สุธาสินี บัวชื่น

ผ่านไปแล้วกับการประกวด Elle Decoration Young Talent Design Project 2013 ในหัวข้อ “What Dreams May Come จินตนาการสร้างฝัน”
จัดโดยนิตยสาร แอล เดคคอเรชั่น

โครงการนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้แก่นิสิต นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจในการออกแบบทั่วทั้งประเทศไทยได้แสดงศักยภาพของตนเอง มาประชันฝีมือการออกแบบที่พักอาศัยขนาด 76 ตารางเมตร รวมทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น แพนทรี และห้องน้ำ เป็นการเปิดพื้นที่การสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต ให้ออกมาสวยงามและใช้ได้จริงสำหรับการใช้ชีวิตที่ทันสมัยในปัจจุบัน

ปี 2013 นี้เราได้รองชนะเลิศเป็นสาวน้อยหน้าใสจากรั้วจามจุรีอีกหนึ่งท่าน คุณสุธาสินี บัวชื่น ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน ชั้นปที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสุธาสินี ได้เลือกออกแบบห้องของคุณตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ ภายใต้ concept “MOTION HOUSE” นำมาผสมผสานกับความฝันของเจ้าของห้องให้กลายเป็นจริงได้อย่างลงตัว ซึ่งแนวคิดในการออกแบบครั้งนี้ทำให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศไปครอง เรามาทำความรู้จักกับ Young Design สาวสวยมากความสามารถอีกหนึ่งคนกัน

แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน
ที่พักอาศัยของคุณตู่ ภายใต้ concept “MOTION HOUSE” เกิดมาจากการนำเอาความฝันในวัยเด็กของคุณตู่ ซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากเป็นผู้สร้าง animation มาทำให้กลายเป็นความจริงโดยที่คุณตู่ไม่ต้องเปลี่ยนอาชีพ นอกจากนี้ด้วยความที่คุณตู่เป็นคนรักแฟน จึงออกแบบพื้นที่ที่ทำให้คุณตู่สามารถมีพื้นที่ใช้สอยร่วมกันแฟนอย่างมีความสุข และมีึความสนุกสนานในการใช้พื้นที่ โดยในพื้นที่ 100 ตรม. นี้ คุณตู่จะสามารถสร้าง animation ได้ทุกวันจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขาและแฟน ในบางครั้งเขาจะเป็นผู้ชม ในขณะที่แฟนของเขาเป็นผู้สร้างภาพ animation ในทางกลับกัน บางครั้งแฟนของเขาจะกลายเป็นผู้ชมในขณะที่เขาเป็นผู้สร้างภาพ animation เสมือนว่าเขาทั้งสองเป็น animation ของกันและกัน

การวางแผนผัง เลือกออกแบบส่วนที่คุณตู่มักใช้เพื่อการทำเพลงในขั้นตอนของการเขียนเนื้อเพลง ให้มีความหลากหลายและแปลกใหม่ เช่น บริเวณที่นั่งเอกเขนกส่วนเชือก หรือบริเวณที่นั่งเอกเขนกริมหน้าต่าง โดยเลือกวางส่วนเหล่านั้นให้กระจายอยู่ภายในบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว (motivation) ขึ้นภายในบ้านตาม concept “MOTION HOUSE” และในขณะเดียวกันที่เขาเคลื่อนไหว เขาเองก็จะได้ชมภาพ animation จากธรรมชาติภายนอกบ้านอีกด้วย

