15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยและปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“นาย…ถ้าฉันตาย…นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน…นายไม่ต้องไปทำอะไร…นายทำงาน

วันที่ 15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Silpa Bhirasri) บุรุษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย เป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นทั้งศิลปินและปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทย ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ชีวิต ผลงาน และแนวคิดของท่านนอกจากจะคงค่าในตัวเองแล้ว ยังสะท้อนภาพหลายประการถึงอุปสรรคของการพัฒนาศิลปะในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ปกติแล้ว วันที่ 15 กันยายน ในสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ จะถือเป็นวันที่ศิษย์โรงเรียน ศิลปศึกษาทุกคนต่างรอคอย เพราะคือโอกาส การได้ร่วมงานวันเกิด ของผู้เป็นครูศิลป์ ที่บ้านพัก ของท่าน ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน ศาสตราจารย์ศิลป์ จะอยู่ร่วมงาน เล่านิทาน ร้องเพลง และหยอกล้อกับศิษย์ดังปฏิบัติต่อลูกหลานจวบจนปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป สำนึกในบุญคุณของท่านผู้ริเริ่มวางรากฐาน และก่อตั้งวิทยาลัย ช่างศิลป จึงได้จัดกิจกรรมรำลึกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวันเกิดของท่านคือ วันที่ 15 กันยายน มาตลอดทุกปี และตั้งเป็นวัน “ศิลป์ พีระศรี” เพียงแต่วันนี้ไร้ ร่างเจ้าของวันเกิด เหลือไว้ก็แต่คำสอน และสถานศึกษาศิลปะ ตลอดจนคุณความดีที่ไม่มีใครลืม “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

คือบุคคลแรกที่สร้างอนุสาวรีย์ในเมืองไทย

ท่านเป็นบุคคลแรก ที่เริ่มสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองไทย ด้วยฝีมือและความสามารถของช่างไทย แทนการสั่งปั้นหล่อมาจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เป็นอันมาก งานสร้างอนุสาวรีย์ของท่านมีมากมาย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(ปี๒๔๗๕) ออกแบบโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี ๒๔๗๗),พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี ๒๔๘๔),พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี๒๔๙๓-๒๔๙๔)นายสิทธิเดช แสงหิรัญ นายปกรณ์ เล็กสน นายสนั่น ศิลภรณ์ ผู้ช่วย, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์(ปี ๒๔๙๙) นายสนั่น ศิลาภรณ์ นายสิทธิเดชแสงหิรัญ และคนอื่นๆ ผู้ช่วย,อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ดอยสุเทพ เชียงใหม่(เฉพาะศีรษะ)นายเขียน ยิ้มศิริ ผู้ช่วย ฯลฯ

อย่างไรก็ตามแม้ท่านจะเป็นผู้ปั้น แต่สำหรับงานออกแบบแล้ว ก็ไม่ใช่จะตรงตามที่ท่านต้องการเสียทั้งหมดทีเดียวนัก มีรายละเอียดบางส่วนจากบทความเรื่อง ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี โดย น.ณ ปากน้ำ ท่านบันทึกไว้ว่า
“ ข้าพเจ้าเคยได้เห็นภาพเสก็ตช์ของอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ ท่าทางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ก็สวยงามสง่ามาก คือเอนพระอังสาเล็กน้อย พระบาทวางเหลื่อมกัน โดยพระบาทข้างที่พระอังสายื่นออกมานั้นอยู่เบื้องนอก พระพักตร์เชิดอย่างสง่า ท่าแบบนี้เป็นท่าที่จัดไว้อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา ไม่ดูประทับนั่งเฉยๆอย่างที่เห็นปัจจุบัน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ความจริงภายหลังว่า คณะกรรมการได้ติชม แก้ไข พระบรมรูปให้เป็นท่าทางปัจจุบันนี้เอง เพราะเหตุนี้จึงออกเป็นเรื่องขมขื่นของท่านปฏิมากรเอกมิใช่น้อย ”

