ภาพยนตร์ไทย ยุค มิตร เพชรา

ภาพยนตร์ไทย ยุค มิตร-เพชรา
เมื่อโครงการจัดตั้งองค์การผลิตภาพยนตร์แห่งชาติล้มไปการพัฒนาภาพยนตร์ไทยก็เป็นไปเองตามยถากรรมอีก ประเทศไทยสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคสมัยแห่งการเร่งรัดพัฒนาประเทศโดยได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆจากสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่

เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วในระบบการค้าเสรี สังคมเมืองขยายตัว จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ตลาดสินค้าและบริการต่างๆเปิดกว้างและแข่งขันกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยนายกรัฐมนตรีที่สืบต่อมาคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นับแต่ปี ๒๕๐๖ เป็นต้นมา

ในภาวการณ์เช่นนี้เอง กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยในระบบ ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ ก็ได้โอกาสขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างเต็มที่เช่นกัน ปริมาณการผลิตภาพยนตร์เฉลี่ยต่อปีมีอัตราสูงถึง ๖๐-๗๐ เรื่อง

จำนวนผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ยังเป็นไปในลักษณะเดิมคือมีกลุ่มผู้สร้างมืออาชีพซึ่งยังคงทำกิจการต่อไปเรื่อยๆ กับมีกลุ่มผู้สร้างรายใหม่ๆ อยากเสี่ยงโชคหมุนเวียนเข้ามาในวงการตลอด

ช่วงวลากว่าสิบปีของวงการสร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตรพากย์ คือนับจากหลังสงครามเป็นต้นมา และสร้างกันถึงปีละ ๖๐-๗๐ เรื่อง นับว่านานและมากพอที่วงการนี้จะสั่งสมความจัดเจนเกิดระบบของตัวเองขึ้น

ระบบเหล่านี้ เช่น เกิดการแบ่งตลาดการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ออกเป็นสายตามภูมิภาค คือ สายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และแปดจังหวัดรอบพระนคร เกิดระบบทุ่มโฆษณาแข่งขันกัน ตั้งแต่การประโคมข่าวทางสื่อมวลชนก่อนการถ่ายทำ การทำใบปิดโฆษณา การทำป้ายโฆษณาขนาดมหึมาติดตั้งริมถนน การโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์ ไปจนถึงการจัดรายการพิเศษบนเวทีโรงภาพยนตร์ในรอบปฐมทัศน์

วิธีการถ่ายทำและวิธีการนำเสนอเรื่อง ก็ได้รับการสั่งสมจนกลายเป็นระบบสูตรสำเร็จ เช่นภาพยนตร์ไทยเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร จะต้องมีเนื้อหาผสมรวมทุกรสชาติ คือมีทั้งชีวิตต่อสู้ โศกเศร้ากินใจ มีลึกลับตื่นเต้น มีชกต่อยโลดโผน มียั่วยวนทางเพศ มีรักหวานชื่นใจ มีตลกคะนอง และทุกเรื่องจะต้องจบอย่างลงเอยด้วยดีมีสุข

ภาพยนตร์ไทยยุคนี้ทุกเรื่องจะถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สี ไม่มีใครกล้าสร้างภาพยนตร์ขาว-ดำอีกเลย ระบบอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๑๓ คือระบบผูกขาดนักแสดงคู่พระและนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดงคู่พระและนางที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือ มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฏ์ ระบบนี้เกิดขึ้นจากความรักความนิยมชื่นชมที่ผู้ชมภาพยนตร์ไทยทั่วประเทศมีต่อนักแสดงคู่นี้ จนผู้สร้างภาพยนตร์ไม่คิดและไม่กล้าที่จะสร้างนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมาเป็นพรเอกนางเอก ปรากฏว่าในจำนวนภาพยนตร์ไทยที่สร้างกันเฉลี่ยปีละราว ๗๐-๘๐ เรื่องจะมีภาพยนตร์ที่ มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฏ์ แสดงนำคู่กันเกือบครึ่งนึ่ง ส่วนนักแสดงภาพยนตร์ระดับพระเอกนางเอกคนอื่นๆ ที่มีบทบาทอยู่ในยุคนี้ด้วย ได้แก่ ลือชัย นฤนาท อดุลย์ อดุยรัตน์ ชนะ ศรีอุบล ไชยา สุริยัน สมบัติ เมทะนี วิไลวรรณ วัฒนพานิช อมรา อัศวนนท์ พิสมัย วิไลศักดิ์ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ภาวนา ชนะจิต นักแสดงภาพยนตร์อื่นๆ ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวประกอบและมีบทบาทสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทยยุคนี้ เช่น ล้อต๊อก สมพงษ์ พงษ์มิตร สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม ดอกดิน กัญญามาลย์ พูลสวัสดิ์ ธีมากร ชูศรี โรจนประดิษฐ์ สมจิต ทรัพย์สำรวย สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต มาลี เวลชประเสริฐ มนัส บุณยเกียรติ

ส่วนนักแสดงที่เป็นดาวร้ายและตัวอิจฉาตลอดจนดาวยั่ว ได้แก่ เกชา เปลี่ยนวิถี ทักษิณ แจ่มผล ประจวบ ฤกษ์ยามดี ทัต เอกทัต อดินันท์ สิงห์หิรัญ ชาณีย์ ยอดชัย ถวัลย์ คีรีวัต ปรียา รุ่งเรือง ชฏารณ์ วชิรปราณี อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา เมตตา รุ่งรัตน์

ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ ในยุคนี้ เช่น รุ่งสุริยภาพยนตร์ กัญญามาลย์ภาพยนตร์ สหนาวีไทย ต๊อกบูมภาพยนตร์ วิจิตรเกษมภาพยนตร์ แหลมทองภาพยนตร์ จินดาวรรณภาพยนตร์

ผลงานภาพยนตร์ไทย ๑๖ มิลลิเมตร พากย์ ที่สำคัญในยุคนี้ เช่น “เล็บครุฑ” ของ สหนาวีไทย (๒๕๐๐) “รักริษยา” ของ กรรณสูตรภาพยนตร์ (๒๕๐๐) “เห่าดง” ของ ไทยไตรมิตรภาพยนตร์ (๒๕๐๑) “ไอ้แก่น”  ของ กมลศิลปภาพยนตร์ (๒๕๐๒) “แสงสูรย์” ของทัศไนยภาพยนตร์ (๒๕๐๓) “มือโจร” ของ วิจิตร คุณาวุฒิ (๒๕๐๓) “วัยรุ่นวัยคะนอง” ของ สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ (๒๕๐๕) เป็นต้นมา

You may also like...