หอพระไตรปิฎก และ บันทึกของนายเฟื้อ

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

พุทธศักราช ๒๓๑๑ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย แต่เดิมพระอาจารย์สีผู้นี้ อยู่ประจำที่วัดพนัญเชิง อยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช

เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สีขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วให้จัดประชุมพระเถรานุเถระทำสังคายนาพระไตรปิฎก ขณะนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่ในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุมจาก ฝาสำหรวค กั้นด้วยกระแชง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่

หอพระไตรปิฎก
อีก ๑๔ ปีต่อมา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังนั้น ทรงใคร่จะปฎิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนักก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ จึงรับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้องชายคา มีกระเบื้องกระจังดุนรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแชงเป็นฝาไม้สักลูกฟัก ลูกฟักปกนภายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นนาคลายกนกเครือวัลย์ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกเครือวัลย์เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม

ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวยการสร้างโดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรม และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระปิฎก (แต่มีผู้เรียกว่า ตำหนักต้นจันทน์ จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดีไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสนดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก เพราะเหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับแบบอย่างฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่พึงชมหรือควรกำหนดรู้ใจว่าเฉพาะเรื่องหอพระไตรปิฏก ของวัดระฆังฯ ดังนี้

“ภายในหอพระไตรปิฎก จำได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดาน มุงกระเบื้องสามหลังแฝด มีชานหน้า ปลูกอยู่กลางสระดูเหมือนหนึ่งว่า หลังซ้ายขวาจะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือ หรือดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่างคือ
๑. ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่
๒. ประตูและซุ้ม ซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่า งามประหลาดตาทีเดียว
๓. ประตูหอกลาง ก็สลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก
๔. ฝาในหอกลาง เขียนเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก
๕. บานประตูหอขวา เขียนรายรดน้ำ ลายยกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมาก แต่ดูหาสู้ดีไม่
๖. ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่องเห็นจะเป็นชาดก  ฝีมือเรียบๆ
๗. ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมาย ใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกัน แต่ล้วยดีๆมีฝีมือคนที่ผูกลายบานมุกต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน

ศิลปกรรมในหอพระไตรปิฎก
สถาปัตยกรรม
คุณค่าในทางสถาปัตยกรรมของหอพระไตรปิฎกหลังนี้ ทำให้เราทราบวิธีการก่อสร้างและปลูกเรือนในสมัยรัชกาลที่ ๑ การประกอบตัวเรือนเป็นไปในลักษณะสำเร็จรูป แบบเรือนไทยโบราณ จะพิเศษไปบ้างก็ตรงที่การต่อเสาบากประกบกัน โดยใช้สลักเหล็กแทนเดือยไม้ พื้นก็ปูกระดานขนาดใหญ่หาดูยาก หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวด กลึงสวยงามทุกช่อง ฝาปกนด้านนอกนั้นลูกตั้งและลูกเซ็นมีบัวด้วย แต่ฝาปกนด้านในต่างกับของเรือนโบราณ เพราะเป็นฝาเรียบเสมอกันตลอด มีตัวอย่างที่หอสวดของวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี อีกแห่งหนึ่งเหมาะจะเขียนจิตรกรรมภายในอย่างยิ่ง ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องขอ ตอนปั้นลมโบกปูนหุ้มไว้ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์แต่อย่างใด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเรื่องแบบอย่างการก่อสร้างไว้ว่า “เรื่องฝีมือช่างโบราณนั้น ตามที่หม่อมฉันสังเกต เข้าใจว่าในสมัยกรุงธนบุรี ช่างไทยเห็นจะเหลือน้อยเต็มที  ฝีมือของที่ทำครั้งกรุงธนบุรีอยู่หยาบมาก ฝีมือช่างกลับมาดีขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ เห็นจะเป็นช่างที่หัดขึ้นใหม่และจัดกวดขันการฝึกหัดมาก เพราะต้องสร้างของต่างๆตั้งแต่เครื่องราชูปโภค ราชมณเฑียรสถาน ราชยาน ตลอดจนวัดวาอาราม จึงเกิดช่างฝีมือดีมีขึ้นมาก แต่ที่พึงสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ของที่สร้างในรัชกาลที่ ๒ จึงคิดแผลงไปต่างๆ”

