เรื่องที่ศิลปินต้องรู้ ถ้าอยากทำงานกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง WARNER MUSIC

หากเปรียบเทียบจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คงไม่มียุคสมัยใดที่ความฝันของคนหนุ่มสาว ผู้ปรารถนาจะเป็นดาวจรัสแสงในฟากฟ้าดนตรีจะถูกเติมเต็มด้วยโอกาสและตัวช่วยมากมายเท่ากับยุคนี้ ด้วยเครื่องมือมากมายที่ช่วยในการสร้างสรรค์ สารพัดช่องทางการเรียนรู้ และหลากหลายแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้กับการนำเสนอผลงาน มีศิลปินอิสระมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก หลายคนประสบความสำเร็จได้โดยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสังกัด แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศักยภาพในการสร้างความสำเร็จขนาดใหญ่ของวงการดนตรีทั่วโลกก็ยังเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของค่ายเพลงคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนาน การได้เป็นศิลปินในสังกัดยักษ์ใหญ่ จึงเป็นทั้งหมุดหมายความสำเร็จ และก้าวแรกที่สำคัญของคนดนตรี ในฐานะที่เป็นเครื่องการันตีบวกแรงสนับสนุนให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจด้วยทีมงานมืออาชีพและเงินทุน ภารกิจของหน่วยงานคัดสรรและพัฒนาศิลปิน ที่เรียกกันติดปากว่า  A&R จึงมีผลอย่างยิ่งต่ออนาคตของศิลปิน เพราะเป็นจุดเริ่มสำคัญของงานปั้นดินให้เป็นดาว หรืองานคัดสรรเพชรมาเจียรนัยให้เปล่งประกายงดงาม

คุณปอนด์ กฤษฎา วดีศิริศักดิ์ A&R DIRECTOR – WARNER MUSIC THAILAND คนดนตรีตัวจริงที่มีประสบการณ์เข้มข้นบนถนนสายดนตรี ทั้งในบทบาทโปรดิวเซอร์ เจ้าของค่ายเพลง ดีเจระดับแชมป์ ศิลปิน นักดนตรี และ Party Promoter ให้เกียรติมาบอกเล่าสาระดีๆกับ ARTBANGKOK.COM ในเรื่องของการร่วมงานกับค่ายเพลงดัง เปิดทุกแง่มุมสู่ความสำเร็จ เทรนด์ดนตรีที่มาแรง และประเด็นลิขสิทธิ์ที่ศิลปินต้องรู้ ภายใต้หมวกผู้บริหารงานคัดสรรและพัฒนาศิลปิน ของค่ายระดับโลกอย่าง Warner Music ที่เป็นต้นสังกัดของศิลปินดังระดับสากล อย่าง เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran), โคลด์เพลย์ (Coldplay), มิวส์ (Muse) WARNER MUSIC THAILAND ยังเป็นต้นสังกัดของศิลปินระดับหัวแถวของบ้านเรา อาทิ คาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ค่ายเพลง เวย์เฟอร์ เรคอร์ดส์ (Wayfer Records) และ ดัมบ์ เรคอร์ดิงส์ (D.U.M.B. Recordings) ที่มีศิลปินเลือดใหม่ เจ้าของงานเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น บิ๊ก ดีเจอร์ราร์ด, ลัสส์ (LUSS), แปม อัญชิสา, เทเหล็ก เทเหล็กซ์ (Telex Telexs), สวีด แอนด์ โรล (Zweed N Roll), แพทริกอนันดา, เจฟ ซาเตอร์ และ สุนารี (Tsunari) 

 

ArtBangkok: ค่ายเพลง Warner Music คัดสรรศิลปินมาร่วมงานอย่างไร

ประมาณ 90% หรือส่วนใหญ่เวลาเราหาศิลปิน เราจะไปตามผลงานในช่องของน้องๆเองมากกว่า ก็ไม่ได้มีการส่งเดโมหรือส่งอะไรมาออดิชั่นกันเท่าไหร่แล้ว ยกเว้นว่าในหนึ่งปีเราจะเปิดแคมเปญรับสมัครศิลปินหรือว่าเป็นโปรเจคอะไรใหม่ๆให้น้องๆได้ส่งผลงานกันเข้ามา เค้าก็จะส่งกันมาตามอีเมล์หรือว่าตามพื้นที่ต่างๆที่เราได้คัดเลือกไว้ 

