ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม(แบบร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช 2545 จากการยกย่องของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อีกหนึ่งเครื่องหมายการันตีความสามารถของ นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกผู้คร่ำหวอดและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงสถาปัตยกรรมทั้งไทยและเทศ
ด้วยผลงานอันทรงคุณค่าที่ฝากไว้ให้เราได้เห็นในงานออกแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายประเภททั้งที่เป็นโครงการของราชการและเอกชน ของสุดยอดสถาปนิกไทยแห่งยุคนี้ นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด หรือ A49 บริษัทออกแบบชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งมีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น จนถือว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งในเชิงอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล
“ สถาปนิกคือผู้สร้างนั้นคงไม่ผิด ความจริงนั้นต้องพูดให้เต็มว่า สถาปนิกคือนักคิดสร้างสรรค์ คือเป็นนักคิดนักจินตนาการ เป็นคนสร้างบ้านสร้างเมือง ไม่ว่าเมืองใดๆ ในโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นฝีมือ เป็นงานคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกทั้งสิ้น ทั้งปิรามิด ทัชมาฮาล นครวัด หรือวัดพระแก้ว เพราะฉะนั้นสถาปนิกจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ ผลงานของสถาปนิกจะยืนหยัดอยู่ได้เป็นพันๆ ปี เป็นมรดกสืบทอดทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดีทางหนึ่ง ”
ในข้อกล่าวหาที่ว่าสถาปนิกคืออีกหนึ่งผู้ร่วมก่อการสร้างวิกฤติให้กับเมืองและชุมชน ดังเช่นกรุงเทพฯ ซึ่งรวมเอาปัญหาไม่รู้จบเอาไว้มากมากมาย
“ ถ้าจะกล่าวหาว่าสถาปนิกคือตัวการที่ทำให้รถติดอันเนื่องมาจากการออกแบบอาคารซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม คำกล่าวนี้คงจะไม่ผิด ถ้าสถาปนิกท่านใดออกแบบไปโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมสภาพแวดล้อมในที่นี้หมายถึงการออกแบบอาคารและทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียง ต่ออาคารข้างเคียง ต่อเมือง ต่อการจราจรในพื้นที่ ในบางกรณีอาจมีผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ในบางกรณีอาจไปขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม อาจขัดกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้ ”
“ งานสถาปัตยกรรมช่วยสร้างมนุษย์ ช่วยพัฒนามนุษย์ ช่วยพัฒนาจิตใจของคนที่มาอยู่มาใช้มาสัมผัสงานสถาปัตยกรรมนั้นได้จริง งานสถาปัตยกรรมที่ดี ที่คิดสร้างสรรค์อย่างรอบคอบและได้คำนึงถึงการใช้สอยอย่างเหมาะสมแล้วนั้น ช่วยยกระดับจิตใจของผู้ใช้อาคารนั้นได้
“ แต่ถ้าจะบอกว่าทำให้คนอยู่ตึกสูงมีระดับกว่าคนอยู่บ้านนั้นคงไม่จริง หรือถ้าจะจริงก็จะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือในประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาเต็มที่แล้ว เช่นในสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป หรือประเทศญี่ปุ่นความรู้สึกนี้อาจกลับกัน คนที่อยู่บ้านก็มักจะเป็นคนมีเงินมีระดับ คนที่อยู่อาคารสูงก็จะเป็นคนระดับกลาง คนทำงาน คนใช้แรงงาน แม้แต่ในประเทศไทยเอง ความรู้สึกก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปจะมีรายได้เพียงพอที่จะอยู่บ้านได้ ”
“ สถาปนิกก็ถูกโจมตีเสมอว่ารับใช้นายทุน ต้องรับใช้นักการเมือง ยิ่งถ้าต้องรับใช้นายทุนหรือนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแต่เพียงฝ่ายเดียว เราก็จะได้งานสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา ได้งานสถาปัตยกรรมที่เป็นขยะของเมือง ซึ่งมีผลต่อคนอยู่คนใช้อาคารนั้น หรือมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่ได้มาพบมาเห็น แต่สถาปนิกที่ดีๆ ก็คงมี นายทุนที่ดีๆ ก็คงมี คนที่มีจิตสำนึกที่อยากสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม กับเมือง ให้กับประเทศชาติก็คงยังพอมี ทุกอาชีพก็คงมีทั้งคนดี คนเลว ถ้าสถาปนิกจะเลวกันทั้งหมดขาดจิตสำนึกที่ดีกันทั้งหมด ในวันนี้เราคงไม่มีทัชมาฮาล นครวัด บุโรพุทโธ วัดพระแก้ว หรือแม้แต่พระราชวังสวยๆ ในโลกให้เราได้เชยชม ”