งานแกะสลักไม้ที่มาประกอบกันขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎกนั้น มีอยู่ทั้งภายนอกตลอดไปถึงภายใน นอกจากตัวเรือนที่เป็นสามหลังแฝดแล้วยังมีชานชาลายื่นออกมา ด้านหน้าต่อกับบันไดทางขึ้นชานชาลามีบานประตูไม้แกะสลักเป็นลายกนก มีนาคพันอยู่ที่โคนประดับกระจกสีตามช่องไฟ เหนือบานประตูขึ้นไปเป็นแผ่นไม้หนา รูปทรงคล้ายหน้าบัน แกะลายอย่างบานประตูเข้าชุดกัน สวยงามพิศดาร ลงรักปิดทองทั้งประตูและซุ้มคันทวยรับชายคานั้น สลักเป็นคันทวยนาคปิดทองประดับกระจกสี เช่นเดียวกับกรอบหน้าต่างและลูกกรงหน้าต่าง เมื่อเข้าไปถึงชานชาลาแล้ว จะเห็นประตูเข้าตัวเรือนเป็นประตูไม้แกะสลักลวดลายกนกวิจิตรพิศดารเป็นรูปนกวายุภักษ์จับที่โคนต้นกนกคล้ายกันทั้งสองบาน

จิตรกรรม
รูปภาพจิตรกรรมที่มีเขียนไว้ในหอพระไตรปิฎกนี้ มีปรากฏอยู่เกือบทุกส่วนของหอ เมื่อเข้ามาภายในหอแล้วจะเป็นหอกลาง ขวามือคือหอนั่ง ซ้ายมือคือหอนอน ฝาในของประตูหอกลางเป็นภาพเขียนระบายสี รูปยักษ์สองตน เขียนรูปใหญ่เต็มบานยืนเท้ากระบอง รูปร่างหน้าตาท่าทางถมึงทึง น่าเกรงขาม ผิดกับรูปยักษ์อื่นๆที่เคยเห็นตนหนึ่งผิวกายขาวคือ สหัสเดชะ ตนหนึ่งผิวกายเขียวคล้ำคือ วิรุฬจำบัง

หอกลาง
หอกลางเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกกุมภกัณฐ์ไว้ที่ด้านประตูทางเข้า เหนือประตูเป็นรูปสุครีพกำลังถอนต้นรัง ด้วยเรี่ยวแรงแข็งขัน ต่อไปขวามือ กุมภกัณฐ์เข้ารบรับขับเคี่ยวกับสุครีพ จนสุครีพเสียท่าเพราะหมดกำลัง ถูกกุมภกัณฐ์จับหนีบรักแร้พาตัวไปได้ ล่างลงมากำแหงหนุมานเหาะลงมาช่วยสุครีพเข้ารบกับกุมภกัณฐ์รุกรบตีด้วยต้นไม้ จนกุมภกัณฐ์พ่ายหนีไปได้ ช่วยสุครีพไว้ได้

ด้านตรงกันข้าม เป็นตอนศึกอินทรชิตรบกับพระลักษณ์ อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พรั่งพร้อมด้วยยักษ์แปลงเป็นเทพวัน ประดับธงทิวริ้วไสวสะบัดชายเรืองรอง เหมือนกองทัพเต็มอัตราอิสริยยศอันเกรียงไกรของพระอินทร์ ประจัญหน้ากับกองทัพของพระลักษณ์ อนุชาของพระราม กำลังประทับเงื้อง่าพระแสงศรอยู่บนราชรถเทียมม้า มีฉัตร พัดโบก จามรกางกั้น มีพญาหนุมานชามภูวราช สุครีพ และวานรเป็นพลพรรค

ที่หอกลางนี้เองเป็นฝีมือพระอาจารย์นาค สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกถึงพระอาจารย์นาคผู้นี้ไว้ว่า “แต่ก่อนรูปเขียนมารประจญ ในพระวิหารเบื้องบูรพาทิศ (วัดพระเชตุพนฯ) เป็นฝีมือดีล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่าไหนหมดในพระราชอาณาจักร์ มีความเสียใจที่ไม่ได้รักษาปล่อยให้หลังคารั่ว จนฝนชะลอกเสียเป็นอันมาก เหลืออยู่ได้เป็นหย่อมๆ ครั้นซ่อมใหม่ก็เลยถูกลบซ้ำ ฝีมืออันประเสริฐนั้นสูญสิ้น น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนนั้นได้ทราบว่าชื่อ พระอาจารย์นาค (ภิกษุ) ฝีมือยังมีอยู่อีก ที่ด้านอุดหลังพระอุโบสถวัดราชบูรณะ และที่หอพระไตรปิฎกวัดระฆังฯ”

