Pickpocket

Pickpocket
อาชญากรกับการลงทัณฑ์ด้วยความโดดเดี่ยว
ลักษณะที่อาชญากรในหนังแนวทรชน ยุคหนึ่งมักจะมีร่วมกันก็คือเป็นพวกชอบโดดเดี่ยวจากสังคม ไม่วางใจใคร มองเห็นผู้หญิงสวยเป็นตัวอันตราย และเหมือนจะไม่ยอมให้ใครรักหรือรักใครได้ง่ายๆ

ถ้ามองกันในระดับที่ไม่ลึกซึ้งอะไร หนังในแนวนี้อาจได้อิทธิพลจากนวนิยายจำพวกที่เรียกว่า นิยายปกดำ (S?rie Noir) ที่ว่าไปแล้วก็คือวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่คลี่ขยายคลายออกให้เห็นด้านมืดของมนุษย์

นิยายปกดำนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างมากในฝรั่งเศส หรือก่อนหน้านั้นในอเมริกาก็มีนวนิยายประเภทเดียวกันนี้ที่เรียกว่าแนว Hard-Boiled (ที่เรามักเข้าใจไปว่าเป็นแนวนักสืบ) ส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยแบล็คมาสค์ สำนักพิมพ์เก่าแก่ที่มีผลงานของนักเขียนชั้นยอดอย่างดาเชียล แฮมเมตต์, จอห์น แคร์รอล ดาลี หรือในรุ่นต่อๆ มาอาทิเช่น จิม ทอมป์สัน, เดย์ คีน และมิคกี้ สปิลเลน

การโดดเดี่ยวตัวเองจึงเป็นเสมือนการเปิดภวังค์ให้ตัวละครที่มักจะเป็น ‘ สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ‘ ได้พูดบ่นรำพึงรำพันกับตัวเอง ( monologue) หรือเพื่อเล่าเรื่องของพวกเขาโดยไม่พยายามแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับตัวละครอื่นๆ มากไป

ในตัวบททางวรรณกรรมหรือละคร วิธีการนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่กับภาพยนตร์บทรำพึงของตัวละครที่มีลักษณะไม่ต่างจากการพากย์ทับลงไปในเหตุการณ์เป็นสิ่งที่น่าสะดุดใจ ยิ่งได้ถ้อยคำที่ลงตัวผนวกกับบรรยากาศของหนังที่ลึกลับซับซ้อน บทตอนที่ตัวละครรำพึงออกมาก็จะมีอำนาจสะกดผู้ชมเช่นเดียวกับความมืดในโรงที่เป็นสารัตถะซึ่งห่อหุ้มปกคลุมผู้ชมไว้ขณะที่ดูหนังนั่นเอง

บทรำพึงที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังประเภทนี้ (ที่บ้างก็ตีขลุมเรียกว่าฟิล์มนัวร์) จึงกลายเป็นเสมือนมาตรวัดความลึก หรือการหยั่งระดับความนึกคิดตรึกตรองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง คล้ายคลึงกับวิธีการพูดป้อง ( soliloquy) ในละครหลายๆ เรื่องของเชคสเปียร์ ที่ถ้อยคำที่เหมือนไม่ได้เจาะจงพูดกับใครเป็นการเฉพาะได้กลายเป็นวจนะสำคัญอันสามารถเปิดเผยความจริงที่ยิ่งใหญ่ออกมา กรณีตัวอย่างที่ใช้เปรียบเทียบได้ก็คือละครเรื่อง แมคเบธ ที่ตัวเอกแมคเบธได้รำพึงออกมาว่า “ ชีวิตเป็นเพียงภาพเงา (…) เป็นเพียงเรื่องเล่าของคนโง่เง่าที่ดีส่งเสียงและเกรี้ยวโกรธ หาได้มีความหมายใดไม่ ”

การรำพึงนี้คล้ายกับจะเป็นการพูดกล่าวกับผู้ชมแทนที่จะเป็นแค่การรำพึงกับตัวเองธรรมดาๆ และคำว่า ส่งเสียงและเกรี้ยวโกรธ ( Sound and Fury) นี้เองเป็นที่มาของชื่อนวนิยายชิ้นสำคัญของวิลเลียม โฟล์กเนอร์

Pickpocket ( 1959) เป็นผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสโรแบร์ แบรสซ็ง ในช่วงจังหวะและเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ผู้กำกับมีพลังการสร้างสรรค์สูงเกือบที่สุด ผู้กำกับชั้นยอดหลายต่อหลายคนก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้

อาชญากรรมยังเป็นองค์ประกอบของพล็อตที่คลาสสิค หาก Pickpocket ของแบรสซ็ง (ผู้กำกับที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับหนังแนวทรชนโดยตรงกลับ) กลับวางมุมมองความคิดต่ออาชญากรรมไปอีกด้าน เหมือนว่าแบรสซ็งได้ใช้กล้องส่องดวงวิญญาณและความลึกซึ้งที่อยู่ในตัวอาชญากรผู้โดดเดี่ยว เพื่อวิเคราะห์หรือมองหาองค์ประกอบที่สลับซับซ้อนภายในตัวตนนั้น

แม้ว่าโรแบร์ แบรสซ็งจะได้ต้นเค้าความคิดของ Pickpocket มาจาก อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ ของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี แต่คงจะไม่ถูกต้องเท่าไรนักหากจะเข้าใจว่า Pickpocket เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยาย เพราะที่จริงหนังเรื่องนี้แทบไม่เหลือเค้าโครงของนิยายเลยแม้แต่น้อย หากจะมีส่วนที่เกี่ยวโยงกันอยู่ก็คงจะเป็นแก่นความคิดที่แบรสซ็งได้นำเอาประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการกระทำของคนคนเดียวมาขบคิดอีกคำรบหนึ่ง