ถ้าขาดรากฐานของตัวตน การพัฒนาก็มีค่าเพียงการเลียนแบบ

ท่านเป็นบุคคลแรก ที่เริ่มการศึกษาค้นคว้าและเขียนบทความต่างๆแนะนำศิลปะไทย เพื่อกระตุ้นให้ชาวไทยเกิดความสนใจและสำนึกในความรักและหวงแหนศิลปะไทย ซึ่งนอกจากจะสะท้อนจากการทำงานของท่านแล้ว บทความของท่านหลายแห่งก็แสดงถึงความใส่ใจในเรื่องนี้อย่างชัดเจน“
รสนิยมตามสมัย เป็นผลร้ายแก่ศิลปินหนุ่มฝ่ายตะวันออกอย่างยิ่งอยู่สองประการ คือ ประการแรก ศิลปตะวันออกดำเนินรอยตามแบบประเพณีมาเป็นศตวรรษๆ ซึ่งในหลายกรณีด้วยกัน เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์และถ่ายทอดจากชั่วอายุหนึ่ง ด้วยการพินิจพิจารณาอย่างเข้มงวดกวดขันในด้านเทคนิคและความคิด อีกประการหนึ่ง สภาพการณ์เช่นนี้ได้สร้างให้เกิดนิสัยการลอกเลียนแบบขึ้น สาเหตุประการหลังเป็นการตรงกันข้ามกับสาเหตุประการแรก และขณะเดียวกันก็มีรากฐานเช่นเดียวกับประการแรกนั่นเอง เนื่องจากการทำงานตามแบบและความคิดซ้ำๆซากๆโดยไม่จำกัดของเรา ดังนั้นศิลปินหนุ่มจึงต้องการสลัดความเป็นทาสของความคิด(เก่า)ให้พ้นไป และด้วยเหตุนี้จึงไม่ยอมรับทุกๆสิ่งในอดีตอย่างสิ้นเชิง และรับเอาแต่สิ่งใหม่ๆทุกอย่าง ผลก็คือ งานศิลปะของศิลปินตะวันออก ขาดลักษณะโดยเฉพาะในส่วนบุคคลและเชื้อชาติ เป็นงานเลียนแบบศิลปะตะวันตก และเราอาจทราบได้แต่เพียงว่าสร้างขึ้นในตะวันออกจากชื่อและเชื้อชาติของศิลปินเท่านั้น
…ถ้าหากศิลปินไทยหรือศิลปินตะวันออกคนหนึ่งคนใด ทำงานด้วยความรู้สึกจริงใจ งานของเขาต้องแตกต่างไปจากงานของศิลปินชาวยุโรป ความแตกต่างซึ่งสอดคล้องกับลักษณะโดยเฉพาะของเชื้อชาติ

…ถ้าคนไทย (หรือศิลปินผู้ใดที่อยู่ในกลุ่มที่แตกต่างออกไปจากชาติพันธุ์) ไม่ลอกเลียนแบบอย่างงานของศิลปินต่างประเทศ เขาย่อมจะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกแบบอย่างใหม่ๆใดๆก็ได้ แบบอย่างใหม่นี้ก็เป็นลักษณะส่วนตนของเชื้อชาติ ซึ่งกอปรด้วยอารมณ์ตามธรรมชาติ ลมฟ้าอากาศ ศาสนา ความรู้สึกอันสืบเนื่องจากบรรพบุรุษ ความคิดและสมการด้านอื่นๆ ”

คัดจาก ศิลปร่วมสมัยในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๑๑ เขียน ยิ้มศิริ แปลจาก Contemporany Art in Thailand. (คำว่า “ ศิลปะ ” พิมพ์ตามต้นฉบับเดิมคือ “ ศิลป ”)
เมื่อพิจารณาจากความเห็นของท่าน เปรียบเทียบกับงานพัฒนาในแขนงอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง การศึกษา เศรษฐการ ฯลฯ ต่างก็เกิดปัญหาลักษณะคล้ายกันนี้ คือ ความคิดในการปฏิเสธของเก่าทั้งหมด และรับแต่ของใหม่ทั้งหมด โดยขาดการกลั่นกรอง ประยุกต์ และเลือกเฟ้นจุดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาซึ่งดูเหมือนสำหรับวัฒนธรรมในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวดูจะรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันทีเดียว
ด้วยจิตวิญญาณของครู ศิลปิน และนักอนุรักษ์