“อุดหลังในพระอุโบสถวัดราชบูรณะนั้น ก็เป็นฝีมือพระอาจารย์นาคเขียน เรื่องพระอินทร์ฉุดลูกสาวไพจิตราสูรพาหนีเมื่อเลือกคู่ ท่านตัดหน้านางไว้ที่นั่นไปเห็นเข้าต้องยกมือไหว้ ผิดกับของใครๆทั้งงามจริงๆด้วยความสามารถของพระอาจารย์นาค จะทูลไปก็เห็นจะเข้าพระทัยได้ยาก แต่ก็ทรงประกอบอยู่ด้วยพระอุปนิสัยสามารถจะทรงทราบฝีมือที่ดีได้ จนได้ทรงฉายเอารูปเขียนของพระอาจารย์นาคไว้ จึงจะกราบทูลถวายเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ด้วยท่านเขียนรูปนางมารไว้ที่วิหารทิศตะวันออกแห่งวัดพระเชตุพนฯ ตามเรื่องว่าพระพุทธเจ้าทรงบันดาลด้วยพุทธฤทธิ์ ทำให้นางมารอันมีรูปสวยกลายเป็นนางแก่ไป ใครๆเขียนก็ทำนางแก่ไปอย่างเขียนภาพกากคนแก่ แต่พระอาจารย์นาคท่านไม่ตาม ท่านเขียนเป็นภาพนางอย่างที่เขียนกันอยู่ตามปกตินั่นเอง แต่บิดเส้นเสียเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นแก่ไปได้ เกล้ากระหม่อม หลงฝีมือท่านเหลือเกิน จึงได้สืบประวัติท่านก็ได้ความว่าท่านอยู่ที่วัดทองเพลงในคลองบางกอกน้อย และว่าที่นั้นโบสถ์มีเขียนด้วย ทำให้นึกว่าคงเป็นพระอาจารย์นาคเขียน อุตส่าห์พยายามไปดูมุดสวนไต่ลำตาลอันทอดไว้เป็นสะพาน เดินยากยิ่งกว่าสะพานเงิน สะพานทองเป็นไหนๆพลาดตกท้องร่องท้องคู้ไปป่นปี้ ที่สุดไปถึงวัดเห็นรูปเขียนที่ในโบสถ์ก็มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ฝีมือพระอาจารย์นาค ทำให้รู้สึกตัวว่าหวังผิดไปมาก วัดที่ท่านอยู่ก็เป็นวัดที่ท่านบวชอยู่เท่านั้น จะมีฝีมือท่านเขียนไว้นั้นหาได้ไม่ เช่นพระอาจารย์อินโข่งท่านอยู่วัดราชบูรณะก็หามีฝีมือของท่านเขียนไว้ที่นั่นไม่ ไปปรากฎในที่อื่นๆ”

หอนั่ง
หอนั่ง กั้นด้วยราวลูกกรงเตี้ยบนพื้นหอที่ยกสูงกว่าหอกลางเล็กน้อยตรงกลางตั้งเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์แบบเก่าคู่หนึ่ง เป็นช่องทางสำหรับขึ้น ทาสีแดงชาดที่ราวลูกกรง หัวเม็ดปิดทอง รูปทรงหัวเม็ดคู่นี้งดงามมาก หอกลางกับหอนั่งจึงมองดูโล่งตลอดถึงกัน มองเห็นหน้าต่างโดยรอบ มีตู้พระธรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นของสร้างมาพร้อมกับหอไตร ใหญ่จนยกออกประตูไม่ได้ เป็นตู้พระธรรมเขียนลายรดน้ำ บานหน้าต่างเขียนทั้งสองด้าน ด้านนอกเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทวดา ด้านในเป็นรูปเทวดาเขียนสอดสี เหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุมเขียนสอดสีทั้งสามด้าน เริ่มจากขวามาซ้าย เทวดาชั้นจตุมหาราช ยักษ์ ครุฑ นาค คนธรรมพ์ เทพ อินทร์ พรหม เป็นที่สุด คล้ายกันกับเทพชุมนุมที่พระที่นางพุทไธสวรรย์ แต่ที่นี่มีแถวเดียว พื้นฝาระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ ป่า เขา นก และสัตว์ต่างๆ

