ลานดารา ภัทราวดี มีชูธน

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นเกียรติในการประทับรอยพิมพ์มือพิมพ์เท้าของปูชนียบุคคลด้านการแสดง ภัทราวดี มีชูธน ที่จะมาเป็นดาวดวงที่ 140 บนลานดารา พร้อมรับฟังประสบการณ์เมื่อครั้งโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย

ประวัติภัทราวดี มีชูธน
ภัทราวดี มีชูธน  เกิดเมื่อวันที่  ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑  เป็นลูกสาวคนเล็กของ สอาด มีชูธน อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ  นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคนสำคัญของเมืองไทย

ชีวิตของภัทราวดีผูกพันกับศิลปะการแสดงมาตลอดตั้งแต่วัยเยาว์  เริ่มจากการชอบฟังคุณแม่ร้องเพลง และมีโอกาสได้รับชมละครของกรมศิลปากรอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาทั้งด้านการร้อง การรำ และเล่นดนตรี ตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อครั้งเรียนที่โรงเรียนราชินี  ภายหลังจากจบการศึกษาระดับชั้น ม.๕  ภัทราวดีก็ได้ไปศึกษาต่อระดับไฮสคูล ที่ประเทศอังกฤษ และระดับอุดมศึกษา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นดั่งประตูบานใหญ่ที่เปิดให้เธอได้ก้าวเข้าไปเรียนรู้โลกของศิลปะการแสดงแบบตะวันตก ผ่านการทำกิจกรรมมากมายภายในสถาบัน

ด้วยหัวใจที่รักในการเป็นนักแสดง  ภัทราวดีจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเรียนที่อเมริกา จากสาขาบริหารธุรกิจ ไปอยู่ที่ Pasadena Playhouse ซึ่งเป็นทั้งโรงเรียนสอนการแสดง และโรงละคร ตามคำแนะนำของ สดใส พันธุมโกมล  ที่นี่ เธอได้ศึกษางานละครเวทีแบบครบวงจร ทั้งการแสดง แต่งหน้า  จัดฉาก ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย  นอกจากนี้เธอยังได้ไปศึกษาด้านการออกแบบเสื้อผ้า ด้วยความสนใจในเรื่องแฟชั่น  ส่งผลให้เมื่อกลับมาที่เมืองไทย ภัทราวดีจึงเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนางแบบ ในชื่อ ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ และเปิดร้านออกแบบเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดาผู้สนใจแฟชั่นในยุคนั้น

หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการเดินแบบจนได้ชื่อว่าเป็นนางแบบผู้มีรสนิยมล้ำสมัยและโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง  เส้นทางชีวิตของภัทราวดีก็ได้เวียนมาบรรจบกับถนนสายการแสดงที่เธอรัก เมื่อได้รับคำชักชวนจากเพื่อนให้มาร่วมเล่นละครโทรทัศน์ ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นการแสดงละครสด แม้จะไม่ได้รับบทเป็นตัวเอก แต่ฝีมือของภัทราวดีก็เข้าตา ครูมารุต  (ทวี ณ บางช้าง) ผู้กำกับภาพยนตร์ ถึงกับโทรศัพท์ไปชื่นชม และแนะนำให้ เบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) ผู้สร้างภาพยนตร์ เข้าไปทาบทามให้มาประชันบทบาทกับ นาท ภูวนัย และภาวนา ชนะจิต ในภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เบญจมินทร์กำลังเตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ  ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กำกับโดย ปริญญา ลีละศร โดยภัทราวดี ต้องรับบทเป็น เอื้อยทอง ตัวละครที่แก่กว่าอายุจริงของเธอในเวลานั้นนับสิบปี  แต่ความเอาจริงเอาจังในการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ บวกกับพรสวรรค์ด้านการแสดง และการได้  สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงผู้ที่เธอเลื่อมใสคอยชี้แนะแนวทาง ก็ส่งผลให้ภัทราวดีสามารถคว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม มาครองได้ทันทีที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องแรก

ชื่อของ ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ จึงกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องในเวลานั้น ซึ่งส่วนมากเป็นฝีมือการกำกับของ ปริญญา ลีละศร เช่นเดิม  อาทิ  นางสาวมะลิวัลย์ (๒๕๑๘) ที่เธอรับอาสาเขียนบทร่วมกับ เริงศิริ ลิมอักษร ตะวันตกดิน (๒๕๑๘)  นางเอก (๒๕๑๘) เกมส์ (๒๕๑๙) รวมไปถึงผลงานกับผู้กำกับคนอื่น ๆ เช่น พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ใน น้ำผึ้งขม (๒๕๑๗)   ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ใน ความรักครั้งสุดท้าย (๒๕๑๘) และนางแบบมหาภัย (๒๕๑๙)

ปี ๒๕๒๐ ภัทราวดีมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง 1-2-3 ด่วนมหาภัย ออกฉาย จากนั้นจึงเว้นวรรคจากการแสดงภาพยนตร์ไประยะเวลาหนึ่ง  เพื่อหันไปทุ่มเทกับงานละครโทรทัศน์ยุคใหม่ของไทยซึ่งเธอเป็นผู้บุกเบิก  ก่อนจะหวนกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในเรื่อง น้ำพุ  (๒๕๒๗)  ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองต่อจากเรื่อง ความรักครั้งสุดท้าย ที่ได้รับบทเป็นภาพจำลองของ สุวรรณ สุคนธา นักเขียนหญิงคนสำคัญของไทยผู้ที่เธอชื่นชม โดยระหว่างนี้ ภัทราวดีมีผลงานการกำกับภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง คือ  รักริษยา ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่เธอร่วมแสดง คือ  นางนวล ( ๒๕๓๐) ซึ่งแม้จะผ่านไปนานกว่า ๒๕ ปี แต่บทบาทด้านศิลปะการแสดงของเธอก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะครูสอนการแสดงผู้เชี่ยวชาญและอุทิศตนให้กับศิลปะแขนงนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบัน ภัทราวดี มีชูธน เปิดโรงเรียน ภัทราวดีมัธยมศึกษา (หัวหิน)  โดยมีวิกหัวหิน เป็นดั่งศิลปะสถานเพื่อการละคร เพื่อใช้ในการเรียนการสอน  และนำการแสดงที่มีคุณภาพจากทั่วโลกมาให้ผู้ที่สนใจได้รับชม

เปิดงานด้วยการฉายผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “ความรักครั้งสุดท้าย” (2518) ในวันเสาร์ที่  4 พฤษภาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-482-2013-14

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
94 หมู่ 3 ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล
จ.นครปฐม 73170
โทรศัพท์ : 02-480-2013-14
โทรสาร : 02-482-2015
เว็บไซต์ : http://www.fapot.org
อีเมล์ : filmarchivethailand@gmail.com

You may also like...