ส่วนที่ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง จริงๆเราก็ฟังที่เพลงเป็นหลัก ส่วนอื่นที่จะมาประกอบการตัดสินใจของค่ายเพลงได้ก็มีทั้งเรื่องวิดีโอ เรื่อง Visual ต่างๆ รวมไปถึงการพูดคุยกับน้องๆ และทัศนคติในการเป็นศิลปิน

 

ArtBangkok: ศิลปินที่ต้องการสังกัดค่ายเพลงจะส่งเดโมให้ค่ายเพลงพิจารณาได้ผ่านช่องทางใด

ทางเว็บไซต์ของค่ายเพลงส่วนใหญ่ก็จะมีช่องทางให้ทำ Demo Subscribe หรือ Demo Apply อะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ทางแอดมินของเว็บก็จะรวบรวมส่งให้ทีมของผมคือ A&R เป็นฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน นอกจากนี้ก็จะมีทีมอื่นๆที่คอย Support เราอยู่ เวลาเราไปเจอวงใหม่ๆ บางทีก็ส่งข่าวต่อถึงกันครับ แต่ก็อย่างที่เรียนนะครับว่า ส่วนใหญ่เด็กๆจะสนใจเวลาที่ค่ายมีแคมเปญมากกว่า เค้าไม่ได้ใช้เวลาทำงานทั้งปีเพื่อมาส่ง Demo ให้เราอย่างเดียว เค้าก็สามารถออกผลงานเองได้แล้ว เพราะฉะนั้น Demo จะถูกส่งเข้ามาเยอะ ในช่วงที่เรามีแคมเปญ และจะมีส่วนน้อย ประมาณ 10-20% ที่ส่งมาตอนไม่ได้อยู่ในแคมเปญ 

ArtBangkok: การทำงานร่วมกับค่ายเพลงมีรูปแบบใดบ้าง

อย่างแรกคือ การเป็นศิลปินที่อยู่ในค่าย Warner เราช่วยศิลปินในการ Support ทางด้านภาพลักษณ์ ทางด้าน Visual และทางด้านชิ้นงานไม่ว่าจะเป็นตัวเพลงเองหรือการหาทีมมาช่วยเหลือน้อง ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่เค้าต้องการให้เติมเต็ม เช่น ศิลปินบางคนอาจจะเขียนเนื้อเก่ง เขียนเมโลดี้เก่งอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เก่งเรื่องดนตรี อาจจะทำดนตรีได้แค่ประมาณ 70% ค่ายเพลงก็มีหน้าที่ช่วยเติมเต็มส่วนเหล่านั้น รวมไปถึงต้นทุนต่างๆ ที่จะใช้ผลิตผลงานเพลงทางเสียง ส่วนทางภาพ ค่ายเพลงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ Support ศิลปินในเรื่องภาพอยู่แล้ว เพราะมันทำด้วยตัวศิลปินเองคนเดียวไม่ได้ 

บางทีผลงานเพลงอาจจะผลิตด้วยตัวศิลปินวงเดียวหรือคนเดียวได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องภาพ ไม่ใช่ทุกเพลงที่ศิลปินจะออกไปถ่ายเอ็มวีเอง กำกับเอง รวมไปถึงการแต่งตัว การถ่ายรูป เราก็จะ Support ด้วยต้นทุน และด้วยทีมงานที่เหมาะสมกับคาแรกเตอร์ของศิลปินนั้นๆ ครับ

