พิเชษฐ์ กลั่นชื่น

กระแสวัฒนธรรมใหม่ๆที่หลั่งไหลเข้ามา กำลังเปลี่ยนแปลงและกลืนกลายวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่มีใครจะสามารถแช่แข็งวัฒนธรรมเดิมๆเอาไว้ได้ แต่หากยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน และรู้จักรากฐานของวัฒนธรรมนั้นดีพอ วัฒนธรรมนั้นย่อมไม่มีทางสูญหายไปตามกาลเวลา หนำซ้ำยังคงคุณค่าและกลายเป็นอัตลักษณ์ ยากที่ใครจะเลียนแบบได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับ โขนร่วมสมัย ของอาจารย์ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น

ศิลปินนักรำไทย ที่ไปโด่งดังไกลในระดับโลก มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ได้เข้าร่วมแสดงงานในเทศกาลเต้นในระดับนานาชาติในหลายประเทศทั้งเอเชีย อเมริกาและยุโรปอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินนักเต้นจากประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 พิเชษฐได้เปิดสถาบันการเต้น PichetKlunchun Dance Company โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานทางด้านศิลปะการเต้นและสร้างนักเต้นอาชีพ โดยเน้นการฝึกฝนทางด้านรำไทยเป็นพื้นฐาน วันนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ ได้มาเยี่ยมโรงละครช้าง และได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ถึงงานทางด้านวัฒนธรรมที่อาจารย์กำลังทำอยู่

คำว่าร่วมสมัยของอาจารย์

คำว่าร่วมสมัย จุดเริ่มของงานร่วมสมัย เกิดขึ้นประมาณสามสิบปีมาแล้ว งานร่วมสมัยคืองานศิลปะที่สะท้อนหรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นตัวเราในช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือหัวใจหลักของงานร่วมสมัย งานศิลปะร่วมสมัยมันตอบโจทย์เหล่านี้ ทีนี้ถามว่าโขนร่วมสมัยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จริงๆโขนร่วมสมัยมันไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของผม มันเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ทุกคนไม่ได้ยอมรับว่ามันเป็นงานร่วมสมัย ยกตัวอย่างงานโขนสมัยก่อนที่เป็นประเพณี เราจะเล่นกัน มีเสียงพากย์ มีออกกราว ตรวจพล หลังจากนั้นผมคิดว่าสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาโขนมันถูกตัดให้สั้นลง อย่างเช่นออกกราว ตรวจพล ครั้งละยี่สิบนาที ถูกตัดให้เหลือห้านาทีหรือสิบนาที นั่นมันเป็นร่วมสมัยแล้วนะ มันตอบโจทย์ของสังคม คือสังคมมีเวลาน้อย งานศิลปะเลยถูกตัดทอนเวลาให้น้อยลง อันที่สองคือ เมื่อไหร่คุณเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการปักเครื่อง เสื้อผ้า มันก็เป็นร่วมสมัยแล้ว เพราะฉะนั้นโขนร่วมสมัยจริงๆแล้วมันไม่ได้เกิดที่ผม มันเกิดตั้งแต่ที่กรมศิลปากรเป็นคนเปลี่ยนแปลงมันแล้ว แต่ว่าไม่มีใครเคยเข้าใจว่าจริงๆแล้วคำว่าร่วมสมัยคืออะไร

