แม้ว่างานของ เรย์ม็องด์ รุสแซล (Raymond Roussel) จะไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มของนักอ่านโดยทั่วไป หากผลงานของเขาก็เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อนักคิด นักเขียน หรือศิลปินในต้นศตวรรษที่ 20 อย่างมากมาย
เรย์ม็องด์ รุสแซล ได้ชื่อว่าเป็น เพื่อนบ้านกับพรูสต์ มาร์แซล พรูสต์ (Marcel Proust) ทั้งในความหมายตรง และความหมายที่เป็นวาทะ ในแง่ที่บั้นปลายรุสแซลจบชีวิตที่โดดเดี่ยวของเขา ด้วยการฆ่าตัวตายในปี ค.ศ. 1933
ผลงานของรุสแซลได้ชื่อในเรื่องของความซับซ้อนทั้งในรูปแบบหรือวิธีที่นำเสนอ หรือหากเปรียบงานของเขากับ เรย์ม็องด์ เกอโน (Raymond Queneau) ที่เป็นนักเขียน-นักคณิตศาสตร์หัวก้าวหน้าอีกคนหนึ่งในยุคนั้น ก็จะเห็นได้ว่างานของรุสแซลมีความยาวกว่ามาก
Parmi les noirs หรือในท่ามกลางคนดำ เป็นเรื่องสั้นที่รวมตีพิมพ์อยู่ในผลงาน Comment j ai erit certain de mes livres เรื่องสั้นเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็น เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ที่มีความพิสดารอยู่ในตัวเองอยู่ไม่น้อย
ในท่ามกลางคนดำ เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยในหนังสือ “ในท่ามกลางคนดำ” ที่ประพันธ์ขึ้นโดยชายที่มีชื่อว่า บาล็องซิเยร์ (เราได้รับทราบจากตัวผู้เล่าเรื่องสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง) ในท่ามกลางคนดำ ของบาล็องซิเยร์นี้เป็นเรื่องราวของต้นหนที่มีชื่อว่าขาว) หรือจะเรียก คนขาว ก็น่าจะได้) ซึ่งหลังจากออกเดินเรือท่องทะเลไปได้เจ็ดวัน วันที่แปดเรือกลับโดนพายุถาโถมเข้าใส่ ลูกเรือทั้งหมดของขาวต่างก็พากันอพยพลงเรือบด เหลือเพียงแต่เขาที่ยังคงยืนมองผู้คนที่หลบหนีลอยละล่องลับตาไป ลมพายุพัดแรงจนเสากระโดงเรือหักล้มลงมาฟาดใส่ศีรษะของขาวจนสิ้นสติปลาสนาการไป
ขาวฟื้นขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางคนป่าผิวดำ ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังพยาบาลบาดแผลของเขา และอีกเป็นจำนวนมากที่เกยตื้นบนหาด กระทั่งผ่านไปหลายวัน บาดแผลของขาวจึงได้รับการสมานเป็นอย่างดี เขาถูกนำตัวไปพบกับผู้เฒ่า และจากความสามารถในการใช้ภาษาใบ้ ทำให้ขาวสามารถสื่อสารได้ว่าเขาต้องการจะไปจากที่นี่ โดยที่ไม่รู้เลยว่าความต้องการของขาวทำให้ผู้เฒ่าเดือดดาลขึ้นมา จากนั้นมาขาวจึงอยู่ภายใต้สายตาและการควบคุมอย่างเข้มงวดของชนเผ่าผิวดำ และเขาก็เหมือนกับต้องยอมรับไปโดยปริยายที่จะต้องใช้ชีวิตภายใต้กำปั้นของผู้เฒ่าในดินแดนแห่งนั้น
นอกเหนือจากการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการให้กับหัวหน้าเผ่าแล้ว เขาก็ยังได้เป็นประจักษ์พยานของการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณ อย่างการพุ่งรบที่ไม่เหลือไว้แม้แต่ชีวิตเด็กและคนชรา หรือการกินเนื้อคน ซึ่งผู้เฒ่าเป็นบุคคลแรกๆที่ริเริ่มให้มีงานเลี้ยงอาหารประเภทนี้ นี่เป็นเหตุให้เกือบทุกวันหลังจากที่ขาวว่างเว้นจากกิจธุระต่างๆที่กล่าวมา เขาจึงได้เริ่มมีเวลาเขียนจดหมาย หรืออันที่จริงก็คือบันทึกประจำวันของเขา เพื่อส่งกลับไปยังโลกที่จากมา โดยนกพิราบสื่อสารที่มากับเรือ กล่าวอีกทางหนึ่งได้ว่า ในจุดนี้เองที่เป็นจุดชี้บอกถึงที่มาของเรื่องราว (ที่ผู้เล่าได้อ่าน) แต่ด้วยความเป็นนิยาย บาล็องซิเยร์จึงได้อุทิศหน้ากระดาษให้ขาวได้บอกเล่าเกี่ยวกับตัวผู้เฒ่า และตอนจบที่ทำให้ขาวได้รับอิสรภาพ พร้อมกับเป็นจุดเริ่มของการผจญภัยครั้งใหม่