“ถ้าเราพิเคราะห์ดูฝีมือการปั้นพระพุทธรูปสมัยนี้จะเห็นได้ว่าทรามลงมาก หรือรูปเขียนเก่าๆงามๆที่ได้ถูกลบต่อเติมขึ้นใหม่โดยช่างฝีมือเลวๆ เราจะรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องทำนุบำรุงศิลปะการช่างให้ฟื้นฟูโดยเร็ว คำกล่าวที่ว่า either to renew or to die เป็นคำกล่าวที่เราควรพึงจำไว้ เราควรจะฟื้นฟูศิลปะของเราขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะศิลปะเป็นชีวิตจิตใจของชาติ
เรามีปัญหาอยู่สองประเด็น ประเด็นแรก คือการผลิตศิลปินที่สามารถขึ้นมาเพื่อทำงานศิลปแบบประเพณี เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่ง สำหรับงานบูรณะซ่อมสร้างโบราณวัตถุสถาน ประเด็นหลังคือ ความต้องการในศิลปปัจจุบัน ”

การตั้งโรงเรียนศิลปากรจึงไม่ใช่เพื่อจะศึกษาศิลปะสมัยใหม่เท่านั้น แต่เปิดการเรียนการสอนเพื่อฟื้นฟูงานช่างแบบเก่าด้วย อาจารย์ด้านศิลปะแบบประเพณีคนสำคัญก็คือ อาจารย์พระพรหมพิจิตร
“ เราสำนึกเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของศิลปะโบราณที่มีอยู่ต่อการทำงานศิลปตามความรู้สึกปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เอง ในระหว่างระยะเวลา ๓ ปี นักศึกษาต้องศึกษาค้นคว้างานศิลปะโบราณเป็นเวลาสัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง ถ้านักศึกษาเป็นผู้มีอุปนิสัยของศิลปินอย่างแท้จริง เขาจะค่อยๆดึงดูดเอาวิญญาณของศิลปินในอดีตเข้ามาไว้ จากนั้นก็ถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึกใหม่ของตน ”

 

ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโดเฟโรจี( Professor Corrado Feroci )เป็นชาวนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ. ตำบล San Giovanni บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci มีอาชีพค้าขาย
เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปีพ.ศ.2441ภายหลังจบหลักสูตร 5 ปีจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปีและได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียนซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับ ปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม
ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์จะหาช่างปั้นมาช่วยปฏิบัติราชการเพื่อฝึกฝนให้คนไทยสามารถปั้น รูปได้อย่างแบบตะวันตกและสามารถมีความรู้ถึงเทคนิคต่างๆในงานมาปฏิบัติ ราชการกับรัฐบาลไทย ทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอนาย คอร์ราโด เฟโรจี มาพร้อมทั้งคุณวุฒิและผลงาน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยินดีรับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากรกระทรวงวัง

เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 เมื่ออายุย่างเข้า32 ปีโดยได้รับเงินเดือนๆละ 800 บาทค่าเช่าบ้าน 80 บาท และต่อมาในปี พ.ศ.2469 ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ช่างปั้นหล่อแผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภาได้รับ เงินเดือนๆละ 900 บาทต่อมาได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรมกรม ศิลปากรกระทรวงธรรมการ

ท่านได้วางหลัก สูตรอบรมกว้างๆและทำการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมทั้งภาค ทฤษฎีและภาคปฏิบัติผู้ได้รับการอบรมรุ่นแรกๆส่วนมากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะ- ช่างได้แก่ สาย ประติมาปกร สุข อยู่มั่น ชิ้น ชื่อประสิทธิ์ สวัสดิ์ ชื่นมะนา และ แช่ม แดงชมพู