เมื่อไหร่ที่มันเป็นประเพณีหรือคลาสสิคมันต้องเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น มันไม่มีคำว่าประเพณีที่เป็นแบบประเพณีแล้ว  สงกรานต์มันก็ไม่เป็นแล้ว มันไม่มีอะไรเป็นแล้ว ทุกอย่างมันเป็นร่วมสมัยหมดแล้ว เราใช้ปืนฉีดน้ำแล้ว เราสาดน้ำกันปิดถนนแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่าร่วมสมัยมันไม่มี คำว่าประเพณีจริงๆไม่มีแล้ว ตั้งแต่สิบยี่สิบปีที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่โพสโมเดิรน์ด้วย เพราะมันตอบกติกาของสังคมมาเรื่อยๆ คนมักจะบอกว่า งานผมเป็นงานโขนร่วมสมัย เพราะว่าผมปรับโขนให้เป็นอย่างอื่น ผมไม่ใส่เสื้อผ้าชุดโขน ไม่จริงนะครับ ขอผมก็ถือเป็นกติกานึง แต่ว่าที่กรมศิลป์เปลี่ยนแปลงมานั่นร่วมสมัยไปแล้ว เห็นไหมครับ โขนสมเด็จที่เล่นอยู่ทุกคนบอกว่าเป็นโขนแบบประเพณี  ไม่จริงนะครับ โขนแบบประเพณีไม่มีเลเซอร์นะ โขนแบบประเพณีไม่มีสลิงนะ โขนแบบประเพณีไม่มีฉากหมุนได้ไปมานะ ไม่มีไดไอซ์ ไม่มีสโมคนะ อย่างนี้จะเรียกว่าอะไร เค้ากลับใช้คำว่าพัฒนาเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น แล้วให้เกิดจินตนาการที่เป็นสมัยใหม่หรือทำให้มันสมัยใหม่มากขึ้น จริงๆแล้วนี่คือการตอบโจทย์ทางสังคมอย่างนึง แล้วงานร่วมสมัยก็คือสะท้อนความเป็นเราและความเป็นคุณ ในสังคมปัจจุบันนี้ สังคมไม่มีเวลา สังคมต้องการความรวดเร็ว สังคมต้องมีเทคโนโลยีเข้ามา มีสิ่งของเข้ามาให้ใช้ อิเลคโทรนิคส์ต่างๆก็เอามาใช้ในโขน เพราะฉะนั้นโขนอันนี้เป็นร่วมสมัยไปแล้ว

ประเทศไทยเป็นประเทศร่วมสมัย เราไม่มีอะไรที่ปักหลักของเราจริงๆ ศิลปะของเราพัฒนา ศิลปะของเราเปลี่ยนแปลง สังคมเราพัฒนา สังคมเราเปลี่ยนแปลง เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่รัชกาลที่สี่ด้วยซ้ำไปหรือก่อนหน้านั้นเราก็ปรับแล้ว เราก็เอาลายจีนมาไว้ในลายจิตรกรรมฝาผนังแล้ว เพราะฉะนั้นเราร่วมสมัยแล้ว อย่างหุ่นละครเล็ก เราก็พัฒนามาจากจีน พัฒนามาจากหุ่นของพม่าที่เป็นหุ่นน้ำ  มันรับอิทธิพลนั้นมาแล้ว แต่ว่าการรับอิทธิพลนั้นมามันมาสร้างเป็นวัฒนธรรมของเราเอง มันก็ยังเป็นของเราอยู่ แต่เมื่อไหร่มันถูกปรับถูกเปลี่ยนใหม่ ถูกทำให้เกิดอะไรต่างๆขึ้น มันจะเป็นร่วมสมัย อย่างเช่น ถ้าเรากลับไปมองที่หุ่นอาจารย์จักรพันธุ์ หุ่นอาจารย์จักร์พันธุ์ไม่เปลี่ยนวิธีการเชิด ไม่เปลี่ยนวิธีการเล่น คือยังเล่นยาวๆยังเชิดยาวๆทำทุกอย่างเหมือนเดิม ปักเครื่องสวยเหมือนเดิม อันนี้ไม่เปลี่ยน อันนี้ยังเป็นแบบประเพณีเหมือนเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณไปตัดมันซะ เปลี่ยนแปลงมันซะมันร่วมสมัยทันที

ในสายวงการนาฏศิลป์ สายที่เป็นคนในวงการนี้เค้ารับรู้กันแล้วว่าโขนเป็นอะไรที่ร่วมสมัยมาตั้งนานแล้ว แต่คนในกรมศิลปากรเองหรือคนที่อยู่ในวงการเองกลับมองว่าเค้าอนุรักษ์อยู่ อันนี้ผมขอเถียง เพียงแต่ว่าของผมมันชี้ชัด มันชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าของคนอื่น หนึ่งผมไม่ใช่คนที่มาจากกรมศิลปากร  สองผมไม่ใส่ชุดโขน สามผมมีประเด็นที่พูดอยู่ในการแสดงโขนของผม มันทำให้ผมดูเหมือนกับว่าเป็นผู้นำทางด้านโขนร่วมสมัยจริงๆ ไม่ใช่ ผมตามพัฒนาการของสังคมไทยมาเรื่อยๆเท่านั้นเอง ผมไม่เอาเสื้อผ้า ไม่เอาศีรษะ ของผมไม่เอาอะไรเลย ผมเอาแต่ร่างกายกับการเคลื่อนไหวไว้เท่านั้นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศร่วมสมัยแต่เราบอกว่าเราเป็นประเพณี ผมถามว่ามีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมแล้วมันไม่เคยเปลี่ยนแปลงบ้างในสังคมไทยไม่มีเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมดจริงๆลอยกระทงก็เปลี่ยน เราปรับเปลี่ยนทุกอย่างตามความเหมาะสมหมด บางที่ในกรุงเทพยังมีเวียนเทียนตอนยังไม่มืดค่ำเลยครับ ถูกไหม มันก็เปลี่ยน เพราะมันตอบโจทย์สังคมไง คนไม่สามารถที่จะมาได้