หอนอน
ฝาหอนอนเป็นฝาปกนด้านในเรียบ ด้านนอกเขียนลายทองพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูก็เขียนรายรดน้ำก้านขด พื้นหอนอนก็ยกสูงกว่าหอกลางเท่ากับหอนั่ง บานประตูก็เขียนลายรดน้ำก้านขด พื้นหอนอนก็ยกสูงกว่าหอกลางเท่ากับหอนั่ง บานประตูด้านในเขียนภาพระบายสีเป็นภาพต้นไม้ใหญ่สองต้น ใต้ต้นไม้มีพระภิกษุกำลังเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นการเขียนภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ด้วยฝีแปรงเฉียบขาด

ฝาผนังด้านซ้ายมือ เขียนเรื่อง ไตรภูมิ เป็นวิมานเทวดาบนยอดเขาสัตตปุริภัณฑ์ที่ล้อมเขาพระสุเมรุ บรรยากาศเป็นป่าหิมพานต์ที่อยู่ของเทวดา ของอสูร ตามภูมิ ตามชั้นต่างๆภาพสิงหสาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว นาค นกยูง กินรี กินร จับกลุ่มเริงระบำ ฝาด้านขวาเขียนแทรกไว้ด้วยเรื่องพระเวสสันดร กับนางมัทรีและสองกุมารประทับที่ใต้ต้นไม้ที่ออกดอกแดงสล้าง เหนือขึ้นไปเป็นรุปเหล่าฤษีนักสิทธิวิชชาธร กำลังเหาะล่องลอยตามกันไปไหว้พระจุฬามณี

ฝาผนังด้านขวามือทั้งฝา เขียนนิทานธรรมบท เรื่องราวของท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรื่องที่เขียนเป็นประธานฝาผนังนี้คือ ตอนมฆมานพสร้างศาลาเป็นทาน มฆมานพมีภริยาสี่คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา ภริยาสามคนแรกร่วมทำบุญสร้างกุศลด้วย ช่วยสร้างศาลา ช่อฟ้า สระน้ำ สวนดอกไม้ เพื่อให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนภริยาอีกคนคือนางสุชาดาไม่มีจิตร่วมกุศล คิดว่าสามีทำกุศลเราก็ได้รับผลเหมือนกัน จึงสาละวนอยู่กับการแต่งตัว

ด้วยผลบุญกุศลที่ช่วยกันสร้าง มฆมานพได้เกิดเป็นท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์เป็นใหญ่ในดาวดึงส์ ภริยาทั้งสามก็ไปเกิดเป็นมเหสีพระอินทร์ ส่วนนางสุชาดาไปเกิดในภพต่างๆเป็นนกกระยาง เป็นธิดาช่างปั้นหม้อ และเป็นธิดาอสูรเวปจิตติ ฯลฯ มฆมานพแม้จะเป็นใหญ่ในสวรรค์แล้ว ก็ไม่วายเป็นทุกข์เป็นห่วงนางสุชาดาภริยาผู้หลงผิด ต้องร้อนใจติดตามลงมาช่วยนางอยู่หลายชาติ เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหา

ตู้พระธรรม
มีตู้พระธรรมสำหรับเก็บพระไตรปิฏก อยู่ในหอนอน และหอนั่ง ล้วยใหญ่โต ออกประตูไม่ได้ทั้งสองใบ ใบที่ตั้งอยู่ในหอนอนนั้นเขียนรายรดน้ำเป็นภาพเทวดาขนาดใหญ่ยืนบนแท่น มีอสูรและกระบี่เป็นผู้แบก เขียนเต็มขนาดใหญ่ของตู้สี่ด้าน งามวิจิตรพิสดารยิ่งนัก ดูแล้วเปรียบเหมือนเป็นประธานของหอนอน ส่วนที่หอนั่งก็มีตู้พระธรรมขนาดเท่าๆกันกับที่หอนอนเป็นแต่ผูกลายกนกเต็มตู้ทั้งใบดูวิจิตรพิสดาร

