สมเถา สุจริตกุล

ศิลปินอัจฉริยะ สมเถา สุจริตกุล  วาทยากร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสสิค ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นสากลคนหนึ่งของเมืองไทย ภายใต้นามปากกา S.P.Somtow ที่เขาใช้ในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีกลิ่นอายความเป็นเอเชีย ผลงานของสมเถาทั้งหมดเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ได้รับการแปลในหลายภาษา และได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมายในต่างประเทศ

อาทิ Starship & Haiku (รางวัล Locus Award), The Dust (รางวัล Edmund Hamilton Memorial Award ในปี พ.ศ. 2525), The Bird Catcher “เหมือนนกไร้รังเร่” (รางวัล World Fantasy Award ในปี พ.ศ. 2545) สมเถาเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนเรื่องเขย่าขวัญในอเมริกา แต่ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และอุทิศชีวิตให้กับงานศิลปะหลากแขนงในรูปแบบของเขา

คุณเริ่มเขียนหนังสือเมื่อไหร่

จริงๆ ผมเริ่มเขียนหนังสือตอนเด็กมากๆ นะครับ คือทันทีที่ผมใช้พิมพ์ดีดเป็น ซึ่งประมาณ 7 ขวบ ผมสอนให้ตัวเองพิมพ์ดีด คือพ่อเขามีพิมพ์ดีดเก่าๆ อันหนึ่งที่ซื้อมาจากรูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch อภิมหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักร News Corporation Ltd.) เขาเคยอยู่ห้องเดียวกันที่ออกซฟอร์ด เป็นพิมพ์ดีดยี่ห้อ Hermes ที่รูเพิร์ตเขาจะทิ้งแล้ว พ่อก็ซื้อต่อมาในราคา 7 ปอนด์ จนในที่สุดพิมพ์ดีดก็ตกมาเป็นของผม ซึ่งผมก็สอนให้ตัวเองพิมพ์โดยการใช้นิ้วเดียวพิมพ์ กระทั่งโตมากๆ แล้วผมก็ใช้นิ้วเดียวพิมพ์มาตลอด

เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนนั้น

ใช่ สัก 7-8 ขวบ แรกๆ จะเขียนพวกบทกวีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เขียนเป็นเรื่อง ครั้งแรกที่ผมพยายามเขียนนวนิยายคือตอนอายุประมาณสัก 8-9 ขวบมันออกมาเหมือนเรื่องสั้นของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov นักเขียนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย) เรื่องหนึ่ง แบบขโมยไอเดียเขามา (หัวเราะในลำคอ) หรือเมื่อเร็วๆ นี้คุณแม่ก็ได้ไปเจอบทละครเรื่องหนึ่งที่ผมแต่งเอาไว้ตอนอายุ 11 ซึ่งใช้แสดงที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา นั่นก็เป็นอีกชิ้นที่เขียนสมัยแรกเริ่ม ซึ่งก็มีอะไรที่ขโมยมาจากเชกสเปียร์เยอะ (หัวเราะ)

แสดงว่าคุณต้องมีพื้นฐานการอ่านหนังสือพอสมควรถึงได้เริ่มเขียนได้

คือมันอย่างนี้ครับ ตอนที่ผมอายุประมาณ 8 เดือน ตอนนั้นคุณพ่อทำปริญญาเอกอยู่ที่ออกซฟอร์ด ช่วงนั้นทุกคืนพ่อแม่จะอ่านหนังสือให้ฟัง ทีนี้เรื่องของเรื่องก็คือ หนังสือที่เขาอ่านให้ฟังนั้นผมจำได้หมดทุกเรื่อง ผมจำเสียงของแต่ละคำได้ ก็เลยสอนให้ตัวเองอ่านหนังสือเป็นตอนอายุ 8 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพ่อกับแม่ตกใจมาก (หัวเราะ) พอรู้ว่าเราอ่านหนังสือออก เวลามีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเขาก็จะบังคับให้อ่านให้เพื่อนฟัง อ่านไอ้นี่หน่อย อ่านไอ้โน่นหน่อย อะไรแบบนี้ จนผมได้เรียนรู้ว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่เรียกร้องความสนใจได้อย่างมาก ก็เลยยิ่งอ่านใหญ่ เพราะฉะนั้นชีวิตตอนเป็นเด็กมากๆ มันอยู่กับหนังสือตลอดเวลาโดยที่ไม่มีชีวิตสังคมแบบอื่นเลย

