ความเรียบเรื่อย และแปลกแยก เสน่ห์ของ แกะรอยแกะดาว

โดย อรพินท์ คำสอน
” ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูสิ แปลกดีนะ ยังอ่านไม่จบหรอก แต่ให้ยืมก่อน เพราะไม่คิดจะอ่านต่อแล้ว ” คำพูดสั้นๆ ประโยคนี้ของเพื่อนร่วมงาน กลายเป็นแรงจูงใจที่จุดประกายความสนใจใคร่รู้ให้ลองอ่านหนังสือเรื่อง ” แกะรอยแกะดาว ” เล่มนี้ดู ว่าในที่สุดแล้วจะสามารถอ่านจบไหม

แกะรอยแกะดาว เป็นวรรณกรรมแปลมาจากเรื่อง A WILD SHEEP CHASE ของฮารูกิ มูราคามิ (HARUKI MURAKAMI) ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับรางวัล ” โนมะ บุนเก โช ” สาขาวรรณกรรม ประเภทนักเขียนใหม่ยอดเยี่ยมของประเทศญี่ปุ่น มูราคามินับเป็นนักเขียนสมัยใหม่คนสำคัญของญี่ปุ่น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนักในเมืองไทย เนื่องจากเพิ่งจะเริ่มมีการแปลผลงานของเขาเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งต่อไปผู้อ่านชาวไทยอ่านรู้จักเขาเพิ่มขึ้นเพราะสำนักพิมพ์มติชนจะตีพิมพ์หนังสือแปลผลงานของเขาอีก 2 เรื่อง คือ เริงระบำแดนสนธยา ( DANCE, DANCE ,DANCE )” และ นอร์วีเจียนวู้ด ( NORWEGIAN WOOD ) ออกมาในไม่ช้า มูราคามิเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศญี่ปุนและในต่างประเทศ เนื่องจากผลงานของเขามีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 16 ภาษา อาทิ เรื่อง DANCE, DANCE ,DANCE NORWEGIAN WOOD และ A WILD SHEEP CHASE ฯลฯ

แกะรอยแกะดาว เป็นเรื่องราวของการเดินทางค้นหาแกะดาว ( แกะที่มีปานรูปดาวที่กลางหลัง ) ของชายไม่มีชื่อคนหนึ่ง ซึ่งผู้ร่วมทางไปในการค้นหาแกะดาวกับเขาในครั้งนี้ คือหญิงสาวผู้มีใบหูสวยและมีสามอาชีพ ผู้ไม่มีชื่ออีกเช่นกัน พวกเขาต้องค้นหาแกะดาวให้พบภายในเวลา 2 เดือน ไม่เช่นนั้นชีวิตของเขาและอาชีพของเขาจะถูกทำลายโดยองค์กรองค์กรหนึ่ง เนื่องจากแกะดาวมีความสัมพันธ์และสำคัญต่อชีวิตของเจ้านายใหญ่ขององค์กรนี้ ที่มีอิทธิพลควบคุมวงการการเมืองและสื่อในประเทศญี่ปุ่น แต่หลักฐานในการตามหามีเพียงภาพถ่ายแกะดาวใบเดียวเท่านั้น

สัมผัสแรกที่ได้รับขณะอ่านหนังสือเรื่องนี้ คือ ความแปลกที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆที่เคยอ่านมา ทั้งนี้ เพราะมีความแปลกใหม่ในแง่ของตัวละคร การสร้างตัวละครในเรื่องนับเป็นความจงใจประการสำคัญที่มูราคามิสร้างให้ตัวละครเกือบทั้งหมดในเรื่องของเขาไม่มีชื่อ หรือหากมีก็เป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกกัน ตลอดทั้งเรื่องเราจะรู้จักตัวละครเอกที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดในนามของ ” ผม ” รู้จักผู้หญิงที่ช่วยเขาตามหาแกะดาวเพียงแค่ ผู้หญิงที่มีใบหูสวยและทำงาน 3 อาชีพ คือ นางแบบหู ผู้ตรวจปรู๊ฟในสำนักพิมพ์เล็กๆ และนางทางโทรศัพท์ หรือรู้จักเพื่อนของ ” ผม ” ว่า ” มุสิก ” ซึ่งเป็นชื่อเล่นเท่านั้น การที่ผู้แต่งไม่ให้ความสำคัญกับชื่อ อาจเป็นแนวคิดที่พ้องกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modernism) เกี่ยวกับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ หากนำความคิดเรื่องปัจเจกชนของแนวคิดหลังสมัยใหม่มาพิจารณาการสร้างตัวละครในเรื่องนี้ จะพบว่าตัวละครสำคัญของเรื่องมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีชีวิตอยู่โดยเป็นบุคคลนิรนาม อยู่กับปัจจุบันไม่วางแผนอนาคต สนใจแต่ชีวิตของตนเอง หาความพอใจด้วยตัวเอง ไม่ยึดติดกับความยึดมั่นแบบเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตสมรส ครอบครัว ชาติ ศาสนา ทั้งนี้ยังชอบหมกมุ่นกับตัวเอง สุขนิยม เฉื่อยชา และต่อต้านปัญญา ซึ่งเมื่อเข้าใจถึงแนวการดำเนินชีวิตที่ตัวละครยึดถือ ก็ทำให้เข้าใจแนวคิดและการดำเนินชีวิตของตัวละครมากขึ้น