การบูรณะปฏิสังขรณ์ระยะแรก
หอพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงด้วยกาลเวลา เริ่มตั้งแต่เสาตอม่อขาด หลังคารั่ว กระเบื้องกระจังหล่นหาย ตัวไม้ผุ ฝาบางกร่อน จนถึงกับแตกร้าวและทะลุ จิตรกรรมฝาผนังลบเลือน สระตื้นเขินและสกปรก ความเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้เนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ดูแล ต่อมายังมีการสร้างกุฏิและอาคารอื่นๆอันเนื่องในการฌาปนกิจศพจนประชิด ทำให้บริเวณหอพระไตรปิฎกขาดความสง่างาม หากปล่อยไว้ในสภาพเช่นนี้ต่อไปก็เป็นที่น่าวิตกว่า ถึงจุดที่จะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังอันมีค่าอย่างไม่อาจจะเอากลับคืนมาได้อีก

กรมศิลปากรได้พยายามที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังหางบประมาณไม่ได้ ทางวัดเรี่ยไรมาได้ก็ไม่พอแก่การ ทั้งยังต้องการผู้รู้ ผู้ชำนาญ ทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และอื่นๆเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชา ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมภาณีผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีลิขิตลงวันที่ ๑๔ กรกฏาคม ๒๕๑๑ มายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้ความร่วมมือกับทางวัดในการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเพื่อให้เป็นศิลปสถานอันงามเด่นสืบไป

นับได้ว่า พระราชธรรมภาณี (ปัจจุบันเป็นพระเทพญาณเวที) ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสสมัยนั้น ท่านเอาใจใส่ดูแลมาแต่แรกแม้เมื่อยังไม่มีคณะกรรมการเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง ท่านก็คอยเอาไม้ไปเสริมไปต่อ เพื่อยืดอายุหอพระไตรปิฎก มิให้พังทลายลง

คณะกรรมมาธิการฯ รับสนองคำขอของวัดด้วยความยินดี และเชิดผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆหลายท่านมาร่วมกันตั้งเป็นคณะอนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ โดยทูลเชิญ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒o สิงหาคม ๒๕๑๑ ที่วัดระฆังฯ แล้วได้เริ่มเตรียมงานและจัดหาทุนสะสมไว้จนได้ทำสัญญาบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ และการบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปสถานอาคารไม้หลังสำคัญที่เคยเป็นนิวาสถานแห่งพระปฐมบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ มีกระแสพระราชดำรัส “ชมเชย” การกระทำครั้งนี้ว่า “เป็นการดำริชอบ” ทั้งยังพระราชทานพรแก่การกระทำของคณะกรรมาธิการฯ “จงได้ดำเนินให้สำเร็จลุล่วง เป็นผลดีทุกสถานต่อไป” (ตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการที่ รล.000๒/๑๒o๙ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๒) ใช่แต่เท่านั้นยังพระราชทานเงินก้นถุงมาให้เป็นประเดิมสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

เมื่อเริ่มดำเนินการ คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาสภาพแวดล้อมของหอพระไตรปิฎกแล้ว มีมติเห็นพ้องต้องกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อ และเคลื่อนย้ายหอพระไตรปิฎกจากที่เดิมเนื่องจากความแออัด

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วลงมติว่าสถานที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับชลอหอพระไตรปิฎกไปประกอบขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงโดยรอบ สะดวกแก่การดูแลรักษา อนึ่งหอพระไตรปิฎกที่บูรณะขึ้นใหม่นี้มิได้มุ่งหมายที่จะใช้เป็นหอพระไตรปิฎก คงบูรณะไว้เป็นอาคารสำคัญทางศิลปและประวัติศาสตร์เท่านั้น

การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อจำลองรูปสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังฯ เมื่อเสร็จการนั้นแล้วพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาสและศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจฯ ประธานอนุกรรมการฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลูกต้นจันทน์ในสนามหน้าหอพระไตรปิฎกแล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎกด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระกระแสรับสั่งถามและแนะนำเป็นหลายประการ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ทั้งยังรู้สึกเสมือนว่าได้นิมิตเห็นสายใยทิพย์อันเรืองรองแห่งกาลเวลา ซึ่งเชื่อมโยงและย้อนหลังนับด้วยศตวรรษกลับไปยังรัชกาลที่ ๑ คือพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้พระราชทานเรือนสามหอซึ่งมีอายุเท่ากับกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นั้นด้วย นับเป็นมหามงคล เป็นมิ่งขวัญ ก่อให้เกิดความอิ่มเอมและปิติโสมนัสในดวงจิตของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันมหามงคลด้วย