อาจารย์มองว่าทุกวันนี้พื้นที่ทางวัฒนธรรมในบ้านเรามีเยอะขึ้นไหม
ตัวพื้นที่ทางวัฒนธรรมมันเพิ่มขึ้น แต่ตัวงานศิลปวัฒนธรรมเองมันไม่ได้เพิ่มขึ้นนะครับ มันยังคงอยู่ในกลุ่มเล็กๆเหมือนเดิม แต่ตัวพื้นที่มีมากขึ้น ต้องกลับไปมองในเรื่องของการเคลื่อนตัวในปี 2000 ที่มันเข้าสู่ช่วงโกลเบลไรเซชั่น ที่การสื่อสารที่มันไร้พรมแดนไป อันนั้นก่อนเป็นอันดับที่หนึ่ง พอโลกมันเริ่มเปิดกระจ่างขึ้นเปิดสว่างขึ้นมันก็เริ่มการแข่งขัน ทีนี้การแข่งขันมันก็ไม่ได้แข่งขันเฉพาะในเรื่องธุรกิจ มันแข่งกันทุกเรื่องเพราะว่ามันเกี่ยวโยงกัน ตัวศิลปะเองก็ต้องแข่งขัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีศิลปะเกิดแข่งขันกันขึ้นมันจึงเกิดหน่วยงานของรัฐ จึงเกิดระบบต่างๆเพื่อที่จะทำให้มันครบองค์ประกอบ เหมือนที่คนอื่นเค้ามี ทำไมมีกระทรวงวัฒนธรรม มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเกิดขึ้น ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะที่อื่นมันรันแล้ว ที่อื่นมันไปแล้ว ที่อื่นมันเคลื่อนตัวแล้ว ในยุโรปมันสามสิบกว่าปีมาแล้ว

ลำดับที่สอง พอการสื่อสารมันเปิดง่ายขึ้น การศึกษาเริ่มกว้างขึ้น มันมีคนที่ไปเรียนข้างนอกในสายศิลปะ จึงมองเห็นว่าตลาดศิลปะข้างนอกมันขยายตัว คนที่เรียนศิลปะเองสามารถมีที่มีทางมากขึ้น ถ้าไม่ทำที่นี่ก็ไปทำข้างนอกแทนเพราะฉะนั้นจะมองเห็นว่าในส่วนของคนเรียนก็เรียนเพิ่มมากขึ้น การศึกษาในประเทศไทยออกนอกระบบ การออกนอกระบบมีส่วนให้สาขาวิชาเปิดตัวและขยายตัวมากขึ้น เพราะว่าต้องการเด็กที่จะเข้ามาศึกษาวิชาในสาขาวิชานี้ แล้วอาจารย์ที่สอนอยู่ก็ถุกเร่งรัดโดยผู้บริหารว่าเธอจะต้องมีจำนวนเด็กเท่าไหร่ในสาขาวิชานี้ ไม่งั้นเธอไม่สามารถจะซื้ออุปกรณ์ได้ เธอไม่สามารถจะสร้างตึกใหม่ได้ ทุกอย่างมันเป็นกลไกของมัน เป็นกลไกที่ไม่ใช่กลไกที่เป็นตัวศิลปะจริงๆแต่มันเป็นการเติบโตไปตามกระแส ตามหลักการที่รัฐบาลวางเอาไว้ แต่กลไกของงานศิลปะจริงๆคือถามว่าวันนี้เรามีสังคมของคนศิลปะเพิ่มขึ้นไหมในช่วงห้าปีสิบปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มี เห็นไหม ถามว่าหนังสือที่เป็นศิลปะจริงๆเกิดขึ้นบ้างไหม ก็ยังไม่มี เห็นไหม มันยังอยู่ไม่ได้ มันก็ยังไม่ชัดเจน มีอะไรบางอย่างที่อยู่ระหว่างสองสิ่งไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งหนังสือของกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นร่วมสมัย ทำขึ้นมามันก็เริ่มออกมาตอนแรกเดือนนึงครั้งนึง หลังจากนั้นมันเริ่มหายไปเห็นไหม สามสี่เดือนมาที แล้วก็หายไป เพราะว่าคนที่บริโภคหรือเสพมันจริงๆไม่มี ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในชีวิตในการทำงานศิลปะก็ยังไม่มีอย่างเป็นรูปธรรม ในสาขาวิชาอื่น มันมักจะเป็นสาขาที่มีอยู่เดิมแล้ว  คือ จิตรกรรม ประติมากรรม อันนี้แน่นอนมีเยอะมาก แต่ว่าในสายของของผม ในแดนซ์และเธียเตอร์ ไม่ต้องพูดถึงเลยนะ ไม่มีเลย ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จหรือเห็นว่าเป็นรูปธรรม ในขณะที่เรานึกชื่อศิลปินในสาขาอื่นได้ ถามว่าในสายเธียเตอร์ ในสายที่เป็นโรงละคร เราจะนึกชื่อใคร เราไม่มีเห็นไหม เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วสาขาวิชานี้หรืออาชีพนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือกลไกหลายๆส่วนที่ทำให้มันถูกพัฒนา แต่การพัฒนาของมันไม่ได้พัฒนาไปที่ตัวเนื้อของงาน หรือสังคมของคนดู มันไปพัฒนาที่รูปแบบและวิธีการมากกว่า ผมสรุปแบบนี้มากกว่า เรามีตึกหอศิลป์กรุงเทพ เวลาเราเข้าไปในหอศิลป์กรุงเทพ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นหอศิลป์หรือร้านค้า หรือเป็นห้างด้วยเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าวัตถุประสงค์เค้าต้องการอย่างนั้น อันที่สองคือในนั้นไม่มีโรงละคร พื้นที่สำหรับเธียเตอร์ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน มันเป็นห้องเปล่าๆแล้วก็ปูพรม ซึ่งเราทำอะไรอย่างนี้ไม่ได้