ส่วนเรื่อง Condition ในการทำงานร่วมกับค่ายว่ามีแบบไหนบ้าง ถ้าพูดโดยหลักสากล ค่ายเพลงทั่วไปก็จะช่วยศิลปินในเรื่องต่างๆที่บอกมาข้างต้น แต่สำหรับค่าย Warner Music เราก็จะมีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นในส่วนของ Distribution เพราะบางศิลปินสามารถจบงานได้เองทั้งภาพและเสียง ทำอะไรด้วยตัวเองได้ ต่อสู้ด้วยตัวเองมาในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ได้อยากสังกัดค่ายเต็มตัว แต่ว่าต้องการ Support ของค่ายในฐานะเป็นผู้จัดจำหน่าย ในฐานะผู้ที่จะนำไปขึ้นระบบ Streaming ต่างๆ เค้าก็จะฝากหรือมาใช้บริการของ Warner Music ในการใช้ Service นี้ ซึ่งก็จะเป็นการทำงานกับค่ายในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ArtBangkok: ค่ายเพลงจะมีกระบวนการอย่างไรในการพิจารณาร่วมงานกับศิลปินที่สร้างงานเอง และต้องการให้ค่ายเพลงเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือเป็น Distributor

ในส่วนของการทำ Distribution เราไม่ได้รับศิลปินทุกคนที่เข้ามานะครับ มันขึ้นอยู่กับว่าผลงาน Match กับ Mindset หรือ Attitude ของพวกเราหรือเปล่า เพลงมีหลายแนวใช่ไหมครับ สมมุติว่าเป็นแนวที่ทางเราไม่ได้ถนัดนัก เราก็อาจไม่สามารถร่วมงานด้วยได้ ถ้ามันเป็นแนวเพลงอะไรที่ชัดเจนว่าเรามีบุคลากรที่น่าจะพอทำงานสไตล์นี้ได้อยู่แล้ว เช่น แนว POP แนว INDY POP  หรือ ALTERNATIVE และมี Year Plan ให้เราเห็นทั้งปีว่า การทำเพลงมี Continue Plan สม่ำเสมอ ไม่ใช่มาทำงานกับเราปีนึงมีเพลงออกมาเพลงเดียว ก็อาจจะเรียกได้ว่า เป็นเรื่องของความมีวินัย ที่จะได้มีผลงานต่อเนื่อง 

สรุปง่ายๆ คือ การร่วมงานในแบบ Distribution ศิลปินจะเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา เราช่วยเหลือในการส่งงานของเขาขึ้นไปสู่ระบบ Streaming ต่างๆ และให้ปรึกษา แต่ถ้าเป็นการร่วมงานในฐานะศิลปินสังกัดค่าย Warner Music เราจะ Support เขาเกือบทุกอย่าง 

การรับทำ Distribution ศิลปินจบงานทั้งหมดมาเอง ทำหน้าปกมาเอง ทำมิวสิควิดีโอมาเอง เรามีหน้าที่ Pitch เข้าสู่ DSP เข้าสู่ระบบ Streaming Platform ต่างๆ 

 

ArtBangkok:  การคัดสรรศิลปินไทยไปเผยแพร่ในตลาดสากล

ในส่วนนี้จะมาจากการคัดสรรและพัฒนาศิลปินของค่ายเอง ไม่ใช่ศิลปินที่มาให้เรา Distribution ยกตัวอย่างเช่น ไพร่า (พีรลดา สุขวัฒก์) ที่มาเป็นศิลปิน Warner หรือถ้าพูดถึงระดับอินเตอร์ก็ ซิลวี่ (ภาวิดา มอริจจิ) หรือวงอย่างเช่น My Life as Ali Thomas ที่เคยอยู่กับเรา พวกนี้เขาเป็นศิลปินค่ายเราอยู่แล้ว เพียงแต่ตลาดของเขาด้วยความที่เพลงเป็นภาษาอังกฤษ มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่  เราช่วยทำ Marketing มีการช่วย Pitching ไปที่ประเทศอื่นๆ ด้วยเพราะมันมีโอกาสเหล่านั้นอยู่ครับ

 

ArtBangkok:  ศิลปินกับการทำงานโฆษณาหรือเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า

