เปิดตัว บันทึกใกล้ใจ

ครูแอ๋ว-อรชุมา เปิดตัว ‘บันทึกใกล้ใจ’ บันทึกความทรงจำการเดินทาง ปลาบปลื้มทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ พระราชทานแจกันดอกไม้ มิตรสหาย-ลูกศิษย์ร่วมแสดงความยินดีอย่างอบอุ่น

ด้วยเหตุที่มารดาป่วยเป็นอัลไซเมอร์ โรคที่พาท่านถอยจากปัจจุบันกลับสู่อดีต ซึ่งก็กำลังจะ เลือนหายไปในที่สุด รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ครูแอ๋ว” ผู้ฝึกสอนการแสดงให้แก่ศิลปิน และนักแสดงดังๆ มาแล้วมากมาย จึงได้ตั้งใจรังสรรค์หนังสือ ‘บันทึกใกล้ใจ’ บันทึกความทรงจำการเดินทาง ที่ร้อยเรียงเรื่องราวแสนประทับใจของเธอ พร้อมด้วยภาพประกอบสวยๆ ฝีมือศิลปินวาดภาพชั้นครู อ.เกริกบุระ ยมนาค เพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำของการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ยังมีกันและกัน โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้ฤกษ์ดีจัดงาน เปิดตัวหนังสืออย่างเป็นทางการ ณ ห้องเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรุงเทพฯ ซึ่งรายได้จากการ จำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่าย จะมอบให้แก่สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม แห่งประเทศไทย

ภายในงานมีแขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายวงการทั้งในแวดวงสังคมและนักเขียนรวมทั้งเพื่อนและ ลูกศิษย์ลูกหาในแวดวงบันเทิงและการศึกษามาร่วมแสดงความยินดีอย่างอบอุ่น อาทิ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, อัจฉรา ตั้งมติธรรม, ดร.สุวิทย์และคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี, คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, นิตยา มาศะวิสุทธิ์, งามพรรณ เวชชาชีวะ, ผศ.ดร.อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์, อานิก อัมระนันทน์, พัชรินทร์ พิบูลย์สงคราม, ญาณี จงวิสุทธิ์, พิมลวรรณ หุ่นทองคำ, และ สู่ขวัญ บูลกูล ที่ต่างพร้อมใจมาอุดหนุนหนังสือและร่วมบริจาคเงินให้แก่สมาคมฯ ด้วย

ในโอกาสนี้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญแจกันดอกไม้พระราชทานมามอบให้เพื่อทรงร่วมแสดงความยินดีด้วย ยังความปลาบปลื้ม ให้แก่ รศ.อรชุมาอย่างหาที่สุดมิได้

รศ.อรชุมา กล่าวถึงที่มาของหนังสือ “บันทึกใกล้ใจ” ว่า เป็นส่วนหนึ่งในโครงการของ “คณะผู้ก่อการดี” ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ของกลุ่มนี้ รวมทั้ง แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ และ อัจฉรา ตั้งมติธรรม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

“คณะผู้ก่อการดี” เป็นโครงการที่สนับสนุนสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม แห่งประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นแหล่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ  มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โดยโครงการครอบคลุมไปถึงการป้องกันตัวเอง การดูแลผู้ป่วย และสร้างความเข้าใจ ในบทบาทของผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติในแง่ลบต่อโรคดังกล่าว ทำให้การดูแล รักษา และบำบัดผู้ป่วยไม่เป็นผลดี เท่าที่ควร

สำหรับภายในงานเปิดตัวหนังสือในวันนั้นยังมีการจัดเกมส์ทดสอบสมรรถภาพสมอง อาทิ เกมส์โยนบอล  การพับกระดาษโอริกามิ และเกมส์ตาราง 9 ช่อง ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสนุกอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สูงวัยใสสง่า” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ผู้ตั้งกลุ่ม OPPY Club (Old People Playing Young Club) เมื่อปีพ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นชมรมของผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เปิดโอกาสให้มาเรียนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เป็นคนสูงวัยที่ยังคงทันยุคทันสมัย ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุขที่สามารถสื่อสารพูดคุยผ่านเทคโนโลยีกับลูกหลาน ได้และไม่รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งอีกต่อไป และ ศตวรรษ อำนวยเรืองศรี นักธุรกิจหนุ่มที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์อย่างสะเทือนใจว่าวิถีชีวิตในครอบครัว เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงอย่างไรหลังจากมารดาป่วยโรคสมองเสื่อม โดยมี พ.ญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ในฐานะ นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการเสวนา

หลังจากเสร็จการเสวนาบนเวที รศ.อรชุมา เล่าให้ฟังถึงเรื่องใกล้ตัว โดยกล่าวถึงมารดาซึ่งปัจจุบันอายุ 84 ปี ว่าเริ่มมีอาการทางสมองเมื่อราวอายุ 70 ปี โดยในระยะแรกๆ นั้นยังไม่ทราบว่ามารดาเป็นอะไรจึงเกิดความยาก ลำบากมาก แต่พอภายหลังทราบว่าเป็นอัลไซเมอร์ เธอและครอบครัวก็ต้องพยายามทำใจให้ได้ ต้องปรับเปลี่ยนวิธี คิดใหม่หมด  ช่วงนั้นเธอเกิดความเครียดมากจนถึงกับหยุดกิจกรรมวาดรูปที่ตัวเองชอบไปกว่า 3 ปี “มันเหมือนการ ‘จากเป็น’ เพราะท่านจำอะไรไม่ได้ จำตัวเองไม่ได้ จำเราไม่ได้ จำกิจวัตรต่างๆ ไม่ได้ เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก บางทีเราก็อารมณ์เสีย แล้วก็จะรู้สึกผิดจนกลายเป็นตราบาปที่ติดในใจ ในเวลาที่เราอาจจะเกิดอาการ หงุดหงิดใส่ เพราะหากเราจะต้องตอบคำถามเดิมๆ สัก 20 หน ก็คงเป็นเรื่องยาก ที่จะทำเสียงให้เหมือนเดิม สามี (ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์) เลยสอนว่า ให้นึกว่าท่านอายุ 4 ขวบก็แล้วกัน ทำให้มาได้คิดว่า การที่ร่างกายแม่เป็นอย่างนี้ ก็ถือเป็นการอุทิศตัวให้เป็นการช่วยสอนธรรมให้เราได้คิด” รศ.อรชุมา กล่าว

“ การ ‘จากเป็น’ ระหว่างเราเริ่มขึ้นแล้ว ใกล้ตัว ใกล้ใจ แต่ห่างไกลจนเอื้อมไม่ถึง เรื่องราวที่บันทึกไว้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่แม่และฉันยังสื่อสารถึงกันได้ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ใดในโลก ฉันมีแม่ยืนหยัด อยู่เบื้องหลังเสมอมา ขอมอบสมุดบันทึกนี้เป็นพิเศษให้กับแม่ ผู้ซึ่งความทรงจำกำลังลบเลือน” เป็นความในใจส่วนหนึ่งที่ถูกร้อยเรียงไว้ ในบันทึกเล่มนี้ อีกทั้งภายในเล่มยังมี “ที่ว่าง” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน สามารถบันทึกความทรงจำของตนเอง ลงในหนังสืออีกด้วย

“บันทึกใกล้ใจ” จึงไม่เป็นเพียงการเล่าเรื่องโดยผู้เขียน แต่ยังมีพื้นที่ให้ผู้อ่านได้มีบทบาท บันทึกเรื่องราวอันน่าจดจำ เพื่อวันหนึ่งในอนาคตบันทึกเล่มนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญบอกเล่าเรื่องราว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้น แม้ความทรงจำเล่านั้นจะลบเลือนไปแล้ว หลายคนก็จะสามารถระลึกถึง ความหลังครั้งก่อนได้ เพราะบางคนอาจสูญเสียความทรงจำเหล่านั้นไปตลอดกาล แม้จะอ่านบันทึกที่เขียนด้วยลายมือตัวเองก็ตามที

“อยากให้บันทึกเล่มนี้เป็นสื่อที่เราเก็บความทรงจำดีๆ ระหว่างกันเอาไว้เป็นบันทึก จำกันในสิ่งที่ดี และอยากให้ใช้เวลาในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ให้มีความหมายมากที่สุด” รศ.อรชุมา กล่าวฝากในตอนท้ายก่อน จะหันไปแจกลายเซ็นบนหนังสือให้บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาอุดหนุนหนังสือในงานต่อ
หนังสือ “บันทึกใกล้ใจ” ได้รับการสนับสนุนหลักจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ และ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยรายได้ทั้งหมด หลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึง ความสำคัญของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น โดยจำหน่ายในราคาเล่มละ 295 บาท

ที่ร้านนายอินทร์ หรือสามารถสั่งซื้อได้ที่โทร. : 084 9073245

หรือ : klaijaibook@gmail.com         

 

You may also like...