ประเด็นทางปรัชญาที่ดอสโตเยฟสกีนำเสนอไว้ใน อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ เป็นเรื่องการกระทำที่กลับตาลปัตรของคนบางคน อย่างเช่น ปัญญาชนที่ก่ออาชญากรรมโดยไม่มีเหตุจูงใจ หรือถ้าเปรียบให้เข้ากับบริบทร่วมสมัยก็คือการก่อการร้ายของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ทดสอบว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ ‘ อาชญากรรม ‘ ของดอสโตเยฟสกีในที่นี้จึงไม่ใช่คดีอาชญากรรมที่ก่อขึ้นด้วยความจำเป็นหรือเป็นการปล้นฆ่าด้วยความจงใจ หากเป็นเหมือนการทดลองทฤษฎีความคิดบางอย่างที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์จำนวนหยิบมือหนึ่ง

แบรสซ็งเปลี่ยนพล็อตการฆ่าชิงทรัพย์ไปเป็นการล้วงกระเป๋า ตัวละครเอกราสโคนิคอฟของดอสโตเยฟกีจึงกลายมาเป็นมิแชล ‘ ปัญญาชนนักล้วง ‘ ซึ่งแม้จะเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงน้อยลงกว่าเดิม แต่ก็เป็นเพราะแบรสซ็งต้องการจะหลบให้พ้นเงาของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเขาจึงเลือกหนทางของการเป็นนักล้วงให้กับตัวเอกของเขา

ซึ่งว่าไปแล้วฉากการล้วงกระเป๋าในหนังอาจจะน่าสนใจกว่าการฆ่าด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยที่สุดแบรสซ็งก็สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อว่าการกระทำนั้นเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง และเราคงต้องหมายเหตุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า นี่อาจเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ได้ฉายให้เห็นลีลาการล้วงกระเป๋า การฉกชิงทรัพย์ที่แนบเนียนพริ้วไหวราวกับท่วงท่าของในนาฏกรรม

มิแชลตัวเอกของ Pickpocket เดินไปสู่เส้นทางสายนักล้วงหลังจากที่เขาเริ่มปักใจเชื่อในทฤษฎีที่เขาค้นคว้าหรือเขียนเป็นบทความชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าอาชญกรรมเล็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

มิแชลได้ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอยู่ในห้องเช่าใต้หลังคาที่คับแคบและปกคลุมไปด้วยฝุ่น ถึงแม้เขาจะมีเพื่อนสนิทอย่างฌ็อง (ที่อาจเปรียบได้เป็นราซูมิฮินเพื่อนผู้แสนดีของราสโคนิคอฟ) และฌานหญิงสาว (ที่เหมือนเป็นการผนวกรวมกันของหญิงคนรักของราสโคนิคอฟและน้องสาวของเขา) แต่กระนั้นทั้งฌ็องและฌานเองก็ไม่เคยรับรู้พฤติการณ์นอกกรอบของมิแชลเลยแม้แต่น้อย มิแชลกลายเป็นนักล้วงอาชีพหลังจากที่เขาได้พบกับนักล้วงอีกคนหนึ่งที่สอนเทคนิคต่างๆ ที่เขาไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

ในทุกที่ของเมืองได้กลายเป็นพื้นที่ที่มิแชลและเพื่อนใช้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นบนถนน ริมทางเท้า ธนาคาร สถานีรถไฟ หรือบนขบวนรถ การทำงานเป็นขบวนการของพวกเขาทำให้การฉกชิงทรัพย์แต่ละครั้งมีผู้เสียหายมากกว่าหนึ่งคนเสมอ

ภาพของคดีเล็กๆ ถูกขยายให้เห็นเป็นภาพของอาชญากรรมที่ทวีรุนแรงขึ้น และผลที่ตามมาก็คือเพื่อนนักล้วงของมิแชลถูกจับกุมได้ในที่สุด ส่วนมิแชลนั้นรอดมาได้

หลังจากหลบหนีไปต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี มิแชลกลับมาเจอฌานอีกครั้งในสภาพของหญิงหม้ายที่มีลูกอ่อน ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจนข้นแค้น นี่เป็น ‘ ความเปลี่ยนแปลง ‘ ที่ไม่มีในนิยาย และเพื่อช่วยเหลือฌาน มิแชลตัดสินใจที่จะก่ออาชญากรรมของเขาอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นอาชญากรรมครั้งสุดท้ายที่นำพาเขาไปสู่การลงทัณฑ์ ในตอนจบของ Pickpocket คนที่เชื่อในพระเจ้าเพียงไม่กี่นาทีอย่างมิแชลได้กล่าวบทรำพึงของอาชญากรหนุ่มที่กินใจผู้ชมว่า

“ เพื่อที่จะรักใครสักคน พระเจ้าบันดาลให้เขาเลือกเส้นทางที่ยาวไกลนี้ ”

นี่เป็นอาการที่ไม่ค่อยมีอยู่ในหนังแนวทรชนทั่วไป หรือที่สำคัญมันเป็นเสียงจากคลื่นหัวใจที่มีจังหวะเต้นแตกต่างไปจากอาชญากรผู้โดดเดี่ยว

You may also like...