ส่วนนี้ไม่ได้เป็นงานที่ระบุในสัญญาชัดเจน เมื่อเรามีศิลปินที่เริ่มมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ มันก็จะมีงานสาขาต่างๆเข้ามา เช่น งานจ้างไปร้องเพลง ไปเล่นคอนเสิร์ต ไปงานอีเว้นท์ ไปงานมิวสิคเฟลติวัล เป็นต้น แล้วมันก็จะมีงานอีกประเภทหนึ่งถ้าสมัยก่อนก็จะเป็นงานพรีเซนเตอร์สินค้า ไปถ่ายโฆษณา ไปถ่ายหนัง แต่พอยุคนี้มีรูปแบบของโซเชียลต่างๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น อินสตาแกรม ติ๊กต่อก โพรดักส์หรือลูกค้าเอเจนซี่ต่างๆ ไม่ได้ต้องการศิลปินเราไปขึ้นบนทีวีหรือบนป้ายแบนเนอร์อย่างเดียว เค้าต้องการโปรโมทสินค้าของเขาผ่าน Channel ของศิลปินเรา มีสินค้าเข้ามาให้ศิลปินช่วยโพสต์ หรือช่วยลงสตอรี่ เช่น มีหูฟังยี่ห้อหนึ่งมา อยากให้ศิลปินของเราใช้หูฟังยี่ห้อนี้ อย่างนี้เป็นต้น จริงๆก็เป็นงานประเภทเดียวกับงานโฆษณา เพียงแต่ในยุคสมัยใหม่มีการแตกสาขาออกไปตามแอปพลิเคชั่นต่างๆ 

 

ArtBangkok: ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาศิลปินแต่ละคน

แต่ละคนมีความแตกต่างกันครับ แต่ผมว่า ความพยายาม ความไม่ยอมแพ้ และ Atitude น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ศิลปินแต่ละคนประสบความสำเร็จ ในฐานะศิลปินของค่ายเพลง ผมเชื่อว่า ทุกคนที่สามารถร้องเพลง แต่งเพลงเองได้ เป็นคนเก่งอยู่แล้ว แต่ทีนี้คนเก่งมันมีอยู่เต็มไปหมด มันไม่ใช่ว่าเก่งแล้วจะประสบความสำเร็จที่สุดทุกคนนะ แต่คนที่จะโดดเด่นที่สุดผมว่า น่าจะเป็นคนที่เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนฟัง รู้ว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร 

ค่ายเพลงก็มีหน้าที่ support ในเรื่องของทีมงาน ในเรื่องของเงินทุน แต่สุดท้ายคนที่จะไปยืนอยู่ต่อหน้ามวลชนและทำให้เขาชอบก็คือตัวศิลปินนั่นแหละครับ  

ถ้าศิลปินสามารถมองออกว่า ผลงานของเขาหรือตัวของเขาจะเหมาะสมกับสิ่งไหนที่สุด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ ที่ตามมาคือเรื่องของความพยายาม ความมีวินัย การไม่หยุด 

สมัยนี้ศิลปินเยอะ การออกเพลงมีเยอะมาก ความต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันครับ บางคนทำเพลงเก่ง ทำเพลงดี ภาพลักษณ์ดี แฟนเยอะ แต่ปีหนึ่งออกเพลงครั้งเดียว อาจจะสู้คนที่ไม่เก่งเท่า แต่ออกผลงานต่อเนื่อง ออกไปพบเจอแฟนเพลงทุกเดือน ร้องเพลงให้เขาฟังทุกเดือน ผมเชื่อว่าคนหลัง ถึงอาจจะไม่ได้ปังเท่าคนแรก แต่ถ้าพูดถึงความสำเร็จจากมุมมองของผมในฐานะคนดูแลศิลปิน ความสำเร็จของศิลปิน ก็คือสามารถประกอบอาชีพได้ หากเอาตรงกลาง เป้าหมายของศิลปินแน่นอนทุกคนอยากอยู่กับดนตรี แต่สิ่งที่ตามมาเมื่อเขามีอายุมากขึ้น มันก็คือการที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้จากอาชีพนี้ด้วย ผมว่า ความสำเร็จของศิลปินก็เป็นเรื่องของการประกอบอาชีพมากกว่า 