ผมสรุปง่ายๆ หอศิลป์กรุงเทพ ผมไม่สามารถที่จะทำฉากได้ ตอกตะปูได้ ไม่สามารถที่จะรื้อได้ อย่างนี้สรุปได้เลยว่าศิลปะยังไม่มีวันเติบโต แค่ผมจะเอาตะปูไปตอกตัวนึง หรือว่าจะปรับมันเพื่อทำฉากผมยังทำไม่ได้ ถามว่าผมจะสร้างงานยังไงในพื้นที่นี้ พอผมพูดอย่างนี้ผมกระโดดข้ามเลยว่าทำไมมีโรงละครอยู่ที่บ้าน

อย่างนั้นก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าคนทำงานศิลปะในประเทศนี้อยู่ยาก
ถ้าถามพื้นๆเลยว่าคนที่จะทำศิลปะเป็นอาชีพในประเทศนี้อยู่ได้ไหม อยู่ไม่ได้นะ ไม่ใช่อยู่ยาก ตั้งแต่เริ่มต้นมาในประเทศนี้แต่ไหนแต่ไร คนที่สร้างงานศิลปะไม่ได้สร้างงานขึ้นมาเพื่อประกอบอาชีพ มันสร้างงานขึ้นเพื่อสนับสนุนราชสำนัก สร้างงานเพื่อสนับสนุนพุทธศาสนา มันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเค้าไม่เคยทำอาชีพนี้ ไม่เคยมีใครทำอาชีพนี่จริงๆแม้กระทั่งคนที่เป็นศิลปินใหญ่บ้านเรา ยุคก่อนที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นศิลปินนะ เป็นอาจารย์สอนที่มหาลัย น้อยคนมากที่เรามีศิลปินที่ไม่สอนแล้วเขียนภาพเหมือนแวนโก๊ะห์เหมือนปีกัสโซแล้วขาย เพราะฉะนั้นมันแทบจะบอกได้เลยว่าคนทำอาชีพศิลปะในบ้านเราอยู่ไม่ได้ครับ คนต้องมีอีกอาชีพนึง ทุกคนเป็นอาจารย์หมด มันจึงทำให้เราเรียกคนที่ทำงานศิลปะบ้านเราว่าอาจารย์หมด เห็นรึเปล่าเราเรียกทุกคนว่าอาจารย์ แต่ปิกัสโซไม่มีใครเรียกว่าอาจารย์นะ เค้าก็เรียกปกติ ศิลปินคนอื่นเค้าก็เรียกเป็นชื่อไป แล้วใครที่เป็นอาจารย์เค้าถึงเรียกเป็นอาจารย์ บ้านเราไม่เคยรู้ว่าอาชีพศิลปินเป็นยังไง แต่ว่าคนนั้นจะต้องประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ไปด้วย