แน่นอนว่าเรื่องราวของขาวก็คือเนื้อหาของตัวบท “ในท่ามกลางคนดำ” ในฐานะของนิยาย หากแต่ก็มีส่วนประกอบอื่นๆที่อยู่เหนือตัวนิยาย ซึ่งผู้เล่ายังเล่าไม่จบอีกด้วย เนื้อหาในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ผู้เล่าได้มีโอกาสไปที่บ้านของเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งที่นั่นเขาได้พบปะและพูดคุยกับบาล็องซิเย่ร์เกี่ยวกับนิยายอีกครั้งหนึ่ง
ในวันนั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ฟล็องโบผู้เป็นเจ้าบ้านจึงนำเสนอเกมประหลาดๆเกมหนึ่งขึ้นมาเพื่อฆ่าเวลา แน่นอนในฐานะของผู้อ่าน เราจะรับทราบกติกาการเล่นเพียงคร่าวๆว่าเกมนี้จะเริ่มด้วยการให้เลือกคนคนหนึ่งออกมา เพื่อตอบคำถามข้อหนึ่ง คนคนนั้นจะยังไม่ตอบในทันที หากเขาจะถูกนำไปในห้องที่มิดชิด เพื่อเขียนหรือเปลี่ยนคำตอบของเขาเป็นรหัส ซึ่งกลุ่มคนที่เหลือจะเวียนกันแกะรหัสนั้น
เกมดังกล่าวดำเนินไปได้สองรอบ จนกระทั่งผู้เล่าเรื่องเป็นคนที่ต้องสร้างรหัสในคำตอบของคำถามว่า “หนังสือเล่มใดที่เขาโปรดปรานมากที่สุดในรอบปีนี้” แน่นอนผู้เล่าทราบคำตอบดีอยู่แล้ว เพียงแต่เขายังไม่ทราบวิธีที่จะสร้างรหัสในห้องที่เขาอยู่ เขามองเห็นโต๊ะบิลเลียด ชอล์คฝนหัวคิวที่ตั้งวางไว้บนขอบโต๊ะ และหลังจากใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เขาก็ทำการสร้างรหัสครอบทับคำตอบของเขาด้วยการเขียนตัวอักษรที่เหมือนจะไม่สามารถอ่านเป็นภาษาได้บนขอบโต๊ะทั้งสี่ด้าน
บาล็องซิเยร์ ผู้ประพันธ์ “ในท่ามกลางคนดำ” เป็นผู้ไขรหัสออกมา และคำตอบที่เขาอ่านออกมาก็คือถ้อยคำในนิยายเล่มนั้น Les lettres du blanc sur les bandes du vieux pillard แปลความได้ว่า “จดหมายของคนขาว (หรือ ขาว ที่เป็นตัวเอกในเรื่อง) ในกลุ่มชนเผ่าของผู้เฒ่าทมิฬ” ขณะที่สภาพปรากฏของรหัสนี้อยู่ในลักษณะที่ “ตัวหนังสือสีขาวบนขอบของโต๊ะบิลเลียดเก่าๆ” ซึ่งพูดในภาษาฝรั่งเศสว่า Les lettres du blanc sur les bandes du vieux pillard ซึ่งเป็นประโยคเริ่มต้นของเรื่องสั้นในท่ามกลางคนดำ ของ รุสแซล
เราจะเห็นว่า ความแตกต่างของหน่วยเสียง (phoneme)ระหว่าง pillard/billard มีนัยสำคัญจนกระทั่งสามารถเปลี่ยนมโนทัศน์หรือการรับรู้ในใจของผู้อ่านอย่างมหาศาล สิ่งที่รุสแซลมีความก้าวหน้าอย่างมากในผลงานชิ้นนี้ ก็คือการแสดงให้เห็นว่า “ภาษา” หรือโดยเฉพาะ “เสียงในภาษา” สิ่งที่เรียกว่า “สารัตถะ” ของเสียงแต่ละเสียงมิได้อยู่ที่ “ความหมาย” ของเสียง หากมันอยู่ที่ “ความต่าง” ซึ่งเสียงได้สร้างระเบียบวิธีในการออกเสียง แล้วจำแนกตัวเองออกจากเสียงอื่นๆซึ่งแนวความคิดของรุสแซลย่อมสอดรับกับ มิแชล ฟูโกต์ หรือแม้กระทั่งนักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย นิโคลัส ทรูเบ็ตสกอย (Nicholus Trubetzkoy) หรือ โรมัน ยาคอบสัน (Roman Jakoboson) ที่มองว่า รากฐานของคำ มาจากความหลากหลายของเสียงที่เราใช้สร้างคำ”
นอกเหนือจากที่ pillard/billard ของรุสแซลจะทำให้เกิดโลกทัศน์ในเรื่องเล่าที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังเป็น “รูปทางวรรณกรรม” ที่สามารถนำเสนอแนวคิดทางด้านภาษาศาสตร์ที่พรักพร้อมด้วยอารมณ์ขบขัน เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่ง ลูอิส แคร์รอลได้ทำมาแล้วในศตวรรษก่อน
TEXT : Faux Pas