 

ถ้ามีศิลปินสองคนที่มีความสามารถทางดนตรีเท่ากัน แต่อีกคนหนึ่งขยัน ทำเต็มที่กว่า คนนี้ก็น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าครับ

 

ArtBangkok: เทรนด์ดนตรีสำหรับตลาดในปัจจุบัน (2022)

สำหรับเทรนด์ในเมืองไทย ถ้าเราพูดแค่ปีเดียวอาจจะวัดอะไรไม่ได้ เอาเป็นมุมมองในรอบ 5 ปีจนถึงปัจจุบันแล้วกันนะครับ เราก็จะเห็นกระแสของ HIPHOP ที่กำลังมาแรงในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าตอนนี้เทรนด์ของ HIPHOP ไม่ได้แรงเหมือนตอนนั้น แต่ว่ามันก็ไม่ได้หายไป มีศิลปิน HIPHOP เบอร์ใหญ่ๆที่อยู่ได้นาน ก็อาจจะอยู่ได้ตลอดไป มีศิลปินที่สามารถปักหมุดของตัวเองได้ว่า ฉันไม่ได้เป็นแค่ HIPHOP คนหนึ่งแต่เป็นศิลปินระดับ ICON และสามารถบอกเล่าเรื่องราวของเขาที่เดินทางมาได้ คนที่เป็นตัวจริงหรือตัวหลักก็น่าจะยังอยู่ได้ ส่วนเทรนด์ที่เคยอู้ฟู่อาจจะไม่ได้ระบาดเหมือนเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่กับ Culture ที่ support scene นี้ด้วยว่า จะมีรายการแข่งแบบโน้นแบบนี้ต่อไปหรือเปล่า ผมคิดว่า เทรนด์ของ HIPHOP ช่วงหนึ่งก็ต้องขอบคุณรายการเหล่านั้นมากมายที่ทำให้ HIPHOP มันใหญ่ได้ขนาดนี้ 

อีกเทรนด์ที่ค่อนข้างบูมตั้งแต่ปีที่แล้วจนปัจจุบันคือ POP แต่ก็มีกระแสของ TPOP มีกระแสของ POP ในรูปแบบอื่นๆที่ไม่ใช่แนว Girl Group หรือ Boy Band แต่มีทั้งวงดนตรี POP มี Indie POP สำหรับพวกเรา ทีม Warner Music เชื่อว่า ตลาด POP ค่อนข้างใหญ่  โตขึ้นจากเดิม 20-30% โดยวัดจากภาพรวมที่เรารู้เรื่อง Market share ของทั้งประเทศ ก็จะเห็น Engaement ของแฟนๆ ว่าสองปีที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง วงที่อยู่ค่ายเราที่เป็นแนว POP อยู่ดีๆมันก็กระโดดขึ้นมาเป็นเพลงที่คนชอบ ไม่ว่าจะเป็นวงอย่าง LUSS ศิลปินอย่าง แพทริค อนันดา 

คำว่า POP มันก็มีวาไรตี้ของมัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง POP หวานฉ่ำ ใสๆ เด็กๆ หน้าตาน่ารัก มีทั้งแบบที่ศิลปินอยากทำแนว POP แต่ว่าไม่ได้ขายหน้าตา เน้นความ POP ด้วยการเขียนเพลงของเขา ทั้งหมดนี้ก็รวมๆกันให้เห็นว่า สองปีนี้เป็น POP กับ HIPHOP เป็นอะไรที่มาแรงและใหญ่ ปีหน้าก็จะยังคงอยู่ต่อไป 