มีทางที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปินไหมคะ
มีทางครับ มีทางที่จะประกอบอาชีพทำงานศิลปะอย่างเดียวได้ มันมีคนบางกลุ่มที่ประกอบอาชีพทำงานศิลปะ แต่เราไม่เรียกว่าเค้าว่าเป็นศิลปิน อย่างเช่นคนที่วาดรูปขาย อยู่ตามหาดป่าตอง ภูเก็ต ตามทะเล เห็นไหมครับคนพวกนั้นไม่ทำอย่างอื่น วาดรูปขายอย่างเดียว แต่เราไม่เรียกคนพวกนั้นว่าเป็นศิลปิน เพราะเรารู้สึกว่ารูปพวกนั้นไม่มีคุณค่าอะไร หรือมันไม่ได้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเทคนิคอะไร หรือว่าบางครั้งเป็นรูปที่ก็อปปี้จากศิลปินดังๆแล้ววาดอีกทีนึง เราไม่นิยามคนพวกนี้ว่าเป็นศิลปิน แต่คนพวกนี้ประกอบอาชีพทำงานศิลปะจริงๆร้อยเปอร์เซนต์ สิ่งที่เรามอง เรามองอะไรก็ไม่รู้นะในสังคมนี้ มันหามุมไม่เจอ พอผมบอกว่าผมไม่สอนนะที่นี่ ทุกคนตกใจว่าทำไมผมไม่สอน เพราะว่าที่ไหนๆก็แล้วแต่ 250 ปีในรัตนโกสินทร์มาใครที่เป็นนาฎศิลป์ไทยจะต้องสอนลูกศิษย์ ผมบอกว่าผมไม่สอนนี่มันเป็นบริษัท ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ ผมบอกว่าเอาง่ายๆเลยคุณลองเข้าไปทำงานที่แกรมมี่หรือเข้าไปทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับสถาปัตย์ซักที่เค้าสอนคุณไหมล่ะ เค้าไม่สอนถูกไหม คุณเข้าไปทำงานเลย แต่เค้าจะบอกคุณเองถ้าคุณทำไม่ถูก แต่ไม่ใช่มานั่งสอนว่า ท่าที่ 1 เป็นยังไง ท่าที่ 2 เป็นยังไง อันนั้นมันคือโรงเรียนทั้งหมด สิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่เคยมีมาก่อน เพราะฉะนั้นทุกคนยังคิดว่าที่นี่เป็นโรงเรียนอยู่ ผมบอกว่าไม่ใช่ที่นี่เป็นบริษัท ไม่รับคนที่ไม่เป็น ผมรับคนที่เป็นแล้วและเก่งแล้ว แค่นี้คนยังงงเป็นไก่ตาแตกเลย เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศนี้ ถ้าสมมติว่าคุณอยากเรียน คุณไปเรียนที่ไหนมาก่อนก็ได้ อย่างเช่นไปเรียนที่กรมศิลปากรมาก่อน แล้วพอเรียนจบแล้วมาออดิชั่นที่นี่เพื่อเป็นนักเต้น แต่คุณต้องเป็นมาก่อน

