เหม เวชกร

ครูเหม เวชกร เกิดที่ ตำบลพระราชวัง(บ้านเก่าของครูเหมเคยอยู่บริเวณที่ตั้งของสถานีตำรวจพระราชวังในปัจจุบัน) บิดาของครูเหมท่านเป็นคนรูปหล่อ หุ่นดี จึงมีชื่อว่า “นายหุ่น”(หุ่น ทินกร ณ อยุธยา) มารดาชื่อ นางสัมฤทธิ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อันเป็นนามสกุลเดียวกับไม้ เมืองเดิมและแม่ของครูเหม เวชกร มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

ชีวิตในวัยเด็กของครูเหม เวชกร ไม่ค่อยมีใครทราบเรื่องราวนัก เนื่องจากครูเหมจะไม่ค่อยเปิดเผยชีวิตของท่านกับใคร การทำงานด้านศิลปของครูเหมเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ท่านมาพบกันศิลปินชาวอิตาเลียนท่านหนึ่งซึ่งเข้ามาวาดภาพ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ครูเหมฝึกงานเขียนแนวเหมือนจริง(Realistic) โดยใช้วิธีครูพักลักจำ จนได้วิธีวาดภาพซึ่งในประเทศไทยยุคนั้นยังไม่มีใครเขียนได้

ครูเหม เวชกร เริ่มงานเขียนปกนวนิยาย เป็นงานหลักหาเลี้ยงชีพ ช่วงนั้นนิยามประโลมโลกเล่มเล็ก เล่มละ 5 – 10 สตางค์ กำลังขายดี นอกจากภาพปกแล้วครูเหมยังมีงานเขียนภาพประกอบอีกมากมาย ในหนังสือ นิตยสารของสำนักพิมพ์ เพลินจิตและฟ้าเมืองไทย งานของครูเหมจะมีความโดดเด่นกว่านักเขียนภาพท่านอื่นๆ  ในยุคนั้น เพราะนอกจากจะเป็นภาพเหมือนจริงอย่างไม่มีที่ติแล้ว ครูเหมจะใส่รายละเอียดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาพนั้นไว้อย่างสมบูรณ์

ครูเหม เวชกร สิ้นอายุขัยในวัย 66 ปี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2512 ณ บ้านพักแหล่งสุดท้ายของท่านที่ซอยตากสิน 1 ช่วงสุดท้ายของชีวิตทั้งๆ ที่สุขภาพไม่แข็งแรงครูเหมยังสร้างงานเขียนภาพออกมาไม่มีหยุด ครูเหมเขียนเรื่องและภาพประกอบให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ลงในคอลัมน์ “จากย่ามความทรงจำ ของ เหม เวชกร” หนังสือฟ้าเมืองไทย ได้ประมาณ 5-6 ฉบับ เนื้อหาของคอลัมน์จะเกี่ยวกับประวัติของนักเขียนดังๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทกับท่าน อาทิ ไม้ เมืองเดิม และยาขอบ

ขอขอบคุณข้อมูลภาพ จาก สมบัติ เพิ่มพูนแกลอรี่

——————————————————————————–

เกี่ยวกับสมบัติเพิ่มพูน แกลอรี

“สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี” หรือ “สมบัติ แกลเลอรี” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 โดยสมบัติ วัฒนไทย ผู้เป็นทั้งนักจัดการศิลปะ (Art Dealer) และนักสะสมงานศิลปะ (Art Collector) ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

“สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี” เป็นสถานที่ที่รวบรวมผลงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม ผลงานของทั้งศิลปินอาวุโสและศิลปินรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์และอนาคตของศิลปะไทยที่สะสมไว้มากกว่า 10,000 ชิ้น มาจัดแสดงไว้ในพื้นที่อาคารสมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี เลขที่ 12 สุขุมวิท ซอย 1 ซึ่งมีเนื้อที่กว้าง กว่า 3,000 ตารางเมตร

You may also like...