 

ผู้ที่มาอบรมฝึกงานกับศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นเพราะทางราชการมีนโยบายส่ง เสริมช่างปั้นช่างหล่อให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นผู้ ช่วยช่างและบางคนก็เข้ารับราชการช่วยแบ่งเบาภาระงาน และช่วยทำให้กิจการปั้นหล่อของกรมศิลปากรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อทาง ราชการเห็นความสำคัญของการศึกษาศิลปะตามแนวในปัจจุบันจึงได้ขอให้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พระศรี เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกันกับ โรงเรียนศิลปะในยุโรป

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ ” โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และในปีพ.ศ.2485กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวง ศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขา หนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือพระยาอนุมานราชธนดำเนินการ ปรับปรุงหลักสูตร และ ตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรมและมี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดี คนแรก ดังนั้นการเรียนการสอนศิลปะในสาขาวิชาศิลปะจึงเริ่มดำเนินการในระดับปริญญา ขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปีพ.ศ.2491 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้นำศิลปะไทยไปแสดง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ท่านได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลีและเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ในต้นปีพ.ศ.2492โดยกลับมาใช้ชีวิตเป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทางด้านศิลปะ ที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม
ในปีพ.ศ.2496 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับหน้าที่อันมีเกียรติ คือ เป็น ประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับ สมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art) ในปีพ.ศ.2497 ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทยไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติ ครั้งแรกที่ประเทศออสเตรียท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความชื่อศิลปะร่วม สมัยในประเทศไทย(Contemporary Art inThailand) ไปเผยแพร่ในการประชุมด้วยทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยดีขึ้นและนับเป็นคน แรกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศขึ้น

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ประมาณ 70 ปี

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

ข้อมูล
: วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับพิเศษ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
: “ศิลปร่วมสมัยในประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี คณะจิตรกรรมและ ประติมากรรม มหาวิทยาลัย ศิลปากร,๒๕๑๑ เขียน ยิ้มศิริ แปลจาก Contemporany Art in Thailand.
: ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี โดย น.ณ ปากน้ำ
: จาก สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
: “ประติมากรรมและจิตรกรรมสยาม ” โดย ศ.ศิลป พีระศรี พ.ศ.๒๔๘๑
: ความเคลื่อนไหวของศิลปินและศิลปะในยุคของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียน ดำรง วงศ์อุปราช
: สนั่น ศิลากร จากใจอาจารย์ อาจารย์ศิลปะกับลูกศิษย์ นิพนธ์ขำวิไล บรรณาธิการ ๒๕๒๗
: “ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ” โดย เขียน ยิ้มศิริ หนังสือพิธีไหว้ครูและรับน้องใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๑๖

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=offway&month=15-09-2008&group=17&gblog=11
ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=haiku&month=15-09-2009&group=2&gblog=25

 

กำหนดการ วันศิลป์ พีระศรี ประจำปี ๒๕๕๔ วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