โรงละครช้างกำเนิดมาได้อย่างไรคะ
ที่นี่มันค่อยๆสร้างตัวมาทีละขั้นตอน หนึ่ง มันเริ่มจากที่ว่าไม่มีคนทำอาชีพนี้จริงๆ สอง ผมเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ทำไมผมถึงพูดเรื่องนี้ได้ เพราะผมเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาลัยมาก่อน แล้วพอผมสอนเสร็จแล้วผมก็พยายามที่จะผลักดันให้เด็กไปเป็นศิลปินหรือไปเป็นคนทำงานศิลปะ ไปรำไทย แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีใครทำ ผมก็เลยมาตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีคนทำ เพราะว่ามันไม่รู้จะไปทำที่ไหน ถามว่าจบนาฎศิลป์ไทยมา ถ้าไม่ไปเป็นข้าราชการ ไม่เป็นครูแล้วจะไปที่ไหน ไม่มีที่ครับ ไม่มีที่ๆจะประกอบอาชีพได้จริงๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้น ผมน่าจะออก เพราะผมไม่ได้ตั้งอกตั้งใจไปเป็นข้าราชการจริงๆแล้วผมก็ออก ผมก็พิสูจน์ว่าถ้าสมมติไม่เป็นข้าราชการ ผมไม่เปิดสอน ผมจะเป็นศิลปินได้ไหม เหมือนกับที่อาจารย์ถวัลย์เป็น เป็นได้ไหมอย่างนี้เพราะว่าอาจารย์ถวัลย์ก็ไม่สอน อาจารย์ก็วาดรูปทำนู่นนั่นนี่ไป นั่นแหล่ะ มันจึงเกิดอันนี้ขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสาขาวิชานี้ทางด้านนาฏศิลป์ว่ามีอีกหนทางนึงที่คุณไม่ต้องประกอบอาชีพข้าราชการก็ได้ถ้าคุณยังรักที่จะรำไทยอยู่ รักที่จะเป็นศิลปินทางด้านนาฏศิลป์อยู่ คุณสามารถประกอบอาชีพได้เอง มันจึงเริ่มที่ผมเข้าไปทำงานคอมพานีที่เมืองนอก แล้วหลังจากนั้นผมก็เริ่มสร้างงานที่เป็นงานโซโลของผมเอง แล้วพอสร้างงานที่เป็นงานโซโลของผมเองเสร็จ ผมก็เริ่มที่จะมองว่าถ้าอย่างนั้นเนี่ยผมน่าจะมีเพื่อนที่ร่วมทางด้วย พอตรงนั้นเสร็จ ผมก็เริ่มที่จะออดิชั่นนักเต้นเข้ามา พอนักเต้นเข้ามาทำงาน ผมก็มองว่าถ้าอย่างนั้นมันเริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว สร้างโรงละครของตัวเองซะ เพื่อที่เราจะได้เล่นในที่ของเรา ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าที่นู่นที่นี่แล้วก็มีเวลาซ้อมแค่สามวัน เพราะว่าโรงละครทั้งหลายแหล่ในประเทศไทย ติดให้กับสัมมนาแล้วก็ประชุม มันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเพอร์ฟอร์แมน มันสร้างขึ้นมาเพื่อสัมมนาแล้วก็ประชุม เพราะฉะนั้นผมสร้างของผมเอง มีนักเต้นของผมเอง แล้วก็จะทำให้มันเป็นรูปธรรมคือทำให้มันเป็นรูปแบบบริษัท

