ “โมสาร์ท เอฟเฟคท์” ขายดิบขายดีราวเทน้ำเทท่า กลายเป็นช่องทางทำเงินใหม่ขึ้นมา

โมสาร์ท เอฟเฟคท์ และกระแสเห่อฟังดนตรีคลาสสิก ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นทางการตลาดแบบนี้ ชวนให้น่าใคร่ครวญว่า จะพัฒนาขึ้นเป็นวัฒนธรรมการเสพฟังดนตรีคลาสสิกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้หรือไม่ หรือเป็นได้เพียงส่วนหนึ่งของกระแสบริโภคนิยมเท่านั้นเอง

มีข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับ กระแสเห่อ โมสาร์ท เอฟเฟคท์ ซึ่งหลายคนอาจจะละเลย ไม่ได้คิดถึง

ประการแรก ถึงจะมีการค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยอ้างอิงบทประพันธ์ของ โมสาร์ท ต่อการเสริมสร้างสติปัญญาของมนุษย์ แต่ในทางดนตรี ความสมบูรณ์ของงานดนตรีกรรม ไม่ได้

เกี่ยวข้องกับผู้ประพันธ์ ( Composer) ถ่ายเดียวเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับผู้บรรเลง ( Performer) ด้วย

ดังนั้น การนำผลงานที่มีอายุหลายร้อยปีมาเล่น จึงต้องผ่านการตีความ ( Interpretation) จากนักดนตรีผู้บรรเลงหรือวาทยกร ซึ่งในปัจจุบัน มีการประเมินคุณค่าว่าเวอร์ชั่นการบรรเลงชิ้นไหน ได้รับการยกย่องมากที่สุด วัฒนธรรมการเสพฟังที่ดีจึงเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจว่า ควรจะเริ่มต้นการฟังผลงานของ โมสาร์ท จากศิลปินคนใด

ประการที่ 2 ดนตรีที่มีคุณค่าต่อสติปัญญาและจิตใจ ไม่ได้มีเฉพาะดนตรีของ โมสาร์ท เท่านั้น หากยังมีผลงานของคีตกวีท่านอื่นๆ ที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน ดังนั้น การเริ่มต้นฟังดนตรีคลาสสิก โดยเลือกสรรอัลบั้มที่มีแนวคิดรวบยอดด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนมากมักเป็นการรวมฮิตผลงานที่ตัดตอนมาเฉพาะท่อนไฮไลท์ จึงน่าจะเป็นการเปิดโลกกว้างทัศน์ มากกว่าการยึดติดอยู่กับ โมสาร์ท เท่านั้น

ที่ผ่านมา ค่ายเพลงหลักต่างมีอัลบั้มในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับซีรีส์ For Your Life ที่มีการกำหนดคอนเซพท์ชัดเจน โดยเลือกโทนดนตรีให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตในเวลานั้นๆ เหนืออื่นใด การเข้าถึงคุณค่าของโลกแห่งดนตรีคลาสสิกด้วยตนเอง น่าจะมีคุณค่าและยิ่งใหญ่กว่า โมสาร์ท เอฟเฟคท์ มากมายหลายเท่านัก

You may also like...