ความแปลกของตัวละคร นอกจากจะไม่มีชื่อแล้ว ผู้อ่านยังรับรู้ถึงความแปลกแยกของตัวละครเอกจากคนและสังคมของญี่ปุ่นโดยรวม เนื่องจากวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาหาร และรวมไปถึงหนังสือที่อ่านและเพลงที่ฟังของตัวละครเอกก็เป็นตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่กิน อาทิ ปาเต้ เดอ การรนาร์ ( ตับเป็ดบดกินกับขนมปัง ) ซาลาด เอด โตมัต ( สลัดมะเขือเทศ ) หรือ กาแฟ โอ เล ( กาแฟใส่นม ) เพลงที่ฟัง เช่น มิดไนต์ สเปเชียล , โรล โอเวอร์ เบโธเฟน และ ซีเคร็ด เอเจนต์ เมน หนังสือที่อ่าน เช่น ลา เรอแชร์ช ดู ตอง แปร์ดู และ เชอร์ล็อก โฮม จนบางครั้งขณะที่อ่านลืมไปว่าอ่านหนังสือแปลของนักเขียนชาวญี่ปุ่น แต่กลับรู้สึกว่ากำลังอ่านวรรณกรรมแปลของนักเขียนตะวันตกที่ใช้ประเทศญี่ปุ่นเป็นสถานที่ในการดำเนินเรื่องเท่านั้น

กลวิธีการดำเนินเรื่องดูประหนึ่งว่าผู้แต่งจงใจใช้เทคนิคที่หลากหลายมาผสมผสานกันอย่างลงตัว นับตั้งแต่การสร้างเรื่องสืบสวน ( รหัสคดี ) แนวใหม่ โดยสร้างปมปัญหาและทิ้งปริศนาที่ช่วยในการคลี่คลายปริศนาดังกล่าวไว้โดยตลอดเรื่อง ขณะเดียวกันก็จงใจซ่อนหลักฐานสำคัญไว้กระจายทั่วทั้งเรื่อง โดยซ่อนไว้รวมกับข้อความซึ่งดูไร้สาระ จนทำให้ทั้งตัวละครเอกและผู้อ่านที่สืบหาหลักฐานเพื่อคลี่คลายเรื่องราวหรือร่องรอยของแกะดาวพบแต่เฉพาะหลักฐานที่ผู้แต่งจงใจทิ้งไว้ให้เท่านั้น ในขณะเดียวกันก็จะละเลยหลักฐานสำคัญไปตลอดเรื่อง และจะกลับมาตระหนักถึงหลักฐานดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเรื่องราวถูกคลี่คลายแล้ว และเมื่อย้อนกลับมาอ่านเรื่องใหม่อีกครั้งจึงจะมองเห็นหลักฐานสำคัญเหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่าการที่มูราคามิซ่อนหลักฐานไว้อย่างแนบเนียนและมิดเม้น สามารถหลอกล่อและจับจูงทั้งตัวละครและผู้อ่านไปตามแนวทางที่เขาต้องการได้ไม่ยากนัก