โรงละครช้างเปิดมากี่ปีแล้วคะ
แบ่งเป็นสามส่วนด้วยกัน คือหนึ่ง ส่วนที่ผมสร้างงานเอง 13 ปี ถ้าโรงละครเริ่มต้นปีนี้เป็นปีที่ 6 ถ้าคอมพานีเริ่มต้นปีที่ 2 ที่มีนักเต้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทำไมถึงชื่อโรงละครช้าง
มาจากชื่อบุคคลคนนึงที่ให้พื้นที่ผมทำโรงละครเมื่อห้าปีที่แล้ว สมัยก่อนผมไปขออาศัยที่คนอื่นเล่น ไม่ก็ไปเช่าที่คนอื่นเล่น ศูนย์วัฒนธรรมบ้าง บ้านคนนู้นบ้าง สนามนู่นนี่ เพราะสมัยก่อนไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงิน ไม่มีนั่นไม่มีนี่ มีน้าผู้หญิงคนนึงชอบตามมาดูผมเล่นตามสถานที่ต่างๆแล้ววันนึงเค้าก็เดินมาบอกผมว่า น้าตามดูหนูมาตั้งหลายครั้ง น้ามีตึกแถวว่างๆที่นึง ฝั่งตรงข้ามกับสถานทูตอังกฤษ เพลินจิต หนูอยากได้ไหม น้าให้ยืม เป็นตึกทาวน์เฮาส์ใหญ่มาก ผมบอกอยากได้ ตอนนั้นผมไม่รู้จะไปทำงานที่ไหนไม่มีที่ก็เลยขึ้นไปใช้เป็นตึกสี่ชั้น แต่บนชั้นสี่มีบ้านเรือนไทยอยู่ ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่าแฟนคุณน้าผู้หญิงเขาเป็นอาร์ทติส ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมเลยขออนุญาตเค้าทำโรงละครที่นั่นแล้วก็เอาชื่อแฟนคุณน้าผู้หญิงตั้งเป็นโรงละคร เพื่อระลึกถึงบุญคุณตลอดเวลาว่าเค้าให้โอกาสเรา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่คนเรียกชื่อโรงละครนี้ เรียกชื่อนี้ เราต้องนึกถึงคนที่มีบุญคุณกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ที่นี่มีภารกิจเร่งด่วนที่อาจารย์ต้องรีบทำไหม
เราแพลนปีต่อปี จะไม่ทำอะไรปัจจุบันทันด่วน เราจะมีงานอยู่สองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือคอมพานีมีงานอยู่ 5 ชิ้น จากที่ผ่านๆมา ทำเสร็จแล้วนะ แล้ว 5 ชิ้น มันจะออนทัวร์อยู่ที่เมืองนอก เราก็ออกไปเล่น นี่คืองานอันที่หนึ่งที่เราทำปกติ อันที่สองคือเราจะมีโปรดักชั่นที่โรงละคร อันนี้เราจะวางไว้เลยว่าปีนึงทำกี่ชิ้น อย่างปีนี้เราจะทำสองชิ้น เราก็จะซ้อมอย่างน้อยหกเดือนแล้วก็เล่น แล้วที่เมืองนอกก็คือเรารู้ล่วงหน้าก่อนหนึ่งปีว่าเราจะไปที่ไหน อย่างเช่นตอนนี้งานที่คอมพานีจะไปหมดเอาเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ที่เรารู้ว่าจะไปไหนบ้าง นี่คือเมืองนอกทั้งหมด สวิส ฮอลแลนด์ เยอรมัน นอร์เวย์ ออสเตรีย เขมร อินโด อะไรอย่างนี้ แล้วก็มาไทยแล้วกลับไปเยอรมันใหม่ นี่คือสิ่งที่คอมพานีทำ คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย แล้วก็ไม่มีใครเคยรู้ว่าเราทำอะไร แล้วก็ไม่มีใครเข้าใจว่าเราทำอะไร แม้แต่พ่อแม่เด็กที่อยู่ที่นี่ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าลูกตัวเองทำอะไร เพราะมันไม่เคยมีมาก่อน

อีก 2 ปีข้างหน้า อาจารย์มองว่าที่นี่จะเป็นอย่างไร
คอมพานีกับผมมีงานอยู่ที่เมืองนอก 90% ที่ผ่านมา มีปีนี้ ปีหน้าที่เราคุยกันไว้ เราจะกลับมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ในเมืองไทยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนในสังคมไทยมากขึ้น มีเพอร์ฟอร์แมนมากขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงานกับที่เมืองไทยเลยน้อยมาก นอกจากเราเอางานที่ไปเล่นที่เมืองนอกกลับมาเล่นที่เมืองไทยเอง แต่ไม่เคยสร้างงานเพื่อที่จะเริ่มต้นที่นี่เลย อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วเราเล่นที่สิงค์โปร แล้วเดือนหน้าเราจะไปสวิส ไปนอร์เวย์ แต่งานชิ้นนี้ยังไม่เคยกลับมาเล่นที่เมืองไทยเลย สามปีต่อจากนี้ไปเราวางแผนลำดับที่หนึ่งคือ เราจะทำโปรดักชั่นให้คนไทยดู สองเราจะสร้างโรงละครใหม่ขึ้นอีกโรงนึงที่ใหญ่กว่าเดิม เป็นคอมพานีที่ใหญ่ขึ้นสำหรับเรา