คุณเป็นศิลปินที่มีมิติการสร้างสรรค์งานได้หลายแขนงมาก ทั้งเป็นนักเขียน คีตกวี นักแต่งเพลง ฯลฯ อยากให้ช่วยอธิบายความเชื่อมโยงของมิติการสร้างสรรค์งานเหล่านี้ ว่ามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันยังไง คุณถึงสร้างสรรค์งานศิลปะได้หลากหลายแขนงอย่างที่เป็นอยู่

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเห็นความแตกต่างระหว่างมิติพวกนี้เท่าไหร่ การเขียนหนังสือ ดนตรี หรือแม้แต่งานอดิเรกตอนนี้ของผมคือวาดภาพ จริงๆ แล้วมันมาจากมิติของเสียงหมดเลยนะครับ เวลาผมแต่งหนังสือผมเริ่มจากการได้ยินเสียงของถ้อยคำ เป็นเทคนิคการแต่งหนังสือของผม คือทุกครั้งที่เกิดคำสะกดผิดขึ้น มันจะไม่เป็นแบบตัวอักษรสลับกัน แต่มันจะเป็นคำอื่นซึ่งเสียงคล้ายๆ กัน คือได้ยินแล้วก็พิมพ์ลงไปโดยที่มันไม่ได้ผ่านตัวกรอง บางทีเป็นคำสัมผัสที่พิมพ์ไปโดยไม่สังเกต เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เทคนิคการเขียนหนังสือของผมมันมาจากเสียงก่อน ซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วโครงร่างของนวนิยายหรือเรื่องสั้นของผมมันก็เป็นโครงร่างที่เกี่ยวกับดนตรีเสียเป็นส่วนใหญ่

มีคนให้นิยามคุณว่าเป็น ‘อัจฉริยะหลากมิติ’ คุณคิดเห็นอย่างไร

คำว่าอัจฉริยะเป็นคำที่ค่อนข้างจะน่ากลัวนะครับ คือคำนี้เป็นคำที่ใช้ตลอดเวลาในสมัยนี้ แล้วก็ใช้สำหรับคนที่เก่งอะไรเยอะแยะ จริงๆ แล้วผมคิดว่าคนที่เป็นอัจฉริยะจริงๆ คือคนที่ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้คนอื่นในโลกเปลี่ยนวิธีดูโลก เพราะฉะนั้นสำหรับผม อัจฉริยะในประวัติศาสตร์มีไม่กี่คน เช่นอาจจะเป็น ไอน์สไตน์ เพราะเขาทำให้เราลืมหมดว่าโลกต้องดูแบบไหน หรือเชกสเปียร์ เพราะว่าเขาเอาภาษาของเมืองที่บ้านนอกที่สุดเมืองหนึ่งมาบีบ แล้วก็คล้ายๆ เฆี่ยนภาษานี้ให้มันกลายเป็นภาษาระดับโลกได้ นี่คืออัจฉริยะสำหรับผม คือคนแบบนี้ หรือโมสาร์ตก็ใช่ เพราะว่าไม่มีเพลงไหนในโลก แม้แต่เพลงป๊อป เพลงแร็พ อะไรก็ตาม ที่จะมีตัวตนได้ถ้าไม่มีโมสาร์ต เพราะว่าโมสาร์ตได้เปลี่ยนวิธีที่เรามองโครงร่างของดนตรีไปหมดเลย แล้วก็ทำให้มีความคิดที่ว่าดนตรีมันจะต้องมีความสมดุลระหว่างถามกับตอบ คือสมัยก่อนดนตรีคลาสสิก สมัยก่อนโมสาร์ต ดนตรีไม่ได้มาจากการถามกับตอบ มันเป็นการเดินไปเฉยๆ คือวิธีที่เราคิดว่าดนตรีคืออะไรมันเปลี่ยนในสมัยโมสาร์ต นี่คืออัจฉริยะ

แล้วอย่างนี้คุณเชื่อในพรสวรรค์ไหม

ก็เชื่อเหมือนกันนะครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้ากลับไปพิจารณาคำว่าอัจฉริยะอีกที ผมคิดว่าถ้าจะโยงไปยังความหมายที่คุณถาม จริงๆ แล้วแปลว่าเราไม่สามารถจะบอกว่าใครเป็นอัจฉริยะได้ จนกว่าหลังจากที่เขาตายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นผมไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าคนโน้นเป็น คนนี้เป็น หรือคนมายกย่องว่าผมเป็น คือมันยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้ได้

ในฐานะนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”

จริงๆ แล้วพรสวรรค์มันก็สำคัญเหมือนกันนะครับ แต่ว่าพรสวรรค์มันไม่มาเองไง เราต้องทำงานหนักมากกว่าที่มันจะมา คือคนที่ไม่ได้เขียนหนังสือ ไม่ได้แต่งเพลง เขาจะนึกว่าเรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วอยู่ดีๆ มันก็ลอยลงมาเฉยๆ แต่บางทีมันก็เกิดขึ้นนะครับ แต่ว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะว่าเรามีวินัยที่จะทำทุกวันๆ ในที่สุดมันก็มาเองได้ แล้วมันก็มีความรู้สึกว่ามาจากสวรรค์ แต่จริงๆ แล้ว 90% ของพรสวรรค์คืองานหนักที่เราทำเพื่อจะเตรียมตัวให้พรสวรรค์มาได้

นักเขียนที่ดี หรือนักเขียนที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

“ดี” กับ “สำเร็จได้” นี่มันตรงข้ามกันเลยนะครับ (ระเบิดหัวเราะ)
1. ถ้าเราจะเป็นนักเขียนที่สำเร็จมากๆ แล้วรวยมหาศาล จริงๆ แล้วมีเทคนิคเดียว คือเราจะต้องแต่งหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องแต่งหนังสือเล่มเดียวกันนี้ตลอดชีวิต ถ้าคุณทำอย่างนั้นได้คุณจะรวยแน่ๆ ถ้าคุณดูนักเขียนที่รวยมหาศาลทุกคน ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต ลัดลัม (Robert Ludlum) หรือ เจ. เค. โรว์ลิ่ง (J. K. Rowling) เขามีฟอร์มของเขาที่เขาทำได้ แล้วทุกครั้งที่คนอ่านซื้อหนังสือของเขาจะไม่มีวันผิดหวัง เพราะคนอ่านจะรู้เลยว่าจะเป็นยังไง แม้ว่าเราไม่เคยอ่านหนังสือใหม่ของโรเบิร์ต ลัดลัม มาก่อน เราก็จะรู้สึกว่าสบายใจมาก เหมือนกับนั่งโซฟาอันโปรดที่สุดในบ้าน
2. ทีนี้นักเขียนที่ดีส่วนมากจะไม่ทำให้คนอ่านสบายใจถึงขนาดนั้น (หัวเราะ) อาจจะทำให้เครียดก็ได้ อันนี้เป็นสาเหตุที่ผมไม่รวยเท่าที่ควร (หัวเราะ) เพราะว่าถ้าผมแต่งหนังสือเล่มเดียวกันสัก 2-3 ครั้งจะเบื่อแล้ว (หัวเราะ)
ส่วนคำถามที่ว่านักเขียนที่ดีต้องมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างนั้น จริงๆ แล้วนักเขียนที่ดีทุกคนมีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา เช่น มีสไตล์ ถ้าเราอ่านประโยค 2 ประโยคของนักเขียนบางคนเราก็รู้ทันทีว่าเป็นใคร นี่ก็สำคัญนะครับ แต่ว่าเวลาแต่งหนังสือที่เหมือนกันเป๊ะทุกทีนี่ อันนี้คือทางที่จะรวยมากกว่า คือจริงๆ แล้วผมคิดว่าเรื่องที่เราจะเล่าได้ในโลกนี่มันมีไม่กี่เรื่อง คือ Plot Line มันมีไม่กี่ Plot นะครับ สิ่งที่ทำให้นักเขียนแตกต่างกันได้ คือวิธีที่เขาเล่า Plot พวกนั้น มันไม่ได้อยู่ที่เรื่องที่เขาเล่า แต่เป็นวิธีที่เขาเล่าเรื่องมากกว่า นี่คือสิ่งที่นักเขียนที่ดีต้องค้นหา ต้องเป็นเสียงของเขาเอง นี่คือสิ่งสำคัญ ถ้าเป็นพวกเสียงของคนอื่นนี่อาจจะรวยมหาศาลได้เหมือนกัน แต่คงไม่รวยถึงขนาดคนที่เป็นต้นแบบ เพราะนักเขียนพวกนั้นทุกคนเป็นคนที่เราลอกไม่ได้ นักเขียนพวกนี้บางทีเราอ่านของเขาแล้วปวดหัวเลย เพราะสไตล์เราแย่ แต่เขาทำให้เราไม่สามารถจะวางหนังสือได้

