Aunyawan Thongboonrod

ไม่ว่าจะเป็นบทกวีของ ฌาคส์ เพรแวต์ (Jacques Prévert) หรือ บทเพลงแสนเศร้าแต่เปี่ยมไปด้วยพลังของ แจคเกอลีน ดู เพร (Jacqueline du Pré) ล้วนเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย งดงาม และมีความหมายของ อัญวรรณ ทองบุญรอด นักเขียนที่ผ่านงานสื่อสิ่งพิมพ์มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น happening, The Nation, Voyage, Wallpaper และ Harper’s Bazaar ในอีกแง่หนึ่งเธอยังทำงานเล่นดนตรีมาตลอดและจริงจังถึงขั้นเรียนจบปริญญาโท เอกการแสดงเชลโล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเธอมีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรก “Vienna la ti do”(เวียนนา ลาทีโด) โดยสำนักพิมพ์ Anya’s Book สำนักพิมพ์ของเธอเอง เรามาทำความรู้จักกับสาวสวยมากความสามารถคนนี้กัน

ฟองเริ่มเรียนเชลโลเมื่ออายุ 15 ปี เคยเข้าร่วมการประกวดระดับประเทศ อาทิ Thailand String Competition ปี 2547 ได้รับรางวัลที่ 2 และการประกวดเซ็ทเทรดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 ปี 2548 จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ก่อนเข้าศึกษาต่อด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้นได้เข้าร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวง Siam Philharmonic Orchestra รวมไปถึงแสดงคอนเสิร์ตกับศิลปินหลากหลายแนว และมีผลงานอัดเสียง เช่น เพลงผู้ได้รับบาดเจ็บ วง Link Corner, เพลงบ้านเรา วง 25 hours, เพลงเสียงในความเงียบ บอยตรัย/เปียโน/แสตมป์ ฯลฯ หลังจากนั้นในปี 2553 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการแสดงดนตรี (Music Performance) เอกเชลโล ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ควบคู่ไปกับการทำงานเขียนวิจารณ์ดนตรีในวารสารเพลงดนตรี และงานเขียนอิสระด้านศิลปะและไลฟ์สไตล์ในสื่อสิ่งพิมพ์หลายเล่ม อาทิ happening, Baccazine, Voyage, The Nation, Wallpaper และ Harper’s Bazaar ปัจจุบันทำงานเขียนและเล่นดนตรี โดยมีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกเมื่อปี 2557 ในชื่อ Vienna la ti do (เวียนนา ลาทีโด) สำนักพิมพ์ Anya’s Book

เหตุผลที่เล่นดนตรี และเสน่ห์ของดนตรีคลาสสิค

เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่ 5 ขวบค่ะ แรกๆเหมือนเด็กทั่วไป คือ เล่นเป็นงานอดิเรกแล้วก็ฝึกสมาธิ ได้หัดเล่นตั้งแต่เพลงคลาสสิกง่ายๆ จนพัฒนาขึ้นมาเป็นบทเพลงที่ยากขึ้น เลยเหมือนได้ซึมซับกับเพลงคลาสสิกไปโดยไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็คือมีแผ่นซีดีเพลงคลาสสิกเยอะมาก พอโตมาก็สนใจฟังเพลงคลาสสิกที่หลากหลายมากขึ้น จนได้มาเรียนเชลโลช่วงมัธยม อาจารย์อภิชัย เลี่ยมทอง ซึ่งในขณะนั้นอยู่วง Bangkok Symphony Orchestra ให้โอกาสในการเล่นดนตรี ประกวดดนตรี ไป audition เล่นวงออร์เคสตรา แล้วก็ไป music camp ได้เจอสังคมดนตรี เพื่อนๆที่เล่นดนตรีเหมือนกัน ทำให้เราสนุกกับการเล่นดนตรีมาตลอด

เสน่ห์ของดนตรีคลาสสิกสำหรับฟองคือ ลายประสาน โดยเฉพาะเวลาฟังเครื่องสายบรรเลงประสานกันด้วยไลน์ harmony ที่น่าสนใจ มันสร้างมิติให้กับเพลงและเข้าถึงอารมณ์คนฟังได้อย่างมาก ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อร้อง แต่ตัวดนตรีก็สามารถบอกเล่าหลายสิ่งหลายอย่างได้อย่างลึกซึ้ง ให้ความรู้สึกเป็นอิสระ และเราสามารถตีความหรือจินตนาการได้ เหมือนดูงานศิลปะ หลายคนมองว่าดนตรีคลาสสิกเข้าถึงยาก แต่จริงๆแล้วแค่มันไม่ได้วิ่งเข้าหาเราแค่นั้นเอง ไม่เหมือนเพลงป็อป เพลงกระแสหลัก ที่เขาทำมาเอาใจคนฟังส่วนใหญ่อยู่แล้ว มีเนื้อร้องประโยคโดนๆหรือภาพจาก MV ที่ดึงดูด มีเมโลดี้และคอร์ดที่ไม่ได้ซับซ้อน ได้ฟังสักรอบสองรอบก็ฮัมตามได้เลย แต่เพลงคลาสสิกไม่ได้มีสิ่งดึงดูดเหล่านั้น มันเป็นเพียงความงามที่บริสุทธิ์ของตัวดนตรี การเคลื่อนไหวของทางคอร์ด และความไพเราะของลายประสาน ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมเปิดใจที่จะเดินเข้าไปหาและทำความรู้จักกับมันรึเปล่า แต่สำหรับตัวเอง พอได้ทำความรู้จักแล้วก็ไม่สามารถเดินออกมาได้เลยค่ะ

