ฉลองครบรอบ ๑ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” พร้อมสนุกสนานกับกิจกรรมสารประโยชน์ ตลอดเดือนพฤษภาคม
พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฉลองครบรอบ ๑ ปี จัดกิจกรรม“แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” เชิญชวนชาวไทยร่วมสืบสานความเป็นไทย ด้วยการแต่งกายชุดไทยเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ พร้อมร่วมสนุกกับการตอบคำถามในใบกิจกรรมเพื่อรับของที่ระลึกตลอดเดือนพฤษภาคมนี้
ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” เพื่อฉลองครบรอบ ๑ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๙ พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า
“เนื่องในวันที่ ๙ พฤษภาคมนี้ถือเป็นวันที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครบรอบ ๑ ปีเต็ม โดยเมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดกิจกรรมพิเศษขึ้น เพื่อฉลองครบรอบขวบปีพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พร้อมทั้งตอบแทน ผู้รักความเป็นไทย ที่ร่วมแต่งกายอย่างไทยมาชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
“สำหรับกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” เป็นแนวคิดที่มุ่งหวังจะให้คนที่มาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้แต่งตัวอย่างไทย เนื่องจากทุกวันนี้ไม่ได้มีโอกาส ใส่ชุดไทยกันบ่อยๆ ส่วนมากจะสวมใส่กัน ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ งานมงคลสมรส หรืองานบุญ เป็นต้น เราจึงถือโอกาสนี้เป็น วันพิเศษที่จะรณรงค์ให้คนหันมาแต่งกายอย่างไทยมาที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างสุภาพสตรี อาจจะแต่ง ชุดไทยพระราชนิยม หรือชุดไทยในยุคใดก็ได้ เช่น นุ่งจีบ ห่มสไบ นุ่จับกุมรือนุ่งโจง สวมเสื้อแขนหมูแฮม หรือสวมเสื้อลูกไม้ ชุดอะไรที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยจากภาพในประวัติศาสตร์ เราถือว่าได้หมด หรือจะเป็นชุดไทยแบบผสมผสาน หรือชุดพื้นเมืองต่างๆ เช่น ชาวไทยภูเขา หรือชุดไทยพื้นเมือง ม่อฮ่อม ผ้าถุง ฯลฯ ขอให้เป็นชุดที่มีความเป็นไทย ก็สามารถเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ ถือเป็นของขวัญ ที่มอบให้กับทุกๆ คนที่มารวมนิยมไทยกับเราค่ะ”
“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษตลอดเดือนพฤษภาคม ให้ผู้มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ร่วมสนุก โดยจะมีใบกิจกรรมให้ตอบคำถามเกี่ยวกับฉลองพระองค์ที่นำมาจัดแสดง รายละเอียดด้านในมีทั้งภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ พร้อมรับของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หากตอบคำถามถูกหมดทุกข้อ เรียกว่า นอกจากจะได้ชื่นชมความวิจิตรตระการตาของฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ้าไทย และได้ของที่ระลึก ติดไม้ติดมือ กลับไปด้วย”
ดร. อนุชา ทีรคานนท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวถึง อัตลักษณ์ ของ ความเป็นชาติไทย ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกาย และผ้าชนิดต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงความร่วมสมัยไม่ตกยุค