นับแต่วันแรกที่คุณเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง มีปณิธานสูงสุดไหมว่าจะต้องไปถึงจุดไหน

ไม่มีหรอก เพราะจริงๆ แล้วผมเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังหลังจากที่มาเมืองไทยเมื่อ 35 ปีมาแล้ว ตอนนั้นพยายามทำดนตรี แล้วทุกคนเกลียดผม ทำให้รู้สึกแย่มากๆ ผมเลยหันไปทำงานหนังสือเพื่อคล้ายๆ ผ่อนอารมณ์มากกว่า ผมเริ่มโดยการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เพราะตอนเด็กๆ ชอบอ่านมาก ทีนี้หลังจากที่เขียนไปสัก 2-3 เรื่องผมก็เริ่มส่งไปให้พวกนิตยสารของนิยายพวกนี้ แล้วภายในประมาณปีหนึ่งเขาก็เริ่มซื้อลิขสิทธิ์ แล้วก็ภายในประมาณ 2-3 ปีผมก็ลืมดนตรีไปเลย เพราะว่าหากินโดยการแต่งหนังสืออย่างเดียว ในประมาณ 20 กว่าปีนี่ผมก็เขียนหนังสือได้เกือบ 50 เล่ม

คุณเป็นนักเขียนไทยที่เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วถึงจะมีคนแปลเป็นไทย ทำไมต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน

อ้อ เพราะตอนผมเริ่มเขียนหนังสือผมไม่เป็นภาษาไทย ผมเริ่มเรียนภาษาไทยครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ

ในวงวรรณกรรมไทยปัจจุบัน มีการโอดครวญกันว่าวรรณกรรมไทยไม่ได้โกอินเตอร์ไปสู่วงการวรรณกรรมโลกเลย ที่เป็นอย่างนี้เพราะขาดการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ

จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาของคนทุกคนที่ไม่แต่งหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ คือภาษาอังกฤษนี่เป็นระบบภาษาที่ใหญ่มาก มันคลุมอุตสาหกรรมการพิมพ์หมดเลย ฉะนั้นมันไม่ใช่นักเขียนไทยอย่างเดียว แม้แต่นักเขียนฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็บ่นกัน ผมไปคุยกับนักเขียนต่างชาติ บางทีผมไปประชุมกับนักเขียนในยุโรป ทุกคนก็จะบ่นตลอดเวลาว่า เพราะเขาไม่ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษมันจึงมีปัญหา ดังนั้น คุณไม่ควรคิดว่าเป็นปัญหาของคนไทยโดยเฉพาะ และผมไม่แน่ใจว่ามันจะแก้ไขยังไงตอนนี้ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมี 2 ปัญหานะครับ คือ
1. ถ้าเราจะพยายามทำให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สามารถจะตีตลาดวรรณกรรมโลกได้ จะโดยแปลเป็นภาษาอังกฤษหรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าเราจะต้องสามารถพูดหลายอย่างในการเขียนเป็นภาษาไทยได้ ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ยังไม่กล้าพูดกัน เช่น สิ่งทุกอย่างที่สัปดน หรือหยาบ ต้องพูดได้หมดอย่างชัดเจน โดยที่ไม่หนีมัน อันนี้จริงๆ แล้วอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ตลาดโลกยังไม่สนใจวรรณกรรมไทยถึงขนาด แต่ผมไม่ได้พูดถึงสิ่งที่รุนแรงหรือหยาบคายอย่างเดียวนะครับ ผมคิดว่าในวัฒนธรรมไทย แล้วก็ความหมายของคำว่า Art หรือ ศิลปะ มันไม่ตรงกับความหมายในประเทศตะวันตก อันนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนะ แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน มันมาจากความคิดที่ว่าสมัยก่อนสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนวรรณกรรมไทยคือความไพเราะ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในวรรณกรรมยุโรปคือความจริง ซึ่งมักจะไม่ไพเราะ เพราะฉะนั้นเวลาคนที่ศึกษามาทางวรรณคดียุโรปพยายามอ่านหนังสือที่แต่งโดยคนไทย จะโดยแปลเป็นอังกฤษไปแล้วหรืออย่างไรก็ตามแต่ สิ่งที่เขาจะหาดู ว่าหนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกับที่คนไทยบางคนอาจจะหา
2. ทีนี้สิ่งที่แปลยากที่สุดในภาษาไทยก็คือคุณสมบัติบางอย่างของภาษาเอง เช่น วิธีที่ถ้อยคำภาษาไทยสามารถร้อยกันเป็นพวงที่สวย มันเป็นสิ่งที่ไม่มีในภาษาอื่นเลย แต่ว่าในเวลาเดียวกันบางทีเราหลงความสวยงามของพวงที่เราร้อยออกมาจนเราลืมไปว่ามันพูดเรื่องอะไร จริงๆ แล้วผมคิดว่ามีนักเขียนหลายคนที่กำลังจะพยายามตีกรอบนี้อยู่นะครับ ก็ไม่หลายคนนักล่ะนะ บางคน อย่างเช่น ปราบดา หยุ่น เป็นต้น คือเขาจะไม่ยอมรับว่าภาษาไทยต้องเป็นอย่างนี้ (เน้นเสียง) คนบอก “ไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้!” เขาบอก “เป็นอย่างนี้ก็ได้” ซึ่งถ้าเผื่อทุกคนเริ่มทำอย่างนี้ วรรณกรรมไทยก็อาจจะเป็นวรรณคดีระดับโลกได้