ในขณะที่อ่านหนังสือสืบสวนอื่นๆ ความรู้สึกที่ผู้อ่านจะได้รับคือความตื่นเต้น ความกระตุ้นเร้าให้ติดตามหลักฐานอย่างกระชั้นชิด แต่เมื่ออ่านหนังสือเรื่องนี้ความรู้สึกที่ผู้อ่านได้รับกลับกลายเป็นความเบื่อ นั่นอาจเป็นเพราะตัวละครไม่มีแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นให้ค้นหาแกะดาวเท่าใดนัก เนื่องจากเขาไม่คิดว่าจะหาแกะแปลกประหลาดตัวนี้เจอ ทั้งนี้ การค้นพบหลักฐานของตัวละครก็มิใช่เป็นไปด้วยความสามารถในการค้นหาของเขาเลย หลักฐานต่างๆที่เขาค้นพบล้วนแล้วแต่เกิดเนื่องจากความบังเอิญทั้งสิ้น อาทิ การได้พบศาสตราจารย์แกะ ที่เป็นกุญแจดอกแรกที่ช่วยไขปริศนาว่ารูปนี้ถ่ายที่บ้านพักบนภูเขาในเมืองจูนิทากิ โดยการเข้าพักที่โรงแรมโลมา หรือการค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่าเจ้านายใหญ่เป็นคนเมืองจูนิทากิ – โช เพราะเอกสารสำคัญนี้เป็นกระดาษคั่นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขาหยิบมาจากชั้นหนังสือที่บ้านพักบนภูเขาของมุสิก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ตลอดการติดตามหาแกะของ ” ผม ” จึงมีการพูดและใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสุดท้ายของการค้นหาที่เขาเข้าใกล้จะพบแกะดาวและยังเป็นช่วงที่จะใกล้ครบกำหนดเวลาในการตามหาแล้ว ” ผม ” กลับใช้ชีวิตในช่วงนั้นอย่างไร้สาระยิ่งขึ้น คือ ตื่น ทำความสะอาดบ้าน กินเหล้า อ่านหนังสือ และทำอาหาร โดยไม่สนใจที่จะตามหาแกะดาวเลย ดังความตอนหนึ่งว่า ” ผมซักผ้าขี้ริ้วที่ใช้ลงขี้ผึ้ง ยกหม้อตั้งเตา ลวกสปาเก็ตตี จากนั้นคลุกด้วยไข่ปลาค็อด … ผมไม่ได้อ้อยอิ่งกับสปาเก็ตตีนานนัก เก็บถ้วยจานล้างคว่ำไว้จากนั้น ย้อนกลับมายังงานทำความสะอาดบ้านรอบสอง … ถัดจากนั้นผมลากสายยางฉีดน้ำล้างบานกระจกและบานหน้าต่างไม้ … หมดงานทำความสะอาดบ้าน ผมใช้เวลาช่วงบ่ายอีกสองชั่วโมง เอนหลังนอนฟังเพลงจากแผ่นเสียง ” ( หน้า 372)

นอกจากนี้ ขณะที่อ่านหนังสือเรื่องนี้จะรู้สึกเหมือนกับกำลังเล่นภาพต่อปริศนา (jigsaw puzzle) อยู่ ในสองถึงสามบทแรกของเรื่อง ผู้อ่านจะรู้สึกว่าเนื้อหาหรือเรื่องราวที่อ่านในแต่ละตอนหรือแต่ละบทเป็นภาพเดี่ยวหรือเหตุการณ์ที่จบลงด้วยตนเองอย่างมีเอกภาพและไม่สัมพันธ์กับภาพที่ได้ในบทอื่น อีกทั้ง เรื่องราวที่เกิดไม่ได้เรียงตามลำดับเวลาและเหตุการณ์จะเกิดขึ้นสลับกันไปมาโดยตลอด แต่เมื่ออ่านต่อไปเรื่อยจะพบว่าภาพเล็กๆที่ได้เหล่านั้นกลายเป็นเศษเสี้ยวหรือส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ซึ่งภาพรวมทั้งหมดของเรื่องจะปรากฏก็ต่อเมื่อผู้อ่านประมวลภาพเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน จึงจะได้ภาพสมบูรณ์ของทั้งเรื่อง

อย่างไรก็ดี ผู้แต่งสามารถสร้างความสมดุลของความแตกต่างระหว่างความแปลกแยกของตัวละคร ความรู้สึกตื่นเต้นในขณะที่อ่านหนังสือแนวสืบสวน กับความน่าเบื่อของการดำเนินชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ สามารถหลอมรวมความหลากหลายให้เป็นเอกภาพ จนก่อให้เกิดเสน่ห์บางอย่างที่เย้ายวนให้เราเฝ้าติดตามการเดินทางโลดเล่นของตัวละครจนจบเรื่อง ทั้งๆที่หลายครั้งที่รู้สึกอยากวางหนังสือเล่มนี้และเลิกอ่านแต่ก็ไม่สามารถทำได้ นั่นอาจเป็นเพราะผู้แต่งดูจะคาดคะเนหรือเดาใจผู้อ่านงานของเขาออกว่าผู้อ่านเริ่มเกิดความรู้สึกเบื่อแล้ว จึงปรับเปลี่ยนจังหวะของเรื่องจากความเรียบเรื่อยไร้สาระ ไปสู่ความตื่นเต้นลุ้นระทึก โดยการสร้างปัญหาหรือหลักฐานบางอย่างเพื่อกระตุ้นและปลุกความใคร่รู้ของทั้งตัวละครและผู้อ่าน ให้ร่วมติดตามและขบคิดเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