การบูรณะปฏิสังขรณ์ระยะที่สอง
ต้องนับว่าเป็นบุญบารมีแห่งองค์พระปฐมราชจักรีวงศ์โดยแท้ จึงได้คนดีมีฝีมือเข้ามาช่วยกันสานต่องานบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก ต่อมาได้เป็นระยะๆจนถึงระยะสุดท้ายนี้ บริษัทเชลล์ในประเทศไทย ได้นำเงินทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นทุนสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเป็นเงิน สองล้านบาท เมื่อวันที่ ๓o ตุลาคม ๒๕๒๔


บันทึกของนายเฟื้อ หริพิทักษ์
“ระหว่างที่สร้างสรรค์หอไตรใหม่ หลังปี พ.ศ.๒๓๓๑ ในปีนี้เองพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระชันษา ๒๒ ในพระประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ทรงเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์หอไตร น่าจะได้พระเกียรติยศ อันสมสมรรถภาพทางช่างด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่ แต่ก็ทรงหยั่งรู้พระอัจฉริยภาพทางศิลปของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เข้าประทับอยู่ท่ามกลางพระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทางศิลปหลายท่าน โดยเฉพาะก็พระอาจารย์นาคและจากอู่ของสำนักศิลปใหญ่แห่งวัดระฆังโฆสิตารามนี้เอง ที่ศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๒ฟักตัวและเจริญงอกงามไพบูลย์เป็นที่ยิ่ง และขยายสืบต่อมาถึงรัชกาลหลังการเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระพุทธศาสนา เท่าที่ทราบกันอยู่ ก็เห็นแต่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งน่าจะเดินตามคติเดิมที่คงมีมาก่อนครั้งสมัยอยุธยา

สำหรับภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์สมัยอยุธยาเท่าที่พบเห็นที่ตำหนัก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา มีภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต ที่ฝาผนังด้านทิศใต้แนวล่างสุด (ตอนบนเขียนภาพมารวิชัย) ประมาณ พ.ศ. ๒๒oo-๒๓oo ต่อมาได้ทราบว่า ภาพเขียนลายรดน้ำบนฝาที่หอเขียนวัดบ้านกลิ้ง อยู่เหนือบางปะอินขึ้นไปทางอยุธยา (อายุประมาณ ประมาณ พ.ศ. ๒๒oo-๒๓oo นับว่าเป็นสมัยเดียวกันกับตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์) ก็มีภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์หลายตอนด้วยกัน เขียนอยู่ตอนแนวล่างของฝาส่วนตอนบนซึ่งมีเนื้อที่ใหญ่กว่ามาก เขียนภาพพระพุทธประวัติตลอด สองแห่งนี้พอให้เห็นคตินิยมของสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนที่หอไตรปิฎกวัดระฆังฯ เมื่อพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่หอไตรนี้ ไม่เดินตามแนวนิยมของสกุลช่างอยุธยาสมัยอยุธยาเสียแล้ว แทนที่จะเขียนตามแนวล่างของฝากลับเขียนเสียเต็มฝาเลยทีเดียว และแทนที่จะเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ กลับเขียนนิทานธรรมบทเรื่องมฆมานพ ไตรภูมิ อสุภกรรมฐาน เสมือนจะปฏิรูปเสียสิ้นเชิง

