ดีไซเนอร์ คนดัง ร่วมโชว์ไอเดียทำแฟชั่นจากผ้าปัก ใน นิทรรศการงานปักศิลปาชีพ

ดีไซเนอร์ และนักออกแบบคนดัง ร่วมโชว์ไอเดียทำแฟชั่นจากผ้าปัก เป็นกิจกรรมไฮไลท์ในงาน “นิทรรศการงานปักศิลปาชีพ” สร้างมุมมองใหม่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงตลาดมากขึ้น

งานปักซอยแบบไทยโบราณ เป็นงานแผนกหนึ่งของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระราชดำริให้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ราษฎร โดยเริ่มจากการหัดปักลายดอกไม้เล็กๆ และพัฒนาขึ้นไปจนเป็นภาพใหญ่ที่ปักอย่างละเอียด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัด “นิทรรศการงานปักศิลปาชีพ” แสดงผลงานผ้าปักของชาวไร่ชาวนาทั่วประเทศ ผู้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ พร้อมภาพต้นแบบให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน เพื่อให้สมาชิกปักผ้าศิลปาชีพเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตน สร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีกำลังใจที่จะพัฒนาฝีมือให้งดงามยิ่งขึ้นตลอดไป

ภายในงานนี้มีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ งานแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าปักศิลปาชีพ ที่ริเริ่มขึ้นโดย คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นการรวมตัวของดีไซเนอร์แบรนด์ดัง และนักออกแบบ อาทิ พลพัฒน์ อัศวะประภา แบรนด์ Asava,  ศรี วอนบูเรน จาก โลตัส อาร์ท เดอ วิฟว์, ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, ม.ล.รจนาธร ณ สงขลา, กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ แบรนด์ GGUB, เกรซ มหาดำรงค์กุล, ภูภวิศ กฤตพลนารา แบรนด์ Issue, ณัฏฐ์ มั่งคั่ง แบรนด์ Kloset, เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ แบรนด์ Beyond Living, กรัชเพชร อิสสระ แบรนด์ Kemissara, มนตร์ลดา พงษ์พานิช แบรนด์ Monlada, , พัชทรี ภักดีบุตร แบรนด์ Erb ฯลฯ ร่วมออกแบบผลงานจากผลิตภัณฑ์ผ้าปักของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้คนทั่วไปได้เห็นคุณค่าของผ้าปักที่สร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ ดูทันสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ ต่อไป ซึ่งผลงานต่างๆ เหล่านี้ ได้มีการสร้างสรรค์สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้นำมาจัดแสดงภายในงาน เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้ชมอย่างใกล้ชิด

ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมาร่วมชมความสวยงามตระการตา ในงานแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าปักศิลปาชีพ กล่าวว่า เมื่อเห็นผลงานแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ถ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตรจากข่าวที่ลงเกี่ยวกับมูลนิธิฯ คงภาคภูมิพระทัยว่าสิ่งที่ท่านได้ทรงพยายามต่อสู้มา เพื่อทำให้ผลงานของลูกหลานชาวไร่ชาวนาไทย โดยเฉพาะคนยากคนจนในภาคใต้ เป็นยอดฝีมือในทางปักผ้า ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

การที่ดีไซเนอร์ทั้งหลายนำผลงานผ้าปักของชาวบ้านไปออกแบบได้สวยงาม คนปักผ้าคงภาคภูมิใจมากเพราะดีกว่าใส่กรอบโชว์เฉยๆ แต่สามารถนำมาผสมผสานเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้ต่างๆ เพื่อขายออกตลาดได้ ช่วยเพิ่มคุณค่าและแสดงให้เห็นถึงฝีมือการปักของคนไทยจริงๆ ไม่ใช่เครื่องจักร  ” ท่านผู้หญิงภรณี กล่าว

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ และได้เชื้อเชิญดีไซเนอร์และคนดังทั้งหลาย มาแสดงฝีมือการออกแบบงานผ้าปักให้เกิดผลงานที่มีคุณค่ายิ่งขึ้น เผยถึงที่มาของแนวคิดดังกล่าวว่า เพื่อช่วยเผยแพร่ผลงานของศูนย์ศิลปาชีพซึ่งมีอยู่มากมายให้สามารถต่อยอดไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ได้ จึงคิดกิจกรรมพิเศษนี้ขึ้นมา

“ดิฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ หอศิลป์ฯ แห่งนี้ได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการดังกล่าวขึ้น และอยากให้เยาวชน คนหนุ่มสาว ประชาชนทั้งหลายที่อาจจะไม่สนใจงานผ้าปักเพราะคิดว่าเป็นงานโบราณไม่ทันสมัย ได้เข้ามาชม จึงได้เชิญชวนดีไซเนอร์หนุ่มๆ สาวๆ ชั้นนำของประเทศไทยมาช่วยกันคิดว่าผ้าปักเหล่านี้จะนำมาทำอะไรดี และวันนี้เหล่าดีไซเนอร์ ศิลปินทั้งหลายได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ชมกันเรียบร้อยแล้ว ต้องขอขอบคุณทุกคนโดยเฉพาะคุณหมู-พลพัฒน์ ที่เป็นแกนนำร่วมกับ คุณมุก-เพลินจันทร์ มาช่วยกันคิด และประสานงานกับดีไซเนอร์ท่านอื่นๆ ที่มาช่วยงานในครั้งนี้“ คุณหญิงชดช้อย กล่าว

คุณหญิงชดช้อย กล่าวเสริมว่า การที่ดีไซเนอร์แบรนด์ดังๆ นำงานปักผ้าไปคิดรูปแบบใหม่ๆ เป็นการดึงดูดความสนใจให้คนทั่วไปเข้ามาดูนิทรรศการ นอกจากนี้คนของศิลปาชีพที่เป็นคนผลิตผลงานจะได้มีความคิดใหม่ๆ ว่างานฝีมืออันสวยงาม สามารถนำไปสร้างสรรค์งานที่ขายในตลาดได้เพิ่มขึ้น

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำในการรวบรวมดีไซเนอร์มาร่วมงานในครั้งนี้ คือ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา เจ้าของแบรนด์ Asava กล่าวถึงผลงานของตนเองที่นำมาเสนอในครั้งนี้ว่า เนื่องจากผ้าปักมีความสวยงามมาก เมื่อได้โจทย์มาแล้วจึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ้าปักเหล่านี้มีความร่วมสมัย โดดเด่นยิ่งขึ้น เพื่อให้คนหนุ่มสาวนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ จึงนำมาดีไซน์เสื้อผ้าให้มีความเป็นสากลขึ้น

“แบรนด์ Asava กำลังทำค็อลเล็คชั่นสปริงซัมเมอร์อยู่ 2013 อยู่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฮาวาย เราจึงใช้ภาพปักรูปนกแก้ว ที่เหมาะกับแคแร็กเตอร์ของเสื้อผ้า มาใช้ผนวกกับความเป็นสปอร์ตแวร์ของเรา โดยนำผ้าปักรูปนกแก้วมาปักไว้ด้านหลังของเสื้อแขนยาวที่ใส่เข้าคู่กับกระโปรงสั้น เท่ๆ ซึ่งสีสดใสของผ้าปักทำให้เสื้อผ้ามีความโดดเด่นขึ้น งานชิ้นนี้เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น นะครับมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น”

นอกจากนี้ หมู-พลพัฒน์ ยังนำชมผลงานชิ้นอื่นๆ ของดีไซเนอร์ ศิลปินทั้งหลาย ว่ามีอะไรมานำเสนอบ้าง อาทิ
– สาวสวย เกรซ มหาดำรงค์กุล นอกจากรับหน้าที่พิธีกรในงานนี้แล้ว ยังมีผลงานการออกแบบมาร่วมแสดงด้วยเช่นกัน คือ กล่องไม้ใส่เครื่องประดับ โดยเลือกผ้าปักที่มีขนาดไม่ใหญ่มากมาตกแต่ง โดยทำออกมาคล้ายหีบสมบัติที่เป็นแฮนด์เมด มีตัวล็อคเป็นของโบราณที่นำไปชุบใหม่ เป็นทองเหลืองทั้งหมด ด้านในกล่องเป็นกระจก ด้านข้างมีตัวล็อคงวงช้างทำจากทองเหลือง สามารถใช้งานได้จริงหรือตั้งโชว์ก็ได้


– เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ จาก Beyond Living ทำผลงานสื่อผสม ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกกล้วยไม้ที่เติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่บนต้นไม้ โดยนำกระจกเก่ามาทำเป็นลวดลายของเปลือกไม้ ผสมผสานกับงานปักดอกกล้วยไม้จากช่างฝีมือของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความงามตามธรรมชาติ


– ดีไซเนอร์สาวรุ่นใหม่ไฟแรง กรัชเพชร อิสระ จากแบรนด์ KEMISSARA อธิบายถึงชุดที่นำมาแสดงว่า เป็นเดรสยาวสีน้ำตาลอัดพลีททั้งตัวทำให้มีความร่วมสมัยขึ้น มีผ้าปักอยู่ด้านหน้ากลางลำตัว มีทั้งรูปนก ดอกไม้สีแดงสด ดูโดดเด่นสวยงาม


– ส่วนผลงานของ มนตร์ลดา พงษ์พานิช แบรนด์ Monlada เป็นเดรสยาวเสื้อเกาะอกมีสายคล้องคอ สีเลือดหมู ช่วงเอวเป็นลายปักรูปกินรี ที่แสนอ่อนช้อย ตัวกระโปรงสีชมพูสดซึ่งหมายถึงการใส่ความรักลงไปในผ้าไทยชุดนี้ด้วย


– ทางด้าน วรรณพร โปษยานนท์ จาก ROUGE ROUGE นำผ้าปักไปสร้างสรรค์เป็นกระเป๋าทรงพัด ศตวรรษที่ 18 ให้กลายเป็นกระเป๋าเครื่องประดับของหญิงสาวในยุคปัจจุบัน กระเป๋าทรงพัดทำจากหนังวัวชั้นดีนำเข้าจากอิตาลี ตกแต่งด้วยพู่โลหะด้านล่างของกระเป๋า ส่วนด้านหน้าใช้ผ้าปักลายไก่ฟ้า ประณีตทั้งการไล่สีของเส้นไหมและลายเส้นการปักที่สมจริง


– ผลงานของ ณัฏฐ์ มั่งคั่ง จาก Kloset เป็นชุดผ้าไหมที่ตัดเย็บแบบร่วมสมัย มีผ้าปักลวดลายธรรมชาติปักอยู่ด้านหน้าของตัวเสื้อ


– ในขณะ ภูภวิศ กฤตพลนารา จาก Issue ดีไซน์ออกมาในรูปแบบเสื้อกิโมโนโบราณ ที่มีผ้าปักผสมผสานอยู่ทั้งตัวนับสิบชิ้น เป็นรูปดอกไม้ล้วนๆ ดูสวยงามแปลกตา


– ม.ล.จิราธร จิรประวัติ นำเสนอภาพวาดลายเส้นรูปผู้หญิง โดยนำผ้าปักลายดอกไม้  ไปประดับที่เส้นผม เป็นการผสมผสานลายเส้นและลายปักผ้าได้อย่างลงตัว


– ม.ล.รจนาธร ณ สงขลา ออกแบบตุ๊กตาโคมไฟโบราณ ที่ตัดเย็บด้วยผ้าปักลวดลายสวยงาม

– โอ่ง-กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ จาก GGUB เลือกผลงานผ้าปักไป 9 ชิ้น มีทั้งลายรูปสัตว์และดอกไม้ เน้นโทนสีขรึมๆ ไม่สดมาก เพื่อคุมโทน โดยสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ในสไตล์ how to ซึ่งสามารถโชว์ลายผ้าปักได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องตัดส่วนใดทิ้ง มี 2 ชิ้น

– ส่วน ศรี วอนบูเรน จาก โลตัส อาร์ท เดอ วีฟว์ (Lotus Arts de Vivre) นำผลงานมาโชว์ถึง 4 ชิ้น คือ กระเป๋าผ้าปัก ประดับตกแต่งด้วยเพชรและทอง เพื่อเสริมความงดงามยิ่งขึ้น 2 ใบ และหมอนอิงใบใหญ่ 2 ใบ ที่รังสรรค์จากผ้าปักงานมือพร้อมลายเส้นทอง 24 k บริเวณมุมบน สายเส้นแต่ละเส้นตกแต่งด้วยไหมสีแดง ทอง และดำ บนพื้นผ้าไหม


– พัชทรี ภักดีบุตร จาก ERB (เอิบ) ออกแบบตุ๊กตากลิ่นหอม มีทั้ง หมีน้ำตาล-เหลือง, หมีขาว-ม่วง และ หมูสีชมพู

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม นิทรรศการผลงานการออกแบบ และงานแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าปักศิลปาชีพ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ทุกวันเว้นวันพุธ (วันปิดทำการของหอศิลป์)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-2815360-1

หรือที่ www.facebook.com/supportfoundationofhmq และ http://queengallery.org 

 

You may also like...