“ในปัจจุบันผ้าไทยหาได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง และมีความหลากหลาย สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาในเรื่องของเนื้อผ้า ทั้งในแง่ของสีสัน ผิวสัมผัส ความหนาบาง ความเหมาะสมที่จะใช้ในสภาพอากาศต่างๆ อย่างบ้านเราเป็นเมืองร้อน ก็มักจะพูดกันไปว่า ใส่ผ้าไหมแล้วร้อน ซึ่งจริงๆ ผ้าไหมในปัจจุบันก็มีหลายเนื้อให้เลือก สามารถเลือกให้เหมาะสม กับสภาพดินฟ้าอากาศ และเหมาะกับบุคลิกของตัวเอง
“ทุกวันนี้คนไทยก็ใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยกันมากขึ้น ด้วยเสน่ห์ของผ้าไทย รวมถึงความหลากหลาย ของเนื้อผ้า นอกเหนือจากผ้าไหม ก็มีผ้าฝ้ายหลายรูปแบบ รวมถึงผ้า ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีมากมายให้เลือก สามารถนำมาตัดเย็บ ตัดให้มีรูปแบบเป็นทางการ ทั้งสวมใส่ในงานประชุมใหญ่ หรือพิธีการต่างๆ และยิ่งถ้าผลิตผ้า ที่สามารถนำมาตัดเย็บให้มีรูปแบบร่วมสมัยได้มากขึ้นเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผ้าไหมเนื้อบาง มีน้ำหนัก มีความยืดหยุ่น เหมาะที่จะตัดเป็นชุดสตรีร่วมสมัยได้
“อีกไม่นานนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยิ่งควรให้ความสำคัญ กับการคงอัตลักษณ์ของชาติไว้ จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านเรา ก็จะมีเสื้อผ้าของผู้หญิงผู้ชาย ที่แสดงเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเสน่ห์ของอาเซียน และเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ที่สะท้อนถึง ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในหลายรูปแบบ หลายลักษณะ หลายภูมิภาค บางอย่างก็อาจจะอิงกับชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เรานำมาใช้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับโอกาส และกาลเทศะ”
ทั้งนี้ ตลอดวันมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ให้ความสนใจ แต่งกายตามกติกาของกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” คือ สุภาพบุรุษสวมเสื้อพระราชทานกับโจงกระเบน หรือกางเกงแบบสากล ส่วนสุภาพสตรีใส่ชุดไทยพระราชนิยม ๘ แบบ รวมทั้งชุดไทยแบบผสมผสาน เช่น สวมเสื้อลูกไม้ เสื้อแขนกระบอก พร้อมนุ่งซิ่นหรือโจงกระเบน เป็นต้น
สมพร ธิรินทร์ แฮร์สไตลิสต์ชื่อดังในลุคร่วมสมัย สวมเสื้อเชิ้ตขาวทับด้วยเสื้อกั๊ก นุ่งโจงกระเบน ลายสร้อยดอกหมาก ถือตะกร้าสานลายดอกพิกุลดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบ เผยความรู้สึก ชื่นชอบผ้าไทย เป็นการส่วนตัว ยามเดินทางไปที่ไหน หากเจอผ้าไหมสวยๆ หรือ ผ้าไทยพื้นบ้าน ก็มักจะซื้อ หามาฝากญาติผู้ใหญ่ หรือเก็บไว้ตัดชุดเสื้อผ้าของตัวเอง ยามต้องออกงานในโอกาสสำคัญ
“ด้วยความเป็นคนชอบผ้าไทยอยู่แล้ว ไปไหนถ้าเจอผ้าสวยๆ ก็มักจะซื้อไปฝากคุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่บ้าง หรือเก็บไว้เองบ้าง ส่วนใหญ่เวลามีงานที่เป็นโอกาสสำคัญ อย่างงานแต่งงานของเพื่อนๆ ช่วงพิธีเช้าก็จะแต่งผ้าไทยใส่โจงกระเบนไปร่วมงานอยู่บ่อยๆ หรือถ้าไปออกงานสังคม รวมถึงงาน ที่มีคอนเซ็ปต์ไทยๆ อย่างล่าสุดไปดูโขนก็นุ่งโจงกระเบนไปให้เข้ากับบรรยากาศงาน นอกจากนี้ ถ้ามีงานสัมภาษณ์ออกสื่อ ก็จะหาโอกาสใส่ชุดผ้าไทยเสมอ เพื่อช่วยเผยแพร่และนำเสนอ ความเป็นไทยให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า การประยุกต์ผ้าไทย ให้เข้ากับชุดสากล ก็เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้
“สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๑ ปี ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ก็ตั้งใจแต่งตัวมาร่วมกิจกรรม นุ่งโจงกระเบน ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งเป็นผ้าในแถบภาคอีสาน แต่ด้วยความที่เป็นงานกลางวันจึงไม่ใส่สูท แต่เปลี่ยนเป็นสวมเสื้อเชิ้ตขาวทับด้วยเสื้อกั๊กดูรีแล็กซ์ เติมสไตล์ให้ดูเป็นตัวเองด้วยแหวน และหมวก ถือตะกร้าสานลายดอกพิกุลให้เข้ากับชุด
“ส่วนใครที่ยังไม่เคยมาที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หรือคนที่สนใจอยากศึกษาศิลปะเกี่ยวกับผ้าไทย อยากให้มาที่นี่และลองเปิดใจกว้างดูว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ของเมืองไทยเราเป็นอย่างไร เพราะเมื่อได้มาแล้วจะรู้สึกหลงเสน่ห์ แล้วจะอยากมาอีก ที่สำคัญมาแล้วชอบช่วยบอกต่อปากต่อปากด้วย เหมือนอย่างผมที่มาแล้วมาอีกเป็นครั้งที่ ๕ แล้ว”
สามสรา เอี่ยมเอกดุลย์ สาวสังคมรุ่นใหม่ที่ครอบครัวปลูกฝังให้แต่งกายงามอย่างไทย นุ่งซิ่นที่ตัดเย็บจากผ้ายกไหมย้อมสี กับเสื้อแบบวินเทจซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ พร้อมถือคลัทช์ดีไซน์เท่ที่สะท้อนความเป็นคนชอบแต่งตัว
“โดยส่วนตัวชอบชุดไทยอยู่แล้ว เพราะถ้ามีงานพิธีใหญ่ๆ หรือโอกาสสำคัญ ที่เป็นงานของครอบครัว อย่างงานบวช งานแต่ง ก็จะได้แต่งชุดแบบไทยๆ อยู่เสมอ เรียกว่าต้องมีชุดติดตู้เสื้อผ้าไว้เลย ดังนั้นพอได้ทราบว่ามีกิจกรรมเชิญชวนให้แต่งกายอย่างไทย ฉลองครบรอบ ๑ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่ประชาสัมพันธ์ในหน้าเฟซบุ๊ค Queen Sirikit Museum of Textiles เลยสนใจมาร่วมกิจกรรมด้วยคน
“เลือกนุ่งซิ่นที่ตัดเย็บจากผ้ายกไหมย้อมสีซึ่งคนสมัยนี้อาจจะคิดว่าใส่ผ้าไหมแล้วอาจดูสูงวัยหรือ ดูเชย แต่เราสามารถเลือกสี แบบ ให้ทันสมัยได้ สำหรับผ้าไหมผืนนี้เป็นผ้าที่คุณแม่เก็บไว้ให้ ก็เลยนำมาตัดเป็นซิ่น ส่วนเสื้อก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคอตั้งเสมอไป แต่ก็เลือกแบบที่ดูเรียบร้อย และโทนที่เข้ากับซิ่นมาจับคู่เข้าด้วยกัน ก็สวยแปลกตาและมีความงามอย่างไทยด้วย เติมความเก๋ ด้วยรองเท้ากระเป๋าแบบสมัยใหม่ที่ผสมผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว
“สำหรับคนรุ่นใหม่อยากให้ลองมาศึกษาความเป็นมา และคุณค่าของผ้าไทย ถึงจะไม่ได้นุ่งผ้าไทย แต่ก็อยากให้ศึกษาเกี่ยวกับลวดลาย ที่มาของผ้าไทย กว่าที่จะเป็นผ้าผืนหนึ่งต้องมีขั้นตอนกรรมวิธีอย่างไร ไม่จำเป็นว่าจะต้องลุกมานุ่งผ้าไทย แต่งตัวย้อนยุคก็ได้ เพียงแค่มีใจอยากศึกษา ก็น่าจะช่วยอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ได้แล้ว หรือถ้าจะให้ดีอยากให้มีวันใส่ชุดไทยสักวันในรอบปี ก็น่าจะสนุกไปอีกแบบ”
สืบเนื่องจากผลตอบรับอย่างดีในกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้ขยายเวลากิจกรรมนี้ออกไปอีก ๓ วัน ได้แก่ วันจันทร์ที่ ๑๓ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ และ ๒๖ พฤษภาคมนี้ ใครที่ยังไม่ได้มีโอกาสแต่งชุดไทยไปชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขอเรียนเชิญชม ความวิจิตรตระการตาของฉลองพระองค์ และผ้าทอประเภทต่างๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของเมืองไทย พร้อมสนุกสนานกับกิจกรรมดีๆ มีสาระประโยชน์ ตลอดเดือนพฤษภาคม ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราช
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ๐-๒๒๒๕-๙๔๒๐ หรือ ๐-๒๒๒๕-๙๔๓๐ กด ๐ หรือที่ info@qsmtthailand.org