ไมตรี ลิมปิชาติ

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 15  ไมตรี ลิมปิชาติ  เป็นคนนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด อดีตเคยเป็นถึงนักบาสเกตบอลทีมชาติไทย ก่อนหันมาเอาดีทางด้านขีดๆ เขียนๆ เป็นอาชีพหลัก โดยมีงานอดิเรกเป็นพนักงานการประปานครหลวง เขียนเรื่องสั้นและนวนิยายรวมแล้วหลายร้อยเรื่อง แต่ที่ติดหูติดตานักอ่านบ้านเราคงไม่พ้น “ความรักของคุณฉุย” และ “คนอยู่วัด”

ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 15 และเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดที่ทำการของสมาคมนักเขียนฯ จนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ในสมัยการทำงานของตน สมดังปณิธานของนายกสมาคมฯ รุ่นก่อนหน้า ปัจจุบันมีความสุขดีกับการเขียนหนังสือและเขียนรูป

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

เหตุที่อยากเป็นนักเขียนก็เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พออ่านมากๆ ก็ทำให้อยากเขียน อยากมีชื่อเสียงเหมือนนักเขียนที่ชื่นชอบบ้าง
ปัจจุบันก็ยังเขียนทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, สยามกีฬา เหตุที่ยังเขียนหนังสืออยู่ก็เพราะเป็นงานที่รัก มีความสุขเวลาได้เขียนหนังสือ และมีความสุขยิ่งขึ้นเมื่อได้เงินค่าเขียน

 

คุณลักษณะของคนที่จะเป็นนักเขียน และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ

คุณลักษณะของคนที่จะเป็นนักเขียนได้จะต้องเป็นนักอ่าน มีอารมณ์อ่อนไหว ช่างสังเกต ความรู้ไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึก

ผู้ที่เป็นต้นแบบในการเขียนหนังสือของผม ถ้าเป็นบทความ คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, วิลาศ มณีวัต ถ้าเป็นเรื่องสั้น คือ อาจินต์ ปัญจพรรค์, มนัส จรรยงค์ ส่วนการเขียนนวนิยายกับสารคดีท่องเที่ยวไม่มีต้นแบบ

 

หลักในการทำงาน

เขียนเรื่องอะไรก็ได้เพื่อให้คนอ่านรู้เรื่องและชวนติดตาม โดยแทรกสาระเพียงเล็กน้อย ด้วยต้องการให้ได้ประโยชน์บ้าง นอกเหนือจากความสนุก

 

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน และถึงวันนี้ คุณทำได้สมปณิธานนั้นแล้วหรือยัง

ไม่มีปณิธานสูงสุด ผมตั้งใจเขียนหนังสือตามแนวที่ตัวเองถนัดและตามนิสัยของตัวเอง เพราะนักเขียนไม่ควรดัดจริต ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่กรรมการประกวดของค่ายต่างๆ ถ้าปณิธานสูงสุดหมายถึงความพอใจที่ได้เป็นนักเขียนระดับที่ตัวเองต้องการก็ถือว่าพอใจแล้ว

 

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้ภาษาไทยที่ดี ถูกต้อง ใช้สำนวนที่ทำให้ผู้อ่านอ่านเที่ยวเดียวรู้เรื่อง ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย และเนื้อหาจะต้องได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งสอดแทรกอยู่

 

ทัศนะต่อ “วรรณกรรมห่วยแตก”

ตั้งแต่อ่านหนังสือมายังไม่เคยพบวรรณกรรมที่ถูกเรียกว่าห่วยแตก เพราะแต่ละเรื่องเป็นวรรณกรรมที่ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับนักวิจารณ์และผู้อ่าน เพราะย่อมชอบไม่เหมือนกัน คนที่ชอบก็ว่าดี ถ้าไม่ชอบก็ว่าไม่ดี อย่างกับวรรณกรรมบางประเภทที่ถูกวิจารณ์ว่า “น้ำเน่า” นั้น แสดงว่าผู้วิจารณ์มองมุมเดียว และไม่ได้ติดตาม เพราะจริงๆ แล้วนวนิยายแต่ละเรื่องมีคุณค่าในชีวิตประจำวันที่จะนำไปแก้ปัญหาชีวิตได้ ผมมั่นใจว่า ถ้านายแพทย์ที่ฆ่าภรรยาเป็นแฟนนวนิยายไทย หรือดูละครทีวี รับรองว่าจะไม่ฆ่าภรรยาเด็ดขาด

สรุปแล้ว วรรณกรรมห่วยแตกไม่มี มีแต่นักวิจารณ์บางคนห่วยแตก เพราะจะเอาความชอบไม่ชอบของตนเองมาเป็นบรรทัดฐาน

 

มองวงการวรรณกรรมไทย

ผมมองว่า วรรณกรรมไทยโดยทั่วไปไปได้ดีและมีเกือบทุกแนว ถ้าจะมีน้อยไปบ้างก็ประเภทหนังสือเด็กก่อนวัยรุ่น แต่ที่ยังไม่ก้าวไกลก้าวหน้าเท่าที่ควรก็เพราะเมืองไทยมีนักแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยมาก แต่หายากมากที่จะลงทุนแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอื่น

ผมมั่นใจว่า งานศิลปะของไทยเกือบทุกประเภทสู้กับต่างชาติได้ เมื่อเร็วๆ นี้คนไทยยังได้เป็นแชมป์โลกในการแสดงหุ่น หรือแม้แต่การแกะสลักน้ำแข็ง คนไทยก็ยังเคยได้เป็นแชมป์โลก เหตุที่การแสดงหุ่นและการแกะสลักน้ำแข็งไทยได้เป็นแชมป์โลกก็เพราะไม่ต้องแปลเหมือนศิลปะประเภทวรรณกรรม ถ้าสุนทรภู่เป็นคนอังกฤษหรืออเมริกัน รับรองว่าคนทั่วโลกจะต้องรู้จักท่านไม่แพ้เช็คสเปียร์

 

นักเขียนคนโปรด และวรรณกรรมเล่มโปรด

นักเขียนโปรด มี ป.อินทปาลิต, สด กูรมโรหิต, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มนัส จรรยงค์, วิลาศ มณีวัต, อาจินต์ ปัญจพรรค์, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

วรรณกรรมชิ้นโปรด มี ชุด ๓ เกลอ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทปาลิต, ระย้า ของ สด กูรมโรหิต, สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เรื่องสั้นชุดเฒ่า ของ มนัส จรรยงค์, เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์, ชุดใต้ถุนป่าคอนกรีต ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และ บทความทั่วไป ของ วิลาศ มณีวัต

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...