การออกแบบภายใน จะ treat ผนังภายในส่วนพื้นที่ภายในให้มีลักษณะคล้ายกรอบ โดยบริเวณทั้งหมดจะเชื่อมต่อกัน เสมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน สามารถมองเห็นกันและกันได้จากทุกบริเวณ โดยภายในพื้นที่ภายในจะเลือกเจาะช่องเปิด 3 รูปแบบ
1). เจาะช่องเปิดในระดับที่ ผู้ใช้งานภายในบ้านจะไม่สบสายตากัน แต่สามารถรับรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวของกันและกัน การเจาะช่องเปิดประเภทนี้จะทำให้ user ไม่เสียความเป็นส่วนตัวขณะประกอบกิจกรรมภายในบ้าน ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชมภาพ animation นั้น เช่น มุมมองจากส่วนนอน เมื่อมองผ่านช่องเปิดที่ลดหลั่นระดับลงไปจนถึงบริเวณที่นั่งเชือก เป็นธรรมชาติที่คนจากที่สูงจะมองลงต่ำ ในขณะที่คนจากด้านล่างจะไม่นิยมเงยหน้าขึ้นไปมองด้านบน หรือ บริเวณส่วนนั่งเล่นเมื่อมองไปที่ส่วนบันได จะอยู่ในระดับที่ไม่สบสายตากัน
2). การเจาะช่องเปิดในระดับที่ตรงกัน ทำให้ทั้งสองสามารถมองเห็นกันและกันได้ตลอดเวลา เสมือนเป็นภาพ animation ของกันและกัน
3). ช่องเปิดที่เชื่อมต่อกับบริเวณภายนอก เลือกเจาะช่องเปิดให้มีลักษณะที่จะมองเห็นภาพทัศนียภาพภายนอกไม่เต็มภาพแต่ยังสามารถรับรู้ได้ถึงภาพเต็มของทัศนียภาพภายนอกด้วยจินตนาการของผู้อยู่อาศัย เป็นเสมือน animation ของธรรมชาติซึ่งคือผนังช่องเปิดบริเวณทางเดินตรงบันไดชั้น 2 สอดคล้องกับส่วน double space ของห้องนั่งเล่นซึ่งติดกรอบรูปภาพถ่ายที่คุณตู่ชื่นชอบ ทำให้บริเวณนี้เป็นเสมือน gallery ที่มีชีิวิตสำหรับคุณตู่

มองวงการสถาปนิก วงการการออกแบบของไทยว่ามีทิศทางอย่างไรในปัจจุบัน เหตุใดจึงเลือกเรียนสาขาวิชานี้
ในความคิดของข้าพเจ้า สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เนื่องจากเป็นการออกแบบสิ่งที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อสื่อสารกับมนุษย์ให้สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ ภายใต้ความรู้สึกและการตีความของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น วาทกรรมของผู้ออกแบบ สภาพจิตใจผู้คนในยุคนั้นๆ สภาพแวดล้อม เป็นต้น ทำให้มีความสนใจในสถาปัตยกรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นเรื่องของการออกแบบในเชิงศิลป์ให้สามารถกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้คน และเป็นศิลปะ 3 มิติที่มี function การใช้งานต่างจากงานศิลปะ 2 มิติประเภทอื่นๆ โดยมองว่าวงการสถาปนิกไทยในปัจจุบันมีความน่าสนใจไม่แพ้วงการสถาปนิกชาติอื่นๆ

เป้าหมายในอนาคต
มนุษย์ปัจจุบันนิยมโยกย้ายถิ่นฐานเข้าหาความเจริญในเมืองหลวง ส่งผลให้ต้องสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อรองรับปริมาณคนซึ่งไม่เพียงพอต่อพื้นที่การใช้งาน ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่สีเขียวปัจจุบันกลายเป็นคอนกรีตในแทบทุกพื้นที่ หากข้าพเจ้าจะเป็นสถาปนิกในอนาคต ข้าพเจ้าอยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้คนตามจังหวัดต่างๆ เพื่อกระจายผู้คนกลับไปสู่ถิ่นฐานของตน ให้สถาปัตยกรรมรวมใจผู้คนให้กลับมาใช้ชีวิตในแนวราบอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนให้เข้มแข็ง ให้ผู้คนได้สามารถรำลึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตที่แท้จริงค่ะ

สามารถติดต่อคุณสุธาสินี บัวชุม ได้ที่
100 หมู่บ้านไพรเวทเนอวานา ซอยโยธินพัฒนา 3 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240

 

You may also like...