บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์

บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์ (ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม) เป็นหนังสือสำคัญของโลก พิมพ์มากกว่า ๒๕ ล้านเล่ม วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เด็กหญิงแอนน์ แฟร้งค์ หรือ อันเน่อ ฟรังค์ หรือชื่อเต็มว่า อันเนอลีเซอ ฟรังค์ (Anneliese Frank) ได้รับของขวัญวันเกิดอายุ ๑๓ ปี

ของชิ้นหนึ่งในจำนวนหลายชิ้นที่ถูกใจเธอมากคือ สมุดบันทึกปกผ้าตาสก็อตสีแดงสลับขาว ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า หลังจากนั้นอีกเพียงไม่นาน สมุดบันทึกเล่มนี้จะกลายเป็นสมบัติล้ำค่ายิ่งชิ้นหนึ่งของโลก

วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๙ ถ้าแอนน์ แฟร้งค์ ยังมีชีวิตยืนยาวต่อมา เธอก็จะมีอายุครบ ๗๐ ปี และหากเธอยึดมั่นปณิธานที่จะเป็นนักเขียน ชาวโลกคงมีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ ของเธอมากมาย ทว่าน่าเสียดาย สงครามโลกครั้งที่สองทำให้เธอจบชีวิตลงขณะอายุเพียง ๑๕ ปี กระนั้นก็ตาม ผลงานในวัยเยาว์ก็ได้กลายเป็นวรรณกรรมลือเลื่อง มิใช่ด้วยเหตุว่า เป็นผลงานของเด็กหญิงฅนหนึ่งที่ต้องเสียชีวิตในสงคราม แต่ด้วยความสามารถและอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์โดยแท้ ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันมาเนิ่นนานกว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่บันทึกส่วนหนึ่งได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แม้สิ่งที่เผยแพร่นั้นจะเก็บงำข้อความสำคัญส่วนใหญ่ไว้

สถิติการพิมพ์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่า มีผู้ประทับใจหนังสือเรื่องนี้มากเพียงใด ดังที่ปรากฏการพิมพ์ฉบับตัดทอนภาษาอังกฤษ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จำนวนมากกว่า ๒๕ ล้านเล่ม ไม่นับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า ๕๕ ภาษา

สำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดพิมพ์หนังสือพิเศษเล่มนี้โดยแปลจากฉบับสมบูรณ์ (The Definitive Edition) เพื่อเป็นที่ระลึกด้วยความเคารพยกย่องอย่างยิ่ง และเพื่อยืนยันว่า ‘การอ่านและการเขียนสิ่งที่ดีนั่น มีอานุภาพใหญ่หลวงนัก’

ความนำสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ (ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑)