จุดเริ่มต้นในการเป็นนักเขียน และเสน่ห์ของงานเขียน

เรียนอักษรศาสตร์ แน่นอนว่าเป็นคนชอบอ่านชอบเขียนอยู่แล้ว เวลาอ่านหนังสือสักเล่มมันเหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกที่เราสร้างขึ้นเองเมื่อเราได้อ่านข้อความบางอย่าง มันเชื่อมโยงกับอดีตที่ผ่านมาและความรู้สึกของเราในขณะนั้น ซึ่งโลกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วย ไม่จำเป็นว่าคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันจะต้องคิดหรือรู้สึกเหมือนกัน ตรงนี้คือเสน่ห์ การอยู่กับตัวหนังสือคือการได้อยู่กับความคิดของตัวเอง มันสงบและทำให้เราเติบโต

ฟองเหมือนกับเด็กอักษรฯหลายๆคน คือ เรียนจบมาแล้วก็ทำงานที่ใช้ทักษะด้านภาษา ฟองเลือกไปฝึกงานที่นิตยสาร happening ตั้งแต่เรียนปี 3 จำได้ว่าบทความแรกที่เขียนแล้วได้ตีพิมพ์ดีใจมาก ก็พัฒนามาจนได้เข้ามาเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่นั่นเป็นที่แรก ซึ่งพี่วิภว์ บก. ก็ให้โอกาสในการเรียนรู้งานหลากหลายมาก จากวันนั้นก็ไม่เคยหยุดเขียนเลย กลายเป็นว่ารู้สึกสนุกที่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดให้คนอื่นได้อ่าน และด้วยความที่มันเป็นอาชีพที่ต้องอ่าน ต้องแปล ต้องขบคิดแล้วก็หาข้อมูลอยู่ตลอด มันจึงเหมือนเป็นการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาให้เราได้พัฒนาความคิดจากภายใน

การก้าวเข้ามาทำสำนักพิมพ์เอง มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

เชื่อว่าการมีผลงานหนังสือเป็นของตนเองน่าจะเป็นความฝันของนักเขียนหลายๆ คนนะคะ ก่อนหน้านี้ฟองได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำหนังสือของนักเขียนคนอื่นหรือหนังสือขององค์กรต่างๆ พอถึงจุดหนึ่งเราก็อยากมีหนังสือของเราเองบ้าง เพราะช่วงปีสองปีมานี้ ด้วยหน้าที่การงานและจังหวะหลายๆ อย่าง ทำให้ได้เดินทางเยอะมาก ทั้งไปทำคอลัมน์แล้วก็ไปเล่นดนตรี มันก็เปิดโลก ได้พบเจออะไรใหม่ๆ กลับมาก็เขียนบันทึกเก็บไว้บ้าง หรือเขียนลงนิตยสารบ้าง เลยคิดว่าน่าจะได้เวลาแล้วที่เราจะเริ่มทำหนังสือของตัวเอง แต่สำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ปัจจัยของการเลือกพิมพ์หนังสือสักเล่มมันมีหลายอย่างมาก เราไม่มั่นใจว่าเขาจะพิจารณางานของเราไหม ก็เลยทำสำนักพิมพ์ Anya’s Book เองซะเลย สนุกๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งนะคะ แต่ว่าโชคดีที่มีเพื่อนๆพี่ๆ ในวงการหนังสือคอยให้คำปรึกษา โดยเฉพาะพี่วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening ซึ่งเป็นนักเขียนและเจ้านายที่เราเคารพ ก็ให้คำปรึกษาและช่วยดูให้เกือบทุกขั้นตอน อีกอย่างเราไม่ได้คิดว่าหนังสือเล่มแรกจะต้องออกมาเพอร์เฟกต์ เพราะถ้าเราจะรอให้พร้อมกว่านี้เพื่อความเพอร์เฟกต์กว่านี้ ก็ไม่รู้อายุเท่าไรถึงจะได้ทำ คิดว่าเริ่มลงมือเลยดีกว่าแล้วใช้เล่มแรกนี่แหละเป็นการเรียนรู้