๐๗.๓๐ น. ตักบาตรพระสงฆ์ ๓๙ รูป ณ บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
๐๘.๔๕ น. นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร อธิการบิดีมหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบดีกรมศิลปากร นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน/สำนัก คณาจารย์ ข้าราชการ/พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการกรมศิลปากร นักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร แขกรับเชิญ นายกสโมสรนักศึกษาและนักศึกษาปัจจุบัน นำช่อดอกไม้มาพร้อมกัน ณ บริเวณอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
๐๙.๐๐ น. – ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ประธานในพิธีมาถึงบริเวณมหาวิทยาลัยและกราบอัฐิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บริเวณพิพิธภัณฑ์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หลังจากนั้นไปยังลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
– ประธานรับของที่ระลึกจากผู้แทนหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
– อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวรายงานการจัดงาน วันศิลป์ พีระศรี
– ประธานมอบเหรียญเกียรติคุณ ศิลป์ พีระศรีและเกียรติบัตรให้ผู้แสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรีประจำปี ๒๕๕๔ และมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สนับสนุน
– ผู้อำนวยยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประธานกรรมการดำเนินการจัดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ ๒๘ เชิญศิลปินผู้ได้รับรางวัล เข้ารับเหรียญรางวัล “ศิลป์ พีระศรี” และเชิญศิลปินผู้ได้รับทุนสร้างสรรค์ “ศิลป์ พีระศรี” ประจำปี ๒๕๕๔ เข้ารับรางวัลจากประธาน
– ประธานกล่าวเปิดงานและเปิดนิทรรศการของคณะวิชาและหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นเชิญผู้ร่วมงานในพิธียืนสงบเพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นเวลา ๑ นาทีและวางช่อดอกไม้คราวะอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ต่อจากนั้น นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบดีกรมศิลปากร นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ แขกรับเชิญ ข้าราชการ/พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร นายกสโมสรนักศึกษาและนักศึกษาปัจจุบัน วางช่อดอกไม้คารวะอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตามลำดับ
– ประธานชมนิทรรศการ ณ จุดแสดงนิทรรศการ ได้แก่
คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ : นิทรรศการศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ครั้งที่ ๒๘ ประจำปี ๒๕๕๔ หัวข้อ “น้ำ น้ำพระทัย” ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ หอศิลป์ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ : นิทรรศการสถาปัตย์ – ปริวรรต ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
คณะมัณฑนศิลป์ : นิทรรศการสร้างสรรค์ผลงานคณาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ ครั้งที่ ๑๔ หัวข้อ “มัณฑนศิลป์ ๕๔ : ๕๔ ปี แห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร : นิทรรศการมหกรรมศิลปะร่วมสมัย เนื่องในวันศิลป์ พีระศรี ประจำปี ๒๕๕๔ ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
๑๐.๓๐ น. – การแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี เรื่อง “การก่อเกิดเพลงไทยสากล : แนวคิดด้านดนตรีวิทยา” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ณ ห้อง ๓๐๔ – ๓๐๕ อาคารศูนย์รวม ๑ (หอประชุม มหาวิทยาลัยศฺลปากร วังท่าพระ)
– อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวขอบคุณผู้แสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี
๑๒.๓๐ น. รับประทานอาหารร่วมกัน ณ โถงล่าง อาคารศูนย์รวม ๑ (หอประชุม)
๑๔.๐๐ น. พิธีมอบทุนการศึกษา
– รองอธิการบดี (กิจการนักศึกษา) เชิญผู้ได้รับทุนการศึกษากองทุนอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ทุนการศึกษากองทุนเมทินี ธารวณิชกุล ทุนการศึกษาของสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ทุนการศึกษามูลนิธิสยามกัมมาจลและทุนการศึกษากองทุนถวัลย์ – ไทยพาณิชย์ เข้ารับทุนการศึกษาจากนายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
๑๕.๐๐ น. การเสวนาเรื่อง “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” (๑๒๐ ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) “พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว” โดย ศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
๑๗.๐๐ น. การแสดงดนตรีจากคณาจารย์และนักศึกษา คณะดุริยางคศาสตร์ ณ เวทีลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
๑๘.๐๐ น. การแสดงจากชมรมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ สนามบาสเกตบอล
๑๙.๐๐ น. ฉายวีดิทัศน์ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รำลึก” ณ สนามบาสเกตบอล
๑๙.๓๐ น. – จุดเทียนรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
– นักศึกษาเก่าและนักศึกษาปัจจุบันร่วมร้องเพลง “ซานตาลูเชีย”
– การแสดงของนักศึกษาคณะวิชาต่างๆ ณ สนามบาสเกตบอล
– การแสดงดนตรีโดยนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
๒๒.๐๐ น. ปิดงาน
ข้อมูลจาก : คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

 

 

You may also like...