นอกจากแอนน์ แฟร้งค์ จะเป็นตัวแทนของสิ่งนานัปการแล้ว เธอยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของหนังสือ สมุดบันทึกที่เธอเก็บไว้ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๔  ณ ที่ซ่อนลับชั้นบนตึกโรงงานในกรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวของเธอและครอบครัวจนกระทั่งเหล่านาซีมาพบในที่สุด บันทึกนี้ทำให้แอนน์ แฟร้งค์ กลายเป็นบุคคลน่าจดจำที่สุดฅนหนึ่งจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ หากไม่นับฮิตเลอร์ซึ่งประกาศว่าเชื่อในหนังสือเช่นกัน จะว่าไปแล้ว ฮอโลคอสต์นี้เริ่มต้นด้วยหนังสือและจบลงด้วยหนังสืออีกเล่มหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว บันทึกของแอนน์ดำรงอยู่ แอนน์ แฟร้งค์มีชัยเหนือฮอโลคอสต์ เหนือความเป็นยิว ความเป็นเด็กสาว และแม้แต่ความดีงาม เธอได้กลายเป็นบุคคลผู้เป็นที่สักการะในโลกสมัยใหม่ ในโลกที่จิตใจผู้คนหมองจากการทำลายล้างด้วยเครื่องจักร แอนน์ แฟร้งค์ยืนยันสิทธิในการมีชีวิต ในการถาม และหวังถึงอนาคตของมนุษยชาติ
—เมื่อนาซีบุกฮอลแลนด์ ครอบครัวแฟร้งค์กลายเป็นเหยื่อของเอกภพที่ถูกจัดการให้คับแคบลง เช่นเดียวกับครอบครัวชาวยิวอื่นๆ เริ่มด้วยกฎห้ามชาวยิวทำสัญญาธุรกรรม ตามด้วยการเผาหนังสือฅนยิว กฎที่เรียกว่าอาร์ยันส่งผลต่อการสมรสข้ามเชื้อชาติ ชาวยิวถูกห้ามเข้าสวนสาธารณะ ชายหาด โรงหนัง และห้องสมุด ถึงปี ค.ศ. ๑๙๔๒ ชาวยิวต้องเย็บดาวสีเหลืองติดเสื้อผ้า ตามด้วยการไม่ให้ใช้บริการโทรศัพท์และจักรยาน สุดท้ายเมื่อถูกกักอยู่ในบ้าน พวกเขาจึง “ปลาสนาการไป”
—แอนน์พบอิสรภาพในบันทึกที่เธอได้รับในวันเกิดครบรอบ ๑๓ ปี เธอเขียนไว้ต้นเล่มว่า “หวังว่าเธอจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการปลอบประโลมใจฉัน” … หนึ่งปีก่อนแอนน์จะเสียชีวิตจากโรคไทฟอยด์ที่ค่ายกักกันแบรกเกิ้น-เบลเซิ่น ในเยอรมนี เธอเขียนว่า “ฉันอยากเป็นประโยชน์ และทำให้ผู้ฅนรอบตัวที่ยังไม่รู้จักฉันดีได้เพลิดเพลิน  ฉันต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้หลังความตายของฉัน!”
—แอนน์ แฟร้งค์ แสดงต่อโลกในสมุดบันทึกนี้ว่าเธอเป็นฅนดีเพียงไร และแสดงว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเข้าอกเข้าใจยอมรับความเป็นมนุษย์ปุถุชนของตัวเอง แม้กระทั่งในสถานการณ์เลวร้าย บันทึกนี้บอกว่าเรามีแต่เรื่องเล่าของเรา และควรค่าที่จะแลกชีวิตนี้ได้ เพื่อให้เรื่องนั้นดำเนินไปถูกต้องดีงาม

นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่สถานที่ซ่อนตัวของแอนน์ถูกปกปิดด้วยตู้หนังสือซึ่งหมุนเปิดได้ แอนน์ถูกปกป้องโดยหนังสืออยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่แล้วนาซีผลักหนังสือออกไปเพื่อให้ได้ตัวเธอ เขาฆ่าหนังสือก่อน แล้วฆ่าเด็กๆ แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้ก็คือแอนน์หนีรอดไปแล้ว

เรียบเรียงจาก Time ๑๐๐: Anne Frank (ค.ศ. ๑๙๙๙) ผู้เขียน โรเจอร์ โรเซ็นแบล็ตต์  โดย เฟย์

บันทึกที่ไม่ลับของแอนน์ แฟรงก์

เดี๋ยวนี้ หลายๆ คนนิยมเขียนไดอะรีลงบนบล็อกต่างๆ บางคนได้แค่เก็บเอาไว้อ่านส่วนตัว ขณะที่บางคน เรื่องราวที่บันทึกลงในไดอะรีกลับกลายเป็นสิ่งที่ขายได้

ไม่มีคนเขียนไดอะรีคนไหนโด่งดังเทียบเท่า “แอนน์ แฟรงก์” หรือ “อานเนอ ฟรังก์” เด็กหญิงชาวยิวในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่บันทึกเรื่องราวมุมมอง และความรู้สึกของตัวเธอเอาไว้ ขณะที่หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องลับ

ย้อนไปเมื่อปี ๑๙๔๔ แอนน์ แฟรงก์ ถูกตำรวจเกสตาโปของเยอรมันนาซีจับตัวได้ พร้อมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวแฟรงก์ ทั้งหมดถูกส่งไปยังค่ายกักกันนาซีที่ยุโรปตะวันออก เกือบทุกคนไม่มีชีวิตรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งแอนน์ด้วย มีเพียงไดอะรีที่เธอเริ่มเขียนตั้งแต่วันเกิดอายุ ๑๓ เมื่อปี ๑๙๔๒ รอดมาจากภัยสงคราม ก่อนจะกลายเป็นไดอะรีที่โด่งดังที่สุดในโลก ได้รับการแปลไปกว่า ๕๐ ภาษา หลายประเทศในยุโรป บรรจุไดอะรีของแอนน์เอาไว้ในตำราเรียน

