Paddington หมีต่างด้าว

Paddington เป็นหมีวรรณกรรมที่โด่งดังในประเทศแถบตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป ผลงานการเขียนของ ไมเคิล บอนด์ เมื่อปี 1985 หนังสือชื่อ A Bear Called Paddington กับหนังสือชุด Paddington Bear ทำยอดขายได้กว่า 35 ล้านเล่ม ถูกแปลเป็นภาษากว่า40ภาษา ส่วนฉบับภาพยนตร์เขียนบทและกำกับโดย พอล คิง

เนื้อหาบนจอเงินมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยเล็กน้อย เล่าถึงเรื่องของหมีน้อยเปรูที่พูดภาษาคนได้ โดยเรียนจากลุงกับป้าเขาที่เคยพบกับนักสำรวจชาวอังกฤษเมื่อนานมาแล้ว ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หนีน้อยเสียลุงกับบ้านไป ป้าเลยส่งหมีน้อยลงเรือเดินทางไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษพร้อมกับป้าย โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ เพื่อให้หมีน้อยมีบ้านหลังใหม่ โดยหมีน้อยมีความหวังเล็กๆว่าจะได้พบ คุณมอนโกเมอรี นักสำรวจใจดีที่เคยชักชวนลุงกับป้าของเขาให้ไปเที่ยวอังกฤษ

ลอนดอนไม่ได้น่าอยู่เหมือนที่หมีน้อยจินตนาการ เขาติดแหง็กอยู่ในสถานีแพดดิงตันกระทั่งครอบครัวบราวน์ผ่านมาพบ มิสซิสบราวน์ ชวนเขาไปพักที่บ้านชั่วคราวพร้อมตั้งชื่อให้ว่า Paddington ท่ามกลางการคัดค้านของ มิสเตอร์บราวน์ ขณะเดียวกัน ลูกสาวของมิสเตอร์มอนโกเมอรี ซึ่งมีนิสัยตรงข้ามกับพ่อ โดยเปิดพิพิธภัณฑ์บังหน้าแต่มีงานอดิเรกคือการสต๊าฟสัตว์ และเมื่อเธอได้ข่าวว่ามีหมีเปรูอยู่ในกรุงลอนดอน เธอก็ไม่รีรอที่จะออกล่าตัวมาสต๊าฟไว้ดูเล่น

บรรยากาศในหนังน่ารัก ขบขัน และอบอุ่น ผู้กำกับเล่าเรื่องสนุก ออกแนวฟีลกู้ด มุขตลกครีเอทแถมยังทันสมัยสร้างเสียงหัวเราะได้ตลอด หมีน้อยพาทัวร์กรุงลอนดอนซะทั่วจนเราอดคิดไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวอังกฤษมีส่วนได้ส่วนเสียกับหนังหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอวัฒนธรรมอังกฤษทั้งแง่ดี แง่เสียดสี ผ่านสายตาคนต่างถิ่นกับคนในท้องถิ่น การถ่ายภาพสวยงามไม่เสียแรงที่เป็นทีมสร้างเดียวกับ แฮรี่ พอตเตอร์

บางคนอาจมองว่ามันเป็นหนังเด็ก แต่เนื้อหาบางอย่างไม่เด็กเลย ส่วนตัวชอบการแฝงประเด็นเรื่องคนนอกได้น่าสนใจ หมีแพดดิงตัน เป็นตัวแทนของคนต่างด้าวที่ต้องจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ฝนตกได้ตลอดเวลาอย่างลอนดอน รวมถึงยังเข้าอกเข้าใจอารมณ์คนที่ต้องปรับตัวกับสถานที่และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆทั้งการ ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน อีกด้วย แต่ที่ถ่ายทอดออกมาได้เยี่ยมที่สุดคือความรู้สึกของเด็กกำพร้าซึ่งฝันอยากเจอครอบครัวอุปถัมภ์ดีๆเข้าสักวัน

คาแร็กเตอร์ของหมี Paddington เป็นตัวละครที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องตกหลุมรัก สำหรับตัวละครอื่นๆที่เด่นๆก็มี แซลลี่ ฮอว์กินส์ ในบท มิสซิสบราวน์ กับ ฮิวจ์ บอนน์วิลล์ ในบท มิสเตอร์บราวน์ สองคนนี้เป็นตัวหลักที่สร้างสีสันให้กับหนัง นิโคล คิดแมน กับการเล่นบทตลกและตัวร้าย แม้คาแร็กเตอร์จะดูโอเวอร์ไปบ้างแต่ก็นับว่าเป็นการแสดงอันแปลกใหม่ของเธอที่คอหนังไม่ค่อยได้เห็น

ไม่น่าแปลกใจที่ทำไมหมีแพดดิงตันจึงครองใจเด็กยุโรปมายาวนานหลายทศวรรษ และเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้เด็กหลายล้านคนทั่วโลกยินดีที่จะรับหมีต่างด้าวตัวนี้เข้ามาในบ้าน โดยไม่กลัวว่ามันจะแย่งพวกเขากินแยมส้มมาร์มาเลด

BUGABOO NEWS / บทวิจารณ์โดย นกไซเบอร์

 สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)

จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์

 

 

You may also like...