เทรนด์ที่สามคือตลาดเพลง INDIE ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กราฟไม่ชันมากแต่โตขึ้นทุกปี เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึง INDIE ก็จะหมายถึงวงดนตรีอิสระที่ทำเพลงเอง แต่ตอนนี้มันเหมือนจะเป็นแบบนั้นผสมกับอีกแบบหนึ่งก็คือ มันเป็นดนตรีที่ไม่ใช่ POP ซึ่งผลิตโดยทีมงานอื่นหรืออะไรเสียทีเดียว มันเป็นเอกเทศของศิลปิน ที่สร้างงานเหล่านั้นขึ้นมาโดยไม่ได้อิงกับกระแสใด บางทีผมก็จะเรียกว่า INDIE เหมือนกัน บางวงเป็นแนว Bedroom POP บางวงก็จะเป็น INDIE POP บางวงก็เป็น Alternative เป็น Modern Folk หรือ Electronic POP อะไรต่างๆ มีมากมาย ขมวดรวมกันเป็นอันเดียวได้ว่า เป็นแนวดนตรีที่ไม่ใช่กระแสหลัก ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวใดแนวหนึ่งได้สำหรับเรา 

ผมเคยคุยกันสนุกๆกับพี่คาล (คุณนิทัศน์ คงขำ) หัวหน้าผมว่า นิยามคำว่า INDIE มันคืออะไร มันเปลี่ยนไปทุกยุคทุกสมัย มันคือคำว่า Alternative สมัยก่อน มันคือเด็กกลุ่มหนึ่งที่แตกต่าง ทั้งคนที่สร้างงานและคนที่ฟังผลงานด้วย มันคือเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก คือเค้าไม่ได้อยากทำเพลง POP ขนาดนั้น แต่จะมีความครีเอทีฟ มีความสันโดษ มีความเอกเทศ มีความ Unique ของตัวเอง คำว่า INDIE มันคือคำจำกัดความของยุคสมัยแต่ไม่ใช่ชื่อแนวเพลงอีกต่อไป 

ทั้งสามแนวที่บอกมานี้ก็คือเทรนด์สำหรับพวกผมเอง เป็นอะไรที่ Warner Music มองหา และคิดว่ามี Potential ที่จะพัฒนาศิลปินสามกลุ่มนี้ ถ้าเป็น 20 ปีที่แล้วก็จะมีคำว่า ROCK ด้วย ซึ่งตอนนี้ ROCK ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่จะเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของ INDIE ยุคนี้เราจะไม่เห็นดนตรี ROCK มากเท่าสมัยก่อนนะ เมื่อก่อนทุกคนก็จะมีฮีโรเป็นวง ROCK เบอร์ใหญ่ๆของเมืองไทย แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆไม่ได้มี Aiming ของตัวเองเป็นวง ROCK ขนาดนั้นแล้ว 

คนสมัยนี้อาจชอบ UrboyTJ และอาจชอบวง INDIE อย่าง Safeplanet ไปด้วยก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นพฤติกรรมคนฟังแบบเดียวกับต่างประเทศ คือคนชอบ HIPHOP ก็อาจจะชอบฟังเพลงแบบอิเลคโทรนิคส์ได้ และไปดูวง INDIE ด้วยก็มี  

เทรนด์ของเพลงต่างประเทศตอบยากครับ ว่าประเทศไหนเทรนด์อะไรจะมา หรืออะไรเป็นตลาดใหญ่ ผมเองไม่ได้เข้าใจตลาดต่างประเทศนักนะครับ เอ่แค่บางประเทศที่เคยไปดูงาน หรือเคยไปเที่ยว แต่ละประเทศก็จะมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ละเมืองก็ฟังเพลงไม่เหมือนกันอีก ในทัศนะของผมมองว่า คนฟังเพลงในต่างประเทศอาจจะชอบเพลงแนวใดแนวหนึ่งและชอบแนวอื่นๆที่หลายหลากพร้อมกันไปด้วยในขณะเดียวกัน ส่วนคนไทยก็จะเป็นกลุ่ม INDIE ที่ชอบฟังหลายๆอย่าง  ผมไม่ได้เชี่ยวชาญพอที่จะฟันธงแต่ตอบแบบง่ายๆได้ว่า ถ้าเป็นเทรนด์ในอเมริกาก็ดูได้จาก Billboard Chart’s Top ที่มี HIPHOP ครองอยู่ ในขณะที่ยุโรป สแกนดิเนเวียน หรือ อังกฤษ ก็จะชอบฟังเพลงอีกแบบนึง   