อันนาลิส มารี ฟรัก์ หรือ แอนน์ แฟรงก์ เกิดที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อ ๑๒ มิ.ย. ๑๙๒๙ เธอเป็นลูกคนที่ ๒ ของออตโต ฟรังก์ กับเอดิท ฟรังก์-ฮอลแลนเดอร์ ๒ ตระกูลเชื้อสายยิวที่มีรกรากอยู่ในเยอรมนีมาแล้วหลายศตวรรษ

ครอบครัวแฟรงก์ต้องอพยพไปยังอัมสเตอร์ดัมเมื่อนาซีขึ้นมาเรืองอำนาจในปี ๑๙๓๓ โดยออตโต ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าเครื่องเทศและแยม แอนน์เข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดาร่วมกับเด็กชาวดัตช์ทั่วไป กระทั่งนาซีบุกเข้ามาถึงอัมสเตอร์ดัมทำให้เธอต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนเฉพาะเด็กยิว ออตโตเริ่มตระเตรียมช่องทางหนีทีไล่ โดยสร้างห้องลับในโกดังเก็บของของโรงงานของเขาเองในอัมสเตอร์ดัม โดยมีเพื่อนบ้านชาวคริสเตียนผู้ใจบุญคอยส่งข้าวส่งน้ำ

แอนน์เริ่มเขียนไดอะรีในวันเกิดอายุ ๑๓ ปีของเธอ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละวันๆ รวมทั้งความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนๆ ทั้งบันทึกยังสังเกตการณ์ความเป็นไปรอบๆ ตัวที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตลอดระยะเวลา ๒ ปี ที่ครอบครัวแฟรงก์ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องลับอันคับแคบ แอนน์ก็ยังคงเขียนบันทึกลับซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์สะเทือนใจ อารมณ์ขัน และการมองโลกอย่างทะลุปรุโปร่งเกินเด็ก

ในปี ๑๙๔๔ ข่าวคราวการยกพลขึ้นบกของทหารสัมพันธมิตรในนอร์มองดี ทำให้แอนน์เริ่มมีความหวังว่า ฮอลแลนด์จะได้รับการปลดปล่อยในเวลาไม่ช้า และชาวยิวที่อยู่กันอย่างเบียดเสียดในห้องเล็กๆ แห่งนี้จะได้กดชักโครกกำจัดของเสียกันสักครั้ง พร้อมทั้งมีชีวิตที่เป็นอิสระ ทว่า ความฝันของเธอไม่จริง

วันที่ ๑ ส.ค. ๑๙๔๔ คือวันสุดท้ายที่เธอจดบันทึก เรื่องราวลงในไดอะรีบันลือโลก ๓ วันหลังจากนั้น พวกเธอถูกจับได้ และถูกส่งไปค่ายกักกัน โดยในเดือนก.ย. ๑๙๔๔ แอนน์และครอบครัวถูกส่งไปยังค่ายกักกันเอาส์ชวิตซ์ ในโปแลนด์ พอปลายปี ๑๙๔๔ เมื่อรัสเซียสามารถปลดปล่อยโปแลนด์ได้ แต่แอนน์กับพี่สาวของเธอ มาร์โกต์ ก็ถูกส่งไปค่ายกักกันแบร์เงนเบลเซนในเยอรมนี ทั้งคู่ติดเชื้อไข้รากสาดและเสียชีวิตต้นเดือน มี.ค. ๑๙๔๕ ค่ายกักกันดังกล่าวได้รับการปลดปล่อยจากอังกฤษในอีกเพียงเดือนเดียว

