The Local Machine

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่เพียงสร้างความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่มันยังสร้างสไตล์ให้กับงานศิลป์ ที่ยังคงอุดมการณ์ในการสะท้อนความเป็นจริงในสังคมไว้ไม่เคยเปลี่ยน

ไม่ใช่แค่เพียงความน่าสนใจเท่านั้น ก้าวใหม่ของวงการศิลปะในศตวรรษใหม่นี้ ยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้คนในโลกแห่งเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผล ช่วยดำรงอุดมการณ์ของศิลปินในการสื่อสัมพันธ์กับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พัฒนา ชวนมานะ หรือ หัวปลี คือศิลปินเลือดใหม่ ที่เลือกนำเสนอผลงานศิลปะของเขาผ่านงาน Video installation ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง การฉายภาพเคลื่อนไหว กับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เล่าถึงผลงานชื่อ The Local Machine ของเขาว่า

“ ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ ตอนเป็นเด็กผมมักใช้เวลาอยู่กับปู่และย่า ปู่ผมเป็นช่างปั้นจบจากศิลปากร ทุกวันภาพที่ผมเห็นคือปู่นุ่งผ้าขาวม้าทำงาน ใช้สมาธิอยู่กับการวัดขนาดและขึ้นรูปดินเหนียวกระทั่งเก็บรายละเอียดงาน ปัจจุบันแม้ว่าปู่ผมจะเสียไปแล้ว แต่ภาพของปู่กับผ้าขาวม้ายังติดอยู่ในสมองผม ประกอบกับช่วงที่คุณแม่ผมย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี ผมได้เห็นการทอผ้าด้วยมือ ได้เห็นความตั้งใจและความทุ่มเทของคนทอผ้า คุณค่าของผ้าขาวม้าที่ผมเห็นนั้นมันจึงไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุแต่มันมีเรื่องราวที่มากับตัวของมันด้วย ภาพของคุณยายที่กำลังทอผ้าทำให้ผมคิดถึงภาพของปู่ที่กำลังปั้นดิน มันมีความเหมือนกันอยู่ตรงที่มันเป็นชีวิตของเขา คุณจะเห็นมันได้จากผลงาน มันสะท้อนความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติออกมา จากการที่ผมได้พูดคุยกับคนทอผ้า ผมก็เห็นปัญหาที่เกิดจากความเจริญของวัตถุ เครื่องจักรกำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ คุณยายคนหนึ่งเล่าว่า เคยมีคนทอผ้าจำนวนมาก แต่เดี๋ยวนี้หันไปทำงานในโรงงานกันหมด จากคำพูดของคุณยาย ทำให้ผมเกิดความคิดที่จะทำงานชุด The Local Machine จุดประสงค์เพื่อตั้งคำถามต่อผู้ชมถึงทุกอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน

ผมเลือกใช้งาน Video installation มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแนวคิดของผม เพราะจุดเด่นของงานชนิดนี้คือ การที่ผู้ชมจะได้รับการกระตุ้นจากสื่อหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ภาพเคลื่อนไหว แสง เสียงสัมผัสทางกาย แม้แต่รสและกลิ่นก็ถูกนำมาใช้ในงานประเภทนี้ ประสบการในการชมงานจะแตกต่างจากงานประเภทอื่นๆ งานประเภทนี้มักกระตุ้นให้ผู้ชมใช้ความคิดไตร่ตรองไปพร้อมๆกับการชมงานที่อยู่รอบตัว ตัวงานมักถูกมองว่าเป็นภาววิสัย(แรงกระทบจากปัจจัยภายนอก- Objectively ) แต่แอบแฝงความเป็นอัตตวิสัย(แรงกระทบจากปัจจัยภายใน- Subjectively )ไว้ในตัวงานด้วย

ข้อดีของงานชนิดนี้คือการเข้าถึงผู้ชมได้ใกล้ชิด ผู้ชมสามารถเข้าไปเดินอยู่ในงาน ไปสัมผัส และมีส่วนร่วมกับงาน ภาพวีดีโอก็สื่อถึงผู้ชมได้อย่างชัดเจน เป็นที่คุ้นเคย ข้อเสียของมันก็มี ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มันใช้ทุนสูงมาก แต่สุดท้ายตัวงานอาจไม่สามารถเก็บไว้เป็น Object Art เพื่อซื้อขายได้ ทำให้เห็นงานประเภทนี้ค่อนข้างน้อยมากในบ้านเรา ก่อนหน้านี้ ก็มี อ.อำฤทธิ์ ชูสุวรรณ , อ.สาครินทร์ เครืออ่อน, อ.สุวรรณ เมธาพิสิทธิ์ ที่สร้างงานประเภทนี้

แม้ว่างานแบบนี้จะมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ในบ้านเรายังถือเป็นสิ่งใหม่ แต่ผมก็มองว่ามันจะมีการพัฒนามากขึ้นในอนาคต เพราะในเวลานี้การตื่นตัวทางศิลปะมีมาก โดยเฉพาะการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ความแปลกใหม่ของงานเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังมองหา สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างงานพวกนี้คือความแนบเนียนในการสร้างงาน การวางแผน การจัดการกับพื้นที่ หัวข้อในการทำงานต้องน่าสนใจ สิ่งที่ศิลปินนำเสนอจะต้องไปกระตุ้นคนดูให้ได้คิด เขาจะแปรความหมายของงานตามประสบการณ์ของเขาเองและผมคิดว่าความงามก็เป็นสิ่งที่ศิลปินไทยไม่ควรละเลยเช่นกัน ” หัวปลีกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ
 

You may also like...