 

ArtBangkok: ข้อแตกต่างระหว่างศิลปินอิสระกับศิลปินมีสังกัด

ง่ายที่สุด ผมคิดว่า การอยู่แบบอิสระมันคือการทำงานของวงดนตรีวงเดียวละกัน เมื่ออยากทำเสื้อ คุณก็ไปหาโรงงานทำเสื้อ อยากทำมิวสิกวิดีโอคุณก็ไปหาผู้กำกับ อยากถ่ายรูปก็ไปหาช่างภาพ คุณต้องเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง และคุณต้องออกเงินเอง แต่ถ้าอยู่ค่ายเพลง ศูนย์กลางที่ดูแลสิ่งเหล่านี้จะเป็นค่าย พวกเราจะไปคุยกับผู้กำกับให้ หาช่างภาพให้ หาสไตลิสต์ หาคนโน้นคนนี้มาให้ หาโรงงานทำเสื้อให้ ศิลปินก็ไม่ได้จะต้องทำอะไรเองเหมือนตอนอิสระ และไม่ต้องควักเงินเอง เหล่านี้คือข้อแตกต่าง ไม่ใช่ข้อดีข้อเสีย เพราะบางคนก็อาจไม่ชอบการตัดสินใจเป็นทีม บางคนศิลปินมีความติสท์ เขาอาจจะอยากทำมิวสิกวิดีโอแบบมืดทั้งเพลง แต่ค่ายอาจจะขอว่า ท่อนนี้เห็นหน้านางเอก เห็นหน้ามือกลองหน่อยได้ไหม ก็จะมีการคุยกันเกิดขึ้น มันทำให้การสร้างวิดีโอตัวนี้ช้าลง ถ้าคุณอยู่คนเดียว สปีดคุณเร็วขึ้นแน่นอน อยู่กับค่ายก็อาจมีทีมโน้นทีมนี้มาช่วยตัดสินใจ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า คาแรกเตอร์หรือว่าวิธีการทำงานของศิลปินวงนั้นๆชอบแบบไหน 

คือสุดท้ายผมว่า การอยู่ค่ายเพลงข้อดีคือ มีทุน มีทีม ซึ่งถ้าเราต้องการสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะจำเป็นที่ต้องมีค่าย แต่ถ้าคุณชอบฉายเดี่ยว คนเดียวเอาอยู่ ซึ่งก็มีหลายๆวงทำได้นะ จบงานได้ด้วยตัวเอง เป็นเซ็นเตอร์ได้ด้วยตัวเอง อยู่คนเดียวน่าจะสะดวกกว่า มันก็แล้วแต่เคมีของแต่ละวงหรือแต่ละศิลปิน ฟันธงไม่ได้ว่าการอยู่ค่ายมันดีกับทุกคน เพราะบางคนเขาอาจจะไม่ได้ต้องการ Support แบบนี้ก็ได้ หรือบางคนเคยอยู่บางค่ายแล้วอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกับค่ายเพลง กลัวค่ายไปเลยก็มี 

ผมเองมีหน้าที่ดูแลศิลปินที่มีอยู่ ในบางโอกาสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของผม ผมก็ต้องไปจีบวงโน้นวงนี้เข้ามาในค่ายด้วย เราก็จะเห็นวิธีการที่เขาคุยกับเรา ว่าเขารู้สึกยังไงกับค่ายเพลง เราจะรู้ว่า ศิลปินเขาหวงผลงาน เขาหวงความเป็นตัวตนของเขา กลัวว่าเราจะเปลี่ยนเขาหรือเปล่า ซึ่งนั่นจะเป็น Concern หลักของทุกวงอยู่แล้ว 