ออตโต แฟรงก์ เป็นคนเดียวในครอบครัวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกัน หลังจากเขาเดินทางกลับมายังอัมสเตอร์ดัม และพบกับ มีป กีส ซึ่งเคยเป็นพนักงานบริษัทเขา และเป็นคนเดียวกับที่คอยส่งข้าวส่งน้ำตลอดเวลา ๒ ปี เธอมอบไดอะรีของแอนน์ที่เธอพบให้ออตโต โดยในปี ๑๙๔๗ บันทึกลับแอนน์ แฟรงก์ พิมพ์ออกมาในภาษาดัตช์ ภายใต้ชื่อ Het Achterhuis:Dagboekbrieven van ๑๒ Juni ๑๙๔๒- ๑ Augustus ๑๙๔๔ (The Annex: diary notes from ๑๒ June ๑๙๔๒-๑ August ๑๙๔๔) หรือรู้จักกันในนาม The Diary of a Young Girl กลายเป็นหนังสือขายดี ทั้งได้รับการแปลไปกว่า ๕๐ ภาษาทั่วโลก จนถึงปัจจุบันขายไปแล้วกว่า ๒๕ ล้านเล่ม ในบางประเทศเปลี่ยนชื่อปกเป็น The Diary of Anne Frank ซึ่งได้กลายเป็นวรรณกรรมซึ่งเป็นปากเสียงของชาวยิว ๖ ล้านคนที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปอย่างเงียบเชีย

ใน “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์” แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรกเขียนระหว่างวันที่ ๑๒ มิ.ย. ๑๙๔๒ – ๕ ธ.ค. ๑๙๔๒ ช่วงที่ ๒ เริ่มเขียนวันที่ ๒๒ ธ.ค. ๑๙๔๓ – ๑๗ เม.ย. ๑๙๔๔ คาดว่าวันที่ขาดหายไปคงจะหาต้นฉบับไม่เจอ แต่แอนน์ได้เขียนซ้ำบางส่วนไว้ในช่วงที่ ๓ ที่บันทึกระหว่างวันที่ ๑๗ เม.ย. – ๑ ส.ค. ๑๙๔๔ อันเป็นวันสุดท้ายที่เธอสามารถเขียนไดอะรี

บันทึกแรกๆ ของเธอยังคงใช้วิธีการบอกเล่าความเป็นไปที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว แต่พอนานวันเข้าเธอเริ่มสร้างตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะการยืมมาจากนิทานที่เคยอ่าน เช่นเรื่อง Joop ter Heul ของซิลซี ฟาน มาร์กซ์เวลดต์ จู๊ป ตัวละครในเรื่องที่เป็นเด็กสาวแก่นเซี้ยว ก็ชอบเขียนไดอะรีเหมือนกับแอนน์ และแล้วเพื่อนๆ ของจู๊ปก็กลายมาเป็นเพื่อนๆ ของแอนน์ด้วย ในไดอะรีของเธอ ไม่ว่าจะเป็น คิตตี คอนนี มารีแอนน์ หรือเอมมี โดยคนแรกคือคิตตีนั้นไปพ้องกับชื่อเพื่อนที่มีตัวตนจริงๆ ของเธอ เป็นคนที่เธอเรียกว่า “เพื่อนที่เชื่อใจได้” คือ คิตตี อีไกดี ซึ่งภายหลังได้เขียนหนังสืออุทิศให้แอนน์ แฟรงก์ด้วย

ด้วยความปรารถนาของแอนน์ที่บันทึกเอาไว้ว่าเธอต้องการจะแก้ไขข้อเขียนในไดอะรีของเธอใหม่ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ออตโตจึงได้เพิ่มเติมหลายๆ ส่วนเข้าไปใน The Diary of Anne Frank ไม่ว่าจะเป็นโน้ตพิเศษต่างๆ ที่เธอเขียนเอาไว้ในไดอะรีเล่มเดิมรวมทั้ง ภาพสเกตช์ต่างๆ ที่มีอยู่ตลอดเล่ม มีเพียงเนื้อหาที่เกียวกับการก้าวเข้าสู่วัยสาวเท่านั้นที่ไม่ได้ใส่ลงไป

หนังสือเล่มนี้กระทบกระเทือนใจคนทั่วโลกที่ได้อ่าน แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

จาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (Classic โดย สนโบราณ หน้า ๗)

ฉบับวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.  ๒๕๕๐

ผู้เขียน : แอนน์ แฟร้งค์
ผู้แปล :  สังวรณ์ ไกรฤกษ์
ISBN : 9789741404094
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ปก : ปกแข็ง
ราคา : 421   บาท
ติดต่อ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ 4/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-4366-602
อีเมล์ : bflybook@bflybook.com
เว็บไซต์ : http://www.bflybook.com

 

 

You may also like...