คือพยายามแหกกรง

ต้องแหกให้ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วคนที่พูดภาษาอังกฤษนี่ถือว่าโชคดี เพราะว่าการแหกกรงของภาษาอังกฤษมันเกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีมาแล้วโดยเชกสเปียร์ คือเขาไม่ยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างนี้ เขาก็เอาคำลาติน คำฝรั่งเศสมาใส่ดื้อๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าคนจะรู้เรื่องหรือเปล่า แล้วภาษาอังกฤษก็เลยระเบิดออก กลายเป็นภาษาระดับโลกได้เพราะพูดได้ทุกอย่าง

นิยายวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยแรงจินตนาการมาก คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

ก็จากโลกธรรมดานี่แหละ เพราะว่าจริงๆ แล้วนิยายวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี หรือสยองขวัญ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับจินตนาการผมคิดว่ามันไม่มีความหมายถ้าเรื่องที่เราเล่าไม่เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่ทุกคนรู้จัก มันต้องเริ่มที่ Story ก่อน มันเป็นเรื่องของใคร ปัญหาเขาคืออะไร มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า จริงๆ แล้วอย่างอื่นมันของภายนอกทั้งนั้น ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่พยายามเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หลายคนที่ทำไม่สำเร็จ เป็นเพราะว่าเขาไปสนใจตรงวิทยาศาสตร์มากเกินไป เพราะเขานึกว่าเรื่อง! (เน้นเสียง) มันอยู่ตรงวิทยาศาสตร์ แต่มันไม่ได้อยู่ตรงวิทยาศาสตร์ มันอยู่ตรงตัวละคร วิทยาศาสตร์เป็นแค่สิ่งประกอบ

มองวงการวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไหร่ แต่ผมกำลังมีความหวังว่ามันจะตื่นเต้นขึ้นเยอะ เพราะว่าผมมีแผนไกลเหมือนกันนะ ว่าจะพยายามทำ Science Fiction conference ในเมืองไทย โดยให้นักเขียนวิทยาศาสตร์ไทยกับนักเขียนวิทยาศาสตร์เมืองนอกมานั่งด้วยกัน นี่แผนไกล ตอนนี้พยายามติดต่อคนโน้นคนนี้ อยู่ที่ว่าเขาสนใจที่จะมาหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะน่าสนใจมากสำหรับแฟนหนังสือพวกนี้ด้วย เพราะเขาจะได้เจอนักเขียนที่เขาเคยอ่านเฉพาะคำแปล

มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สักเมื่อไหร่

ตอนนี้กำลังหาคนในเมืองไทยที่จะช่วยจัดสัก 2-3 คน (หัวเราะ) เพราะจริงๆ แล้วโลกของ Science Fiction นี่เป็นโลกที่ทุกคนใกล้ชิดกันมาก พวกนักเขียนรู้จักกันหมดเลย แล้วถ้าเราดึงโลกนี้มาที่กรุงเทพฯ ได้ พวกนักเขียนแนวนี้ในเมืองไทยก็จะได้รู้จักคนอื่นๆ แล้วก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนไอเดียต่างๆ มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันจะทำให้วงการมีอะไรใหม่ๆ น่าสนใจเยอะ คือเราอาจจะพยายาม Bid ให้มี World Science Fiction ขึ้นในเมืองไทย ซึ่งยังไม่เคยมี ในเอเชียเคยมีอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วมันมีทุกปี แต่ว่าต้อง Bid ล่วงหน้า 3 ปี

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งมี

สำคัญที่สุด…(นิ่งคิด)…คือถ้าคุณจะเขียนวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยายสักเรื่อง คุณจะต้องมีอะไรที่อยากบอกให้คนอ่าน คือต้องมีจริงๆ

คือตัวสาร

ใช่! ต้องมี เพราะว่าถ้าไม่มี คนอ่านเขารู้นะ เขาไม่โง่กัน (หัวเราะ)

แล้วอย่าง “แนวทดลอง” ที่มีนักเขียนหลายๆ คนทำกัน แต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าต้องอ่านหลายๆ ที หรือบางทีสารของเขาอาจเป็นว่าจะไม่ให้รู้เรื่องก็เป็นไปได้
หรืออีกกรณีก็คือ หลายคนเขาถามว่าคุณเขียนมาได้อย่างไรหนังสือที่ยาว 700 หน้าหรือ 1,000 หน้า มันง่ายมาก คือเราต้องรู้ว่าเรากำลังไปไหน ถนนนี่ไปที่ไหน มันอาจจะอยู่ไกลมาก แต่ถ้าเราเห็นจุดมุ่งหมายก็ค่อยๆ ไปได้ บางทีพอไปถึงแล้วมันอาจจะเป็นคนละที่กับที่เรานึก แต่ว่าตราบใดที่เราบอกตัวเองได้ว่าเรารู้ว่าเรากำลังไปไหน มันก็เขียนได้จบ

ระหว่างการเขียน คุณคุมเรื่อง คุมตัวละครตลอดไหม หรือมีปล่อยให้มันมีชีวิต และนำเราไปบ้าง

ไม่ค่อยคุมเท่าไหร่นะ เพราะว่าจริงๆ แล้วก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนหนังสือผมจะทำโครงร่างเอาไว้ทั้งอันแล้ว แต่หนังสือของผมที่ประสบความสำเร็จที่สุด ไม่ใช่ว่าขายดีที่สุดนะ แต่หมายความว่าออกมาเหมือนกับที่ผมคิดมากที่สุด มักจะเป็นหนังสือที่เริ่มเขียนแล้วก็ไม่หยุดเลยจนกว่าจะเสร็จ คือไม่มีเวลาทำอย่างอื่น

คุณคิดว่าวิธีการนี้จะทำให้นิยายออกมาดีที่สุด

ไม่จำเป็น คือมันแล้วแต่คน คือจริงๆ แล้ว 90% ของการประพันธ์มันเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้นบางทีมันยังไม่พร้อมที่จะออกมา เราทำเท่าไหร่มันก็ไม่ออก บางทีก็ต้องกลับไปคอยให้มันเสร็จเอง เหมือนลูกจะคลอดน่ะ จะออกเมื่อไหร่มันก็ต้องออกตอนนั้น

แสดงว่าคุณเชื่อคำพูดที่ว่า ศิลปะมันเร่งไม่ได้

เร่งไม่ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเผื่อคุณเป็นนักเขียน Free Lance อยู่ในประเทศอย่างอเมริกา แล้วทุกเดือนมีบิลค่าน้ำ ค่าไฟ แรงบันดาลใจมันหาไม่ค่อยยากหรอก เพราะบางทีบิลค่าน้ำ ค่าไฟก็เป็นแรงบันดาลใจแล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่เคยประสบความลำบากมันก็เป็นนักเขียนยากนะ

คนที่เกิดมาพร้อมทุกอย่างไม่น่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้