 

ArtBangkok: ลิขสิทธิ์งานเพลงและการจัดการผลประโยชน์

เรื่องนี้จะแล้วแต่ค่ายนะครับ แต่สำหรับเรา Warner Music Thailand สิทธิ์ในเพลงจะมีสิทธิ์อยู่ 2 อย่างครับ อย่างแรกเป็น สิทธิ์ MASTERING คือสิทธิ์ของการบันทึกเสียง เมื่อบันทึกเสียงทั้งหมดเหล่านี้มา ที่เราไปอัดเสียง เข้าห้องอัด เป็น Mixed down เป็น MASTER ออกมาเราเรียกว่า สิทธิ์ของ MASTERING นะครับ  สิทธิ์นี้เป็นของค่ายเพลงเพราะค่ายเพลงเป็นคนลงทุน เป็นผู้ผลิตมันขึ้นมา ใช้ทุน ใช้ทีม ใช้ศิลปินสร้างมันขึ้นมา เมื่อเราได้ชิ้น MASTER เราก็ส่งขาย เช่น ทำซีดี หรือปล่อยตาม Streaming อันนี้เป็นสิทธิ์ของค่ายเพลงนะครับ ซึ่งเราจะมีส่วนแบ่งให้กับศิลปินอยู่แล้วตามสัดส่วนที่ตกลงกัน อันนี้เราจะแบ่งกันไปจนตาย เมื่อเพลงถูกปล่อยลง Youtube Itune Spotify และ streaming ต่างๆ สมมุติครบ 1 ปีมีรายได้ 100 บาท เราก็แบ่งตามสัดส่วนที่ค่ายแบ่งกับศิลปิน แบ่งกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะตายไปเลย

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกสิทธิ์หนึ่งที่ศิลปินน้องๆ จะเป็นห่วงเรื่องนี้กัน คือสิทธิ์ของผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองนะครับ ปกติแล้ว ใครที่เป็นคนแต่ง เป็นคนเขียนเนื้อร้อง และทำนองเพลงนี้ขึ้นมา สิทธิ์นั้นจะเป็นของผู้แต่งโดยปริยาย  ถ้าผู้แต่งไม่ได้มอบหมายให้ค่าย หรือมอบหมายให้ใคร สิทธิ์นั้นก็จะเป็นของเขา ส่วนนี้ Warner Music จะไม่ได้ยุ่ง เวลาเพลงนี้มาออกกับเรา ต่อให้ Mastering เป็นของเรา แต่สิทธิ์เนื้อร้องทำนองก็ยังเป็นของผู้แต่ง นั่นหมายความว่า เขาสามารถเอาเพลงนี้ออกไปร้องได้ 

ทีนี้มันก็จะมีองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์เรา ค่าลิขสิทธิ์ของเนื้อร้องทำนองอยู่ ถ้าศิลปินไปสมัครอยู่กับองค์กรเหล่านั้น เขาก็จะจัดเก็บเงินที่ถ้าทั่วประเทศไทย หากมีใครเอาเพลงนี้ไปเปิด ก็จะมีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ และเมื่อครบรอบ 1 ปี ก็จะมีการปันผลให้ศิลปินทุกคนที่มาจดทะเบียนเข้าระบบของเขาครับ ซึ่งที่บอกมานี้คือระบบของค่ายเรานะครับ และก็มีหลายๆค่ายมากมายที่ใช้ระบบแบบเดียวกับเราอยู่ในเรื่องสิทธิ์ผู้แต่งเนื้อร้องทำนอง เวลาน้องๆจะเซ็นต์สัญญากับค่ายเพลงก็ต้องเช็คสองสิทธิ์นี้ให้ดีครับ


Text: วีร์วิศ

www.ArtBangkok.com

อ้างอิง: 

https://www.thaipost.net/entertainment-news/85370/

https://www.sneakthestreet.com/the-process-15-years-in-electronic-music-scene-kingkong-marmosets/

https://warnermusic.co.th 

 

You may also like...