สารัตถะทางความคิดที่ค้นพบจากการอ่านหนังสือเรื่องนี้ คือ ผู้แต่งตั้งประเด็นให้ผู้อ่านฉุกคิดในเรื่องของการให้ค่าและความหมายกับสรรพสิ่งในโลกของบุคคลแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามความคิด ความเชื่อ และค่านิยมส่วนตน ทั้งนี้ ตลอดเรื่องมูราคามิปูให้ผู้อ่านเห็นความขัดแย้งของคู่ตรงข้ามของคน 2 กลุ่มไว้อย่างชัดเจน คือ กลุ่มตัวละครเอก ( ผู้ไร้แก่นสารและสาระในชีวิต ) ที่ไม่ให้ความสำคัญกับแกะดาว กับกลุ่มปัญญาชน กลุ่มผู้มีอิทธิพลและอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ( ผู้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจน ) ที่ให้ความสำคัญกับแกะดาวเป็นอย่างมาก แกะดาวที่นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่อง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ดังนั้น แกะดาวจึงมีสภาวะเป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น นอกจากนี้ พบว่าผู้แต่งได้แสดงความคิดเชิงเสียดสีการใช้ชีวิตของกลุ่มปัญญาชนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลไว้อย่างเจ็บแสบ เนื่องจากตลอดเวลาที่คนกลุ่มนี้ดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน จนกลายเป็นคนกลุ่มชั้นนำของสังคมกลับให้ค่าและความสำคัญกับแกะดาว ( สิ่งสมมติอันเลื่อนลอย ) มากถึงขนาดที่ยอมแลกชีวิตของตนกับการไขว่คว้าและเป็นเจ้าของครอบครองมัน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์แกะที่ทิ้งชีวิตราชการอันรุ่งโรจน์ และยอมสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อตามหาแกะดาว ซึ่งใช้เวลานานถึง 42 ปี และเลขาตาสีเหล็กในสูทสีดำถึงกับยอมแลกชีวิตของตนกับความหวังที่จะได้พบแกะดาว ในขณะที่คนอีกกลุ่มดูจะไม่สนใจที่จะตามหามัน ไม่ว่าจะเป็น ” ผม ” หรือ มุสิก ผู้ที่มีโอกาสได้ครอบครองแกะดาวแล้ว แต่กลับปฏิเสธโอกาสนั้นไปโดยไม่ไยดี

หากพิจารณาเพื่อแสวงหาความหมายของแกะดาวนั้น อาจสามารถให้ค่าและความหมายของแกะดาวใน 2 ระดับ คือ ระดับของผู้ประสงค์อยากครอบครอง ในที่นี้ แกะดาวน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนความฝัน อำนาจ ความรุ่งโรจน์และความทะเยอทะยานของคน เนื่องจากบุคคลที่ได้สัมผัสกับแกะดาวต่างเชื่อถือและใฝ่หาพลังอันเร้นลับของแกะดาวที่จะส่งพลังหนุนให้เกิดผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เช่นความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรของเจ้านายใหญ่ก็เป็นผลมาจากพลังความช่วยเหลือของแกะดาว และแกะดาวในความหมายที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ อาจประมวลจากคำพูดระหว่าง ” ผม ” กับมุสิก ในตอนท้ายเรื่องได้ว่า แกะดาวคือกิเลสที่ครอบงำมนุษย์ผู้อ่อนแอให้หลงผิด และมุ่งแสวงหาแต่อำนาจและครอบครองผู้อื่น อาทิ บทสนทนาระหว่าง ” ผม ” กับมุสิก ความว่า “… ความอ่อนแอเชิงศีลธรรม อ่อนแอเชิงจิตสำนึก แล้วก็ความอ่อนแอในการดำรงชีวิตอยู่ … ความอ่อนแอในตัวข้าฯ ก็ไม่รอดพ้นสายตาของแกะปีศาจตัวนั้น … ยุคอนารยชนเชิงความคิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะรวบรวมทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันให้เป็นเอกภาพ เป็นความคิดหนึ่งเดียวโดยมีข้าฯ กับแกะดาวเป็นศูนย์กลางอำนาจ ” ( หน้า 389-391)

นับได้ว่าผลงานของมูราคามิเรื่องนี้มีความแปลกทั้งการเขียนและแนวคิดที่นำเสนอ นับว่าเป็นการเสนอแง่คิดและมุมมองใหม่ในการพิจารณาและสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันให้กับผู้อ่าน ซึ่งช่วยในการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการอ่านที่คุ้นชินของผู้อ่านให้ต่างไปจากเดิม ความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นช่วยสร้างความฉงน งุนงง ส่งผลให้ผู้อ่านฉุกคิด ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบบางประการให้กับตัวเอง จึงนับว่าการอ่านยังคงเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

 

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...