บางคนก็เป็นได้นะ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับศิลปินทุกคน คือเขาจะต้องมีความกล้า เพราะว่ามันจะมีนาทีหนึ่ง มีจุดหนึ่งที่เรากำลังจะเขียนอะไร หรือวาดอะไรก็ตาม ซึ่งในนาทีนั้นเรารู้ว่าเราเป็นคนเดียวที่จะพูดถ้อยคำพวกนั้นออกมาได้ เราก็ต้องยอมพูดคำพวกนี้ แม้ว่ามันจะเป็นคำที่เราไม่อยากพูดก็ตาม เราต้องกล้าที่จะพูดมันออกมา

แม้ว่าจะถูกสังคมประณาม
ใช่ ถ้าเราไม่กล้า เราอาจจะดังหรือรวยได้ แต่เราคงไม่เป็นศิลปินจริงๆ

นี่คือนิยามความเป็นศิลปินในทัศนะของคุณ
ใช่ คือเราจะต้องพูดสิ่งที่เรารู้สึกหรือคิดจริงๆ เหมือนกับว่าเราต้องยอมฉีกวิญญาณของเราออกมาให้คนอื่นซื้อเอามาอ่าน

จากสภาพการณ์ที่ผ่านมาบ่งชัดว่ารัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับแวดวงศิลปะอย่างจริงจัง ฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ตัวศิลปินหรือกลุ่มเอกชนผู้สนับสนุนต้องตัดใจ แล้วดิ้นรนต่อสู้ต่อไปด้วยตัวเอง
คุณก็ทราบว่าผมก็โดนปัญหาพวกนี้มามาก แต่ว่าจริงๆ แล้วนะครับ ไม่เคยมีรัฐบาลในโลกที่สามารถจะทำให้ศิลปะไม่เกิดได้ ทุกรัฐบาลเขาพยายามกันมาเป็น 1,000 ปีแล้วแต่ว่าไม่สำเร็จ เพราะว่าในที่สุดรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ต้องตก แต่ว่าศิลปะมันไม่ตก ศิลปะมันยังอยู่ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะเป็นห่วงเรื่องนี้ ถ้าคุณจะเขียนอะไรซึ่งคุณคิดว่าข้าราชการคนใดคนหนึ่งจะไม่ชอบใจ ไม่เป็นไรหรอก (ทำเสียงไม่ยี่หระ) ในที่สุดเขาก็ลาออก ถูกไล่ออกไป แต่ผลงานชิ้นนั้นก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากคือคุณไม่ควรจะกลัวเขาเป็นอันขาด เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนี้ ผมเคยคุยกับคุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เรื่องนี้มาอย่างยาวมาก เขาเป็นคนที่สนับสนุนสิ่งที่ผมทำอยู่คนหนึ่ง เขาบอกว่าจริงๆ แล้วการที่กระทรวงโน้นกระทรวงนี้พยายามที่จะเซ็นเซอร์อะไรต่อมิอะไรนี่ จริงๆ แล้วไม่มีอะไรในกฎหมายไทยที่บอกว่าเขาทำได้ เหตุเดียวที่เขาทำอยู่ก็เป็นเพราะเขานึกว่าเขาทำได้ แต่จริงๆ แล้วเขาทำไม่ได้

มันเป็นปัญหาที่เป็นมาตลอด
มันเป็นมาตลอด ใช่! มันเป็นมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. คือความคิดที่รัฐบาลสามารถจะเซ็นเซอร์ได้มันอยู่ในใจของรัฐบาลเสียจนเขานึกว่าเขาทำได้ แต่จริงๆ แล้วมันก็ทำไม่ได้ ดูอย่าง YouTube เป็นต้น เขาอาจจะนึกว่าคนลืมไปแล้ว เพราะมันถูกตัดมาหลายเดือนแล้ว แต่จริงๆ แล้วคนทุกคนที่ผมรู้จักเขาก็ใช้ YouTube กันทุกวัน (หัวเราะ) คือเขาจะต้องเรียนรู้ว่าการต่อสู้ระหว่างข้าราชการกับอินเตอร์เน็ตเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่ากันอย่างมาก จนเหมือนกับเอาธนูไปต่อสู้กับระเบิดปรมาณู เขาทำไม่ได้ ยังไงก็ไม่ชนะ เพราะฉะนั้นแทนที่จะพยายามเอาชนะ ก็ควรจะหาทางที่จะเข้าใจว่ากระแสโลกเป็นอย่างนี้นะ เราควรจะทำยังไงที่จะดัดแปลงตัวเองให้เข้ากับโลก

คำแนะนำถึงนัก (อยาก) เขียน ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร

