ภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงคราม

ภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงครามระยะฟื้นตัว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี ๒๔๘๘ ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม เพราะขบวนการเสรีไทยและความสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา กิจการต่างๆของประเทศจึงค่อยๆ ฟื้นตัว

กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยก็เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพากย์ ได้เริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ไทยพากย์โดยใช้ฟิล์มขนาดเล็ก ๑๖ มิลลิเมตรขึ้นมาอีก

ในระยะสามสี่ปีแรก คือจากปี ๒๔๘๙ ถึง ๒๔๙๒ ปรากฏว่ามีการสร้างภาพยนตร์ไทยดังกล่าวออกมาเฉลี่ยปีละประมาณสิบเรื่อง และในบรรดาภาพยนตร์ไทยหลังสงครามระยะแรกฟื้นตัวนี้ มีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่คือ “สุภาพบุรุษเสือไทย” ของปรเมรุภาพยนตร์ สำเนา เศรษฐบุตร เป็นผู้อำนวยการสร้าง ถ่ายภาพและกำกับการแสดงโดย ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และ แท้ ประกาศวุฒิสาร นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ นักแสดงซึ่งมีชื่อเสียงมาจากละครเวที “สุภาพบุรุษเสือไทย” ออกฉายในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๒ สามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเวลานั้น

ความสำเร็จอย่างสูงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มิลลิเมตร สีธรรมชาติ และเป็นภาพยนตร์พากย์ มีผลให้วงการสร้างภาพยตร์ไทยตื่นตัว มีผู้กระโจนเข้ามาสู่วงการนี้อย่างมากมายทันที ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาฉายในปีต่อมา คือ ๒๔๙๓ ซึ่งปรากฏว่าพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึงห้าเท่าตัว และนับจากนั้นมาจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาแต่ละปี จะอยู่ในราว ๕๐ ถึง ๖๐ เรื่อง ติดต่อกันอยู่เช่นนี้นับสิบปี

ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายในระยะนี้ มิได้ตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ไม่มีการสร้างโรงถ่ายใหญ่โตอย่างสมัยก่อนสงคราม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทำงานเล็กๆ ในหมู่ครอบครัวหรือญาติมิตร

ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเหล่านี้ มีชื่อกิจการต่างๆกันมากมาย เช่น ปรเมรุภาพยนตร์ ภาพยนตร์พานิช บางกอกฟิล์มหรือกรุงเทพภาพยนตร์ สนั่นศิลปภาพยนตร์ เนรมิตรภาพยนตร์ สถาพรภาพยนตร์ นครพิงค์ภาพยนตร์ สหนาวีไทย อัศวินภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ รัตนะภาพยนตร์ เอเซียภาพยนตร์ สุโขทัยภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเข้ามาเป็นผู้สร้างด้วย เช่น ภาพยนตร์ออมสินศึกษา ภาพยนตร์กองสวัสดิการกรมตำรวจ ภาพยนตร์กองสวัสดิการกองทัพบก

ผลงานภาพยนตร์ไทยที่สำคัญในระยะนี้ เช่น “รอยไถ” ของกรุงเทพภาพยนตร์ (๒๔๙๓) “พันท้ายนรสิงห์” ของอัศวินภาพยนตร์ (๒๔๙๓) “วนิดา” ของละโว้ภาพยนตร์ (๒๔๙๘) เป็นต้น

 

You may also like...