เจน สงสมพันธุ์

“ในความรู้สึกทุกครั้งที่เหนื่อย ผมก็อยากที่จะเขียนในความเหนื่อยนั่นเอง แม้อาจจะเขียนได้ไม่ดีเท่าที่ควรแต่ทุกครั้งที่เหนื่อยก็อยากเขียนหนังสือแล้วความสุขก็จะฟื้นคืนกลับมา”

หากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย มักจะได้รับความคาดหวังและความกดดันจากประชาชนว่าจะต้องเป็นผู้นำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขแล้ว ก็คงจะเฉกเช่นเดียวกันกับตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ย่อมได้รับความคาดหวังจากทั้งเหล่านักอ่าน และเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงนักเขียนด้วยกันเอง ว่าจะต้องเป็นผู้นำพาให้วงการวรรณกรรมไทยมีความก้าวหน้าพัฒนาทัดเทียมกับวงการวรรณกรรมระดับโลก แต่เพราะฟันเฟืองตัวเดียวไม่สามารถทำให้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขับเคลื่อนไปได้ นี่จึงเป็นเสียงและคำบอกเล่าจากปากของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนล่าสุด “เจน สงสมพันธุ์”

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มต้นเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่
ผมคงจะได้เชื้อการอ่านมาจากกลุ่มผู้ใหญ่ของพ่อซึ่งเป็นครูในอำเภอควนขนุน ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะอึมครึมด้วยกระแสทางการเมือง ผมก็ไปเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิดหาดใหญ่ ตอนที่เรียนเราไม่มีปัญหาเรื่องเรียนอะไรทำให้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น ก็ไปสนุกกับพวกรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เราก็ได้อ่านหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือที่ถือว่าเป็นหนังสือต้องห้ามสมัยนั้นกลายเป็นหนังสืออย่างดีที่จะให้เราอ่าน ในช่วงเวลาที่อยู่หาดใหญ่สามปีเป็นช่วงเวลาที่ได้อ่านหนังสือ ได้เริ่มต้นเขียนหนังสือ ต่อมาก็ได้เขียนงานอยู่เรื่อยๆ หลังจากที่เรื่องสั้นได้ลงที่สยามรัฐ บทกวีได้ลงในสยามใหม่ ได้ลงในที่ต่างๆ ก็ไปหาคุณสำราญ รอดเพชร ซึ่งเป็นนักเขียนกลุ่มนาครรุ่นพี่ ถือว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ได้เจอนักเขียนรุ่นพี่หลายๆ ท่าน ต่อมาก็เริ่มเขียนคอลัมน์ ส่วนใหญ่เป็นรายสัปดาห์ แต่ว่าพอเวลามันผ่านไปพวกคอลัมน์ต่างๆ มันก็หายไปตามกาลเวลา
ตอนที่เรามาอยู่กรุงเทพมันเหมือนจองหงวนคนหนึ่งซึ่งมาจากหัวเมือง นักเขียนรุ่นหลังที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่ที่บ้านเรา กลายเป็นที่รองรับคนที่มาจากปักษ์ใต้บ้าง แล้วในช่วงเวลานั้นเราก็มีกลุ่มนาครที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนแล้ว ซึ่งนักเขียนในกลุ่มของเรามีกันอยู่จำนวนมากและก็สร้างผลงานออกมามาก เมื่อพวกนี้มีงานเขียนก็จะต่อท้ายด้วยว่ากลุ่มนาคร เพราะฉะนั้นนักเขียนภูมิภาคอื่นก็อยากจะเริ่มต้นแบบเดียวกัน เป็นที่มาของการตั้งกลุ่มวรรณกรรมในภาคอื่นๆ ตามมา ความฝันอย่างหนึ่งของคนวรรณกรรมส่วนใหญ่ก็คืออยากมีผลงานรวมเล่ม กลุ่มนาครก็คิดที่จะทำสำนักพิมพ์ขึ้นมา และบังเอิญว่าไพฑูรย์ ธัญญาได้รางวัลซีไรต์ขึ้นมา มันก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำสำนักพิมพ์ แม้จะมีปัญหากันอยู่ระหว่างการพิมพ์หนังสือแต่ว่าสุดท้ายมันก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ตอนนั้นสำนักพิมพ์นาครก็เกิดขึ้น ชีวิตผมก็เปลี่ยนเพราะว่าอยู่ๆ จากการเป็นนักเขียนก็ต้องมารับงานการจัดการอะไรก็ไม่รู้ซึ่งเราไม่ถนัด ชีวิตของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มันก็จะหายไปกับการบริหารสำนักพิมพ์ ผมก็เลยค่อยๆ หายไปจากแวดวงวรรณกรรม จนมาถึงปัจจุบันนี้ผมเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นักเขียนต้นแบบ หรือ นักเขียนคนโปรด
ยุคที่ผมเติบโตมันเป็นยุคของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่จริงนักเขียนในแต่ละรายทางมันก็มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดเวลา งานเพื่อชีวิตที่เราอ่านมันตอบสนองความรู้สึกทางสังคมของเราได้ งานของจิตร ภูมิศักดิ์ งานของนายผีอะไรพวกนี้ เป็นงานที่บอกถึงโอกาสของคนชั้นล่าง บอกถึงความไม่เท่าเทียม ต่อมาก็งานพวกวรรณกรรมรัสเซีย พวกแม็กซิม กอร์กี้ส์ ลีโอ ตอลสตรอย ฯลฯ เหล่านี้เป็นงานที่เรารู้สึกว่าอ่านแล้วมันได้ความรู้สึกมาเปรียบเทียบกับสังคมไทยก็คือความทุกข์ยากของชนชั้นล่างในรัสเซีย เราก็เอาวรรณกรรมเหล่านั้นมาอธิบายสังคมไทยว่า สังคมไทยมันก็ไม่ได้ต่างกับคนเหล่านั้นในรัสเซีย หรือชีวิตผู้คนที่ยากแค้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองในงานของจอห์น สไตน์เบ็คในอเมริกา มันก็เป็นรายละเอียดที่มีความรู้สึกว่ามันสร้างประกายความคิดให้เรามองสังคมไทยได้เข้าใจมากขึ้น คือเราอ่านวรรณกรรมเราจะไม่หงุดหงิดกับสิ่งที่เป็นสังคมเผด็จการแต่เรากำลังหาทางออกว่ามันมีทางออกไหนที่จะช่วยให้ชีวิตผู้คนมันดีขึ้น ที่จริงมันมีงานที่เราเห็นความสวยความงามผ่อนคลายแต่ว่ามันเข้ามาในช่วงเวลาบางช่วงที่เราเจอปัญหา เช่น คาริล ยิบราน ทำให้เห็นความงามภายใน คือแทนที่จะมองสิ่งที่เป็นปัญหาก็มองว่าที่จริงมันมีความงามที่อยู่ภายใน งานสิทธารถะ ของเฮอร์มานน์ เฮสเส หรืองานของคาวาบาตะของญี่ปุ่น ซึ่งเวลาเขียนอะไรก็จะดูงดงามไปหมด งานเหล่านี้มันก็อยู่ตามช่วงเวลาที่เราเติบโต ที่เราได้เจอปัญหามากขึ้น

ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยปัจจุบัน
จริงๆ แล้วผมยังไม่พอใจในคุณภาพ ในความคิดของผมจากการที่เราอ่านงานวรรณกรรมระดับโลกมานานนักเขียนไทยในส่วนของเรื่องสั้นพอจะไปได้แต่ในส่วนของนิยายและบทกวียังต้องมีการพัฒนา มีคนอยากเขียนหนังสือเยอะแต่ความอยากอย่างเดียวมันไม่ช่วยให้มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นงานเขียนหรืองานทุกอย่างที่เราจะต้องใช้การจารึกต้องใช้คนที่ฉลาด ถ้านักเขียนเป็นคนฉลาดตัวหนังสือก็ดูจะฉลาดด้วยแต่ในขณะนี้คนฉลาดเราเอาไปใช้งานด้านอื่น ผมว่าเขาไม่ถูกกระตุ้นให้เขียนหนังสือ คนที่มีความสามารถเขาก็หาเงินทุนเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการทำอย่างอื่น พอเขาเสียชีวิตไปก็จบ เขาไม่ได้มีอายุยืนเหมือนคึกกฤษ ปราโมช ที่คนคิดถึงไม่ใช่เพราะเขาเป็นนายกแต่คิดถึงเพราะเขาเป็นนักคิดนักเขียน คนยังคิดถึงสุนทรภู่ แม้เขาจะตายไปแล้วแต่งานเขียนเขายังมีอายุเป็นร้อยปี เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่าอายุยืนหมื่นปีเนี่ยมันเกิดขึ้นกับนักเขียนนะ เพราะฉะนั้นเราต้องไปบอกกับทุกคนที่เป็นระดับ Genius ของสังคมว่าคุณต้องหัดเขียนหนังสือ คุณต้องหัดถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่งั้นแล้วความรู้ของคุณที่มีอยู่ก็จะหายไปกับตัวคุณและความมีชื่อเสียงของคุณก็จะหมดไป ไม่สามารถข้ามยุคสมัยได้ เราต้องการนักเขียนรุ่นต่อไปที่มีความเฉลียวฉลาดเพื่อจะพัฒนาวรรณกรรมให้มันมีคุณภาพมากขึ้น ต่อให้มีสมาคมนักเขียนชั้นดี มีสวัสดิการนักเขียนดีๆ แต่ถ้าไม่มีนักเขียนชั้นดีทุกอย่างก็ล่มหมด

ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน
ผมมองว่าสังคมเราพัฒนาทุกอย่างแต่เราไม่ได้พัฒนาการอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งสำคัญมาก อยู่ๆ เราไม่ต้องอ่านหนังสือเราไม่ต้องเขียนหนังสือเราก็มีมือถือใช้แล้ว เราเอาผลของเขามาใช้อย่างเดียว รับความคิดเข้ามาอย่างเดียว ประเทศที่ก้าวหน้าเขาก็มีการอ่าน เพราะว่ามันจะจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ได้ เวลาที่เราต่อสู้กันด้วยการเมือง เราไม่มีศิลปะมาใช้ในการต่อสู้ เรามีแต่ความก้าวร้าวในสภาหรือในที่ต่างๆ เราไม่มีอารมณ์ขันเลย เพราะฉะนั้นนักการเมืองที่ต้องคุมชะตาบ้านเมืองต้องอ่านหนังสือบ้าง มิหนำซ้ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังเยาะเย้ยถากถางว่ายังพิมพ์หนังสือกันอยู่อีกหรือ ทั้งๆ ที่ในวันเปิดมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติยังแจกคูปองให้กับห้องสมุดไปซื้อหนังสือเพื่อให้ดูว่าหนังสือตัวเองขายดีอยู่เลย คือเราไม่ศรัทธากับหนังสือแต่ว่าเราพยายามจะเอาประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นเขาศรัทธาอยู่บ้างมาเป็นประโยชน์ของตัวเอง นี่ขนาดรัฐมนตรีกระทรวงศึกษานะ พวกดาราเราก็ไม่รู้ว่าเขาศรัทธาต่อหนังสือไหม ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแบบที่มี ghostwriter มาเขียนให้ ทำให้ดูดีขึ้น ดูมีมันสมอง ในสังคมเราในเรื่องของประโยชน์ของหนังสือพูดกับคนทั่วไปดูจะกลายเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเราไม่ได้พัฒนาในเรื่องของหนังสือ ที่เราอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะเราเห็นแล้วว่าเมื่อสังคมมันมืดอับเมื่อไหร่วรรณกรรมจะได้มาทำหน้าที่

ชีวิตช่วงนี้
นอกเหนือไปจากภาระหน้าที่ของสมาคมผมก็ยังไม่ค่อยมีเวลาได้ทำงานส่วนตัวเท่าไหร่ แต่ผมก็พยายามที่จะกลับมาเขียนหนังสือตามที่ตั้งใจ เขียนไม่ใช่เพื่อให้มีคุณภาพสูง ความคิดกับกำลังมันอาจจะไม่ไปด้วยกันแต่เขียนเพื่อเป็นเพื่อนกับนักเขียน เขียนเพื่อเป็นเพื่อนกับน้องๆ ที่จะเขียนหนังสือ ในเวลาต่อไปผมอาจจะเขียนสู้เขาไม่ได้เพราะร้างเวทีมานาน แต่เขียนเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กัน ผมก็อยากที่จะไปเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยาย นานๆ ครั้งก็เขียนบทกวีเหมือนที่เคยเขียน และก็ในความรู้สึกทุกครั้งที่เหนื่อย ผมก็อยากที่จะเขียนในความเหนื่อยนั่นเอง แม้อาจจะเขียนได้ไม่ดีเท่าที่ควรแต่ทุกครั้งที่เหนื่อยก็อยากเขียนหนังสือแล้วความสุขก็จะฟื้นคืนกลับมา ให้เราได้มองนักเขียนน้องๆ เป็นเพื่อนของเราในเวลาที่เราแก่ตัวแล้วเราจะได้พูดคุยด้วยความรู้สึกที่ยังเป็นสุขเหมือนเดิม

 

Text : ณัชชา เฉลิมรัตน์
Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ

You may also like...