อันห้องในหอพระไตรปิฎกที่เรียกว่า หอนั่ง หอนอน เห็นจะเรียกกันตามครั้งที่ยังเป็นพระตำหนักเรือนไทยเดิม หากใช้ความสังเกตขึ้นอีกสักนิด ก็จะเห็นได้ว่าหอนอนนั้นคือหอที่เก็บรักษามหาคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาแล้วนั้นเอง (ต่อมาคงได้ยักย้ายไปเสียที่ไหน) หอกลาง หอนั่ง คือหอเขียนดีๆนี่เอง คือ ธรรมดาเมื่อมีหอไตร ก็ต้องมีหอเขียน หอเขียนสำหรับนั่งอ่านค้นและคัดเขียนขึ้นเป็นธรรมดา หอพระไตรปิฎกลักษณะของหอฝาที่มีฝาเป็นลายทองรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่เดิมเราถือว่าจะใช้ได้สำหรับที่มีพระเกียรติยศสูงสุดเท่านั้น บานประตูก็ลายทองรดน้ำก้านขด ภายในหอนอนมีตู้พระธรรมใบใหญ่ตั้งประดิษฐานประหนึ่งพระประธาน ภาพเขียนในหอนอนก็ได้วางเรื่องไว้อย่างแยบคาย คือเมื่ออยู่ในหอนี้ หากพิจารณาจะเห็นว่าเขียนขึ้นมีความหมายบรรยายเรื่องประวัติของท้าวสักกะหรือพระอินทร์ (ผู้มีความสำคัญและสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโดยตลอด ตั้งแต่ประสูติจวบจนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน) คือ ตอนที่เกิดเป็น มฆมานพ สร้างสมมหาทานบารมีพร้อมกับภริยาทั้งสี่ แล้วจึงเกิดเป็นพระอินทร์เทวาธิราช เป็นใหญ่ในแดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายทุกข์เป็นห่วงนางสุชาดาผู้หลงผิดต้องร้อนใจติดตามลงมาช่วยนางอยู่หลายชาติ เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหา ส่วนไตรภูมิชี้บอกถึงกามภูมิสาม คือ สุคติภูมิ มนุษยภูมิ อบายภูมิ ที่หมู่สัตว์ยังข้องด้วยกิเลสตัณหา จะต้องวิ่งวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้ไม่รู้จักจบสิ้น  ท บานประตูจะออกเขียนภาพเตือนใจชี้ทางรอดพ้นจากกิเลสตัณหาด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เขียนให้เห็นภาพอสุภกรรมฐาน

หอกลางเขียนเรื่องอินทรชิต ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง ยังต้องแปลงเป็นพระอินทร์ เพื่อให้เห็นบุญญาธิการของพระอินทร์นั้นยิ่งใหญ่เพียงไร ส่วนภาพศึกกุมภกัณฐ์ตอนพญาสุครีพถอนต้นรัง อยู่ติดกับทางออก ถ้าคิดให้ดีคือภาพเตือนใจไม่ให้ประมาท เพราะสุครีพแพ้กุมภกัณฐ์ก็เพราะความประมาท เขียนภาพแทนหนังสือตรงกับอัปปมาทธรรมพระปัจฉิมพุทธพจน์นั้นเอง

เหล่านี้ จะเห็นได้ว่ารูปพระอาจารย์ผู้เขียนได้วางรูปเรื่องให้เหมาะกับสถานที่ เมื่อเข้ามาในหอนอนที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก พระสัจจธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล้ว ถือว่าเป็นหออันศักดิ์สิทธิ์ ภาพเขียนภายในจำต้องเป็นเรื่องน้อมใจให้เห็นทุกข์โทษแห่งสงสารวัฏ อันมีกิเลสตัณหาเป็นมูลเหตุแล้วชี้เหตุแห่งการดับ ได้แก่องค์มรรคที่นำทางไปสู่ทางหลุดพ้น คือ พระอมตมหานิพพานด้วยการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กล่าวให้ง่ายเข้า ภาพเขียนเทศนาอริยสัจธรรม ได้เหมือนกัน”


ายชื่อช่างบูรณะปฏิสังขรณ์

นายเฟื้อ หริพิทักษ์   ควบคุมงานบูรณะปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม
ายไตรรงค์ รัตนวัย  ผู้ช่วย
นายอินตา ชัยศรี  ช่างแกะสลักบานประตูและซุ้มประตูชานชาลา
นายผ่อน กันเกตุ  ช่างไม้ซ่อมแซมและประกอบตัวเรือน
นายจำเนียร บัวทรัพย์  ช่างประดับกระจก
นายปัญญา ทิพวันต์  ช่างออกแบบและเขียนลายรดน้ำบานหน้าต่าง
นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร  ผู้ช่วย
นายปราโมท บุนนาค  ผู้ช่วย
นายนิวัติ ชนุหะชา  ผู้ช่วย
นายชัยศักดิ์ จิตรสงเคราะห์  ผู้ช่วย
นายสุวิทย์ แพงไพรีย์   ผู้ช่วย
นายสมชาย แสนใจธรรม    ผู้ช่วย
นายพีรศักดิ์ โชติช่วง   ผู้ช่วย
นายเชาว์ ลลิตกิตติกุล   ผู้ช่วย
นายประกิจ คำกอแก้ว   ผู้ช่วย
นายประสาท จันทร์สุภา   ผู้ช่วย
นายสุรเดช แก้วท่าไม้   ผู้ช่วย
นายสมโภชน์ แซ่อัง   ผู้ช่วย
นายอดิศร คูหาเจริญ  ผู้ช่วย

 

 

 

 

 

You may also like...