ประการแรกนะครับ คือคิดให้ดีๆ ก่อนนะ เพราะว่าต้องยากจนแน่ๆ (หัวเราะ) คิดให้ดีๆ นะ อย่างผมนี่มาจากครอบครัวที่มั่งมี แต่ว่าเวลาเลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนอย่างเดียวผมเคยมีเงินอยู่ในกระเป๋า 5 เหรียญนะ มีแค่นั้นอยู่ตั้ง 2 อาทิตย์ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นคิดดีๆ
ประการที่ 2 อยากจะให้รู้พื้นฐานอย่างดีที่สุด คือสิ่งง่ายๆ ไวยากรณ์หรือว่าหลักภาษา คุณจะเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไหนก็ตาม คุณจะต้องเข้าใจภาษานั้น เพราะว่าในที่สุด ภาษาไม่ได้เป็นนายของเรา เราเป็นนายของภาษานะครับ คือภาษานี่มันสร้างขึ้นมาเพราะว่านักเขียนประดิษฐ์ความคิดใหม่ คำใหม่ตลอดเวลา แต่ว่าก่อนที่คุณจะเริ่มทำอย่างนั้นได้คุณก็ต้องเข้าใจว่าอาวุธที่คุณใช้นั้นทำงานอย่างไร มีฟังค์ชั่นยังไง ปุ่มแต่ละปุ่มกดไปเกิดอะไรขึ้น พวกนี้ต้องรู้หมด ถ้าคุณไม่รู้จะเป็นปัญหาหนัก และผมคิดว่าต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุดด้วย โดยเฉพาะพวกคลาสสิกทั้งหมด เพราะว่ามันเป็นคล้ายๆ ทะเลซึ่งเราเป็นเรือลำเดียวที่ลอยอยู่ในทะเลนั้น เราต้องเข้าใจว่าเรามาจากไหน

แต่ประเด็นการอ่านหนังสือก็เป็นปัญหาในบ้านเราเหมือนกัน
เป็นครับ เป็นมาก ใช่! และอีกอย่างก็คือผมคิดว่าหนังสือต้องมีมากกว่านี้ด้วย คือตอนนี้คุณภาพของหนังสือแปลบางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดีนะครับ แล้วหนังสือที่ผลิตเองเป็นภาษาไทยมันก็ยังน้อยอยู่ จริงๆ แล้วมันเหมือนกับว่ามันจะต้องถึงปริมาณขั้นหนึ่งก่อนถึงจะระเบิดออกมาได้ คล้ายๆ ทฤษฎีการแตกตัวของอะตอมของยูเรเนียมที่เขานำไปสร้างระเบิดปรมาณูนั่นแหละ คือตอนนี้มันเกือบจะถึงแล้ว แต่มันยังขาดอะไรอยู่
คือจริงๆ แล้วผมไม่น่าจะพูดมากเกินไป เพราะผมไม่ได้เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย แต่ว่าผมมีความคิดที่จะเริ่มเขียนนะครับ แต่เนื่องจากว่าภาษาเขียนของผมนี่แย่มากเลย ถ้าผมเขียนเป็นภาษาไทยมันจะต้องเป็นแบบชาวบ้าน พื้นฐานมากๆ ภาษาอังกฤษของผมเป็นภาษาที่ค่อนข้างจะร่วมสมัยนะ แต่ถ้าเป็นภาษาไทยมันจะเป็นแบบบ้านนอกที่สุด แต่ว่ามันอาจจะน่าสนใจนะ แล้วผมก็มีความคิดที่จะเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง โดยให้ใครสักคนหนึ่งที่พิมพ์เก่งๆ ให้เขา Edit เพราะว่าผมมีปัญหาเรื่องพิมพ์ภาษาไทยไม่ได้เลย เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำ เพราะตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่าอยู่ประเทศนี้โดยคล้ายๆ เป็นตัวปลอมนิดหน่อย (หัวเราะ) เพราะไม่ได้เขียนเป็นภาษาไทย แต่ในขณะเดียวกันเวลาคนต่างชาติคิดถึงว่าอะไรคือ Thai Culture เขามักจะมาดูในหนังสือของผมบางเรื่อง หนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นหนังสือที่เขาหาได้ ซึ่งผมก็ใส่ความเป็นไทยเข้าไปในบางเรื่อง ไม่กี่เรื่อง

——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 261
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...