พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นพระราชวังสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยเป็นพระตำหนักประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพอพระราชหฤทัยที่สถานที่ที่ตำบลบางควาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการก่อสร้างพระราชนิเวศน์ใหญ่ ใน พ.ศ. 2466

โดยที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและพระองค์ได้ทรงร่างแผนผังการก่อสร้างพระราชนิเวศน์ด้วยพระองค์เอง โดยพระองค์ได้ทรงเพิ่มพระตำหนักฝ่ายใน ทรงเลือกแบบพระราชนิเวศน์เป็นอาคารแบบไม้ชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องสี่เหลี่ยม ใต้ถุนสูง เทพื้นคอนกรีตตลอด ที่พระตำหนักต่างๆ ได้แบ่งกระจายกันอยู่เป็นหลังๆ มีรูปทรงแบบเดียวกันหมด แต่ทุกหลังจะมีระเบียงและบันได ส่วนทางเดินจะมีลูกกรงและหลังคาเชื่อมติดต่อถึงกันตลอด เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินติดต่อกันระหว่างพระตำหนักต่างๆ ได้จัดวางห้องบรรทมอยู่กลางติดกับห้องแต่งพระองค์ มีห้องเสวยด้านหลัง มีสะพานทอดออกไปทางด้านขวามือเป็นส่วนของฝ่ายใน ด้านหน้ามีสะพานทอดยาวไปเป็นห้องทรงพระอักษรใกล้ชายหาด

พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดงานว่าวไทยและว่าวนานาชาติครั้งที่ 12 ณ วันที่ 9-11 มีนาคม พ.ศ. 2555

 

ประวัติ
พระราชนิเวศน์ เมื่อก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันใกล้เสร็จอย่างสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้มีการตรวจการปลูกสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับเสด็จ ในการแปรพระราชฐานในฤดูร้อน พ.ศ. 2467

เมื่อการก่อสร้างพระราชนิเวศน์เสร็จได้พระราชทานนามพระราชนิเวศน์แห่งนี้ว่าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปรพระราชฐานประทับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2467 เป็นครั้งแรก (วันที่ 22 เมษายน-13 กรกฎาคม) และเสด็จประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถในฤดูร้อน พ.ศ. 2467 เป็นครั้งที่ 2 (วันที่ 12 เมษายน-20 มิถุนายน) ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์ทรงงานตลอดเวลา

หลังจากสร้างเสร็จแล้วทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้หลวงสมบูรณ์บุรินทร์เป็นหัวหน้าพนักงานรักษาที่พักมฤคทายวัน ต่อมาใน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองบัญชา การตำรวจตะเวนชายแดนใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ คือกองกำกับการที่ 1 กองบังคับพิเศษ ในพ.ศ. 2523 หน่วยราชการนี้ได้นามพระราชทานว่า “ค่ายพระรามหก”

นอกจากนี้ได้จัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีได้ทรง พระกรุณาโปรดรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ปัจจุบันนี้ทางมูลนิธิและค่ายพระรามหก ยังได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมพระราชนิเวศน์ความสวยงามของพระราชวังแห่งนี้ด้วย

ดังนั้นพระราชนิเวศน์มฤคทายวันถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามแห่งหนึ่ง และยังเป็นสถานที่น่าสนใจให้ความรู้ แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

 

 

ผังบริเวณและสถาปัตยกรรม

พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นหมู่อาคารที่วางเรียงกันตามความยาวของชายหาด แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ประทับทางทิศใต้ และส่วนที่อยู่ของข้าราชบริพารทางทิศเหนือ ส่วนที่ประทับนั้น มีรั้วล้อมสามด้าน ภายในมีพระที่นั่งสามหมู่ คือ พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นท้องพระโรงและโรงละคร

พระที่นั่งที่ประทับแต่ละหมู่เป็นอาคารชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องที่ประทับ ที่เสวย ห้องพระภูษา และห้องพักข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ แต่ละห้องวางกระจายกันให้รับลม มีชาลาเชื่อม มีหลังคาคลุมติดต่อกัน ยาวต่อเนื่องไปจนถึงศาลาลงสรงที่ริมหาด แยกฝ่ายหน้าฝ่ายในไม่ปะปนกัน ตามโบราณราชประเพณี

ส่วนที่อยู่ของข้าราชบริพารนั้น อยู่นอกรั้วส่วนที่ประทับไปทางทิศเหนือ มีแนวถนนเลียบไปตามแนวชายหาด และมีอาคารบ้านพักข้าราชสำนักฝ่ายหน้าที่ตามเสด็จฯ “โฮเต็ล” ภัตตาคาร โรงไฟฟ้า โรงรถยนต์หลวง ฯลฯ รวมทั้งสิ้น ๒๘ หลัง เกือบทั้งหมดเป็นโครงสร้างไม้มุงจาก ปัจจุบันยังคงเหลือบ้านเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตผสมไม้เพียงหลังเดียว

สถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเพื่อการพักตากอากาศในช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งที่วัสดุก่อสร้างในพื้นที่ยังหายาก กับทั้งระยะเวลาในการก่อสร้างที่จำกัด สถาปนิกและวิศวกรจึงเลือกใช้ระบบพิกัด (modular system) ในการออกแบบ ทั้งทางราบและทางตั้ง โดยใช้แนวเสาระยะ ๓.๐๐ เมตรเป็นมาตรฐาน แต่ละช่วงเสาแบ่งผนังออกเป็น ๗ ส่วนๆ ละ ๔๐ เซนติเมตร เกิดเป็นจังหวะ ๒ : ๓ : ๒ ตอบรับกับขนาดบานหน้าต่างและประตู ช่องระบายอากาศไม้ฉลุเหนือขอบประตู ตลอดจนฝ้าเพดานห้อง ใช้ชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม แต่วางแผนผังห้องให้ยักเยื้องกัน มีรูปทรงหลังคาที่หลากหลาย ทำให้อาคารดูเรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อ ทั้งยังมีความโปร่งเบา มีการประดับประดาแต่น้อยที่สุด ตอบรับกับความนิยมของยุคสมัย ที่เป็นรอยต่อระหว่างสถาปัตยกรรมวิคตอเรียน (Victorian Architecture) กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture)

 

พระที่นั่ง

พระราชนิเวศน์ ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งใหญ่ 3 องค์ มีนามเรียงกันจากชั้นในสุดมาจนถึงประตูพะราชนิเวศน์ด้านหน้า ดังนี้
1.พระที่นั่งสมุทรพิมาน มีสองหมู่ คือหมู่เดิมด้านในและหมู่ใหม่ด้านหน้า เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาคารหลังใหญ่สุดทรงใช้เป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องทรงพระอักษร และห้องสรง ส่วนห้องเสวยเป็นศาลารูปสีเหลี่ยม มีลูกกรงรอบไม่กั้นฝา ในส่วนพระที่นั่งสมุทรพิมานหมู่เดิมเคยเป็นประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ระหว่างมีพระครรภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
2.พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และที่พำนักของ พระสุจริตสุดา พระสนมเอก นอกจากพระที่นั่งแล้วยังมีเรือนเล็กๆ เป็นที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายใน
3.พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารสองชั้น มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดโล่ง ทั้งชั้นล่างและชั้นบนทรงใช้เป็นโรงละครและที่ชุมนุมในโอกาสต่างๆ

 

สวนพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

แต่เดิมพบเพียงภาพถ่ายในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏสภาพเป็นป่าชายหาดตามลักษณะภูมิประเทศ และถากเป็นพื้นโล่งเตียนโดยรอบหมู่พระที่นั่ง เมื่อทางมูลนิธิมีโครงการในการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพระราชนิเวศน์ โดยหม่อมหลวงภูมิใจ ชุมพล ผู้ออกแบบสวนได้แรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏชื่อสวนต่างๆ ในพระราชนิเวศน์ที่เป็นชื่อบทพระราชนิพนธ์ เช่น ศกุนตลา วิวาหพระสมุท สาวิตรี หรือเวนิสวานิช เป็นต้น โดยบทพระราชนิพนธ์สะท้อนให้เห็นถึงองค์เจ้าของพระราชนิเวศน์ได้อย่างดียิ่ง และสามารถให้อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านในด้านวรรณกรรม

การออกแบบยังได้ผสานแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทางสภาพภูมิประเทศ เช่น สภาพดินที่มีความเค็ม ดินทราย ดินดาน และลมทะเล รวมถึงพืชพันธุ์ที่มีความเหมาะสมและทนทานต่อสภาพภูมิอากาศริมทะเลได้ดี นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงการออกแบบที่สนองกับสถาปัตยกรรมและบรรยากาศโดยรวม

ทางมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พบปัญหาโครงสร้างดินที่มีสภาพเป็นดินทรายและดินดาน ซึ่งไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เป็นเหตุให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต ในขั้นแรกได้มีการนำแนวพระราชดำริเรื่องหญ้าแฝกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้โดยได้ทำการขยายพันธุ์หญ้าแฝกและปลูกในแปลงทดลองครั้งแรกเมื่อ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2549 รากของหญ้าแฝกช่วยทำให้ดินที่แข็งร่วนซุยขึ้นได้จนเหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งยังมีการปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เพื่อไถกลบ อันจะเป็นการช่วยเพิ่มแร่ธาตุและสารอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน นอกจากการปรับสภาพดินด้วยหญ้าแฝกและพืชตระกูลถั่วแล้ว ยังมีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพอีกด้วย

 

 

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น. ปิดวันพุธ ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  โทร : (032) 471388 , 471130

 

You may also like...