ทีมงานหลักๆ มี 2 คน คือฟอง กับอาร์ตไดเร็กเตอร์ (พี่ก๊อง กีรติ เงินมี) เนื่องจากเคยทำงานด้วยกันที่นิตยสาร happening ก็จะรู้แนวทางกันอยู่แล้ว ฟองชื่นชอบงานของเขา มันมี signature อะไรบางอย่างที่เราดูแล้วชอบ คิดว่าตรงกับสไตล์ของหนังสือเรา การทำงานเลยเป็นอะไรที่สนุกมากๆ เพราะต่างคนรู้จักตัวตนกันอยู่แล้ว และเราไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน เรามีอิสระเต็มที่ในพาร์ตของการเขียน ส่วนเขาก็มีอิสระเต็มที่ในการดีไซน์ ทำให้งานชิ้นนี้เป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของของเขาด้วย ในหนังสือจะเต็มไปด้วยภาพประกอบซึ่งเป็นงานสีน้ำที่วาดด้วยมือ มันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความตั้งใจ เพราะต้องใช้เวลาและความละเอียด แต่เขาแฮปปี้ที่จะทำ เพราะจุดประสงค์หลักคือเราอยากทำงานด้วยความสุขและความสนุก ซึ่งตอนนี้ภาพพวกนั้นก็กลายเป็นวอลเปเปอร์บนผนังห้องเขาไปเรียบร้อยแล้วค่ะ

คือมันไม่ได้มีใครบังคับให้เราทำ ฉะนั้นจะปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติ อยากทำยังไงทำเลย ไม่ได้มาคำนึงถึงเรื่องการตลาด ขายไม่ขาย หรืออะไรทั้งนั้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีเพื่อนคนอื่นๆมาช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งที่ตัวเองถนัด มันเป็นความสนุกของการทำสำนักพิมพ์เอง ซึ่งนอกจากการขายหนังสือแล้ว Anya’s Book ก็มีจัดกิจกรรมอย่างอื่นด้วย อย่างการเล่นดนตรีตามร้านหนังสือหรือแกลเลอรี่ เพราะเราต้องการทำให้หนังสือและดนตรีมันไปควบคู่กัน เป็นการพาดนตรีคลาสสิกไปทำความรู้จักกับผู้คนนอกแวดวงคลาสสิกด้วย ใครสนใจสามารถติดตามอัพเดทกิจกรรมที่เพจเฟสบุ๊ก Anya’s Book ได้เลยค่ะ ส่วนหลังจากนี้ ถ้าเล่มแรกเริ่มลงตัว เรามีแพลนจะพิมพ์เล่มต่อๆไปอีก หลักๆ คงจะเป็นแนวท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ ในแบบที่เราชอบ

ในฐานะที่เป็นวัยสร้างสรรค์ มีมุมมองต่อวัยรุ่นสมัยนี้อย่างไร

วัยรุ่นสมัยนี้โชคดีตรงที่มีโอกาสในการเรียนรู้เยอะ เพราะมีอินเตอร์เน็ต อยากดูอยากเห็นอะไร แค่คลิกเข้าไปหาข้อมูล อย่างเพลงใน youtube นี่มีให้ฟังเยอะมาก ถ้าเทียบกับสมัยเราเด็กๆ กว่าจะได้ฟังเพลงที่อยากฟังต้องไปหาซื้อซีดี ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องยืมจากครู จากเพื่อน แต่สมัยนี้เข้าถึงได้หมดทั่วโลก มันกว้างมาก เราจะพบว่ามันมีดนตรีแนวใหม่ๆ นอกเหนือไปจากที่เราเคยรู้จัก และเห็นว่ามีนักดนตรีที่อาจไม่มีชื่อเสียงแต่เก่งๆ เต็มไปหมด หรือแม้แต่การเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้เราเห็นโลกได้มากขึ้น อย่างเครื่องบินโลว์คอสต์นี่ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายได้มาก แล้วรวดเร็วด้วย ฟองคิดว่าถ้าเราได้เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปบ้าง จะทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างทั้งสิ่งรอบข้างแล้วก็ตัวเองด้วย มันให้แรงบันดาลใจและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ทั้งนั้น แต่ก็อย่าลืมว่าทุกอย่างมีสองด้าน อยู่ที่เราว่าจะเลือกเสพอะไร ถ้าเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราก็จะสร้างสรรค์อะไรดีๆ ออกมาได้เยอะมาก

ความฝันหรือสิ่งที่อยากทำในอนาคต

อนาคตใกล้ๆ นี้คงเป็นการเขียนหนังสือเล่มต่อไป แต่อนาคตไกลๆ ไม่ค่อยแพลนเท่าไร เพราะรู้สึกว่าบางทีชีวิตมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความฝันของเราอย่างเดียว จริงๆ ก็อยากเขียนหนังสือและเล่นดนตรีแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะการได้ค้นพบว่าเราทำสิ่งไหนแล้วมีความสุข และได้อยู่กับมันตลอดเวลา มันเป็นอะไรที่พิเศษมากๆแล้ว

ติดตามเรื่องราวและกิจกรรมดีๆของ อัญวรรณ ทองบุญรอด ได้ที่เพจ Anya’s Book

https://www.facebook.com/anyabook

You may also like...