ถึงวันนี้อาจารย์ได้ทำสิ่งที่อยากทำครบถ้วนหรือยัง
ยังไม่ครบ ถ้าเมื่อไหร่คนที่เรียกตัวเองว่าศิลปินบอกว่าทำทุกอย่างครบถ้วนแล้วเนี่ย จบกัน ไม่ครบครับ มีเรื่องอีกตั้งเยอะที่ยังไม่ได้ทำ เรื่องสุดท้ายที่อยากทำ ผมบอกมาตลอดเวลาว่าอยากมีคณะโขนของตัวเอง เป็นแบบประเพณี ที่เล่นแบบไม่ตัดต่อเลย เล่นสามสี่ชั่วโมง คนดูนั่งกับพื้นเหมือนสมัยโบราณ ใครอยากดูก็ดู อยากกลับบ้านก็กลับ ศิลปินก็เพอร์ฟอร์มไป ผมอยากได้สิ่งนี้กลับคืนมาแล้วผมก็อยากทำสิ่งนี้ นี่คือความฝันอันสุดท้ายที่ผมอยากมี อันที่สองผมอยากเปิดโรงเรียน เมื่อผมแก่มากๆผมจะเปิดโรงเรียนเพื่อสอน นั่นแหล่ะ เมื่อเวลานั้นก็ไปเรียนกับผมได้ ถามว่าทำไมต้องเปิดโรงเรียน มันเป็นอย่างนี้ เป็นวัฏจักร ถามว่าเมื่อคนในคอมพานีป็นนักเต้น นักเต้นมันก็จะมีอายุของมัน มาถึงวัยนึงนักเต้นพวกนี้จะทำอะไรได้ สิ่งที่เราวางแผนไว้ก็คือเราจะเปิดโรงเรียน เปิดโรงเรียนเสร็จนักเต้นเหล่านี้แหล่ะครับคือคนที่จะไปสอนเด็กเหล่านั้น ซึ่งมันพิเศษเพราะว่าคนพวกนี้เต้นเป็นจริงๆ มีประสบการณ์จริงๆมากกว่าแค่คนที่รู้แล้วมาสอน เพราะฉะนั้นนักเต้นในคอมพานีผมก็จะย้ายไปเป็นครูผู้สอน นี่คือสิ่งที่วางแผนชัดเจน ให้เวลาเป็นตัวกำหนด ตอนนี้เราทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อน เช่นตอนนี้หนึ่งคือคอมพานี สองคือโปรดักชั่นกับคนไทย เน้นที่ตัวคอมพานีกับโรงละครเป็นหลักในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้นโรงละครเป็นสิบปีต่อจากนี้นะถึงจะเริ่มต้น ผมอาจจะบอกว่าผมเป็นคนที่มีความรอบคอบหลายๆอย่างอยู่ก็คือ ตอนนี้นักเต้นของเราไปเรียนปริญญาโท บางคนไปเรียนปริญญาเอกแล้ว เพื่อที่จะเขียนหลักสูตรแล้วก็เป็นหลักสูตรของเราเอง ในบริษัทมีบุคลากรประมาณ 8 คน ผมว่ากำลังดี

ยามว่างงานอดิเรกของอาจารย์
งานผมกับงานอดิเรกเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่ชอบ เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องทำเพราะหน้าที่ ผมทำเพราะผมรักมัน ผมมีความสุข แล้วผมก็รีแลกซ์

สิ่งที่ผมทำมันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร มันเหมือนกับการเปิดแสงสว่างในที่มืดๆให้คนได้เห็น จริงๆสิ่งที่ผมทำไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ผมทำให้แสงสว่างในจุดๆนึงมันมีเพิ่มมากขึ้น วันนั้นผมมองกลับไปเมื่อผมเรียนทางด้านนาฎศิลป์แล้วผมจบมา ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่วันนี้มันเหมือนกับคนๆนึงที่สามารถประกอบอาชีพได้ สามารถมีโรงละครได้ สามารถมีอนาคตได้ ผมว่ามันเป็นการจุดประกายให้คนต่อไปได้มีความฝัน ได้มีความหวังถึงวันต่อไปในอนาคตข้างหน้า ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผมทำ แต่ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรและจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้วยในสิ่งที่ผมทำ เพราะว่าสิ่งใดที่มันเกิดมันคงเป็นเช่นนั้นอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ผมทำมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มันไม่มีวันที่จะไปทำให้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งนั้นมันจะเปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายเพราะตัวมันเอง ถ้าตัวมันเองไม่ปกป้องตัวมันเอง ตัวมันไม่ดีพอมันก็จะหมดไปเองโดยอัตโนมัติ เราต้องยอมรับว่า มนุษย์ สังคม ทุกสิ่งทุกอย่างมันพัฒนาไปเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด อะไรก็ตามที่พัฒนาแล้วเลวร้ายมันจะจบตัวมันเอง ณ เวลานั้น


ถ้าเราเข้าใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน รู้จักอนุรักษ์พร้อมๆไปกับการพัฒนา วัฒนธรรมหลายอย่างจะไม่เสื่อมสลาย อาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น เข้าใจในรากฐานของตนเอง บวกกับความตั้งใจ ความรัก ความชัดเจนในตัวตนและการทำงาน วันนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอาจารย์ถึงได้ยืนอยู่แถวหน้าในวงการโขนร่วมสมัย และได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

TEXT : Tul Tacit

 

You may also like...